มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2554
ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะเราเองที่ชอบแต่สิ่งที่หนัก สิ่งที่หยาบใหญ่ และสิ่งที่มองเห็น เราถึงต้องการให้อะไรที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมักจะเป็นเช่นนั้น เราจึงได้สร้างคฤหาสน์ใหญ่ๆ เรือเดินสมุทรใหญ่ๆ รถใหญ่ๆ เร็วๆ และเราก็ชอบกลางวันเพื่อที่จะได้มองเห็น ทั้งๆ ที่เรารู้ว่ากลางวันนั้นแยกออกมาจากกลางคืนที่มืดสนิทและว่างเปล่า เราจึงชอบรูปกายภาพที่มองเห็น จะได้ขัดแย้งหมั่นไส้แตกแยกกัน
เมื่อเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ เท่าที่จัดไว้ในมหาวิทยาลัยเพื่อความสะดวกกับเพื่อให้เราเลือกเรียน วิทยาศาสตร์มีสามรูปแบบ ซึ่งชี้บ่งความแตกแยกของความรู้ ในสายตาของผู้เขียน วิทยาศาสตร์จริงๆ น่าจะมีอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น คือ ฟิสิกส์ และควรเรียกเสียใหม่เพื่อขจัดการเข้าใจผิด ที่คิดว่าจักรวาลมีแต่กายภาพอย่างเดียว และเราต้องรู้ว่าในโลกนี้จักรวาลนี้ไม่มีอะไรคงที่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกๆ ปรากฏการณ์จะต้องไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงดังที่พระพุทธเจ้าว่าเป็นอนิจตา ซึ่งรวมทั้งความรู้แม้แต่ฟิสิกส์เองที่คลี่ขยายตลอดเวลา เราอยู่กับฟิสิกส์เก่าหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์ที่แสนจะหยาบกระด้างมานานถึงสี่ร้อยปี กว่าจะพบความจริงใหม่ฟิสิกส์ใหม่ ทั้งทฤษฏีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และควอนตัมเมคคานิกส์ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นความจริงทางธรรม ตรงกันข้ามกับความจริงทางโลกที่มองเห็นของฟิสิกส์เก่า
ผู้เขียนชอบและปรารถนาการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน และคิดว่านั่นคือธรรมชาติ กับไม่ชอบ – กลัวความแตกแยก จึงพลอยไม่ไว้ใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อนุรักษ์นิยม และชาตินิยมไปด้วย เพราะคิดเอาเองว่าเป็นสาเหตุของความแตกแยกนั่นเอง โดยที่ดูเฉยๆ คล้ายๆ กับว่าวินัยทั้งหมดคือการรวมกันหรือสามัคคีกันแต่ไม่ใช่ อดีตเมื่อนานมาแล้วตั้งแต่ยังมีอายุน้อยๆ ผู้เขียนเคยมีอุดมการณ์ทุกอย่างที่กล่าวมานั้นรุนแรงมาก แต่ทั้งหมดได้เติบโตผ่านพ้นไปแล้ว อย่างที่ เคน วิลเบอร์ ว่า “ทั้งหมดได้ผ่านพ้นและรวมไว้” (transcend and include) คือกลายเป็นความรู้ เป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกันของชีวิต รวมทั้งสิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือธรรมชาติทั้งหมด ความรู้สึกเช่นนี้มีมานานมากๆ แล้วจนเคยชินกับมัน กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ที่สำคัญคือในช่วงนั้น แม้กระทั่งวิ่งไปถือธงชาติไทยนำขบวนไปเรียกร้องเอาดินแดนจากฝรั่งเศส ก็มีความรู้สึกลึกๆ ที่บอกไม่ถูก ความรู้หรือความรู้สึกที่ฝังลึกในจิตใจมานานแสนนานนี้ ตีแผ่ออกไปไม่จำเพาะแต่โลกนี้และโลกไหนๆ ในจักรวาลนี้เท่านั้น
ขณะนี้มีข้อพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ (ทฤษฎีซุปเปอร์สตริง) จนหมดสิ้นข้อสงสัยกังขา เพียงยังขาดการทำซ้ำในห้องทดลองซึ่งไม่สามารถจะทำได้ด้วยเทคโนโลยีในขณะนี้ หรือเท่าที่เรามีความรู้ในปัจจุบัน นั่นคือหนึ่งในสองส่วนของจักรวาลวิทยาใหม่ซึ่งพ้องจองกับศาสนาพุทธและวัฒนธรรมพระเวท (Vedic Culture) ที่บอกว่าจักรวาลมีจำนวนที่ไม่มีสิ้นสุด (pluriverses)
พุทธศาสนาบอกว่าจิตมาก่อนเพื่อน (B. Alan Wallace: Hidden Dimensions, 2007) มาก่อนจักรวาลอันมีจำนวนไม่สิ้นสุด เรียกว่าจิตปฐมภูมิซึ่งแยกจากพลังงานปฐมภูมิไม่ได้ ส่วนวัตถุที่มองเห็นนั้นมาทีหลัง แต่เพราะว่ามันมองเห็นและส่วนมากสัมผัสได้ พวกกรีกโดยเฉพาะอริสโตเติลจึงคิดว่ามันมาก่อน และที่สำคัญที่สุด จึงถือว่ามันคือความจริงชนิดเดียวที่เราเห็นได้ ได้ยินได้ สัมผัสได้ ฯลฯ แต่พุทธศาสนาบอกว่ามันเป็นมายาหรือความเป็นสองที่อาจทำให้เรามีอุปาทาน “พอใจ” หรือ “ไม่พอใจ” จึงไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง จึงเรียกความจริงแบบนี้ว่าความจริงทางโลก เพื่อจะให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอยู่รอดได้ในโลกนี้จักรวาลนี้เท่านั้น
ตรงกันข้ามกับความจริงทางธรรมซึ่งเป็นความจริงที่แท้จริง และความรู้ที่สำคัญที่สุด คือจิตวิทยา (น่าจะไม่ใช่วิชาจิตวิทยาที่มีการเรียนการสอนอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งค่อนข้างจะหนักไปในทางพฤติกรรมศาสตร์ อันเป็นเรื่องกายภาพชัดๆ ไม่เกี่ยวอะไรแม้แต่นิดเดียวกับจิต) ที่จะต้องขยายไปให้ครอบคลุมเรื่องของจิตทั้งหมดหมายความว่าถึงนิพพานเลย
ซึ่งการศึกษาค้นคว้าเรื่องของจิตวิทยาทั้งหมดนี้ อาร์โนล์ด มินเดล นักจิตวิทยาที่เป็นนักฟิสิกส์ด้วย ที่ลูกสาวบุญธรรมคนหนึ่งของผู้เขียนได้บอกกับผู้เขียนว่า สามีของเธอ - คุณวิศิษฐ์ วังวิญญู - กำลังใช้สอนมวลชนที่สนใจการเปลี่ยนแปลงตัวเอง (transform) ทางจิต เป็นแบบจำลองกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างหนึ่ง แต่ผู้เขียนคิดว่า อาร์โนลด์ มินเดล น่าจะลองใช้พุทธศาสนาที่ไล่สูงขึ้นไปจนบรรลุนิพพาน นั่นคือเราจะต้องรวมเรื่องของทุกๆ ศาสนาทั้งที่มีเหตุผล และไม่มีเหตุผล ที่คนทั่วๆ ไปคิดว่างมงาย และจะต้องรวมฟิสิกส์ซึ่งในที่นี้หมายถึงหัวใจของวิทยาศาสตร์ ที่ธรรมชาติคือสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวงของโลกและจักรวาล รวมทั้งชีวิตสัตว์โลกต่างๆ “ที่ตามองเห็น” นั่นคือการรวมของสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ทั้งปวง รวมทั้งความรู้ เป็นต้นว่า จิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา ฟิสิกส์ ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างที่ คาร์ล ซี. จุง เรียกว่าจิตไร้สำนึกร่วมโดยรวมของจักรวาล (universal collective unconscious continuum)
อาร์โนลด์ มินเดล พูดถึงนิพพาน การตรัสรู้ในพุทธศาสนาว่าเป็นการเข้าถึงสนามการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวของสนามพลังนั้น ซึ่งก็คือความจริงที่แท้จริงนั่นเอง เขาบอกว่า น่าแปลกใจยิ่งนักที่คณิตศาสตร์สามารถค่อยๆ บอกความจริงเหล่านี้ได้เมื่อถึงเวลา (เวลาไหน?) ก่อนหน้าที่เราจะสังเกตเสียอีก พูดอย่างนี้แล้วทำให้นึกถึงทฤษฏีจักรวาลวิทยาใหม่ ที่ทฤษฎีซุปเปอร์สตริงพิสูจน์ได้แล้วในทางคณิตศาสตร์ แต่ทว่าเราไม่ยังสามารถสังเกตเห็นได้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์
ฟิสิกส์ไม่ใช่กายภาพอย่างเดียว จริงๆ แล้วควอนตัมเมคคานิกส์เป็นเรื่องของจิตโดยแท้ แถมบางส่วนยังเป็นจิตไร้สำนึกที่ทำหน้าที่เป็นจิตรู้หรือจิตสำนึกอีกต่างหาก วิทยาศาสตร์แท้ๆ มีอยู่สามแขนงหรือสามวิชาที่ไล่เรียงจากที่เล็กละเอียดที่สุดจากอะตอมที่เดโมคริตัสเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาลบอกว่าเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดไม่สามารถแยกย่อยต่อไปได้ แต่ที่แยกเป็นอนุภาคได้ในปัจจุบันเพราะว่าเราใช้ให้อะตอมชนกระแทกกันด้วยความเร็วสูง วิชาถัดไปแยกย่อยให้ละเอียดน้อยกว่านั้น คือระดับโมเลกุลที่จริงๆ คือฟิสิกส์ในระดับหยาบขึ้นมา แต่ส่วนมากยังมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เรียกว่าเคมี วิชาที่สามหยาบที่สุด เป็นวิชาที่ว่าด้วยเซลล์หรือชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตสองอย่าง คือสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว และสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ได้แก่สัตว์โลกที่มีความรู้สึกทั้งหลาย เรียกว่าชีววิทยา ที่รวมถึงมนุษย์ด้วย และอะไรๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์แล้ว เราจะต้องทำให้มันยิ่งใหญ่ที่สุดทุกที โดยตัววิชาชีววิทยาหรือความรู้ของมันเอง ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์โดยหลักการเลย หลักการของชีววิทยาขึ้นกับความบังเอิญมากกว่ามาก
ความเป็นวิทยาศาสตร์นั้น จะประกอบด้วยหลักการคร่าวๆ คือ เราสร้างทฤษฏีขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าธรรมชาตินั้นๆ คืออะไร? และทำงานอย่างไร? แล้วเราจะต้องพิสูจน์ทฤษฏีนั้นๆ ด้วย หนึ่ง คณิตศาสตร์ สอง ทำซ้ำในห้องทดลองโดยใครก็ได้ แล้วเราก็สร้างทฤษฏีขึ้นมาใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่? ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แต่เรากลับลืมเลือนไปว่าการกระทำเพื่อพิสูจน์ความ “เป็นเช่นนั้นจริง” ตามที่เราคิดนั้น เราได้กระทำการทั้งหมดทั้งสิ้น - ยกเว้นด้วยคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นไปด้วยความคิดจิตรู้ หรือจิตสำนึก หรือพุทธศาสนาเรียกว่าวิญญาณขันธ์ - บนอวัยวะประสาทสัมผัสภายนอกทั้งห้า เพื่อยืนยันการพิสูจน์ความจริงทางโลกหรือความเป็นสองของความจริงที่แท้จริง
ฝรั่งตะวันตกถึงได้จัดการสัมผัสภายนอกไว้เพียงห้าอย่างเท่านั้น ถึงได้เรียกการรู้ของวิญญาณขันธ์ซึ่งไม่มีในศาสนาอื่นว่าเป็นจิตรู้ (Consciousness) ทำความยากลำบากให้กับชาวตะวันออกโดยเฉพาะผู้ช่ำชองในพุทธศาสนาที่สนใจศึกษาหาความรู้ด้านจิตวิทยาตะวันตกที่มักจะมีความสับสนพอแรง จริงๆ แล้วมันมีความแตกต่างกันอย่างมหาศาลระหว่างจิตวิทยาของฝรั่งตะวันตกกับความรู้ของพุทธศาสนา ผู้เขียนเชื่อว่าส่วนสำคัญมาจากปรัชญาตะวันออก (อินเดีย) ซึ่งโดยพื้นฐานเป็นจิตวิทยาหรือการศึกษาเรื่องจิตซึ่งลงไปถึงความคิดที่มีเหตุผล ปรัชญาที่เป็นวิชาที่ป่วยหนักเพราะไม่มีใครเรียน เหมือนแพทยศาสตร์สมัยเก่าก่อนเมื่อนานมาแล้วที่ต้องจ้างให้คนมาเรียน
คิดและไตร่ตรองให้ดีแล้วจะเห็นเองว่า นอกจากเราจะเชื่ออย่างมีเหตุมีผลตามพุทธศาสนาและวัฒนธรรมพระเวท เรื่องของกรรมที่ทำให้มีการเกิดใหม่ที่ว่ายเวียนอยู่ในวัฏสงสารจนกว่าจะเข้าถึงนิพพานหรืออภิมหาปัญญาการรู้แจ้งเห็นจริง – โดยเชื่อว่านอกจากการกระทำของเราเองหรือกรรมแล้ว การรู้ความจริงที่แท้จริงทั้งหมดของธรรมชาติของจักรวาล ของจิต หรือการรู้ทางธรรมหรือนิพพานคือเป้าหมายหรือจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเรา - เราจะต้องรู้ว่าความจริงทางโลกมีเพื่อให้เราอยู่รอดในโลกนี่ที่มีสามมิติ (บวกหนึ่ง) เท่านั้น แต่ไม่เป็นความจริงที่แท้จริงเลย
แสดงความคิดเห็น