นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว กับ ชีวิตสามมิติ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2554

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งเพิ่งสิ้นลมเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งแห่งวงการสาธารณสุขไทย ใช่แต่เท่านั้นคุณูปการของท่านยังขยายไปยังแวดวงอื่นๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นเอนกประการ ท่านเป็นแบบอย่างของ "บัณฑิต" ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ เพราะท่านได้ใช้ปัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแต่ประโยชน์ตนเท่านั้น หากยังรวมถึงประโยชน์สุขต่อเพื่อนมนุษย์อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มต้นจากจุดที่ท่านได้รับการฝึกฝนและมีความถนัดมากที่สุดก็คือในทางการแพทย์ และขยายสู่งานด้านอื่นในระยะหลัง

ความที่ท่านได้ร่ำเรียนมาสูงทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ ชนิดที่น้อยคนจะมีโอกาสอย่างท่าน หากว่าท่านเลือกที่จะดำเนินชีวิตและประกอบวิชาชีพแพทย์ในกรุงเทพมหานคร ท่านย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองในทางโภคทรัพย์และเกียรติยศอย่างแน่นอน แต่ท่านเลือกที่จะไปทำงานต่างจังหวัดทันทีที่เรียนจบ เริ่มจากจังหวัดสมุทรสาคร ต่อด้วยจังหวัดนครสวรรค์และในที่สุดก็ไปไกลถึงจังหวัดเชียงราย (ซึ่งเมื่อเจ็ดสิบปีก่อนนั้นถือว่าเป็นดินแดนทุรกันดารอย่างยิ่ง) ด้วยวัยเพียง ๒๖ ปีเท่านั้น

ที่นั่นท่านต้องบุกเบิกและวางรากฐานระบบสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่การสร้างโรงพยาบาล (ซึ่งอาศัยเงินบริจาคจากประชาชนล้วนๆ ) จากนั้นก็ต้องต่อสู้กับโรคนานาชนิดที่ประชาชนเป็นครึ่งค่อนจังหวัด (เช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และโรคคอพอก) ทั้งๆ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ไหนวัสดุอุปกรณ์จะขาดแคลน บุคลากรก็มีน้อย มิไยต้องเอ่ยถึงความยากจนที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง แต่ท่านได้ใช้ทั้งปัญญาและความพากเพียรอย่างเต็มที่จนสามารถเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ได้ เช่น คิดค้นวิธีการเยียวยารักษาโรคพื้นๆ ที่ชาวบ้านเป็นกันมากมาย รวมทั้งบุกเบิกงานด้านศัลยกรรม ทันตกรรม ให้ตั้งมั่นในชนบท ควบคู่ไปกับการสร้างบุคคลากรเพื่อรองรับงานดังกล่าว

ด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนมาและด้วยการเปิดใจใฝ่ศึกษาอย่างไม่หยุดนิ่ง ท่านจึงขยายขอบเขตการทำงานออกไปเป็นลำดับ จากงานด้านรักษาโรคมาเป็นงานด้านป้องกันโรค จากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ ตามมาด้วยการจัดตั้งสถาบันต่างๆ เพื่อช่วยให้กิจการด้านสาธารณสุขเป็นไปด้วยดี แต่แทนที่จะหยุดเพียงเท่านั้น ท่านยังขยายขอบข่ายของงานออกไปจนพ้นแวดวงสาธารณสุข สู่การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อาทิ การสนับสนุนงานด้านสาธารณประโยชน์และการส่งเสริมภาคประชาสังคม จากเดิมที่ทำงานกับหน่วยงานรัฐ ในบั้นปลายท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ทั้งนี้ด้วยตระหนักว่า ในการสร้างความผาสุกให้กับประเทศชาติ การทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเดียวย่อมไม่พอ จำต้องมีการพัฒนาด้านอื่นเข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดสุขภาวะอย่างครบถ้วน ได้แก่ สุขภาวะทางกาย ทางจิต และทางสังคม โดยที่ในช่วงหนึ่งท่านยังได้มีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

คุณหมอเสม เป็นผู้ที่มีชีวิตที่ยืนยาว สิริรวมอายุ ๑๐๐ ปี ๑ เดือน อันการมีอายุยืนยาวนั้น จัดว่าเป็นหนึ่งในพรสี่ประการที่ใครๆ ย่อมปรารถนา แต่การมีอายุยืนยาวนั้นไม่สำคัญเท่ากับการบำเพ็ญคุณงามความดี แม้อายุสั้นแต่ทำคุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ จัดว่าประเสริฐกว่าคนที่มีชีวิตยืนยาวนับร้อยปีแต่ไม่ได้ทำความดีเลย ในแง่นี้คุณหมอเสมเป็นผู้ที่เข้าถึงประโยชน์ทั้งสองประการคือ นอกจากมีอายุยืนแล้วยังได้ทำคุณงามความดีเป็นเอนกประการ จะว่าไปแล้วการที่ท่านสามารถบำเพ็ญคุณงามความดีได้อย่างยั่งยืนเป็นเพราะท่านยังมีองค์คุณอีกประการหนึ่ง ได้แก่การมีฐานภายในที่หยั่งลึก ทำให้ท่านมีจิตใจมั่นคงในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคนานัปการ รวมทั้งไม่คลอนแคลนต่อสิ่งยั่วยวน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ อำนาจ ทั้งๆ ที่ท่านมีโอกาสที่จะครอบครองสิ่งเหล่านั้นได้ง่ายมาก แต่ภูมิปัญญาที่มีพื้นฐานจากพุทธศาสนา ทำให้ท่านตระหนักถึงโทษภัยของสิ่งเหล่านี้ว่า หากหลงใหลใฝ่ครอบครองสิ่งเหล่านั้นแล้วในที่สุดมันต่างหากที่จะมาครอบครองชีวิตจิตใจของท่าน ทำให้เป็นทาสยิ่งกว่าจะเป็นไท ฐานใจที่หยั่งลึกนี้เองที่ทำให้ท่านสามารถดำรงอุดมคติไว้ได้ และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อเพื่อนมนุษย์

คุณหมอเสมจึงเป็นแบบอย่างของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งถึงพร้อมด้วยองค์คุณสามประการ เปรียบเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ที่มีทั้งความยาว ความกว้าง และความลึก นับเป็นทิฏฐานุคติอย่างดีสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่มักใฝ่ฝันถึงการมีชีวิตอันยืนยาวสถานเดียว ราวกับว่าชีวิตนี้เป็นพียงแค่เส้นตรงที่วัดกันที่ความยาวเท่านั้น แท้จริงแล้วความยาวของชีวิตไม่สำคัญเท่ากับความกว้างและความลึก ความกว้างนั้นหมายถึงความมีน้ำใจโอบอ้อมอารี จิตใจกว้างขวาง ไม่คับแคบ เพราะนึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ พร้อมที่จะใช้สติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ดังนั้นจึงมีคุณูปการกว้างไกล ขณะเดียวกันแม้คนที่อยู่ใกล้ก็สัมผัสได้ถึงเมตตากรุณา ดังที่หลายคนย่อมรู้สึกได้เมื่อได้อยู่ใกล้หรือทำงานร่วมกับคุณหมอเสม

นอกจากความกว้างแล้ว ชีวิตควรมีมิติด้านลึกด้วย คือความลุ่มลึกทางจิตใจจนสามารถพบความสุขความสงบเย็นจากภายในและไม่เป็นทาสของสิ่งภายนอก ไม่ว่าจะเป็นโภคทรัพย์ ชื่อเสียงอำนาจ ความสงบเย็นจากภายในทำให้เรามีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่าย และดังนั้นจึงสามารถทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้โดยมีข้อจำกัดน้อยมาก ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่มีความสุขภายใน จิตใจย่อมโหยหาความสุขจากภายนอก เช่น จากทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ และอำนาจ ปรารถนาการสรรเสริญยอมรับจากผู้คนรอบข้าง เมื่อจิตใจคิดถึงแต่การแสวงหาประโยชน์เหล่านั้นใส่ตัว ก็ยากที่จะทำการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมได้อย่างเต็มที่หรือด้วยใจบริสุทธิ์ หาไม่ก็ทำด้วยความทุกข์เพราะขาดความสุขภายในเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ชีวิตจึงแห้งผากและในที่สุดก็อดไม่ได้ที่จะทิ้งภารกิจดังกล่าวกลางคันเพื่อหวนหาลาภ ยศ อำนาจมาปรนเปรอตน

คนที่ทำความดีจำนวนไม่น้อยเมื่อถึงจุดหนึ่งก็มีความหวั่นไหวท้อใจว่า ทำไมฉันทำดีแล้วถึงลำบากยากจน ไม่มั่งคั่งร่ำรวยเหมือนคนอื่น ทำไมถึงไม่มีคนยกย่องสรรเสริญ หรือเห็นความดีของฉัน นั่นเป็นเพราะว่าเขาขาดฐานใจที่หยั่งลึกถึงความสุขภายใน ในทางตรงข้ามคนที่เข้าถึงความสุขจากภายใน จะไม่กังวล วิตก อนาทร หรือหวั่นไหวกับโลกธรรมอันได้แก่ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เพราะว่ามีความสงบเย็นทางใจเป็นรางวัล มีปีติบำรุงใจเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข รวมทั้งมีความสุขจากสมาธิภาวนาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ยิ่งมีปัญญาแลเห็นว่า โลกธรรมเหล่านั้นยังหาใช่ความสุขที่แท้ แปรปรวนเป็นนิจ นอกจากไม่อาจพึ่งพาได้แล้ว ยังสามารถครอบงำใจให้เป็นทาสได้ ดังนั้นจึงพอใจที่จะอยู่อย่างเรียบง่าย และดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า รวมถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ตามกำลังที่มี

ถ้าหากว่าคนเรามีทั้งสามมิติ คือมีชีวิตที่ยืนยาว มีน้ำใจกว้างขวางและมีฐานใจที่หยั่งลึก เราย่อมสามารถบำเพ็ญประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ทำให้ได้พบกับชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์พร้อม อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ให้นิยามสั้นๆ ว่า “ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์”

ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์นั้นไม่ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานก็ได้ แม้อายุจะไม่ยืนยาว แต่เราก็สามารถทำชีวิตนี้ให้เป็นชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ได้ทุกเวลานาที แต่หากมีชีวิตยืนยาวก็ยิ่งช่วยให้มีโอกาสทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มากมาย ขณะเดียวประสบการณ์ที่ได้สั่งสมก็ช่วยบ่มเพาะจิตใจให้เกิดปัญญาและเสริมฐานใจให้หยั่งลึกจนสามารถพบกับความสงบเย็นและเป็นอิสระอย่างแท้จริง นับเป็นประโยชน์ตนที่เราทุกคนควรได้รับจากการเกิดมาเป็นมนุษย์

คุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ได้จากไปอย่างสงบเหมือนใบไม้ที่ปลิดจากขั้ว แต่อุดมคติของท่านยังดังกังวานในหัวใจของ​ผู้คนจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับคุณูปการของท่านยัง​ส่งผลสะเทือนอยู่จนทุกวันนี้ ขณะเดียวกันชีวิตและงานของท่าน หากศึกษาอย่างใคร่ครวญ ก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เราในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและความสุข ก่อทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้อย่างยั่งยืน

Back to Top