เดินสู้ทุกข์ สุขสวนกระแส



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2552

เสียงกลองดังเป็นจังหวะขณะที่ผู้คนกว่า ๓๐๐ คนเดินฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงไปบนถนนลาดยาง แถวหน้าเป็นพระภิกษุ ตามมาด้วยแม่ชี และฆราวาสซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก อายุลดหลั่นตั้งแต่ ๗๔ ปีไปจนถึง ๖ ขวบ จากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ต่างถือธงทิวและป้ายผ้าหลากสี บางข้อความเขียนว่า “แผ่นดินล้มป่วย แม่น้ำร้องไห้”

เมื่อถึงฤดูหนาวของทุกปี คณะธรรมยาตราจะเคลื่อนขบวนไปตามลุ่มน้ำลำปะทาว ซึ่งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ โดยแวะพักตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอด ๗ คืน ๘ วัน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงอันตรายที่กำลังเกิดกับป่าเขาลำห้วยและผืนดิน และช่วยกันแสวงหาทางเลือกใหม่เพื่อให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกันได้

ขบวนธรรมยาตราไม่ได้เดินเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติภายนอกเท่านั้น หากยังมุ่งฟื้นฟูธรรมชาติภายในใจของผู้เดินด้วย ดังนั้นในขณะที่รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ก็เชิญชวนให้ทุกคนเดินด้วยความสงบและอย่างมีสติ เพื่อดูใจของตัวเองไปด้วยขณะที่ถูกแดดแผดเผาหรือร่างกายเหนื่อยอ่อน

ธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวทำต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๐แล้ว ครั้งนี้จึงจัดเป็นพิเศษด้วยการชูประเด็น “เดินทวนกระแส” คือแทนที่จะเดินล่องมาตามลำน้ำดังปีก่อนๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นเดินทวนกระแสน้ำ โดยเริ่มต้นจากตัวเมืองชัยภูมิและไปสุดที่ภูหลงซึ่งเป็นต้นน้ำลำปะทาว ระยะทางกว่า ๙๐ กิโลเมตร

เดินทวนกระแสน้ำหมายถึงการเดินจากที่ต่ำสู่ที่สูง จากพื้นราบสู่ภูเขา แน่นอนว่าย่อมเหนื่อยกว่าเดินตามน้ำ ธรรมดาของคนเราย่อมชอบความสบายอยู่แล้ว การเดินทวนน้ำจึงเป็นการทวนนิสัยหรือความเคยชินของคนเรา ใช่แต่เท่านั้น ยิ่งขึ้นสูง ยิ่งไกลจากเมือง ความสะดวกสบายก็ยิ่งน้อยลง ทางกันดาร อาหารไม่ถูกปาก ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย ไม่ถูกกับรสนิยมของกิเลสเอาเสียเลย การเดินทวนน้ำจึงเป็นการเดินทวนกิเลสไปด้วยในตัว

สำหรับคนที่นั่งรถเป็นชีวิตจิตใจ ธรรมยาตราถือว่าเป็นการเดินเข้าหาทุกข์โดยแท้ เพราะนอกจากทางจะไกล แดดจะร้อนแล้ว เส้นทางบางจุดยังวิบาก มิหนำซ้ำบางคนถอดหมวกไม่พอยังถอดรองเท้าเดินอีก ทำไมถึงต้องทำตัวให้ลำบากอย่างนั้น ตอบอย่างสั้นๆ ก็คือ ถ้าไม่เจอทุกข์ก็ไม่ถึงธรรม ถ้าอยากเห็นธรรมก็ต้องไม่กลัวทุกข์

ปกติเมื่อเราเจอทุกข์เรามักหาทางหนีทุกข์ หรือไม่ก็พยายามขจัดทุกข์นั้นให้หมดไป เช่น ถ้าร้อนก็หลบเข้าร่ม หาไม่ก็เปิดพัดลมหรือติดแอร์ ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก ผู้คนหันมาแก้ทุกข์ด้วยสิ่งเหล่านี้กันอย่างพร่ำเพรื่อ จนขาดมันไม่ได้ กลายเป็นทาสของเทคโนโลยีและเสพติดความสะดวกสบาย ผลก็คือเกิดทัศนคติว่าวัตถุสิ่งเสพเท่านั้นที่จะให้ความสุขแก่เราได้ ดังนั้นจึงลุ่มหลงกับกระแสบริโภคนิยม เงินกลายมาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิต เพราะถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีวัตถุสิ่งเสพ ไม่มีวัตถุสิ่งเสพก็ไม่มีความสุข

การหนีทุกข์หรือขจัดทุกข์ด้วยวัตถุสิ่งเสพจนเป็นนิสัย ทำให้เราละเลยที่จะแก้ทุกข์ที่ใจของเรา เราคิดแต่จะจัดการสิ่งภายนอก จนลืมที่จะจัดการกับใจของเรา ทั้งๆ ที่สุขหรือทุกข์นั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อยู่ที่ใจของเราเอง ธรรมยาตราเป็นการพาคนเข้าหาทุกข์ก็เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีอยู่กับทุกข์ (กาย) ได้โดยไม่ทุกข์ (ใจ)

ธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการหนีทุกข์ ดังนั้นเมื่อเจอความทุกข์กับตัว หากไม่สามารถพากายหนีทุกข์ได้ จิตก็จะค้นหาวิธีการอื่นเพื่อจะได้ไม่ทุกข์ไปกับกาย การพยายามสรรหาวิธีการนานาชนิดเพื่อจัดการกับความทุกข์ในใจ ในที่สุดจะช่วยให้เราได้พบธรรม จะเรียกว่าในทุกข์มีธรรมก็ได้ หลังจากที่เดินฝ่าเปลวแดดมาทั้งวัน หลายคนพบว่าการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการนับก้าวช่วยให้เป็นทุกข์น้อยลง ยิ่งมีสมาธิแน่วแน่ก็ยิ่งเพลินกับการเดิน “ปัน” เด็กชายวัย ๙ ขวบบอกว่า เหนื่อยน้อยลงเมื่อตาจับจ้องอยู่ที่เท้าของคนข้างหน้า บางคนจดจ่ออยู่กับเสียงกลองจนลืมเมื่อย ขณะที่บางคนท่อง “คาถา” ในใจขณะก้าวเดินว่า “ซ้ายทนได้ ขวาสบายมาก” ทำให้ใจฮึดสู้ขึ้นมาแม้เท้าจะพองก็ตาม

“กายเหนื่อย ใจไม่เหนื่อย” ไม่ใช่เป็นแค่คำปลุกใจ แต่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่จะปฏิบัติได้จริงก็ต่อเมื่อมาเจอทุกข์กับตัว ถึงแม้กายจะเหนื่อย แดดจะร้อน แต่ถ้ามีสติเห็นความเหนื่อยกาย หรือเห็นใจที่บ่นโวยวาย ใจก็จะวางความเหนื่อยและความหงุดหงิดลงได้ทันที บ่อยครั้งกายยังไหว แต่ใจต่างหากที่ไม่ไหว เมื่อใดที่เห็นใจร้องงอแงว่า “ไม่ไหวๆๆ” ความงอแงจะหลบลี้หนีไป ใจจะกลับมาตั้งมั่นขึ้นใหม่ และเดินหน้าต่อไปได้ ใครที่บ่นว่า “เมื่อไหร่จะถึงๆๆ” ลองมีสติอยู่กับแต่ละก้าวๆ จะพบว่าใจสงบเย็นลงมาก ใจที่อยู่กับปัจจุบันจะทุกข์น้อยกว่าใจที่กังวลอยู่กับจุดหมายปลายทางข้างหน้า

ทุกข์อย่างหนึ่งที่แทบทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะคนที่ถอดรองเท้า นั่นคือความเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่อเดินทางลาดยางที่ร้อนระอุ หรือถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยกรวดแหลมคม ธรรมยาตราเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกการอยู่กับความเจ็บปวดโดยใจไม่ทุกข์ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หลายคนใช้วิธีจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นเพื่อลืมความปวด แต่บางคนก็ใช้สติในการรับรู้หรือเห็นความปวด โดยใจไม่พลัดเข้าไปในความปวด หรือปรุงตัวกูเป็นเจ้าของความปวด กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เห็นความปวด ไม่ใช่ผู้ปวด” แต่ถ้ายังไม่ถนัดที่จะไปรับรู้ความปวด โดยไม่เผลอเป็นผู้ปวดเสียเอง ก็หันมาดูใจที่ดิ้นเร่าหรือถูกโทสะรุมเร้าเพราะความปวด ใจที่สงบลงได้ช่วยให้ความทุกข์บรรเทาลง

การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์โดยใจไม่ทุกข์ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะไม่ว่าเราจะร่ำรวย ฉลาดหลักแหลม มีอำนาจยิ่งใหญ่ หรือพรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยี แต่เราก็ไม่สามารถหนีทุกข์ไปได้ตลอด รวยแค่ไหนก็ต้องเจอการพลัดพรากสูญเสียคนรัก ฉลาดเพียงใดก็ต้องเจ็บป่วย ยิ่งใหญ่เพียงใดสักวันหนึ่งก็ต้องตาย ถ้าเราไม่ยอมเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับความทุกข์เลย ก็เห็นจะต้องเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

การเดินเข้าหาทุกข์คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์โดยไม่ทุกข์ จะทำได้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับการพยายามทำ แม้สมาธิหรือสติยังไม่เข้มแข็ง แต่ก็ได้ฝึกความอดทนและสร้างภูมิต้านทานความทุกข์ ใช่หรือไม่ว่าคนสมัยนี้มีภูมิต้านทานความทุกข์น้อยมาก แค่เจอความผิดหวังเล็กๆ น้อยๆ ก็ทุกข์ระทมจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ การมีภูมิต้านทานความทุกข์จะช่วยให้ทานทนกับอุปสรรคในชีวิตได้มากขึ้น แต่ภูมิต้านความทุกข์จะเกิดขึ้นกับใจได้อย่างไรถ้าไม่เจอความทุกข์บ่อยๆ เช่นเดียวกับภูมิต้านทานเชื้อโรคจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเจอเชื้อโรคอยู่เป็นนิจ

ตลอด ๗ คืน ๘ วันที่เจอทุกข์ตลอดทาง แทบทุกคนดูเหมือนจะมีภูมิต้านทานความทุกข์มากขึ้น ไม่มีใครที่เปลี่ยนใจถอนตัวก่อนกำหนด มีแต่เปลี่ยนใจเลื่อนวันกลับ เพื่อเดินให้นานขึ้น ยิ่งผ่านความยากลำบากมานานวัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น หรือเพราะความทุกข์ช่วยหลอมใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะหลายคนได้พบว่าตนเองมีสิ่งที่ไม่คิดว่ามี นั่นคือความอดทนและความพากเพียรพยายาม นักเรียนหลายคนยอมรับว่าถอดใจตั้งแต่เดินวันแรกและไม่คิดว่าจะเดินถึงวันสุดท้ายได้ แต่ในที่สุดก็ทำได้ บ่อยครั้งการค้นพบตัวเองต้องได้มาด้วยความยากลำบาก ใช่หรือไม่ นี้คือ unseen ที่สำคัญกว่า unseen หลายแห่งที่ขบวนธรรมยาตราผ่านพบระหว่างทาง (ทั้งที่ ททท. รู้จักและไม่รู้จัก)

ทั้งๆ ที่เดินเข้าหาทุกข์ แต่ความสุขของผู้คนในขบวนธรรมยาตรามีให้เห็นตลอดทาง และยิ่งมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงที่หมาย ทั้งๆ ที่ยิ่งห่างไกลจากเมือง ความสะดวกสบายยิ่งน้อยลง แต่ความสุขไม่ได้ลดลงเลย กลับเพิ่มขึ้น นั่นก็เพราะความสุขกับความสะดวกสบายนั้นมิใช่สิ่งเดียวกัน ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความยากลำบาก เพราะความสุขนั้นแท้จริงอยู่ที่ใจ

การเดินทวนกระแสน้ำคือการเดินสู้กับแรงโน้มถ่วง แม้จะเหนื่อยและยากลำบาก แต่ยิ่งเดิน ทัศนียภาพสองข้างทางก็ยิ่งงดงาม ต้นไม้ที่ขึ้นประปรายกลับหนาตามากขึ้น จากแท่งคอนกรีตสีหม่นกลายเป็นป่าใหญ่สีเขียวขจี ขณะเดียวกันน้ำที่ขุ่นคล้ำ ก็เริ่มใส และใสยิ่งขึ้นเมื่อเข้าใกล้ต้นน้ำ มลพิษในอากาศค่อยๆ หายไป มีอากาศบริสุทธิ์สดใสมาแทนที่ นี้คือรางวัลของความเหนื่อยยาก ฉันใดก็ฉันนั้น ยิ่งเดินทวนกระแสกิเลส ก็ยิ่งได้สัมผัสกับความงดงามของมิตรภาพรอบตัว ทั้งจากผู้ร่วมเดินและชาวบ้านสองข้างทาง ขณะเดียวกันใจก็ยิ่งแจ่มใส เบาสบาย ความสุขกลายเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย แค่ได้ดื่มน้ำเปล่าดับกระหาย หรือได้พักใต้ร่มไม้ มีลมเย็นพัดมาเบาๆ ก็สุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีอาหารหรูหราราคาแพงหรือสินค้ายี่ห้อดังมาปรนเปรอก็ได้

การเดินสู้ทุกข์ทำให้หลายคนตระหนักว่าเราสามารถเป็นสุขได้แม้จะทวนกระแสความสะดวกสบายหรือกระแสบริโภคนิยม แต่กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เราจะสุขได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อกล้าสวนกระแสกิเลสเท่านั้น เพราะตราบใดที่ยังตามกระแสกิเลสอยู่ ก็จะไม่รู้จักคำว่าพอเสียทีไม่ว่าจะได้มามากเท่าไรก็ตาม ยิ่งเห็นคนอื่นได้มาก ก็ยิ่งเป็นทุกข์ที่ได้น้อยกว่าเขา แม้ดิ้นรนจนรวยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็ยังทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นไล่มาประชิด จนกว่าจะกล้าขัดขืนกิเลส และหันไปเติมเต็มชีวิตด้วยสิ่งอื่นที่มีคุณค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง

คนที่ทำตามบัญชาของกิเลส ย่อมนึกถึงแต่ตัวเอง แต่ยิ่งตักตวงความสุขใส่ตัวมากเท่าไร ก็กลับพบว่าในใจเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าไร้คุณค่า และทุกข์เพราะอัตตาตัวตนพองโตจนหวั่นไหวต่อทุกอย่างที่มากระทบหรือสะกิดแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ไม่ต่างจากลูกโป่งพองโตที่พร้อมจะแตกเมื่อถูกเศษฟางทิ่ม ต่อเมื่อขัดขืนบัญชาของกิเลส อยู่อย่างเรียบง่าย พร้อมแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น จึงจะเป็นคนที่สุขง่าย ทุกข์ยาก

ในทุกข์มีสุข ถ้ารู้จักทุกข์ก็พบสุขได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงไม่หวั่นเกรงว่าความสะดวกสบายจะลดลง แม้หุ้นจะตก ทองจะขึ้น ก็ยังสามารถมีความสุขสวนกระแสเศรษฐกิจได้ แม้เศรษฐกิจปีหน้ายังไม่ฟื้นตัว ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจตราบใดที่ยังกินอิ่มนอนอุ่น เพราะไม่ได้เอาความสุขไปผูกติดกับกระแสเศรษฐกิจที่เน้นเงินตราเป็นสรณะ ในทำนองเดียวกันแม้กระแสการเมืองยังร้อนแรง แต่คนที่รู้จักทวนกระแสกิเลสย่อมสามารถรักษาใจให้สงบเย็นได้ กระนั้นก็มิได้นิ่งดูดายหรือเฉยเมยด้วยความเห็นแก่ตัว หากพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลตามกำลัง โดยมิได้คิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือทำไปตามอำนาจของความโกรธเกลียดและกลัว

บ้านเมืองแม้ยังเต็มไปด้วยทุกข์ แต่เราก็ไม่ควรกลัวทุกข์ การพร้อมเผชิญทุกข์ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา จะช่วยให้เราเข้าถึงสุขได้แม้จะสวนกระแสนานาชนิดก็ตาม

Back to Top