มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2552
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดงาน “สานจิตรเสวนา: มหกรรมความรู้เพื่อการพัฒนาจิต ครั้งที่ ๒” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ กันยายน ๒๕๕๒ มีชั่วโมงเสวนาของขุมปัญญาด้านจิตวิญญาณของสังคมไทย ๔ รายการ ได้แก่ จิตวิญญาณในมุมมองสามศาสนา เสวนาพัฒนาจิตวิญญาณจากการทำงานในชีวิตประจำวัน เสวนาจิตตปัญญาศึกษา และเวทีจิตวิวัฒน์
หลังเวทีจิตวิวัฒน์ คุณนุกุล พลอยบุตร จากโรงพยาบาลเชียงม่วน บรรยายความรู้สึกที่ได้รับจากการนั่งฟัง เผยแพร่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เรื่อง “มหัศจรรย์ใจกับงานสานจิตรเสวนา” มีเนื้อหาน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ
“ณัฐฬส วังวิญญู สมาชิกของกลุ่มจิตวิวัฒน์เล่าว่า จิตวิวัฒน์เป็นเหมือนเผ่าพันธุ์หนึ่ง นอกจากความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมพูดคุยทุกเดือนแล้ว ยังได้ความสัมพันธ์ ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ ทำให้มองเห็นความหวังในการแสวงหาความอยู่รอดของสังคม การค้นหาทางออกอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การได้อยู่ร่วมกันอาจมีความหมายมากกว่า ประทับใจกับเรื่องราวของอาจารย์ประมวลที่เดินทางไกลด้วยเท้าจากเชียงใหม่ถึงสงขลา และการเดินทางในอินเดีย เรื่องเล่าจากอาจารย์ประมวลทำให้คิดถึงการทำงานใหญ่เพื่อแสวงหาคำตอบให้สังคม ในขณะเดียวกันก็อย่าละเลยการดูแลคนในครอบครัว”
“ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ เล่าว่า เป็นครูมาตลอดชีวิต ใช้ชีวิตอิงอยู่กับกรอบคิดและกฎเกณฑ์ของวิชาชีพครู ยึดเอาหลักการของวิชาครูมากำหนดตนเองนาน ๗๐ ปี จนกระทั่งมาพบกับจิตวิวัฒน์ แรกๆ เวลาเข้ากลุ่มแล้วได้ยินได้ฟังเรื่องราวอะไร จะดึงมาอิงกับทฤษฎีอยู่ตลอดเวลา กลับไปดูบันทึกเก่าๆ พบว่าเต็มไปด้วยทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงของตนเองจะเป็นไปในลักษณะ transformation คือ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิด ความรู้สึก วิธีฟัง คิด ไม่ด่วนตัดสิน เพราะอาจารย์ประสานสอนว่า อะไรที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ มันก็ยังมีอยู่
อาจารย์เล่าว่าได้เรียนรู้ตนเองมากกว่าเดิม กรงที่ขังตนเองไว้เริ่มหลุดไปทีละซี่ ยิ่งได้คุยกับคนหนุ่มสาว ยิ่งทำให้กรงขังหลุดมากขึ้นๆ มารู้อีกทีเมื่อรู้ว่าตนเองหลุดออกจากกรงขังแล้ว คนยึดทฤษฎีไม่มีความสุข ชีวิตต้องอยู่เหนือการยึดติด ทำให้เรามีเสรีภาพ เมื่อมีเสรีภาพทำให้อาจารย์สามารถเขียนนวนิยายได้ จากที่แต่เดิมเขียนได้เพียงสารคดี
อาจารย์พบจิตสำนึกใหม่ที่ทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานกับคนที่คิดแบบเดิมๆ มีเมตตา นำไปสู่การปฏิวัติการศึกษาในตนเอง เพราะการศึกษาจะไปไม่รอดถ้าเรายึดวิธีสอนแบบเดิมๆ และการคิดใหม่ทำใหม่ทำอย่างไร”
“ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน เล่าว่าช่วงแรกของการทำงานกับ สสส. อาจารย์ทำการวิจัยด้านจิตวิญญาณ การเริ่มต้นด้วยความไม่รู้เป็นการเปิดมิติการเรียนรู้ที่ใหญ่มาก ทำงานโดยไม่มีอะไรมาครอบ เรียนรู้จากคนที่เราเชื่อว่าเขามีจิตวิญญาณอยู่ในตัว อาจารย์เปลี่ยนจากนักวิชาการที่อิงหลักวิชาการ ยึดติดกับทฤษฎี ไปเป็นคนธรรมดามากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น การเข้าไปในจิตวิวัฒน์บางช่วงทำให้รู้สึกว่าเราเป็นเด็กไม่รู้อะไรเลย ฟังผู้ใหญ่และเด็กๆ พูด รู้สึกว่า ทำไมเราไม่รู้ บางช่วงรู้สึกว่าเราเป็นผู้รับ บางช่วงเป็นผู้ให้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนธรรมดามากขึ้น”
“ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย เล่าว่า ๒ ปีของการเข้าร่วมวง เริ่มต้นจากถูกชักชวนให้อ่านหนังสือ ๓ เล่ม แล้วนำไปเล่าในวงจิตวิวัฒน์ วันที่ไปเล่ามีแต่อาจารย์ผู้ใหญ่ รู้สึกว่าท่านตั้งใจฟังเรามาก รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากกลุ่มจิตวิวัฒน์ เพราะในกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นหมอ ขณะที่ตนเองเรียนด้านวิศวะ แต่บอกตนเองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ค่อยๆ ซึมซับไป รู้สึกว่าเป็นกลุ่มที่น่ารัก อาจารย์ผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่รู้ เห็นอาจารย์หมอประสาน อาจารย์ประเวศพูดคุยกันเหมือนเป็นเด็กๆ และประทับใจกับหลายเรื่องเล่าของผู้ที่ทำประโยชน์ให้สังคม”
“จารุพรรณ กุลดิลก เล่าว่าเรื่องเล่าในวงมีพลัง อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู จะนำ Dialogue มาใช้มากในการสนทนา เวลานั่งฟังอยู่ในวงก็จะยิ้ม ฟังแล้วได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ ฟังแล้วเห็นจิตวิญญาณของคนเล่า”
“อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ สนใจจักรวาล ศาสนา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม มักคิดแต่เรื่องใหญ่ๆ มองแต่เรื่องใหญ่ๆ การเรียนรู้ในจิตวิวัฒน์เป็นการเรียนในกลุ่มเล็กๆ เรื่องของการเสียสละ เรื่องเล่ากระตุ้นเร้าให้ทำสิ่งที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน”
“นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เล่าเรื่องการเชิญคนที่ทำงานเพื่อสังคมมาเล่า เช่น คนทำงานกับมูลนิธิฉือจี้ ที่เดินบนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ เรื่องเล่าของ พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ที่ได้ใช้ศิลปะในการดูแลคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็ง เรื่องเล่าในวงมักเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ตนเองทำ แต่จิตวิญญาณที่ทำอยู่ยิ่งใหญ่ไพศาล เคารพชีวิตด้านในตลอดเวลา อาจารย์มีโครงการเชิญชวนให้พวกเราเขียนเรื่องที่ได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจจากการได้เรียนรู้กับจิตวิวัฒน์ แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟังออกมา”
“นพ.สกล สิงหะ เดิมเป็นครูที่คิดว่ามีหน้าที่เพียงถ่ายทอดเนื้อหาซึ่งมีมาก แต่หลังๆ อาจารย์เปลี่ยนวิธีเรียนวิธีสอนนักศึกษาแพทย์ โดยให้พวกเขาเล่าว่ารู้สึกอย่างไร ไม่มีผิดถูก พบว่านักศึกษามีความสุขมากขึ้น การเป็นครูไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนเนื้อหาอะไรมากมาย เพียงแต่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง อาจารย์ขยายความต่อว่า ถ้าเราพยายามขอบคุณทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่การฟังเรื่องราวต่างๆ การมีชีวิตโดยใช้วิธีขอบคุณ ขวนขวายที่จะขอบคุณทุกสิ่ง จะทำให้เรามองงานเปลี่ยนไป”
คุณนุกุลปิดท้ายว่า การได้รับฟังเวทีจิตวิวัฒน์เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดความรู้สึกเป็นสุข อิ่มเอม และเกิดกำลังใจเกิดแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นอย่างบอกไม่ถูก การได้พบ ได้ฟัง ได้เห็นครูบาอาจารย์มาตั้งวงนั่งพูด นั่งคุยกัน เห็นความงามของการสนทนา รู้สึกถึงมิตรภาพที่คนต่างรุ่นมอบให้กันและกันด้วยความรัก ประทับใจกับหลากหลายเรื่องเล่าของการเปลี่ยนแปลงตนเองจากครูบาอาจารย์ จนตัวเองรู้สึกมหัศจรรย์ใจไปกับคุณภาพของการฟังเรื่องเล่าดีๆ
จิตวิวัฒน์มิใช่เรื่องลึกลับ แค่ชวนให้เรามาพูดคุย ฟังจากใจ ไม่ตัดสิน ไม่ด่วนสรุป เพียงเท่านี้ก็จะเกิดการพัฒนาจิตขึ้นได้
One Comment
จิตวิวัฒน์ ปรารถนาดีจริงหรือ???
ทำไมไม่เปิดกว้าง อย่างที่ว่าไว้ จิตใจที่ไร้ขอบเขต
แม้คนจนๆตัวเล็กๆอย่างข้าพเจ้า ก็ไม่มีโอกาสเข้าใกล้
แต่ท่านได้ ตีกรอบ จำกัดวง อยู่แค่คนในแวดวงที่ท่านเลือก ที่ท่านรู้จัก ที่เข้าร่วมเสวนาได้
แล้วจะมีจิตใหญ่ๆ ที่ไร้กรอบ และขอบเขต ได้อย่างไร???
แสดงความคิดเห็น