หนึ่งนาทีก่อนเที่ยงคืน

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2548

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแทบจะแยกไม่ออกจากการทำสงครามประหัตประหารกัน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้น เพียงแค่ถอยหลังไป ๑๐๐ ปี คือระหว่างปีค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๘๙ อันเป็นปีที่สงครามเย็นยุติ คาดกันว่ามีคนตายไปเพราะสงครามถึง ๘๖ ล้านคน ถ้านับจำเพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๑๙๔๕) มาจนถึงปี ๑๙๙๐ มีคนตายเพราะสงครามถึง ๒๒ ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่นับถึงคนที่ตายเพราะน้ำมือของรัฐบาลตนเองอีก ๔๘ ล้านคน (ดังที่เกิดในรัสเซียสมัยสตาลิน จีนสมัยเหมา และเขมรสมัยพอลพต)

แม้ขึ้นศตวรรษใหม่แล้ว สงครามก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะน้อยลง ปัจจุบันมีประมาณ ๑ ใน ๘ ของประเทศทั่วโลกที่พัวพันกับสงคราม โดยส่วนใหญ่เป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ร้อยละ ๙๐ ของเหยื่อสงครามในปัจจุบันเป็นพลเรือน ขณะที่ผู้บาดเจ็บล้มตายในสงครามเมื่อศตวรรษที่แล้วร้อยละ ๙๐ เป็นทหาร

ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นหลักฐานชี้ชัดว่ามนุษย์นั้นนิยมความรุนแรงและใฝ่สงคราม อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนหลังไปนับหมื่นๆ ปี กลับพบหลักฐานน้อยมากที่ยืนยันข้อสรุปดังกล่าว ในช่วงเวลา ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนหน้านี้ขึ้นไป นักโบราณคดีแทบไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับสงครามหรือการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ในหนังสือเรื่อง Troubled Times: Violence and Warfare in the Past (๑๙๙๖) ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างละเอียด สิ่งที่ค้นพบก็คือ ความรุนแรงเกือบทั้งหมดของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในช่วง ๘,๐๐๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง ในบทปิดท้าย ไบรอัน เฟอร์กูสัน ได้สรุปว่า “ดูเหมือนว่าการฆ่ากันระหว่างบุคคลมีน้อยมาก และแทบจะไม่มีการฆ่าอย่างเป็นระบบเลยตลอดอดีตการใช้ชีวิตทั้งหมดของเรา”

ข้อสรุปดังกล่าวส่วนหนึ่งได้มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ยังไม่เคยพบอาวุธสำหรับทำสงครามชิ้นใดที่เก่าแก่ไปกว่ากริชและคทาอายุ ๘,๐๐๐ ปีที่เมืองคาทาลฮูยุคในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันป้อมปราการเก่าแก่ที่สุดที่พบก็คือกำแพงเจอริโค อายุ ๑๐,๐๐๐ ปี ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าอาจสร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมมากกว่าเพื่อป้องกันการรุกราน

จริงอยู่มนุษย์ยุคหินรู้จักทำอาวุธมานานแล้ว แต่อาวุธเหล่านั้นใช้ในการล่าสัตว์มากกว่าที่จะทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน ภาพวาดตามผนังถ้ำก่อนยุคประวัติศาสตร์อย่างมากก็เป็นเรื่องราวการล่าสัตว์ด้วยธนูและหอก แต่แทบไม่มีภาพเกี่ยวกับการต่อสู้กันด้วยอาวุธเลย ตรงกันข้ามกับภาพวาดบนกำแพงและรูปปั้นของชาวสุเมเรียนและอียิปต์เมื่อราว ๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว จะเต็มไปด้วยเรื่องราวของการต่อสู้และทำสงครามกัน

มนุษย์นั้นถือกำเนิดขึ้นมาในโลกไม่น้อยกว่า ๒ ล้านปีมาแล้ว แต่มีเพียง ๑๐,๐๐๐ ปีสุดท้ายเท่านั้นที่พบหลักฐานการทำสงครามหรือการสู้รบกันเป็นกลุ่มและอย่างเป็นระบบ และเมื่อศึกษาให้ละเอียด จะพบว่าการสู้รบกันอย่างนองเลือดจนล้มตายกันเป็นเบือนั้นกระจุกตัวอยู่ในช่วง ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าประวัติศาสตร์อันนองเลือดของมนุษย์นั้นกินเวลาเพียง ๐.๑% ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมด ถ้ายกเอา ๑๐,๐๐๐ ปีสุดท้ายออกไปแล้ว กล่าวได้ว่า ๙๙.๕ % ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นช่วงเวลาแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

น่าสังเกตว่ามนุษย์เมื่อ ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนยังชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า วิถีชีวิตดังกล่าวมีส่วนไม่น้อยในการทำให้มนุษย์ห่างไกลจากสงคราม เนื่องจากต้องเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ ที่ดินจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะต้องแย่งชิงกัน ขณะเดียวกันประชากรยังมีจำนวนน้อย พื้นที่ว่างมีมาก ประชากรเฉลี่ย ๑ คนต่อพื้นที่ ๑ ตารางไมล์ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคลหรือระหว่างเผ่าจึงมีน้อย

เราพบว่าในหมู่ชนดั้งเดิมที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่าแม้กระทั่งทุกวันนี้ การใช้ความรุนแรงมีน้อยมาก อัตราการฆาตกรรมในกลุ่มชาวคุงซึ่งยังชีพแบบดั้งเดิมในอาฟริกามีน้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสังคมสมัยใหม่ เมื่อมีการทะเลาะกัน ชาวบุชเมนจะรีบขอให้คนอื่นมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เมื่อมีคนจากกลุ่มหนึ่งเข้ามาล่าสัตว์ในเขตของอีกกลุ่มโดยไม่ได้ขออนุญาต ฝ่ายที่เป็น “เจ้าของ” เขตแดนจะขอให้เพื่อนบ้านไปเป็นพยาน และเข้าไปพูดคุยกับผู้บุกรุก พร้อมกับตักเตือนไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก เมื่อมีผู้นำภาพสงครามจากนิตยสาร ไทม์ ไปให้ชาวบุชเมนดู พวกเขากลับแสดงความพิศวง มีทั้งความไม่เชื่อและเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมต้องใช้วิธีที่โหดร้ายเช่นนั้น

จริงอยู่ชนเผ่าพื้นเมืองที่ดุร้ายก็มีอยู่ อาทิ เผ่ายาโนมามีในบราซิล หรือวาโอรานีในเอกวาดอร์ แต่กรณีชนเผ่าบุชเมนและอีกหลายชนเผ่าทั่วโลก รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อหมื่นกว่าปีขึ้นไปได้ชี้ว่า มนุษย์นั้นไม่ได้มีสัญชาตญาณใฝ่ความรุนแรงไปเสียหมด หรือไม่ได้มีสัญชาตญาณเช่นนั้นอย่างเดียว มนุษย์ยังมีสัญชาตญาณใฝ่สันติอยู่ด้วย สัญชาตญาณดังกล่าวได้รับการหนุนเสริมจากการเรียนรู้ว่า เมื่อใช้ความรุนแรง ย่อมถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง เคยมีคนถามชนเผ่าเซไมในมาเลเซียว่า “ทำไมคุณไม่ไปตีคนอื่น” คำตอบที่ได้ก็คือ “แล้วถ้าเขาตีตอบล่ะ?” ใช่แต่เท่านั้น ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่อำนวย ย่อมทำให้ผู้คนตระหนักว่า การร่วมมือกันและการหันหน้าเข้าหากันเป็นวิธีการอยู่รอดที่ดีที่สุด

ที่น่าสนใจก็คือการร่วมมือและคืนดีกันนั้นเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่ในสัตว์นานาชนิดด้วย โลมานั้นหลังจากวิวาทกันไม่นาน คู่กรณีทั้ง ๒ ฝ่ายก็มักจะเอาตัวเข้ามาถูกันอย่างนุ่มนวลหรือไม่ก็ดุนตัวกัน หมาป่าไฮยีนาซึ่งได้ชื่อว่าดุร้ายและชอบวิวาท แต่ไม่ถึง ๕ นาทีหลังจากสู้กันมันก็จะกลับมาหยอกล้อกัน เลียตัวกัน หรือถูตัวให้กัน ยิ่งลิงด้วยแล้ว การทะเลาะกันมักจะลงเอยด้วยการคืนดีกันเสมอ ถ้าเป็นชิมแปนซี ตัวที่แพ้จะเป็นฝ่ายเข้าไปคืนดี แต่ถ้าเป็นโบโนโบ ตัวที่ชนะมักจะเข้าไปง้อก่อน

พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนมีเหตุผลรองรับ สัตว์เหล่านี้รู้ดีว่าหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของกลุ่มทั้งหมด หากมีสมาชิกหนีออกไปเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องมีราวกัน กลุ่มก็จะมีขนาดเล็กลง ทำให้หาอาหารได้น้อยลง และมีกำลังน้อยลงในการต่อสู้กับผู้รุกราน และถึงแม้จะไม่มีการหนีจากกลุ่ม แต่ถ้ายังมีความบาดหมางกันอยู่ ทั้งสองฝ่ายก็จะเกิดความกังวลและต้องคอยระแวดระวังเพราะกลัวจะถูกทำร้าย ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งมีผลต่อภูมิต้านทานในร่างกาย เคยมีการตรวจสอบร่างกายของสัตว์เหล่านี้ พบว่าการคืนดีนั้นช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้เครียดน้อยลง

นักสัตววิทยาพบว่ายิ่งสัตว์มีการพึ่งพากันมากเท่าไร การปล่อยให้ความบาดหมางยืดยาวออกไปย่อมก่อผลเสียต่อตัวเองมากเท่านั้น การศึกษาลิงบางชนิดพบว่าการคืนดีหลังการต่อสู้กันมักจะเกิดกับคู่ที่มักจะช่วยกันหาอาหารมากกว่ากับคู่อื่นๆ จะว่าไปแล้วนี้ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ชนเผ่าดั้งเดิมพยายามหันหน้าเข้าหากันเมื่อเกิดความขัดแย้ง พวกเขารู้ดีว่าทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกันถึงจะอยู่รอดได้ ถ้ามีความร้าวฉานเกิดขึ้น กลุ่มก็จะอ่อนแอและทุกคนก็อยู่ในความเสี่ยง

ระบบเศรษฐกิจการเมืองและเทคโนโลยีในสังคมสมัยใหม่ ทำให้ผู้คนสำคัญผิดว่าตนเองสามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร เพียงมีเงินในกระเป๋าก็เอาตัวรอดได้ จะทำอะไรก็อาศัยเทคโนโลยีโดยไม่จำต้องงอนง้อใคร แต่นั่นเป็นภาพลวงตา เพราะถึงที่สุดแล้วความผาสุกของแต่ละคนไม่อาจแยกจากของส่วนรวมได้ ยิ่งโลกาภิวัตน์ทำให้คนทั้งโลกมาใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็ยิ่งมีผลกระทบต่อกันมากขึ้น แต่ละคนอยู่ได้ด้วยตนเองก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ในระยะยาวแล้วย่อมไม่อาจแยกขาดจากส่วนรวมได้

สันติภาพและการคืนดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตระหนักว่าเราทุกคนล้วนพึ่งพาอาศัยกัน ความผาสุกของผู้อื่นคือความผาสุกของเราด้วย และที่จะลืมไม่ได้ก็คือการตระหนักว่า ความรุนแรงไม่ใช่สัญชาตญาณของมนุษย์เท่านั้น ความรักสันติก็เป็นสัญชาตญาณของเราด้วยเช่นกัน แม้ว่าความขัดแย้งจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันเราก็คือ “เผ่าพันธุ์นักไกล่เกลี่ยคืนดี” การเห็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างรอบด้านจะช่วยให้สัญชาตญาณใฝ่สันติของมนุษย์มีโอกาสที่จะเติบโตทัดเทียมหรือยิ่งกว่าสัญชาตญาณใฝ่ความรุนแรง และสามารถนำพามนุษยชาติสู่สันติภาพอันยั่งยืนได้

หากเราย่อวิวัฒนาการของมนุษยชาติที่ยาวนานกว่า ๒ ล้านปีให้เหลือเพียง ๒๔ ชั่วโมง มนุษย์เราได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความขัดแย้งมาตั้งแต่เช้ามืด ตลอดบ่าย เย็น และค่ำจนกระทั่งเกือบเที่ยงคืน ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงจึงเกิดขึ้น โดยช่วงเวลาที่นองเลือดนั้นเกิดขึ้นเมื่อ ๑ นาทีก่อนเที่ยงคืนเท่านั้นเอง คำถามก็คือเราจะปล่อยให้ ๑ นาทีสุดท้ายนั้นพามนุษยชาติไปสู่จุดจบหรือเคลื่อนสู่วันใหม่ที่ดีกว่าเดิม ?

Back to Top