คุยข้ามกำแพงของความแบ่งแยก



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

ช่วงนี้บรรยากาศทางการเมืองทำให้เกิดภาวะตื่นตัวขึ้นในสังคมไทยมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะเดียวกัน คู่ขนานไปพร้อมกับโลก on-land นั่นคือสังคมออนไลน์ มีการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกทางการเมืองอย่างมากมายจากทุกสีทุกฝ่าย

ที่น่าเป็นห่วงคือการสื่อสารด้วยคำพูดที่ตีตรา ปรักปรำ ตัดสิน มากกว่าการสื่อสารเชิง “ข้อมูล” หรือ “ความเชื่อ” ของตัวเอง เช่น มีการด่ากันว่า “ไอ้เหี้ย” “ไอ้ควาย” “สมควรตาย” “นรกส่งมา” “พวกล้มเจ้า” ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้ ล้วนมาจาก “ความคิดเห็นและความรู้สึก” ของผู้เรียกเอง แต่ก็สะท้อนถึงความเกลียดชังที่มากขึ้นในสังคม

จนหลายๆ คนเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็น เพราะไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง และพยายามทำตัวเป็นกลาง ซึ่งก็อาจถูกกล่าวหาได้อีกว่า พวกเป็นกลางนี่แหละเป็นพวก “สีเหลืองแน่ๆ เลย” หรือไม่ก็เป็นพวก “ไทยเฉย” ที่หมายถึงการเพิกเฉยละเลย หรือพอบอกว่าไม่มีสี ก็ถูกกล่าวหาว่า “ไม่รักประเทศชาติ” หรือร้ายไปกว่านั้นคือ “ไม่รักในหลวง” หรือพวกที่พยายามพูดถึงการไม่ตัดสิน การมีไมตรีต่อกัน รักกัน ก็ถูกเหมาว่าเป็นพวก “โลกสวย” ที่ดูหน่อมแน้มไป เอาเป็นว่าหากไม่เห็นเป็นพวกเดียวกับตนก็พร้อมที่จะ “จัดพวก” หรือ “ติดป้าย” ให้เป็นพวกอื่นอย่างรวดเร็วทันใจ หรือไม่ก็ “unfriend” ในเฟซบุ๊กกันเลย

ที่น่าปวดหัวที่สุดตอนนี้ น่าจะเป็นการที่หลายๆ บ้านหรือหลายครอบครัวไม่สามารถพูดคุยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกันอย่างเปิดเผยได้ แต่ต้องเลือกที่จะพูดคุยเฉพาะกับผู้ที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน หรือสีเดียวกันเท่านั้น หรือถ้าสีไหนเป็นเสียงข้างน้อยก็ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ในความเงียบไป หลายแวดวงไม่ว่าจะเป็นวงเพื่อนฝูงหรือครอบครัวมีการ “ห้าม” คุยเรื่องการเมือง เพราะกลัวความขัดแย้งที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามผมสังเกตว่า ยิ่งไม่คุย ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ไปในทางหวาดระแวงกันและกันอยู่ในที

ภาวะแบ่งแยกอย่างนี้นับเป็นความถดถอยของการเมืองไทย ไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้จากกันและกัน และมีแต่จะสร้างช่องว่างให้ถ่างไกลออกไปยิ่งขึ้น หากว่าเราคือสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนพึงแสดงหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง และ “มีส่วนร่วม” ในการแสดงความคิดเห็นและกำหนดชะตากรรมของ ประเทศชาติบ้านเมืองร่วมกัน โดยให้คุณค่าและดูแลความต้องการของทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคและยุติธรรม

เวลามีคนถามผมว่าสีอะไร ผมบอกว่าผมไม่ชอบแสดงออกแบบสี เพราะทำให้จุดยืนของผมจำกัด เพราะผมอยากเห็นสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนให้เกียรติกันและกัน และมีส่วนร่วมกันอย่างเท่าเทียม ซื่อตรงและเปิดเผย และอยากเห็นรัฐบาลเป็นตัวแทนเสียงของประชาชนทุกหมู่เหล่าจริงๆ ที่ตรวจสอบได้ ดังนั้นผมไม่เห็นด้วยและไม่ชอบการทุจริตทุกรูปแบบ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือกว่าและนอกรัฐธรรมนูญ อีกอย่างผมไม่ยึดติดกับพรรคการเมืองใดๆ หรือผู้นำคนไหน ผิดถูกว่ากันไปตามเนื้อผ้าหรือข้อมูลที่เป็นจริงมากกว่าการปรักปรำแบบเหมารวม

ผมคิดว่าตอนนี้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองที่สำคัญ เพราะเป็นโอกาสที่สังคมจะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศชาติบ้านเมือง แต่ความท้าทายในปัจจุบันอยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไร ผู้มีการศึกษาหรือผู้อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า จะเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้อยู่ในชนชั้นที่มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าได้อย่างไร ประชาชนผู้เป่านกหวีดที่ต้องการขับไล่ระบอบทักษิณจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประชาชนเสื้อแดงที่มีหลากหลายเฉดสีได้อย่างไร และในทำนองกลับกันชาวสีแดงจะเรียนรู้ความเกลียดชังที่มีต่อการทุจริตคอรัปชั่นของอีกฝ่ายได้อย่างไร

ผมเองก็พยายามเรียนรู้จากคนที่มีความคิดเห็นและความเชื่อต่างไปจากตัวเอง แม้จะมีความไม่แน่ใจ และความกลัวอยู่ลึกๆ ว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์หรือไม่ แต่เมื่อได้ทดลองพูดคุยกับคนรอบข้าง คนที่ทำงานด้วยหรือคนที่บ้าน แม้ว่าเฉดสีจะไม่ได้แตกต่างกันอย่างรุนแรง แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้และเห็นความเป็นไปได้ของการพูดคุยกันข้ามกำแพงของความแตกต่าง

ผมคิดว่าพื้นฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย หรือการปฏิบัติตามข้อตกลงของสังคมภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายจากกันและกันอย่างให้ความเคารพ ให้เกียรติและจริงใจ แสดงออกจุดยืนทางจริยธรรมและคุณค่าของตัวเองได้อย่างไม่ทิ่มแทง ไม่ลิดรอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ผมคิดว่าถ้าเราคุยในเรื่องที่สำคัญๆ เหล่านี้ไม่ได้แล้ว ก็อย่าหวังว่าคนที่มีอำนาจหน้าที่มากกว่าเราเขาจะทำกันเองได้ เพราะเท่าที่เห็น ในรัฐสภานั้นเต็มไปด้วยการประท้วงหรือใส่ร้ายกันและกันมากกว่าจะเป็นการร่วมกันคิดเพื่อหาทางออกให้กับประเทศอย่างสมัครสมานสามัคคี

ดังนั้นผมมีข้อเสนอในการพูดคุยแลกเปลี่ยนท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย คือ

๑. พร้อมที่จะรับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของกันและกัน รับผิดชอบอารมณ์ของตัวเองมากกว่าคุยเพื่อระบายความไม่พอใจให้อีกฝ่ายรับรู้

๒. เปิดใจเพื่อเรียนรู้จากกันและกันว่าอีกฝ่ายคิดเห็นอย่างไร ต้องการอะไร มีเรื่องราวหรือ ประสบการณ์ส่วนตัวอย่างไร ที่เป็นที่มาของความคิดเห็นทางการเมือง การแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่มีทั้งความเจ็บปวด ความผิดหวัง หรือสมหวัง ทำให้เราเข้าใจที่มาและความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้มากขึ้น แทนที่จะคุยเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราเป็นฝ่ายถูกและอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิด

๓. คุยเพื่อเรียนรู้ว่า “ความจริง” มีหลากหลาย ผ่านการรับรู้ข้อมูลหรือประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และรับรู้ด้วยว่า “ความจริง” บางประการยังคงมีฐานะเป็น “ความเชื่อว่าจริง” ด้วย แทนที่จะคุยเพื่อยืนยันว่าใครจริงกว่าใคร

๔. พูดถึง “ข้อมูลที่เป็นจริง ที่มีหลักฐานตรวจสอบได้” มากกว่าเป็นเพียงความคิดเห็นที่ไม่มีมูลชัดเจน และหลีกเลี่ยงการ “กล่าวหา” หรือตีตราปรักปรำ เช่น คำว่าชั่ว เลว ที่อาจลบหลู่ ลดทอนศักดิ์ศรีของอีกฝ่าย

๕. อดทนฟังอย่างไม่พูดขัดหรือแทรกแซง แสดงถึงความเคารพที่มีต่อผู้พูด ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของการพูดคุยแลกเปลี่ยน

๖. แยกแยะการพูดคุยทีละเรื่องแทนที่จะเหมารวม เช่น แทนที่จะกล่าวหาอย่างลอยๆ ว่า “รัฐบาลห่วย” ก็พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น นโยบายการจำนำข้าวที่ขาดทุน เป็นต้น

๗. ยอมรับ ให้เกียรติ และปกป้องความคิดเห็นหรือจุดยืนของอีกฝ่าย แม้จะแตกต่างกับความคิดเห็นของเราอย่างสุดขั้ว และไม่พยายามเปลี่ยนแปลงโน้มน้าวความคิดเห็นของอีกฝ่ายให้เป็นเหมือนเรา

๘. เน้นไปที่เข้าใจโลกของกันและกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกัน และไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปว่า จะต้องมีทางออกที่เหมือนกัน

ผลลัพธ์ที่เราต้องการจากการพูดคุยคือความเข้าอกเข้าใจต่อกัน มีความสัมพันธ์ที่เปิดเผย ไว้วางใจได้ ยอมรับความเห็นต่างได้ และอาจค้นพบสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างให้คุณค่าและห่วงใยร่วมกัน เช่น ความเป็นธรรม การไม่เอารัดเอาเปรียบ ความเท่าเทียม และสันติสุขของชีวิต แม้ว่าจะยังไม่มีทางออกหรือข้อสรุปเชิงวิธีการที่ชัดเจนนัก แต่หากเกิดการยอมรับความแตกต่างโดยรักษาการพูดคุยให้ต่อเนื่อง ก็อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้มากมายและนวัตกรรมใหม่ๆ ทางความคิดทางการเมืองและสังคมด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจจำเป็นต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่จำเพาะในรัฐสภาหรือเวทีที่เป็น ทางการต่างๆ แต่เกิดบนโต๊ะกินข้าว หรือลานบ้านที่เราต่างเปลี่ยนบทสนทนาที่แบ่งแยกเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนที่สร้างความเข้าอกเข้าใจ (แม้ไม่เห็นด้วย) ถ้าเราไม่สามารถพูดคุยกันในเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงกับพวกเราแล้ว เราจะสร้างหรือเรียกร้องให้เกิดสังคมประชาธิปไตยอย่างเป็นจริงได้อย่างไร

Back to Top