การสวัสดีผู้ป่วย



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กันยายน 2556

ตอนที่เรียนจบแพทย์ใหม่ๆ ผมไม่เคยสวัสดีผู้ป่วยเลย พยายามนึกย้อนหลังก็ไม่แน่ใจว่าอาจารย์ไม่สอนหรือสอนแล้วเราไม่จำกันแน่ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผมคนเดียวที่ไม่สวัสดีผู้ป่วย สังเกตว่าเพื่อนร่วมงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็ไม่มีใครสวัสดีผู้ป่วยเช่นกัน

คุณพ่อของผมป่วยด้วยเส้นเลือดสมองข้างซ้ายแตกเป็นก้อนเลือดขนาดใหญ่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ตอนที่ผมไปเยี่ยมคุณพ่อที่โรงพยาบาล มีแพทย์ประจำบ้านมาตรวจร่างกายท่าน คุณหมอไม่ได้มองหน้าผม ไม่ได้สวัสดีผู้ป่วย เข้ามาถึงก็ตรวจร่างกายตามระบบเงียบๆ เสร็จแล้วก็เดินจากไปไม่พูดจา ก่อนหน้าที่ผมจะไปเรียนจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ผมก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน

ตอนที่เป็นแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพียงสัปดาห์แรกของการเรียนและการทำงาน อาจารย์ก็สอนให้สวัสดีผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยเดินเข้ามาในห้อง ถ้าเป็นผู้ป่วยใหม่ ให้สวัสดีครับและแนะนำว่าผมชื่อหมออะไรให้เรียบร้อยก่อนจะสนทนาต่อไป ถ้าเป็นผู้ป่วยเก่า ให้สวัสดีครับทุกครั้ง ถ้าเราเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาผู้ป่วยที่ข้างเตียง ห้องพัก หรือใต้ต้นไม้ ก็ต้องสวัสดีครับทุกครั้ง

คำสอนนั้นชัดเจน ผมทำตามเสมอมาจนถึงทุกวันนี้

การสวัสดีผู้ป่วยเป็นการให้เกียรติ ในกรณีผู้ป่วยจิตเวช เขาจะรับรู้ว่าเขากำลังพบแพทย์ที่พร้อมจะพูดคุยกับเขาหรืออย่างน้อยก็พบแพทย์ที่จะดูแลเขา “ในรูปแบบที่เขาไม่เคยได้รับมาก่อน” การสวัสดีผู้ป่วยจึงเป็นทั้งมารยาทที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาในอนาคต

นอกเหนือจากนี้ การสวัสดีผู้ป่วยยังเป็นการเตรียมตนเอง การรักษาโรคทางกายว่ายากแล้ว การรักษาโรคทางใจยากกว่ามาก การสวัสดีผู้ป่วยกลับเป็นประโยชน์แก่ตัวผมเอง คือเตือนให้ตัวเองระลึก เตรียมพร้อม และเตรียมรับมือปัญหาสารพันที่คาดไม่ถึงนับจากนี้ การสวัสดีทำให้ใจผมเองเป็นฝ่ายสงบ

ผมสวัสดีผู้ป่วยมาเรื่อยๆ จนเป็นมาตรฐาน มิใช่จนเป็นนิสัย การสวัสดีเป็นมาตรฐานการแพทย์ที่ดี เป็น good practice มิใช่ทำจนชินเป็นนิสัยไม่มีความหมายอะไรในคำพูดนั้น การสวัสดีทำให้ตัวผมเองที่ถูกเตือนให้ธำรงตัวอยู่ในสถานะแพทย์ คืออนุญาตให้สัมพันธ์กับผู้ป่วยได้ในเชิงรักษาเท่านั้น เรียกว่าสร้าง ความสัมพันธ์เชิงรักษา (therapeutic relation) แม้ว่าเราจะอยู่ในสถานะเหนือกว่าเพราะเป็นแพทย์ เราก็เท่าเทียมกับผู้ป่วยในสถานะความเป็นมนุษย์ด้วยกัน นั่นคือพบกันก็สวัสดี แต่เราก็จะไม่เลยเถิดจนก้าวล่วงไปเป็นความสัมพันธ์เชิงสังคม (social relation) ทำให้เกิดมาตรฐานอีกหลายข้อตามมา เช่น การใช้สรรพนามให้ถูกต้องเหมาะสมและเป็นทางการ ไม่ให้ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์หรืออนุญาตให้มีการพบกันนอกสถานที่รักษา ไม่รับของขวัญที่สื่อนัยยะไม่เหมาะสม เป็นต้น

การสวัสดีจึงเป็นเครื่องมือทางคลินิกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น

ผมสวัสดีผู้ป่วยเรื่อยมาจนถึงปีที่ได้ติดตามคณะดูงานของระบบสุขภาพไปที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ที่นั่นผมได้เรียนรู้มาว่า การให้ของคนอื่น เช่น การให้ของบริจาคผู้ประสบภัยใดๆ ผู้ให้ต้องก้มหัวลงให้ต่ำกว่าผู้รับ เมื่อกลับจากการดูงานครั้งนั้น ผมจึงเริ่มไหว้ผู้ป่วย

เมื่อตรวจผู้ป่วยเสร็จ เขียนใบสั่งยาเรียบร้อย เมื่อแน่ใจว่าการพบกันจบแล้ว ผมจะไหว้ผู้ป่วยอย่างดีอีกครั้งก่อนที่จะยื่นใบสั่งยาให้เขารับ ปัญหามีอยู่ว่าเวลาเรายื่นใบสั่งยาให้เขารับ เขาจะไหว้เราก่อนทุกที มือเราก็กำใบสั่งยาอยู่จะรับไหว้ไม่ถนัดและไม่งาม จึงไหว้ผู้ป่วยเสียก่อนง่ายกว่า

การไหว้ผู้ป่วยขาออกทำให้ตนเองใจสงบ ด้วยความที่ตนเองตรวจผู้ป่วยวันละเกือบร้อยหรือเกินร้อย การทำงานซ้ำๆ ติดๆ กันนานหกเจ็ดชั่วโมงทำให้เครียด เบื่อ เซ็ง และอยากตายเสมอๆ การไหว้ผู้ป่วยวันละร้อยครั้งช่วยใจตนเองได้มาก ใจสงบครั้งละสองวินาทีหลายๆ ครั้ง วันนั้นเราก็สงบได้เหมือนกัน

การไหว้จึงไม่ใช่พิธีกรรม เป็นเครื่องมือรักษาด้วยเช่นกัน เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการรักษาตนเองให้สามารถทำงานปริมาณมากๆ ได้ดีขึ้น ไม่เละเทะจนเกินไป

แน่นอนว่ายังคงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจเมื่อผมให้เวลาน้อย อีกจำนวนหนึ่งไม่พอใจเมื่อผมไม่ตามใจ และมีบางครั้งที่ผมรู้สึกไม่พอใจญาติผู้ป่วยที่ชอบกระทำรุนแรงต่อผู้ป่วยทางจิตเสมอๆ เหล่านี้ทำให้ใจผมขุ่นมัว ปรากฏว่าการไหว้ที่ดีช่วยดับไฟของเราเองได้

สองปีที่ผ่านมา ผมได้รับคำสั่งให้สอนนักศึกษาแพทย์ด้วยท่ามกลางภาระงานที่หนักอยู่แล้ว การสอนนักศึกษาแพทย์เป็นเรื่องดี แต่หลักสูตรการสอนที่เป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย การจ่ายค่าตอบแทนการสอนเป็นหลักพันหลักหมื่นเพิ่มให้เป็นพิเศษ (on top) จากเงินเดือนประจำเป็นปัญหาทางจริยธรรม มีเขียนในตำราว่าเป็น problematics สร้างปัญหาการบริการประชาชนทั่วไปอย่างรุนแรง เกิดปัญหาจริยธรรมองค์กร ในที่สุดผมตัดสินใจหยุดสอนไปเมื่อพบว่ามีแพทย์รุ่นน้องมาช่วยสอนมากพอแล้ว ระหว่างที่สอนนั้นมีเรื่องหนึ่งที่ผมพบเห็นเป็นประจำ คือนักศึกษาแพทย์ไม่สวัสดีผู้ป่วย ทำให้ตอบข้อสงสัยในย่อหน้าแรกได้ว่าทำไมตอนผมจบแพทย์ใหม่ๆ ผมก็ไม่สวัสดีผู้ป่วย เพราะที่แท้แล้วอาจารย์คงจะลืมสอน

วันนี้ผมสวัสดีและไหว้ผู้ป่วยไปประมาณแปดสิบคนในตอนเช้า สิ่งที่ได้คือใจตนเองสงบ ผู้ป่วยทุกรายก็ดูเหมือนจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ดีตามที่ควร

จึงว่างานหนักเพราะเราทำตัวเองให้หนัก งานเบาเพราะเราทำตัวเองให้เบา

Back to Top