เรียกร้อง คือ ร้องขอ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖


เมื่อวานในขณะที่ผมนั่งคุยงานอยู่ที่โต๊ะกินข้าว โดยมีลูกสาวสองคนนั่งให้แม่ป้อนข้าวอยู่ใกล้ๆ พร้อมกับร่วมพูดคุยกันไปด้วย ผมได้ยินเสียงโมโม่ ลูกสาวคนโตพรึมพรำออกมาในเชิงตัดพ้อเบาๆ แต่ไม่ได้ยินชัดนัก เพราะข้าวยังเต็มปาก สักพักก็เริ่มได้ยินเสียงเคาะปากกากับโต๊ะกระจก ดัง “แก๊ก แก๊ก แก๊ก แก๊ก…” ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก แต่สักพักดูเหมือนเสียงจะดังขึ้นและถี่ขึ้นเหมือนอยากให้เราได้ยิน แม่เขาก็หันไปเตือนลูกสาวว่า “โมโม่อย่าเคาะ พ่อกำลังคุยงานกับป้าเขาอยู่ รีบๆ กินข้าวให้เสร็จแล้วค่อยเล่น เสียงมันกวนพ่อเขา” ดูเหมือนเสียงจะเบาลงไปสักพัก ทำให้ผมรู้สึกว่าได้ความสงบคืนมาสักครึ่งนาที แต่แล้วเสียงเคาะโต๊ะก็ดังขึ้นมาอีก “แก๊ก แก๊ก แก๊ก แก๊ก…”

ผมหันไปมองหน้าลูกสาว เห็นหน้าเขาดูบูดๆ บึ้งๆ และแอบคิดในใจว่า “นี่ลูกก็โตจะ ๕ ขวบอยู่แล้ว ทำไมคุยไม่รู้เรื่องและดื้ออย่างนี้” ผมละจากการพูดคุยแล้วหันไปหาโมโม่ มองเข้าไปในตาเขาแล้วพูดว่า “โมโม่ พ่อขอร้องล่ะ พ่อขอคุยกับป้าเขาอีกนิดเดียว โมโม่ช่วยหยุดเคาะหน่อยได้ไหม พ่อไม่มีสมาธิเลย โมโม่กวนพ่ออย่างนี้” แล้วผมก็หันกลับไปคุยต่อ คิดว่าการขอร้องแบบสุภาพและแสดงความความจริงจังอย่างนี้ น่าจะทำให้โมโม่ให้ความร่วมมือด้วยดี แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อเสียงอันน่ารำคาญหูได้ดังขึ้นอีก “แก๊ก แก๊ก แก๊ก แก๊ก…” พร้อมกับคำรำพึงรำพันเบาๆ อยู่ในปากว่า “ก็แม่อ้อไปป้อนน้องมุกทำไม”

เสียงเริ่มดังขึ้นและถี่ขึ้น “แก๊ก แก๊ก แก๊ก แก๊ก…” จนน้าสาวที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ถึงกับลุกขึ้นจัดการด้วยตัวเอง “นี่ถ้าโมโม่ไม่หยุด เดี๋ยวอี๊จะตีล่ะนะ” โมโม่เคาะโต๊ะช้าลงๆๆ จนหยุด แล้วเริ่มร้องไห้โฮออกมา ตอนนั้นผมรู้สึกแล้วว่าการที่ผมละเลยไม่ใส่ใจความรู้สึกลึกๆ ของลูกสาวนำมาสู่การระเบิดอารมณ์ของทุกฝ่าย เลยหันไปถามโมโม่ว่า “ที่โมโม่เคาะโต๊ะอย่างนี้เพราะอยากให้แม่รู้ว่าโมโม่น้อยใจที่แม่หันไปป้อนน้อง แล้วไม่ป้อนให้โมโม่ใช่ไหมลูก” โมโม่พยักหน้าพร้อมกับน้ำตานองหน้า และพูดว่า “ก็แม่เขาไม่เอาคำนั้นมาให้โมโม่ แต่กลับเอาไปให้น้อง” ผมรู้สึกดีใจที่เข้าใจโมโม่ “อ๋อ พ่อเข้าใจแล้ว ที่โมโม่เคาะโต๊ะเนี่ย โมโม่ไม่ได้อยากกวนพ่อหรือป้า แต่อยากบอกให้แม่รู้ว่าโมโม่อยากให้แม่ป้อนข้าวหนูต่อใช่ไหม” โมโม่พยักหน้าแล้วร้องไห้สะอึกสะอื้นต่อ เหมือนกับเมฆดำเริ่มแปรสภาพกลายเป็นเม็ดฝนหยาดน้ำตา

ส่วนแม่ก็พูดว่า “แม่เข้าใจแล้ว โมโม่ยังอยากกินอยู่และอยากให้แม่ป้อนอยู่ใช่ไหม ที่แม่ไม่ได้ป้อนเมื่อกี้ เพราะเห็นโมโม่คายออกมา นึกว่าไม่กินแล้ว แม่ก็เลยหันไปป้อนน้อง” ว่าแล้วแม่ก็ลุกขึ้นเดินไปโอบลูกสาว โมโม่ร้องไห้โฮ แต่ดูเหมือนว่าเป็นการร้องไห้แห่งความเสียใจปนดีใจที่แม่หันกลับมาเข้าใจ

ผมรู้สึกเข้าใจลูกสาวมากขึ้นและค้นพบว่า “เด็กดื้อไม่เคยนั่งอยู่ตรงนั้นเลย” มีแต่ “ผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ” ที่เต็มไปด้วยคำตัดสินและตีตราลงโทษในรูปแบบต่างๆ ที่รุมล้อมความต้องการอันบริสุทธิ์ของเด็ก ด้วยความคาดหวังและคำตัดสินของตัวเอง

ผมรู้สึกสะเทือนใจที่หลายๆ ครั้ง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นและทำให้ลูกรู้สึกเสียใจที่ผู้ใหญ่อย่างเราไม่ เข้าใจ แถมยังรุมตัดสินและลงโทษด้วยน้ำเสียงและวิธีการที่นับวันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ความเชื่อที่ว่า “ถ้าดื้อนัก ก็ต้องลงโทษ” เพื่อให้เขาหลาบจำ เป็นการแสดงถึง “ขอบเขต” ที่ชัดเจน เพื่อ “อบรมบ่มนิสัย” ให้ทำตาม “เหตุผล” มากกว่าทำตาม “อารมณ์ความรู้สึก” ของตัวเอง

ยิ่งเรากลัวว่าลูกของเราจะเข้าข่าย “ตามใจตัวเอง” เราก็เริ่มกระหน่ำโบยตีหัวใจของลูกด้วยมาตรการ ต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของเขาให้เป็นไปตามความต้องการและความคาดหวังของเรา ไม่ว่าจะเป็นการขู่ ว่า “ถ้าทำตัวอย่างนี้เดี๋ยวแม่ไม่รักนะ” หรือตำหนิต่อว่า “ดื้ออย่างนี้ไม่น่ารักเลย” แม้ผมจะไม่ได้ลงโทษลูกด้วยการตี แต่การฟาดฟันด้วยอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดฉุนเฉียวแบบหลุดๆ ก็นับว่ารุนแรงและน่ากลัวสำหรับเด็กตัวเล็กๆ ยังไม่ต้องนับการลงโทษทางร่างกายอื่นๆ ที่เด็กถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการตี เขกหัว สับ ฟาด โบย ขัง หยิก เพื่อให้ “บทเรียน” ในนามของความรักและความหวังดี ที่อาจนำไปสู่บาดแผลในใจ ความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ความห่างเหินและความหวาดระแวง และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ การตีตรา ติดป้าย ประณาม จนพวกเขาเริ่ม “เชื่อ” ว่านั่นคือพวกเขาจริงๆ

บทเรียนที่ผมได้รับ ทำให้ผมมีคำถามที่เกี่ยวโยงกันไปว่า สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กได้อย่างไร ครูเข้าใจนักเรียนมากกว่าตีตราตัดสิน จะเป็นสังคมที่ครอบครัวมีเวลาใส่ใจความต้องการของกันและกันได้อย่างไร จะเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจมากกว่าใส่ใจ ไม่ละเลยผู้มีอำนาจน้อยกว่าได้อย่างไร

การที่ฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่าพยายามให้บทเรียนกับพวกเขา ยิ่งจะทำให้พวกเขามีทางเลือกสองทาง ทางแรกคือการ “ยินยอม” แต่ก็อาจรู้สึกว่าต้องละเลยความต้องการของตัวเองไป และเก็บกักความขุ่นเคืองไว้ หรือไม่ก็ “ต่อต้าน” เหมือนกรณีลูกสาวของผม การเคาะโต๊ะด้วยปากกา เจตนาไม่ได้ต้องการก่อกวน แต่ต้องการ “สื่อสาร” ให้ผู้ที่มีอำนาจเข้าใจและเห็นใจเขา

หากโยงเรื่องที่ดูเล็กๆ ในครอบครัวมาสู่ภาพใหญ่ในสังคม เราจะสังเกตเห็นวิธีการสื่อสารที่หลาก หลายของคนกลุ่มน้อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ก็ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ ถ้าการตัดสินของ “ผู้ใหญ่” หรือผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่เป็นเสียงด้านที่มีอำนาจมากกว่า ได้เปรียบกว่า จะตัดสินและประณามพฤติกรรมของพวกที่เสียเปรียบ หรือด้อยว่าเป็นพวก “ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล” พวก “ดื้อหัวรุนแรง” เห็นแต่ประโยชน์ของตัวเองมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม มองเห็นการ “เรียกร้อง” ต่างๆ ว่าเป็นการ “ก่อกวน” ด้วยอุบายและเล่ห์กล มากกว่าการ “ร้องขอ” ให้เข้าใจและแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เสียงตีกระทบก็จะยิ่งดังขึ้นๆ แรงขึ้นๆ และยิ่งถูกจัดการด้วยความรุนแรงและการควบคุม แรงส่งเหล่านี้ก็จะยังคงเติบโตแข็งแกร่งขึ้น

วิธีการเดียวเท่านั้นที่จะจัดการได้ คือเปลี่ยนความเป็น “ผู้ใหญ่ที่ไม่รับฟัง” ของตัวเองให้เป็น “ผู้ใหญ่ที่พร้อมรับฟังและเข้าใจ” เสียงที่ดูเหมือนจะรบกวนเราให้ได้ ใช้ความรักความเห็นอกเห็นใจ เป็นตัวชี้นำเพื่อเข้าไปรับรู้และเข้าใจ มากกว่าใช้เหตุผลคำอธิบายร้อยแปดพันประการ

Back to Top