อยู่กันคนละโลก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556

ช่วงนี้มีกระแสความไม่เข้าใจกันในสังคมมาก ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจว่าฝ่ายอื่นนั้นทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้อย่างไร ในบทบาทของสมาชิกจิตวิวัฒน์ผมก็คงจะทำได้ในแง่ของการนำเสนอมุมมองหนึ่ง ซึ่งอาจจะนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ในปัจจุบันได้บ้าง จะมีประโยชน์มากน้อยก็แล้วแต่ท่านจะเลือกรับ

ผมคงต้องพาท่านกลับไปในสิ่งที่เคยพูดถึงหลายครั้งแล้ว คือเรื่องลำดับขั้นของการวิวัฒน์จิต ซึ่งนำมาจากแนวความคิดเรื่อง Spiral Dynamics ซึ่ง แคลร์ เกรฟส์ (Clare Graves) ค้นคว้าวิจัยขึ้นในยุค ๑๙๗๐ และพัฒนาต่อโดยทีมของดอน เบ็ค (Don Beck) หลักการพื้นฐานของ “เกลียวพลวัติ” นี้บอกเอาไว้ง่ายๆ ว่า ในลำดับขั้นการวิวัฒน์จิตสำนึกของมนุษย์เรานั้น จะต้องผ่านลำดับชั้นต่างๆ ที่เรียกว่า “มีม” ซึ่งไม่ได้เป็นขั้นแบบตายตัว แต่ว่าจะสอดไขว้กันในลักษณะการแทรกสอดของคลื่น ซึ่งในแต่ละขั้นย่อมส่งผลต่อกันและกัน ถึงแม้จะข้ามผ่านระดับจิตหนึ่งไปแล้วแต่ก็มีอาการที่เรียกว่า “ข้ามพ้นแต่ปนอยู่” หมายถึงไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

ระดับดับจิตที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง เขาแบ่งออกเป็นสีครับ ในกลุ่มแรก หรือปฐมภูมิจะมีหกสีคือ “น้ำตาลอ่อน” “ม่วง” “แดง” “น้ำเงิน” “ส้ม” “เขียว” เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มพื้นฐาน และระดับทุติยภูมิคือ “เหลือง” และ “เขียวเทอร์คอยส์” เป็นกลุ่มจิตบูรณาการ (สำหรับเคน วิลเบอร์ เมื่อพัฒนางานนี้ร่วมกับเบ็ค ก็ได้นำเสนอกลุ่มที่สามหรือ ระดับตติยภูมิ ซึ่งเป็นระดับข้ามพ้นอัตตา แต่ผมจะไม่ขอพูดถึงในบทความนี้) อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย เป็นคนแรกๆ ที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดถึง โดยแปลลำดับขั้นเหล่านั้นเป็นภาษาไทย ผมขออนุญาตปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และยุคสมัย โดยผมขอเรียกจิตหกระดับแรกเป็น “สัญชาติญาณ”, “ไสยศาสตร์”, “เด็กแว๊น”, “ศรัทธาชน ”, “คนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” และ “หัวก้าวหน้า” ส่วนจิตทุติยภูมิเป็นพวกที่เริ่มจะมองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง แบ่งได้เป็นสองพวก คือ “จิตบูรณาการ” และ “จิตองค์รวม” ซึ่งมีความสุขุมกว่าจิตในกลุ่มแรก และมีน้อยคนที่สามารถวิวัฒน์จิตของตนให้มาถึงตรงนี้ได้

ปัญหาก็คือจิตหกระดับแรกนั้นไม่สามารถเข้าใจจิตของผู้ที่อยู่ในภูมิเดียวกันแต่ต่างระดับชั้นจากตนเองได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่พบว่าคนในสังคมเดียวกับเราทำไมจึงมีทั้งความคิดและพฤติกรรมที่แตกต่างจากเราราวกับอยู่คนละโลก เพราะอยู่กันคนละ ‘โลก’ จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น พวกหัวสมัยใหม่มักจะยึดเอาสิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงยังมีคนบางจำพวก “งมงาย” กับเรื่องบั้งไฟพญานาค ทั้งๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแค่ปืนที่ยิงมาจากฝั่งลาว ส่วนคนรุ่นเก่าเมื่อเห็นคน “คนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” ไม่รู้ขนบธรรมเนียม ทำในสิ่งที่ “ผิดผี” หรือ “คะลำ” เช่นนั่งขวางประตู หรือใส่เสื้อใหม่เมื่อยังไม่ถึงเทศกาล ก็ขี้คร้านจะอธิบายถึงภูมิปัญญาโบราณให้ฟังถึงเหตุที่มาที่ไป เพราะพูดไปคนพวกนี้ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เลยไม่รู้ว่าใครโง่กันแน่

ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยหลายต่อหลายครั้งก็คือสงครามระหว่าง “ระดับจิต” ที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่กลุ่มกระทิงแดงออกมาทำการร่วมกับลูกเสือชาวบ้าน ก็คือการร่วมมือกันระหว่างระดับจิต “เด็กแว๊น” และ “ศรัทธาชน” เพื่อกระทำรุนแรงกับนักศึกษา ซึ่งก็คือ “หัวสมัยใหม่” กับ “หัวก้าวหน้า” เด็กแว๊น นิยมการใช้กำลังในการแก้ปัญหา ส่วน “ศรัทธาชน” คือผู้ซึ่งมีความเชื่อและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องอุดมการณ์ของตน โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ กลุ่มนักศึกษาซึ่งประกอบด้วยระดับจิตแบบ “ชนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” จะเชื่อมั่นในหลักเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์ และ “หัวก้าวหน้า” คือพวกที่มองว่าโลกนี้ไม่มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว หรือเป็นพวกหลังสมัยใหม่ (post modern)

แล้วการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในปัจจุบัน มองในแง่ระดับจิตแล้วก็คือการต่อสู้ที่เริ่มจากคนทำงาน/คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่อดรนทนไม่ไหวต่อความอยุติธรรม ซึ่งผมเห็นว่าในตอนเริ่มต้นนั้นขบวนการนี้เกิดขึ้นจาก “ศรัทธาชน” ซึ่งมีความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ และอิงกระแสความศรัทธาในสถาบันการศึกษาของตน ติดตามมาด้วย “ชนชั้นกลาง” หรือ “หัวสมัยใหม่” ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะเห็นว่าเรื่องนี้ผิดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนพวก “หัวก้าวหน้า” ก็ยังสงวนท่าที พยายามจะหาข้อมูลจากหลายฝ่าย ไม่พยายามจะชี้ผิดชี้ถูกในเรื่องที่เกิดขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุมจึงมาจากหลายระดับจิต ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่บางคนในคณะแกนนำนั้นถูกล็อกเอาไว้ที่ระดับจิตแบบหนึ่ง ในขณะที่มวลชนหลายคนอยู่ในระดับจิตอีกแบบหนึ่ง เช่น แกนนำบางคนพยายาม “โหน” สถาบัน โดยหวังว่าจะได้คะแนนจากพวก “ศรัทธาชน” แต่ก็ทำให้พวกกลุ่ม “ชนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” และ “หัวก้าวหน้า” เกิดความรู้สึกรำคาญ หรือเมื่อการต่อสู้เรียกร้องถูกเบี่ยงเบนจุดประสงค์ไปเป็นการล้มล้างรัฐบาลในทุกรูปแบบ บรรดาพวกหัวสมัยใหม่ที่ชอบหลักการและเหตุผลก็รับไม่ได้ ครั้นพอแกนนำจะถอยหลังกลับไปใช้กลยุทธ์ที่เคยใช้ได้เมื่อช่วงการชุมนุมในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ คือการกระตุ้นระดับจิต “ไสยศาสตร์” เช่น การเผาพริกเผาเกลือ การสาปแช่ง การใช้โหราพยากรณ์ หรือโหนกระแสพระสยามเทวาธิราช ก็ไม่น่าจะใช้ได้กับการชุมนุมในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยคนวัยทำงานซึ่งยึดในเรื่องการพิสูจน์ด้วยหลักเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์

การปลุกม็อบชนม็อบ แบบการชุมนุมในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็ทำได้ยาก เพราะผมเชื่อว่าคนไทยที่อยู่ในระดับจิต “เด็กแว๊น” ก็วิวัฒน์ไปมาก เพราะเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง เห็นความสูญเสียที่เกิดจากการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ผมเชื่อว่าหลายกลุ่มเริ่มผันตัวเองไปสู่จิตระดับที่สูงขึ้น เช่นหันกลับมามีศรัทธากับกระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการสันติวิธี การไม่ยอมให้มีรัฐประหาร อีกทั้งไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือง่ายๆ เพราะเริ่มหันมาใช้เหตุใช้ผล ซึ่งเป็นอาการของจิตในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม

ที่พูดมานี้จัดว่าแบ่งโดยหยาบ เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้แต่จะอยู่ในระดับจิตเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าจะเห็นตรงกันในทุกเรื่อง เช่น ศรัทธาชน ถ้าหากศรัทธากันไปคนละเรื่องก็คงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง จะเป็นมิตรกันหาได้ไม่ ที่บอกว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ใช้ได้ผลในตอนที่ยังสงวนจุดต่าง แต่ถ้านำจุดต่างออกมาห้ำหั่นกันเมื่อใด จุดร่วมที่ว่าก็เปราะบางจนช่วยเหลืออะไรไม่ได้

ถ้าหากยังมีการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างระดับจิตทั้งหก ไม่เว้นแม้แต่ในระดับจิตเดียวกัน แล้วจะมีวิธีการใดบ้างเพื่อหลีกเลี่ยง หรือนำพาสังคมไปสู่ความสงบสุข ทางออกของเกลียวพลวัติก็คือ จะต้องยกระดับจิตให้ขึ้นไปถึงระดับทุติยภูมิให้ได้ คือ “จิตบูรณาการ” ซึ่งมี “สีเหลือง” และ “เขียวเทอร์คอยส์” จิตทั้งสองประเภทนี้ได้ข้ามพ้นจิตปฐมภูมิซึ่งยังยึดเอาตัวเองเป็นใหญ่ จิตทุติยภูมิถ่ายถอนความเป็นตัวกูของกูออกไปได้บ้างแล้ว จนเป็นจิต “ใหญ่” ที่มีเมตตากรุณาในระดับที่เห็นองค์รวม หรือบูรณาการเป็นสารัตถะและเป็นกิจอันสำคัญ จิตระดับนี้จึงมีความเข้าใจ เห็นใจจิตปฐมภูมิทุกระดับที่ผ่านมาอย่างลุ่มลึก ไม่ใช่แค่ยึดความดีและนำความดีของตนไปกดทับผู้อื่น

ในทุกศาสนามีคำสอนเรื่องการเจริญคุณธรรมด้านนี้ ทางพุทธมีเมตตาบารมี ทางคริสต์มีความรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ทางอิสลามมีธรรมนูญสอนให้มนุษย์อยู่กันอย่างมิตร ไม่ว่าจะเป็นศาสนิกชนหรือไม่ ถ้าหากสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ส่งเสริมความรักในเพื่อนมนุษย์ และเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งต่างๆ ไม่มองอย่างแยกส่วน นั่นก็แสดงว่าคุณกำลังก้าวไปสู่การวิวัฒน์จิตไปสู่ระดับทุติยภูมิ ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือทางรอดเพียงอย่างเดียวของมนุษยชาติ

Back to Top