สิ่งที่เราต้องการ



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2556

บ่ายวันหยุดสุดสัปดาห์ คู่รักวัยทำงานคู่หนึ่งต้องการใช้เวลาที่หาได้ยากในการทำกิจกรรมร่วมกัน

ฝ่ายหนึ่งอยากชวนไปห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน เพื่อซื้อหนังสือ ดูหนังสักรอบ และต่อด้วยดินเนอร์สองต่อสอง

อีกฝ่ายอยากขับรถชวนออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์นอกเมือง เดินเล่นออกกำลังกายในสวน และซื้ออาหารสดกลับมาทำอาหารกันเองที่บ้าน

เถียงกันไปมาไม่ลงตัว สุดท้ายกลายเป็นทะเลาะกัน หน้าบึ้งตึงตัง ต่างคนต่างออกนอกบ้าน แยกกันไปทำอย่างที่แต่ละคนอยากจะทำ – ลืมไปเลยว่า แต่ละคนอยากใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน

พวกเราส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ การถกเถียงกันในหลายเรื่องก็เป็นเช่นนี้ การจับประเด็นในการสนทนาไม่ใช่เป็นเพียงการจับแต่เพียงถ้อยคำ แต่ต้องลงลึกไปให้ถึงความต้องการของแต่ละคน ซึ่ง – หลายครั้งพบว่า ไม่ได้แตกต่างกันเลย แต่เรากลับหลงประเด็น และติดกับอยู่กับความแตกต่างในเชิงรูปแบบที่สะท้อนความต้องการของแต่ละคนเท่านั้นเอง

ชาวบ้าน – ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ดังเช่น ชาวเขาคูหา จังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหิน ชาววังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ชาวเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือชาวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับผลกระทบหากมีการทำท่าเรือน้ำลึก – เมื่อรวมตัวกันประท้วง ก็มักจะถูกมองว่าเป็นพวกล้าหลังต่อต้านการพัฒนา เป็นพวกเห็นแก่ตัวถ่วงความเจริญของประเทศชาติส่วนรวม

ทั้งที่หากตั้งคำถามว่าพวกเขาและเธอต้องการอะไร? ก็จะพบว่าพวกเขาและเธอเพียงแต่ต้องการชีวิตที่ดี อากาศที่ดีสำหรับหายใจ น้ำที่ดีสำหรับกินดื่มใช้ สิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยสำหรับใช้ชีวิต/ทำมาหากิน/เลี้ยงลูกหลาน ซึ่ง – ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากความต้องการของพวกเรา ที่ต้องการสวนสาธารณะไว้เดินเล่นและออกกำลังกาย ทางเดินเท้าที่ดี ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ฯลฯ

ความขัดแย้งทางการเมืองก็เช่นกัน ฝ่ายหนึ่งปฏิเสธรัฐประหาร ฝ่ายหนึ่งปฏิเสธคอร์รัปชั่น ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องประชาธิปไตย ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งในเชิงอุดมคติและอุดมการณ์เหล่านี้ไม่มีอะไรจะขัดแย้งกันได้เลย และทุกฝ่ายต่างก็ต้องการให้ประเทศ/สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

ดูเหมือนจะมีอุปสรรคสำคัญหลายประการที่ทำให้เราต่างก็เป็นผู้สร้างความขัดแย้งขึ้นมาระหว่างกัน แต่ปัจจัยสำคัญหนึ่งเห็นจะเป็นเรื่องของการรับฟังกันและกันอย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหัวใจได้เปิดออกแล้วเท่านั้น เพราะหัวใจที่เปิดออกจะทำให้อาณาบริเวณของสติปัญญาและความกรุณาแผ่กว้างขึ้น หัวใจที่ปิดจะมีแต่กังวานอื้ออึงของตนเองที่ตะโกนย้ำ-ย้ำซ้ำ-ซ้ำว่าอีกฝ่ายโง่/ต่ำช้า/เลวร้าย/ด้อยกว่า ทำให้ไม่อาจได้ยินหรือจับประเด็นความต้องการของอีกฝ่ายได้ การสนทนาเชิงสร้างสรรค์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในภาวะหัวใจปิด การเรียนรู้และปัญญาญาณใหม่จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้

จะว่าไป การสืบค้นความต้องการเป็นทั้งเรื่องไม่ง่ายและไม่ยาก แต่เรามักจะละเลยและไม่คุ้นชินกับคำถามนี้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของตนเองหรือคนอื่น และนี่ก็อาจจะเป็นอีกเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง/ไม่ลงตัว/ไม่เข้าใจ

วิธีการง่าย-ง่ายก็คือ การตั้งคำถามว่า “ทำไม?” ๕ ครั้ง นั่นคือ เมื่อได้คำตอบจากคำถามแรกก็ถามต่อไปอีกว่า ทำไม? หรือถ้าจะถามมากกว่านี้ถึง ๒๐ ครั้งก็ยังได้ – ไม่จำเป็นต้องเชื่อ เพราะต้องพิสูจน์ด้วยการทดลองกับตัวเองว่าวิธีนี้ได้ผลเป็นอย่างไร

ประโยคของท่านทะไลลามะที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเกลียดทุกข์รักสุขด้วยกันทั้งนั้น” ดูเหมือนจะสรุปความต้องการพื้นฐานของเราไว้ได้ไม่มากก็น้อย แต่ปรากฏว่าความต้องการเทียมมาเกลื่อนกลบความต้องการพื้นฐานนี้ไปเสียหมด และทำให้เราแปลกแยกจากตัวเองและคนอื่นมากยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น

สภาพชีวิตปัจจุบันแวดล้อมไปด้วยการสร้างความต้องการเทียมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ แฟชั่นกระเป๋าและเสื้อผ้าล่าสุด ประกันชีวิต การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องมือแพทย์นำเข้าล่าสุด ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประกาศกแห่งการซื้อเพื่อความมีและความเป็น ผ่านแผ่นป้ายโฆษณาที่ติดอยู่ทั่วเมือง จึงน่าเห็นใจว่าเราถูกสะกดจิตให้หลงลืมการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของตนเองอยู่แทบตลอดเวลา

ความต้องการเทียมเหล่านี้ยังทำให้เราไม่เห็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงอันซับซ้อน ก็ในเมื่อเราพึงพอใจแต่เพียงการได้ครอบครองสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด จะสนใจไปไยกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทอง/ตะกั่ว/แมงกานีส/ทังสเตน – ต้นทางของวัสดุพื้นฐานของเทคโนโลยีเหล่านี้ ในเมื่อเราพึงพอใจแต่เพียงการมีน้ำมันราคาถูก จะสนใจไปไยกับห้างสรรพสินค้าที่ใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณมากกว่าหลายจังหวัดรวมกัน ในเมื่อเราพึงพอใจกับการส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ จะสนใจไปไยกับคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบการศึกษาในประเทศ ฯลฯ

การแยกแยะความแตกต่างระหว่างความต้องการแท้และเทียมมีความสำคัญมาก และหากมองเห็นความต้องการร่วมกันของเราและคนอื่นได้ ก็ย่อมจะพ้นไปจากความขัดแย้งได้ – การสืบค้นและทำความเข้าใจต่อความต้องการที่แท้จริงของเราและผู้อื่นจึงเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการไปในตัว

Back to Top