มิถุนายน 2005

โลกมีที่ยืนให้เสมอ

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2548

ชื่อบทความนี้ยืมมาจากวรรคทองใน “ของดีมีอยู่” ซึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน เขียนไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๐ - ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๘

จริงสินะ โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาลพอที่สรรพสัตว์ไม่ว่าจะตัวเล็กตัวน้อยหรือใหญ่โตมโหฬารได้มีที่อยู่และที่ยืน

กระจิบกระจอกจ้อย มีต้นไม้ใบหนาและท้องฟ้ากว้างเป็นโลกของมัน ถึงจะมีพายุพัดกล้าหรือฝนกระหน่ำ เพียงมันเกาะหลบนิ่งในรังเล็ก ๆ ชีวิตก็อยู่รอด

มนุษย์นี้หนอ ร่างกายก็ไม่ใหญ่โตอะไรนัก เมื่อเทียบกับช้างม้าวัวควาย แต่กลับต้องการพื้นที่อยู่กว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด ใจมันอยากอยู่บ้านใหญ่ ๆ มีที่ดินมาก ๆ ทำงานตำแหน่งสูง ต้องการสิ่งแสดงสถานะ เช่น ปริญญาบัตร ยศศักดิ์ และอำนาจวาสนา คนเราจึงต่อสู้พากเพียรเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนใฝ่ฝัน

ปัญหาก็คือความต้องการของคนนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อทำใจให้ “พอ” ไม่เป็น ความไม่พึงใจ ไม่ได้ดังหวัง ความรู้สึกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จ ต่ำต้อยน้อยหน้าก็เกิดขึ้น กลายเป็นผู้ครองอนิฏฐารมณ์ ชีวิตนี้มีแต่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา

หลายคนตั้งใจเหลือเกินที่จะทำงานหนักเพียงเพื่อให้ครอบครัวมีกินมีใช้ มีเงินพอที่จะส่งลูกเรียนหนังสือ แต่โอกาสช่างไม่มีผลดีช่างไม่เกิด ต้องต่อสู้ดิ้นรนล้มลุกคลุกคลาน คนกลุ่มนี้มองชีวิตเป็นทุกข์
เขาต้องการกำลังใจและต้องการกัลยาณมิตรที่ช่วยชี้แนะหนทางที่จะเอาชนะอุปสรรค

รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เป็นรายการสร้างสรรค์โดยการสนับสนุนให้นักเรียนวัยรุ่นในโรงเรียนต่างจังหวัดมีโอกาสฝึกซ้อมดนตรี เพื่อนำมาประกวดกันในรายการครั้งละ ๒ โรง สังเกตได้ว่าเด็กนักเรียนฝึกซ้อมกันมากทั้งการร้องเพลง การเล่นดนตรีและท่าเต้นที่งดงามสมวัย ครั้นเมื่อได้แสดง ทุกวงดนตรีก็แสดงได้ดี กรรมการติชมอย่างอิงหลักการและให้กำลังใจอย่างมาก

แน่นอน ในการแข่งขันย่อมมีโรงเรียนหนึ่งแพ้อีกโรงหนึ่งชนะ ถึงจะเตรียมใจกันมาก่อน แต่ทุกครั้งผู้ชมก็ได้เห็นน้ำตาของผู้แพ้ เสียใจที่ได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่อีกวงหนึ่งเขาดีกว่า

อันที่จริงวงดนตรีที่ถูกตัดสินให้แพ้นั้น เขาได้บทเรียนอีกบทหนึ่ง คือประสบการณ์ของความผิดหวังและการฝึกหัดตนเองให้ยอมรับความพ่ายแพ้ โดยพร้อมที่จะปรับปรุงตนให้ดีขึ้นเพื่อต่อสู้ใหม่

ลองลิ้มรสแห่งความผิดหวังไว้เถิด ทางข้างหน้ายังยาวไกล และมีอีกหลายสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความปราชัย

ในสังคมแห่งการแข่งขันทุกวันนี้ ใครดีก็อยู่ ใครสู้ก็มีโอกาส หลักสำคัญอยู่ที่ว่าทุกสนามแข่งขันต้องมีธรรมและเป็นธรรม ผู้ด้อยโอกาสต้องมีแต้มต่อ ได้รับการสนับสนุนและมีผู้ให้กำลังใจ ในสนามเดียวกัน คนที่แข็งแรงกว่า สมบูรณ์กว่า ก็ต้องไม่เอาเปรียบ ซ้ำเติมไล่ต้อนผู้อ่อนฝีมือให้จนมุม

ถึงจะอ่อนด้อยเพียงใด ใจของคนเราต้องไม่อ่อนแอ ยาวิเศษที่สร้างภูมิคุ้มกันความท้อถอย ก็คือความเพียร ความอดทน และการเห็นคุณค่าของตนเอง

น่าเสียดายที่กระบวนการศึกษาอบรมทุกวันนี้ไม่เน้นการประเมินตนเอง เราจึงเคยชินกับการประเมินค่าสิ่งของและประเมินคนอื่น ถ้าจะให้มองตนและวิเคราะห์คุณค่าของตน ก็มักจะประเมินตนเองสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป ทำให้กลายเป็นคนมีปมทั้งปมเด่นและปมด้อย

คนที่รู้สึกว่าตนเองพ่ายแพ้นั้น เขาจะสิ้นหวังและว้าเหว่ตราบใดที่ยังนอนซมเศร้าโศก หรือนั่งกอดเข่าเจ่าจุกซบหน้าร้องไห้ แท้จริงแล้วความหวังยังรออยู่ถ้าพยายามลุกขึ้นยืน มองไปรอบข้าง มองให้ไกลจะพบผู้คนและสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่เคลื่อนไหวไม่หยุดยั้งเพื่อความอยู่รอด คนที่จิตอ่อนแอจะเหี่ยวเฉา คนที่สร้างกำลังใจ รักที่จะมีชีวิตอยู่และลุกขึ้นทำงาน อย่างน้อยจิตของเขาจะไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อกายเคลื่อนไหว มือก็สร้างสิ่งใหม่ สมองเริ่มคิดแน่วแน่ในงานที่ทำ ค่อยๆ ทำไปตามกำลังที่มี ได้น้อยก็ใช้น้อย ความหวังจึงอยู่ในมือและในใจของตน

นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่ามิได้สอนเพียงเรื่องความประมาทของกระต่ายและความพยายามของเต่าเท่านั้น คิดให้ลึกจะพบว่า กระต่ายมันแน่ใจว่าถึงจะนอนหลับสักตื่นหนึ่ง มันก็ยังวิ่งชนะเต่าอยู่ดี เป็นไปไม่ได้เลยว่าเจ้าตัวงุ่มง่ามอย่างเต่าจะเอาชนะมันได้

นิทานเรื่องนี้ไม่ได้บอกว่า การวิ่งแข่งครั้งนี้มีกองเชียร์หรือไม่ บางครั้งเสียงเชียร์ที่กึกก้องก็ทำให้ลืมตัวเหมือนกัน ถ้ามีกองเชียร์จริงก็ต้องขอตำหนิ เพราะไม่รู้จักปลุกเจ้ากระต่ายบ้างเลย หลับตาเชียร์กันหรืออย่างไร

เต่ามันเจียมตัวแต่ก็ไม่มีปมด้อย หลักชัยยังอยู่อีกไกลลิบ แต่ก็ตั้งใจเดินไป ในที่สุดก็ได้ชัยชนะ

ย้อนกลับมาคิดถึงมนุษย์ ไม่มีใครชนะทุกครั้งและแพ้ทุกครั้ง มันเป็นธรรมชาติและธรรมดาของชีวิต มีขึ้นก็มีลง เคยอยู่อย่างผยองก็กลับพลาดล้มยับเยิน

ไม่มีทางตันและจนแต้มสำหรับคนที่เพียรพยายาม ทางออกมีอยู่เสมอถ้าใฝ่แสวงหา ขออย่างเดียวใจอย่าแพ้ อย่ายอมให้ใจตกใจต่ำและใจหาย

โลกมีที่ยืนให้เสมอ

วิถีแห่งพุทธะ - สู่สังคมความเป็นหนึ่งเดียวกัน

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2548

วาระเร่งด่วนข้อหนึ่งของอียู (European Union) เพื่อการประชุมจี-๘ ที่จะมีขี้นในสก็อตแลนด์เร็วๆ นี้ เป็นเรื่องความช่วยเหลือทางการเงินแก่ชาวโลกที่ยากไร้ หิวโหย และกำลังจะอดตาย โดยประเทศร่ำรวยมากๆ ของยุโรป (๑๕ ประเทศ) - เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ขององค์การสหประชาชาติที่จะลด “คนไม่มีจะกินจริงๆ ของโลก” ให้ลดลงครึ่งหนึ่งในปี ๒๐๑๐ - ตกลงที่จะบริจาครายได้ ๐.๕๑ เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตรวมของประเทศตนมาลงขันร่วมกัน ส่วนชาติที่ไม่รวยนักของยุโรป (๑๐ ชาติ) - ส่วนมากอยู่ในยุโรปตะวันออก ก็เต็มใจที่จะบริจาครายได้ของตน ๐.๑๗ เปอร์เซ็นต์เข้าไปสมทบ คาดว่าเงินช่วยเหลือจำนวนนี้ จะมีประมาณ ๘๐ พันล้านเหรียญต่อปี ซึ่งเป็นสองเท่าของเงินประจำปีที่เคยบริจาคกัน ทั้งหมดนี้ นัยว่าสหภาพยุโรปต้องการตัดนิ้วก้อยของตัวเองเพื่อประชดประเทศยักษ์ใหญ่ที่ร่ำรวยที่สุด และรองๆ ลงมา ที่สัญญาลมปากว่าจะช่วย แต่ไม่ช่วยตามที่สัญญาไว้ ให้รูสึกละอายแก่ใจตนเองบ้าง ทั้งๆ ที่ความร่ำรวยทุกบาททุกสตางค์ของประเทศเหล่านั้น ต่างก็ได้มาจาก “โอกาสที่ดีกว่าของชาวตะวันตก” การถลุงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของมนุษย์โลกทุกๆ คน ภายใต้หลักเกณฑ์กติกาหรือกฎหมาย “มัดมือชก” - ที่ก็ต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว - ที่ต่อมาได้สร้างปัญหาระดับโลกและก่อมหาวิกฤติที่เราก่อนนี้ไม่เคยเห็นกัน แต่ทุกวันนี้กลับมีถี่กระชั้นจนน่ากลัว ทำให้วลีต่างๆ เหล่านี้หลุดออกมา เช่น “หากเราไม่ช่วยกันเสียแต่วันนี้แล้ว มนุษย์โลกทั้งหมดรวมทั้งเราที่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวยด้วย - ที่คิดว่าตัวเองไม่เกี่ยว - ก็ต้องพลอยล่มสลายฉิบหายไปด้วย”

ความยากจนด้อยโอกาสแบบนี้ได้ปรากฏในข่าวของบีบีซีเวิร์ลด์ปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบังคลาเทศออกมาพูดว่า “ไม่กี่วันจากนี้ พื้นที่ลุ่มต่ำของประเทศที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง ๐.๔๕ เมตรจะต้องถูกน้ำท่วมอย่างถาวร คน ๒๐ ล้านคนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นอย่างแน่นอน คนที่แสนจะยากจนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรของเรา - มีก็น้อยใช้ก็น้อยมาตลอดแม้ในวันนี้ - ที่ใช้ก็แต่พลังงานธรรมชาติ ใช้ฟืนสำหรับหุงข้าว และใช้เทียนไขให้ความสว่างในตอนกลางคืน ทำไม? เราที่ไม่ได้ทำร้ายธรรมชาติเลยจึงต้องรับเคราะห์แทนประเทศที่ร่ำรวยและทำร้ายธรรมชาติด้วย?”

ผู้อ่านแทบทุกคนคงต้องเคยได้อ่าน หรือได้ยินคำพูดของ เอ็ดการ์ มิตเชลล์ นักบินอวกาศที่ไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ ที่ผู้เขียนเองเคยเอามาเขียนเล่าไว้เมื่อ ๘ ปีก่อน (เรื่อง “โลก-บ้านของเรา” ที่เอามาจากหนังสือ The Way of the Explorer, ๑๙๙๖) เอ็ดการ์ มิตเชลล์ ผู้รับประสบการณ์ความรู้สีก “ความเป็นหนึ่งเดียวกันกับทุกสิ่ง” เมื่อเขามองเห็นโลกที่ล่องลอยท่ามกลางความมืดของห้วงอวกาศ จากหน้าต่างแค็ปซูลอวกาศ - โลกสีน้ำเงินที่ห่อหุ้มด้วยปุยเมฆสีขาวบริสุทธิ์ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้งหมดที่ยังความสงบ ปีติ และความอิ่มเอิบใจอย่างบอกไม่ถูกให้กับตัวเขา “ไม่เห็นมีเส้นหรือขอบเขตที่แยกแบ่งโลกแบ่งเราและสรรพสิ่งทั้งหลายให้แยกออกจากกันเลย”

แต่ทำไม? มนุษย์ที่ “ประเสริฐ” กลับทำตรงกันข้ามกับธรรมชาติทุกอย่าง? หรือนั่นคือกำหนดการที่เราทั้งผองต้องเรียนรู้? รู้ว่าคน - กับมวลชีวิต - มีความเท่าเทียมกัน

นานเป็นทศวรรษๆ ก่อนหน้านั้น นักคิดนักเขียนหลายคนทั่วทั้งโลก ต่างก็คิดไปทางแนวทางนั้น รวมทั้งผู้เขียนด้วย ดังได้พูดได้เขียนมาตลอดเวลาร่วม ๑๕ ปี ถึงความเป็นไปได้ของสภาวะล่มสลายระดับโลก (mass extinction) ที่เกิดจากอวิชชาและความโลภ กับเศรษฐกิจการตลาดเสรีที่ทำร้ายธรรมชาติจนเกินความสามารถที่จะสนองตอบได้ เพราะเราได้ทำลายไปจนไกลเกิน ที่ไม่ว่าอย่างไร วันนี้ มันได้สายไปเสียแล้วที่จะทำให้ธรรมชาติ - ทั้งฟิสิโอสเฟียร์และไบโอสเฟียร์ - กลับไปเป็นเช่นเดิมก่อนหน้ายุคพัฒนาอุตสาหกรรม หรือที่เรียกๆ กันว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีก ไม่ว่าด้วยความคิดที่ฉลาดปราดเปรื่องของใครและอย่างไร ดังนั้น ทุกวันนี้ แม้เราบางคนจะมองเห็นและเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ในภาพรวม เราคงไม่สามารถปกป้องคุ้มครองสังคมโลกส่วนใหญ่เอาไว้ต่อไปได้ เราส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ตัว จึงเหมือนนั่งรอนอนคอยภัยธรรมชาติ ที่สุดจะยิ่งใหญ่ชนิดต่างๆ ที่จะโหมกระหน่ำหวลกลับมาทำร้ายเรา ภัยธรรมชาติ - ที่โดยแทบไม่ยกเว้น - ไม่ได้มีต้นเหตุจากธรรมชาติ หากแต่เป็นผลของการพัฒนาและเทคโนโลยีสนองความอยากของเราทั้งนั้น ภัยพิบัติที่จะทำให้คลื่นยักษ์สึนามิกลายเป็นเรื่องเด็กเล่น เป็นต้นว่า ไข้หวัดนกหรืออุกาบาตที่ตกลงมาชนโลก ตอนนั้น - แม้จะรู้ตัวว่าเราแยกกันไม่ได้ - ก็สายเกิน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราที่รู้แล้วและที่ห่วงใยโลกและมนุษยชาติ จะนั่งรอความหายนะอยู่เฉยๆ วิถีแห่งพุทธะเป็นหนึ่งของความไม่อยู่เฉยนั้น

เมื่อประมาณหนึ่งปีเศษๆ มาแล้ว ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง “วิถีแห่งพุทธะกับการปฏิวัติการศึกษาโลก” โดยมีเนื้อหาสาระบางส่วน ดังนี้

“...มนุษย์เราทุกคนและสังคมมนุษย์ทุกสังคมต่างมีวิวัฒนาการทางจิตมาตลอด...และจะมีสูงกว่านี้...พระพุทธเจ้าถึงได้บอกว่า ต่อไปมนุษย์ทุกคนจะต้องได้นิพพาน ซึ่งเหตุผลที่พระองค์ให้ไว้มีว่า เพราะมนุษย์เราก็มีหน้าที่ที่สูงส่งไปกว่านี้เช่นเดียวกัน นั่นคือนอกเหนือจากการเรียนรู้ธรรมะและความจริงแท้มากขึ้นแล้ว เรายังจะต้องเรียนรู้การดูแลรักษาและจรรโลงไว้ซึ่งมวลชีวภาพอันหลากหลายให้ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสมภาพ สมดุล...พอเพียง พอดีและยั่งยืน

“...ระบบการศึกษาที่จะทำให้เราเรียนรู้หน้าที่ได้ทั้งหมดดังที่กล่าวมานั้น จึงครอบคลุมกว้างกว่าประเด็นของกาย...หรือตัวตน ตัวกูของกู...สังคมกูประเทศกู...หากต้องครอบคลุมเรื่องของจิตและจิตวิญญาณที่ร้อยรวมทั้งหมดไว้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วย นั่นคือระบบการศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมให้เราเรียนรู้หน้าที่ทั้งหลายที่เราต้องกระทำ อันดับแรก เราต้องเรียนรู้ตัวเองและเรียนรู้โลกกายภาพรอบๆ ตัวที่บ้าน...ที่อบอวลด้วยวัฒนธรรมและพิธีกรรมของศาสนา

“อันดับต่อมา เราเรียนรู้สังคม ความสัมพันธ์และหน้าที่ของเราต่อสังคม ที่ไล่ขึ้นไปตามลำดับ...เรียนรู้การทำมาหากินหาอาชีพหาเงิน เพื่อการอยู่รอดของตนเองเท่านั้น...นั่นคือการศึกษาในระบบที่เรียนที่โรงเรียน ที่เรา - จากนั้น - คิดว่ากูรู้หมดแล้ว และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ที่ไม่จริงเลย จริงๆ แล้วเรายังมีหน้าที่ที่สูงส่งยิ่งกว่านั้น คือเรายังมีหน้าที่...เนื้อในบางอย่างที่บางทีทำให้ (ความรู้สึกต่อหน้าที่) มาโดยไม่รู้ตัว...ไม่ได้คิด...นั่นคือหน้าที่ดูแลมนุษย์ด้วยกันเองให้อยู่รอด (ดังที่เป็นหน้าที่หลักของสหประชาชาติกับยุโรปที่ยกเป็นตัวอย่างข้างบน) รวมทั้งการอยู่รอดของมวลชีวภาพและสิ่งแวดล้อมอันหลากหลาย...ประเด็นทางจิตที่เคยเป็นหน้าที่ของสงฆ์ และเรียนกันที่วัด แต่เมื่อโลกแคบลง และเมื่อประชาชนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการแยกวัดจากบ้านจากโรงเรียน การเรียนรู้และฝึกฝนในด้านของจิตและจิตวิญญาณจึงหายไปทั้งแผง..

“ระบบการศึกษารูปแบบใหม่ ที่เรียกว่าโรงเรียนวิถีพุทธนั้น เพิ่งเริ่มมีขึ้นไม่กี่โรงเรียน เมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ได้แพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว...เพิ่มเป็น ๑๒,๐๐๐ โรงเรียนในปัจจุบัน (คาดว่าขณะนี้อาจมีร่วม ๓๐,๐๐๐ โรงเรียนแล้ว)

“ที่...หากคิดว่าโรงเรียนวิถีพุทธคือการปฏิวัติหรือวิวัฒน์การศึกษาระดับมูลฐานของระบบที่บ้านเรา โดยเน้นจิตใจและจิตวิญญาณเพิ่มเติมขึ้นมาจากการศึกษาเพื่อเรียนรู้โลก ตัวเอง กับเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับโลก...แต่นั่นไม่พออย่างแน่นอน หากว่าเราพิจารณาจากทางรอดของเผ่าพันธุ์ทั้งหมด - เราคงอยู่ไม่รอด หากเราในที่อื่นๆ อยู่ไม่รอด...เราจึงต้องมีการศึกษารูปแบบที่ใหญ่กว่าวิถีพุทธขึ้นมา หรือที่ผู้เขียนอยากเสนอ มีรูปแบบของการศึกษา “วิถีแห่งพุทธะ” ขึ้น มาเพื่อให้ครอบคลุมเราทั้งเผ่าพันธุ์...ทำให้มันเป็นระบบการศึกษาของโลก...”

นั่นคือเนื้อหาสาระที่ผู้เขียนขอนำเสนอ เพราะว่าชีวิตทุกชีวิตโดยความหมายล้วนมีความสำคัญอยู่ที่เราแยกจากกันไม่ได้ นั่นคือหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่เราส่วนใหญ่ไม่ได้เอามาคิด ที่สำคัญคือ วิถีแห่งพุทธะคือเส้นทางนั้น เส้นทางการปฏิบัติที่นำสู่วิวัฒนาการของจิตวิญญาณ นำสู่ปัญญารู้รอบและรู้หน้าที่ของเรา โดยมีวิธีและรูปแบบการปฏิบัติจิตที่มีเป้าหมายอันสากล ที่ทุกๆ ศาสนาก็มีการปฏิบัติกันอยู่แล้ว (คำว่าพุทธะนั้นท่านพุทธทาสภิกขุ แปล ว่า ผู้รู้ความจริงแท้ หรือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) ส่วนคาร์ล จุง ใช้คำ พุทธะ ว่า all good Buddhahood ในความหมายเดียวกันกับสัทธรรมความจริงแท้ หรือสุญตา (ดู Psychological Commentary ของหนังสือ Tibetan Book of the Dead, ๑๙๒๗)

สำหรับความเห็นส่วนตัวนั้น ผู้เขียนคิดว่าทุกศาสนาสอนการปฏิบัติโดยเน้นที่สองระดับ คือ หนึ่ง การปฏิบัติตน (อันเป็นการปฏิบัติกาย) โดยเส้นทางภายนอกเป็นส่วนใหญ่ - และจิตใจ - เพื่อการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม โดยเน้นที่ศีลธรรม จริยธรรม ความดีงาม (righteous path) กับ สอง การปฏิบัติจิตที่ละเอียดกว่าระดับที่หนึ่ง หรือการปฏิบัติสมาธิ โดยเส้นทางภายในสู่วิวัฒนาการแห่งจิตวิญญาณ (spiritual path) สู่สภาวะผ่านตัวตน (transcendence) กระทั่งหลุดพ้น (enlightenment)

การปฏิบัติระดับที่หนึ่งนั้น คือการปฏิบัติศาสนา (secular religion) ที่มักมีพิธีกรรมชี้นำ ดังที่ปฏิบัติกันในโรงเรียนวัด คอนแวนต์ ปอเนาะ มาแต่ไหนแต่ไร เป็นสิ่งที่ดีงามดังได้กล่าวไปแล้วก็จริง แต่ยังมีสองสิ่งประกอบเป็นเนื้อในที่ชี้บ่งอัตตาตัวตน (ที่เรามีหน้าที่ต้องเรียน รู้ และผ่านพ้น) คือ หนึ่ง วัฒนธรรมแยกส่วน ที่เน้นตัวกูของกูให้กับเด็ก กับ สอง เน้นความศรัทธาและการบูชาปวารณาตัวศาสนนิยม ดังนั้นเองท่านทะไลลามะถึงได้พูดว่า “...โลกได้วิวัฒนาการผ่านมาพอสมควรแล้วที่เราในศาสนาต่างๆ ควรเลิกความพยายามที่จะดึงคนที่นับถือศาสนาอื่นให้หันมานับถือศาสนาตน โดยเฉพาะหันมานับถือพุทธศาสนาสายทิเบต อาตมาไม่ต้องการเอาหัวแกะมาต่อกับจามรี...เรื่องของจิตวิญญาณและการหลุดพ้นนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน และการเข้าถึงภาวะผ่านพ้นตัวตน (transcendence) ก็มีปฏิบัติในทุกๆ ศาสนา” (จาก Destructive Emotions, ๒๐๐๐)

นั่นยิ่งเป็นการชี้บ่งว่า - วิถีแห่งพุทธะ มีความสำคัญต่อการปฏิวัติระบบการศึกษาโลกเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความเร่งด่วนยิ่งขึ้นอย่างไร

วันหยุดคือวันศักดิ์สิทธิ์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2548



คำว่า holiday ของฝรั่งมาจาก holy ผนวกเข้ากับ day holy แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ วันหยุดของฝรั่งกับวันพระของไทยแบบเดิม ก็เป็นวันให้เราหยุดจากกิจการงานตามปกติที่ทำเป็นกิจวัตรทั้งปวงลง เพื่อให้มีเวลาใคร่ครวญ พัฒนาตนเองด้านในหรือด้านจิตวิญญาณ

ในวันพระ ในวันหยุด ในวันศักดิ์สิทธิ์ เราจะหยุดจากภารกิจต่างๆ เราจะลดทอนความเร็วของชีวิตให้ช้าลง ให้รู้สึกผ่อนคลาย ให้รู้สึกว่าได้พักผ่อน

ผมคิดถึงการปรับคลื่นให้ช้าลง ถอยจากคลื่นเบต้าอันมีฐานอยู่ที่จิตสำนึกและสมองซีกซ้าย มาสู่คลื่นอัลฟ่าที่มีฐานครอบคลุมไปถึงจิตไร้สำนึกทั้งมวลและสมองทั้งก้อน คือทุกชั้น (๓ ชั้น) และทุกซีก รวมถึงสมองส่วนหน้าด้วย

นึกถึงคำว่า วิตก วิจาร ในองค์ประกอบสองในห้าประการของสมาธิชั้นต้น วิตก วิจาร นี้หมายถึง ตรึกตรอง ใคร่ครวญ หมายถึง โยนิโสมนสิการ การพิจารณา ใคร่ครวญอย่างแยบคายในเรื่องราวต่างๆ

ลำพังเมื่อเราใคร่ครวญ สมองส่วนหน้าจะทำงานและโดยอัตโนมัติ อมิกดาลา (Amygdala) อันเป็นที่ตั้งของร่องอารมณ์หรืออารมณ์ลบทั้งหลายก็จะหยุดทำงาน

ร่องอารมณ์ในอมิกดาลานี้เองที่ขับเคลื่อนเราไปสู่คลื่นเบต้า รอบจัดหมุนเร็วและเป็นอัตโนมัติ ทำให้ความคิดดีๆ แทรกเข้ามาไม่ได้

เมื่อร่องอารมณ์ไม่เกิดและเมื่อมีความผ่อนคลายและการวางใจ เราก็เข้าสู่คลื่นอัลฟ่าได้อย่างรวดเร็ว หลุดจากกรอบสมมติของโลก



เวลาเราเข้ามาอยู่ในกาลเวลาแห่งวันหยุด เราต้องนำพากายและใจของเราเข้ามาสู่ความรู้สึกของการเป็นวันหยุด แม้แต่เซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายของเรา ก็ให้พวกเขาได้ระลึกถึงความเป็นวันหยุด ผมจำได้ว่าในวัยเด็ก เวลานอนหลับบนเตียง เราจะเอาเท้า มือ และร่างกายของเราถูไถไปกับผ้าคลุมเตียงผืนใหม่เบาๆ เราจะรู้สึกปลอดภัยและพร้อมที่จะนอนหลับพักผ่อน

ความรู้สึกของวันหยุดนั้น เซลล์ในร่างกายของเราก็จดจำได้เช่นกัน เราจะทำความรู้สึกเช่นนั้นให้อยู่ในเซลล์ของเรากับกายของเราในทุกๆ อณู ให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย โปร่งโล่ง เบาสบาย และเป็นสุข



โดยที่วันหยุดมีความเป็นวันพระหรือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นวันของพระเจ้านั้น วันหยุดจึงมี
ความหมายต่อชีวิตของเรามาก มันหมายความว่าวันหยุดจะเป็นวันที่เราถอยออกมาจากโลกของซีซาร์ หรือจากโลกของอาณาจักรมาสู่โลกของพระเจ้า หรือโลกที่ไปพ้นกรอบจำกัดของสมมติสัจจะทั้งหลาย ถอยออกมาจากโลกที่สังคมมนุษย์ยังติดงมงายอยู่ว่าอะไรดี ไม่ดี แต่เรากลับมาหาคุณค่าแท้ของชีวิตมากกว่าคุณค่าเทียมที่สังคมยึดถือ

เช่น เราถอยพ้นออกมาจากโลกของการเปรียบเทียบ ในทางเต๋า การเปรียบเทียบเป็นศัตรูร้ายของหัวใจ เมื่อใดก็ตามเพียงเราหยุดเปรียบเทียบ หัวใจก็จะเป็นสุข หัวใจก็จะทำงานได้อย่างชุ่มฉ่ำ มีชีวิตชีวา ในวันหยุด เราก็ให้หัวใจหยุดพักด้วย ด้วยการหยุดเปรียบเทียบ

ในทางพุทธ มานะคือการเปรียบเทียบ เป็นสังโยชน์หรือตัวผูกรัดที่ทำให้เราไม่เป็นอิสระ เมื่อเราเป็นอิสระจากการเปรียบเทียบ เมื่อเราละวางมานะลงเสียได้ จิตก็จะเป็นอิสระ ติดปีกโบยบินไปสู่ความหลุดพ้น

โลกของซีซาร์ โลกของอาณาจักร มีแต่ความเคร่งเครียด การเปรียบเทียบทำให้เกิดการแข่งขัน ทำให้เกิดความเครียด ทำให้คลื่นสมองของเราเป็นคลื่นเบต้า คลื่นเบต้าหมายถึง โลกแคบๆ ที่มีแต่ความเร่งรีบ ต้องแข่งขันกันจนไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นโลกที่ยึดมั่นในวิถีปฏิบัติเดิมๆ กรอบคิดเดิมๆ ที่คับแคบและตายตัว

เมื่อเราถอยออกมาสู่โลกของพระเจ้า เมื่อเราถอยออกมาอยู่ในโลกของธรรมมะ เราวางข้อเปรียบเทียบต่างๆ เหล่านั้นลงและเราจะรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ความคิดดีๆ เกี่ยวกับชีวิตก็อาจจะผุดโผล่ขึ้นมาได้ในยามที่คลื่นสมองเป็นคลื่นอัลฟ่านั้น



เมื่อเราพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือ holy (จริงๆ คำว่า holy ก็มาจากคำว่า whole หรือองค์รวมนั่นเอง) เราจะนึกถึงการเรียกพื้นที่ของธรรมะหรือความเข้าใจในวิถีแห่งธรรมชาติกลับคืนมาให้แก่ชีวิตของเรา เป็นพละกำลังและเป็นสิทธิอันชอบธรรม เป็นสถานะอันควรที่จะเรียกคืนมาซึ่งชีวิตที่ดำเนินไปอย่างถูกครรลองแห่งธรรมชาติ

นึกถึงภาพของภิกษุสิทธัตถะ เมื่อเผชิญหน้ากับพญามารที่จะมาเรียกคืนพื้นที่ของท่าน ท่านได้ชี้ลงที่แผ่นดินที่นั่งอยู่และบอกกับพญามารว่า “ที่นี่ของข้าฯ”

ชีวิตของเรามีเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นอิสระ เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตในครรลองแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อยู่ เราต้องเรียกสิทธิที่จะเปิดพื้นที่ให้เมล็ดพันธุ์เช่นนั้นได้บ่มเพาะและงอกงามขึ้นบนผืนนาแห่งวันหยุด อันเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ของเรา

ปีติสุขกับการกินอาหารอย่างมีสติ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 4 มิถุนายน 2548

ช่วงเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลาย เบาสบายหรือแม้แต่รู้สึกสบายใจด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราอาจจะรู้สึกว่าตัวเราเองยิ้มได้ง่าย บางครั้งรู้สึกอยากหัวเราะหรือแม้กระทั่งบางครั้งสามารถหัวเราะออกมาได้เองคนเดียว

แต่ความรู้สึกที่ผ่อนคลายเบาสบายบางครั้งก็ไม่ได้ทำให้เราเกิดเสียงหัวเราะแบบนั้นได้ กลับกลายเป็นความรู้สึก “ตื้นตันใจ” จนกระทั่ง “น้ำตาไหลออกมาเอง” แบบว่าอบอุ่น ปลอดภัยและรู้สึกมั่นคงแบบลึกที่ด้านในของเรา

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๒๑ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ผมรู้สึกผ่อนคลายแบบหลังนี้ คือเป็นความสุขแบบสำรวมที่ไม่มีเสียงหัวเราะ แต่เป็นความสุขแบบตื้นตันใจและอบอุ่น ทั้งนี้เพราะการประชุมครั้งนี้ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้นิมนต์ “พระภิกษุณีนิรามิสา” และคณะฯ ที่มาจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส มาพูดคุยและเล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตของท่านที่หมู่บ้านพลัมของท่านติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนาม

หลวงพี่นิรามิสาเป็นคนไทยที่ไปบวชอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานหลายปีแล้ว

แม้ว่าผมจะเป็นแฟนตัวยงที่เรียกได้ว่าติดตามงานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์มาตลอด (ท่านติช นัท ฮันห์ เขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษมากกว่าห้าสิบเล่ม) อีกทั้งผมได้มีโอกาสคลุกคลีนัวเนียอยู่กับอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ผู้ซึ่งนับได้ว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านติช นัท ฮันห์ อีกผู้หนึ่ง อาจารย์วิศิษฐ์ สามารถ “ไขปริศนา” ของท่านนัท ฮันห์ ให้กับผมได้เสมอในช่วงที่ศึกษางานเขียนของท่านจำนวนมากกว่าสิบเล่มในช่วงหลายปีก่อน และแม้เรื่องราวที่หลวงพี่นิรามิสาเล่ามาทั้งหมดในวันนั้นเกือบจะไม่ได้มีอะไรที่ใหม่ไปจากหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ ที่ผมเคยอ่านมาก่อนแล้ว ผมกลับพบประสบการณ์ที่ “แปลก” ว่าเรื่องที่หลวงพี่เล่านั้นเป็น “เรื่องเก่าที่ไม่เก่า” เป็นเรื่องเก่าที่ผมสามารถเรียนรู้ได้ใหม่เพิ่มอีกเหมือนกับการขึ้นบันไดเวียนที่เหมือนกับว่าซ้ำที่เก่าแต่แท้จริงอยู่สูงขึ้นไปจากเดิมนั่นเอง

หลวงพี่นิรามิสาเล่าเรื่องหมู่บ้านพลัมด้วยน้ำเสียงเนิบนาบ เป็นจังหวะแต่มีพลัง สลับกับการ “เชิญระฆัง” เพื่อเจริญสติและการร้องเพลงสวดมนต์เป็นระยะๆ ช่างเหมือนกับงานเขียนที่มีเว้นวรรคหรือขึ้นบรรทัดใหม่ ที่ช่วยให้ผู้อ่านไม่รู้สึกอึดอัดกับตัวอักษรที่แน่นเกินไปเป็นพืด หลวงพี่บอกว่าที่ใช้คำว่า “เชิญระฆัง” และไม่ใช้คำว่า “ตีระฆัง” ก็มีความหมายถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและให้เกียรติกับทุกสรรพสิ่งแม้แต่กับระฆังที่ส่งเสียงมาช่วยให้เราได้มีสติเป็นระยะๆ

ตลอดเวลาที่ฟังเรื่องราว ผมรู้สึก “ปีติสุข” แบบตื้นตันใจจริงๆ

เมื่อจบเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหมู่บ้านพลัม รวมไปถึงเรื่องราววิธีการของ “การเฝ้าดูอารมณ์” แบบที่ท่าน ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ได้เอ่ยถึงไว้บ้างในคอลัมน์นี้เมื่อสองสัปดาห์ก่อนแล้ว (“เมื่อรู้สึกขัดใจ ต้องขัดที่ใจ”, มติชนรายวัน ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘) ในช่วงท้ายสุดหลวงพี่นิรามิสาให้พวกเราทั้งหมดได้ลองกินอาหารอย่างมีสติที่ผมพบว่ามีประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ได้อย่างน้อยสามประการคือ

หนึ่ง เริ่มตั้งแต่การเดินอย่างมีสติเพื่อไปตักหรือไปซื้ออาหาร ทำให้เราไม่ตักอาหารมากเกินไป ไม่ซื้ออาหารมามากเกินความต้องการ ชนิดของอาหารให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน รวมไปถึงจำนวนมื้อของอาหารก็เช่นกัน แต่ละท่านมีความต้องการทางกายภาพที่ไม่เหมือนกัน การค่อยๆ เคี้ยวอาหาร การฝึกที่จะไม่พูดคุยกัน ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวีขณะที่กำลังกินอาหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของการฝึกตนเพื่อดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ

การได้ใคร่ครวญและใช้ความละเอียดกับปัจจุบันขณะในการเดินและกิจกรรมต่างๆ เป็นแบบฝึกหัดที่ดีของการฝึกใช้ชีวิตที่ละเอียด ไม่คิดสับสนวุ่นวายหลายเรื่องแบบนี้ เป็นการทำให้คลื่นสมองของเราช้าลง จากเบต้าเวฟ (๑๓-๒๖ Hz) เป็นอัลฟาเวฟ (๘-๑๓ Hz) หรือถ้าฝึกไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้คลื่นสมองช้าไปกว่านั้นได้อีกเป็นเธต้าเวฟ (๔-๘ Hz) และเดลต้าเวฟ (๐.๕-๔ Hz) ได้ในที่สุด งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากมายล้วนแล้วแต่บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นประโยชน์กับตัวของผู้ฝึกในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสุขภาพที่ดีขึ้น การเรียนรู้ดีขึ้น เกิดญาณทัศนะ ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นดีขึ้น ฯลฯ

สอง หลวงพี่บอกว่า เมื่อเรากำลังกินและเคี้ยวอาหารอยู่นั้น ถ้าเราได้มีโอกาส “มองให้ลึกๆ” เราจะมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เช่น เมื่อเรากำลังเคี้ยวเต้าหู้อยู่นั้น เราจะมองเห็นว่าเต้าหู้ทำมาจากเมล็ดถั่วเหลือง เมล็ดถั่วเหลืองถูกปลูกโดยชาวไร่ชาวสวน เมล็ดถั่วเหลืองจะต้องอาศัยดินที่อุดมสมบูรณ์กว่าจะเป็นต้นโตและออกเมล็ดได้ ต้องอาศัยน้ำ ต้องอาศัยแสงแดดและก๊าซต่างๆ เพื่อมาทำการสังเคราะห์แสง

เมื่อเราสามารถมองเห็น “ความเชื่อมโยงต่างๆ” เหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้เราเข้าใจ “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง” ได้ง่ายมากขึ้น หลวงพี่บอกว่า “การเคี้ยวเต้าหู้” ของเราจึงเปรียบเสมือนว่าเรากำลัง “เคี้ยวจักรวาล” ทั้งหมดอยู่ในปากของเรานั่นเอง

เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ใหม่ที่เน้นถึงความเชื่อมโยงเป็นองค์รวมทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก เหมือนกับที่ ฟริตจอป คาปรา นักฟิสิกส์ชื่อดังใช้คำว่า “web of life” และเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่แยกส่วนแบ่งส่วนอย่างวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตัน

สาม การค่อยๆ เคี้ยวอาหารทำให้เราได้มีโอกาสขอบคุณอวัยวะต่างๆ ของเราไม่ว่าจะเป็นฟันเป็นลิ้นที่ช่วยในการเคี้ยว เป็นกระเพาะอาหารที่ช่วยย่อยอาหาร เป็นลำไส้ที่ช่วยย่อยและดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์กับร่างกาย การสร้างความรู้สึกขอบคุณยังนำไปสู่ความรักความเมตตากับอวัยวะต่างๆ ของเรากับเซลล์ต่างๆ ของเราที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี

การขอบคุณแบบนี้เข้าได้กับเรื่อง “การพูดคุยกับเซลล์” ซึ่งเป็นเรื่องราวหนึ่งในวิทยาศาสตร์การแพทย์กระบวนทัศน์ใหม่ที่เชื่อเรื่องความเชื่อมโยงแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับเซลล์เล็กเซลล์น้อย เชื่อการสื่อสารกันได้ผ่านคลื่นพลังงานในรูปของคลื่นความคิด

ต่างๆ เหล่านี้เราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์แบบใหม่ที่อ่อนโยน นอบน้อมถ่อมตนต่อโลกและธรรมชาติ ที่ทำให้แม้แต่กับเรื่องการกินอาหารแบบธรรมดากลายเป็นการกินอาหารที่ก่อให้เกิดปีติสุขแบบไม่ธรรมดา เป็นปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอได้นั่นเอง

Back to Top