จิตที่ระแวงย่อมหวั่นไหว

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2547

โฆษณาเรื่องหนึ่ง ชาวผิวดำท่าทางน่ากลัวปีนเสาขึ้นไปเก็บลูกโป่งสีสวยลงมาให้เด็กน้อย แม่ของเด็กเห็นเข้าก็รีบมาคว้าลูกสาวไปด้วยความหวาดกลัว

แม่ระแวงว่าลูกจะถูกชายผู้นั้นหลอกจับเอาไป เพราะเขามีรูปลักษณ์ที่น่าเกลียด ไม่น่าไว้ใจ

คู่รักระแวงกันและกันว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่จริงใจ

นายจ้างระแวงลูกจ้างจะขโมยของ จึงใส่กุญแจห้องทุกห้อง คอยสอดส่องดูว่าลูกจ้างจะแอบหยิบฉวยอะไรออกไป

ครูระแวงว่าลูกศิษย์จะโกงการสอบ แม้ในระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องมีผู้คุมสอบทั้งหน้าห้อง หลังห้อง นั่งจ้องดูพฤติกรรมตาไม่กระพริบ

ตัวอย่างที่ยกมา ๓-๔ เรื่องนี้แสดงว่า คนในสังคมปัจจุบันขาดความสุข ชีวิตแต่ละคน แต่ละวันต้องคอยป้องกันตัว หลบหลีก ควบคุม เข้มงวดกวดขัน ในที่สุดก็มีแต่ความเครียดอยู่ทุกเวลาทุกแห่งหน ความระแวงเช่นนี้ ถ้ามีระดับรุนแรง ก็จำเป็นต้องพึ่งจิตแพทย์

ความระแวงเกิดจากอะไร

เมื่อวิเคราะห์สภาวะของจิต ความระแวงเกิดจากการรับรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึกรวมถึงวิธีคิดที่ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง

  • การรับรู้ว่าตนเองถูกต้อง คนรอบข้างไม่ถูกต้อง มีท่าทีไม่พึงประสงค์
  • ความเข้าใจว่าตนเองและคนอื่นในองค์กรไม่ใช่ฝ่ายเดียวกัน
  • ประสบการณ์สอนให้ตนเองไม่ไว้วางใจผู้อื่น และตนเองก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้อื่น
  • ความไม่มั่นใจในสถานภาพ ความสามารถและอำนาจของตนเอง


ยังมีสาเหตุอื่นอีกมากมายที่ทำให้คนในครอบครัว ในองค์กร และในสังคม ขาดศรัทธาต่อกัน ระแวงว่าตนเองจะถูกหักหลัง ถูกลอบทำร้าย ความคิดของคนช่างระแวงจึงวนเวียนอยู่กับตนเอง

คนเราเมื่อจิตมีสภาวะหวั่นไหว ฟุ้งซ่านเช่นนี้ ย่อมต้องหาเวลาที่จะหยุดนิ่ง สงบ แสวงหากัลยาณมิตรเพื่อคิดไตร่ตรอง ซึ่งตามพุทธธรรมเรียกว่าการฝึกสติและเจริญปัญญา

การฝึกจิตให้นิ่งและใช้ปัญญาหาเหตุผล เป็นหนทางนำไปสู่การค้นพบความจริง ซึ่งช่วยลดความถือตัวลงได้

เราจะทำอย่างไรจึงรู้ว่าความจริงอยู่ที่ไหน เราจะเข้าใจกันได้ด้วยวิธีใด

ขอให้เราพบกัน หันหน้าเข้าหากัน เมื่อได้มองเห็นหน้าตาท่าทางของกันและกัน เราจะรับรู้อารมณ์กันได้

พบกัน แล้วพูดจากัน ใช้เหตุผล และถือหลักวจีสุจริต ๔ ประการ คือ พูดความจริงโดยไม่หวังประโยชน์เฉพาะตน พูดสร้างสามัคคี พูดสุภาพ และพูดมีสาระประโยชน์แท้จริง ถูกกาละเทศะ

พูดกันแล้วอาจมีประเด็นขัดแย้งและขัดใจกันบ้าง ก็ต้องขัดใจตนเอง ลบความขุ่นมัวในหัวใจ ขัดเอาความมานะถือตัวออกไปจากใจเสียก่อน ทำใจให้เป็นกลาง ถ้าสามารถขัดเกลาเอากิเลสที่จับเขรอะออกจากใจเสียบ้าง คู่ครองจะคิดเอาแต่ใจตัวน้อยลง หัวหน้าก็จะลดการวางอำนาจข่มลูกน้อง เพื่อนก็จะเห็นใจเพื่อน

ครอบครัวมีสุข ทุกคนก็เป็นสุข องค์กรเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนในองค์กรก็มีกำลังใจ สังคมที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ความขัดแย้งส่วนตัวลดลง สังคมก็เข้มแข็ง

ที่สาธยายโทษของความหวาดระแวงมาทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าจะจูงใจให้เราดำเนินชีวิตอย่างหละหลวม ขาดความรอบคอบระมัดระวัง มิได้ชักชวนให้หลงเชื่อคนง่าย และมิได้ทำลายกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดไว้เป็นปทัสถาน

แท้จริงแล้ว ชีวิตส่วนตัวและการทำงานในสังคมมีแง่มุมต่างๆ ที่เราต้องปรับตัว เรียนรู้ และก้าวไปแต่ละย่างก้าวอย่างไม่ประมาท คำนึงถึงระเบียบชีวิต ระเบียบสังคม และระเบียบขององค์กร

ฝึกจิตฝึกตนให้เดินสายกลางระหว่างความเป็นเจ้าระเบียบกับความไร้ระเบียบ รู้จักผ่อนคลายจนใจปลอดโปร่งโล่งเบา

มีกัลยาณมิตร เกิดศรัทธาต่อกันและใช้ปัญญาร่วมกัน

ขั้นแรกของการฝึกจิตที่ระแวงหวั่นไหว คือการทำตนให้นิ่ง สงบ อยู่กับความเงียบ เพราะว่าท่ามกลางความเงียบ เราจะได้ยินเสียงภายในของตนเอง

เสียงแห่งจิตสำนึก แสวงหาความจริงที่ประจักษ์ในตน ซึ่งเป็นเสียงก้องอยู่ในใจ ต่อจากนั้นจงฟังอย่างตั้งใจ ฟังตนเอง ฟังความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ส่งเสียงอยู่ล้อมรอบ

เราจะได้ยินเสียงของสรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เริ่มตระหนักว่า แท้จริงแล้ว โลกนี้ช่างกว้างใหญ่หลากหลาย มีความแตกต่างเปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ ตัวเรานี้ช่างเล็กนิดเดียว เป็นเพียงอณูน้อยนิดในจักรวาล

ถึงจุดนี้ เมื่อตัวตนเล็กลง จิตสำนึกใหม่ก็เกิดขึ้นจากความรู้ ประสบการณ์ที่ได้ผ่านพบมา เป็นความรู้ภายในตนที่มีคุณค่า เพราะกลั่นกรองจากกรณีตัวอย่างทั้งสุขทั้งทุกข์ที่ได้พบได้เผชิญ เราเคยคิดถูกคิดผิด ทำได้สำเร็จและหลายครั้งก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

ความรู้ภายในตน ช่วยชี้แนวทางเราว่าจะมัวระแวงกันอยู่ทำไม ตัวเราเองก็ใช่จะอยู่ค้ำฟ้า ทุกคนทุกฝ่ายต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อเกิดความรู้ภายในตน จิตของเราหนักแน่นขึ้น พร้อมกันนั้นเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย

นิ่ง ฟัง คิด และรู้ เช่นนี้ ศรัทธา และความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันก็ผุดบังเกิด ความระแวงต่อกันลดลง ความหวั่นไหวก็ลบเลือน ครอบครัวที่เครียดจะเริ่มมีรอยยิ้ม องค์กรที่ร้อนเริ่มเย็นลง สังคมที่ขัดแย้งก็จะมองเห็นทางประนีประนอมเพื่อนำไปสู่สันติภาพ

ไม่มีใครวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วยาวนานโดยไม่เคยพลาดล้ม ไม่มีใครยิ่งใหญ่อย่างยั่งยืนจนลืมวันตกต่ำ ทุกชีวิตไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้หรือชนะ หากแต่เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ก่อประโยชน์หรือโทษต่อโลกตามพืชพันธุ์และเผ่าพันธุ์ที่เราเป็น

รู้เช่นนี้แล้ว ยังไม่รู้จักรักกันอีกหรือ ?

Back to Top