กิจกรรมที่ชื่อว่า-ชีวิตในวัยเด็ก

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 20 พฤษภาคม 2549

กิจกรรมง่ายๆ กิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์เชียงรายนำมาใช้เสมอๆ ในการทำเวิร์กชอปกับกลุ่มต่างๆ และได้ผลดีมากเสมอก็คือกิจกรรมที่ชื่อว่า “ชีวิตในวัยเด็ก”

กิจกรรมนี้เริ่มต้นด้วยการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่กันแบบสุ่มแล้วให้กำหนดกันเองว่าใครจะเป็นหมายเลขหนึ่งใครจะเป็นหมายเลขสอง เริ่มด้วยการกำหนดเวลาช่วงหนึ่งประมาณสามถึงห้านาทีให้หมายเลขหนึ่งเล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กของตัวเองให้หมายเลขสองฟัง ในระหว่างนั้นให้หมายเลขสองฟังอย่างลึกซึ้งโดยไม่มีการขัดจังหวะใดๆ จากนั้นเมื่อครบกำหนดเวลาหรือเล่าเรื่องจบก็จะใช้เวลาช่วงต่อไปให้หมายเลขสองซึ่งเป็นฝ่ายฟังก่อนนั้นลองสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินมาจากหมายเลขหนึ่งว่าเล่าอะไรไปให้ฟังบ้าง

จากนั้นสลับหน้าที่กัน ให้หมายเลขสองเล่าเรื่องของตัวเองให้หมายเลขหนึ่งฟังบ้างภายในเวลาประมาณใกล้ๆ กันแล้วให้หมายเลขหนึ่งสะท้อนสิ่งที่ได้ยินในเวลาต่อมา

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ นี้เอง ภายใต้คำเชื้อเชิญของท่านรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์หมอลำดวน วงศ์สวัสดิ์ ผมและทีมเชียงรายได้มีโอกาสไปจัดกิจกรรมกลุ่มให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปี 3 จำนวนประมาณหนึ่งร้อยกว่าคน และมีเวลาให้กับกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ประมาณหนึ่งวันครึ่ง พวกเราตัดสินใจใช้กิจกรรม “ชีวิตในวัยเด็ก” นี้เป็นกิจกรรมแรกกับนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในบ่ายของวันแรกนั้นหลังจากที่ให้นักศึกษาทั้งหมดล้มตัวลงนอนบนพื้นห้องโถงของอาคารเรียนรวมและผ่อนคลายด้วยการทำ Body Scan ภายใต้การนำของอาจารย์ฌานเดช พ่วงจีนครูไท้เก็กหนึ่งในทีมของพวกเรา

หลังจากนั้นเมื่อนักศึกษาได้ผลัดกันเล่าเรื่องของตัวเองให้กับเพื่อนฟังและสลับหน้าที่กันแล้ว เราก็จัดให้มีการรวมกลุ่มจากสองคนเป็นสี่คน โดยให้แต่ละคนเล่าเรื่องที่ตัวเองได้ยินมาให้กับกลุ่มฟัง โดยมีกติกาในกลุ่มว่าถ้าใครจะเป็นคนพูดให้ยกมือแล้วเล่าเรื่อง เพื่อนอีกสามคนจะฟังโดยไม่มีการขัดจังหวะและเมื่อพูดจบแล้วก็ให้พูดคำว่า “จบ” ทิ้งท้ายด้วย

จากนั้นเราก็รวมกลุ่มนักศึกษาจากสี่คนเป็นแปดคน แล้วแจกกระดาษโปสเตอร์แผ่นใหญ่และสีเทียนให้กับกลุ่มแปดคนนี้กลุ่มละหนึ่งชุด โดยให้แต่ละคนลองวาดรูปที่สะท้อนถึงชีวิตในวัยเด็กที่แต่ละคนประทับใจลงไปในกระดาษแผ่นเดียวกันด้วนสีสันต่างๆ ตามจินตนาการตามชอบใจ จากนั้นให้เล่าให้เพื่อนในกลุ่มแปดคนนี้ฟังถึงความหมายของรูปภาพที่วาดออกมานั้น ภายใต้กติกาเดิมคือให้ผู้ฟังเคารพผู้พูดด้วยการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง ผมไปสังเกตการณ์ดูมีนักศึกษาคนหนึ่งวาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ ด้วยดินสอสีเทียนสีเขียวแล้วระบายภายในสี่เหลี่ยมด้วยสีส้ม เขียนบรรยายด้วยตัวอักษรสีเขียวไว้อย่างน่ารักมากว่า “พื้นที่เล็กๆ ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้มั้ย…ให้ความสดใสคงอยู่กับเรา ไม่อยากให้ใครเขามาแย่งไป”

เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรที่ทุกคนได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองแล้ว เราให้แต่ละกลุ่มกำหนดผู้ที่จะเป็น “เจ้าบ้าน” ของกลุ่มจากนั้นให้อีกเจ็ดคนที่เหลือออกไปเดินสำรวจภาพในกระดาษโปสเตอร์ของกลุ่มอื่นๆ ตามชอบใจ ถ้าชอบรูปวาดหรือเจ้าบ้านคนไหนก็ให้ไปอยู่ในกลุ่มนั้น โดยให้กลุ่มใหม่มีจำนวนประมาณแปดคนเหมือนเดิม เมื่อพร้อมแล้วก็ให้เจ้าบ้านบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มเดิมจากภาพวาดที่ทุกคนได้วาดเอาไว้เกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กของแต่ละคนแล้วแลกเปลี่ยนกัน

กิจกรรมง่ายๆ เพียงแค่นี้กินเวลาไปประมาณสองชั่วโมงกว่า นักศึกษาส่วนใหญ่สะท้อนออกมาในวันต่อมาว่า ในทีแรกรู้สึกงงๆ กับกิจกรรมแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะให้ประโยชน์อะไรกับเขา บางคนสะท้อนว่าในตอนแรกดูว่าจะเป็นอะไรที่ “เสียเวลา” แต่ก็ “รู้สึกดี” และยิ่ง “รู้สึกดีมาก” ขึ้นไปอีกเมื่อทราบในภายหลังว่ากิจกรรมเด็กๆ แบบนี้ได้นำพาพวกเขาไปสู่การเรียนรู้มากมายในวันต่อมา

หลายคนสะท้อนออกมาว่ารู้สึกแปลกใจว่าทำไมตัวเองถึงไม่เคยมีโอกาสหรือไม่เคยมีเวลาที่จะได้คุยกับเพื่อนๆ ในชั้นปีในลักษณะแบบนี้มาก่อนเลยทั้งๆ ที่เรียนด้วยกันมาตั้งสองปีเต็มๆ แล้ว

กิจกรรมในช่วงค่ำ เราให้คงกลุ่มแปดคนที่เกาะกลุ่มกันในครั้งสุดท้ายก่อนเลิกกิจกรรมในช่วงบ่าย เราเริ่มด้วยการผ่อนคลายจากนั้นผมใช้เวลาช่วงสั้นบอกเล่าเรื่องราวความเป็นเด็กของผมบ้างโดยลองเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นแพทย์ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะแพทย์ที่จบใหม่ๆ มักจะต้องพยายามวางมาดให้ดูเป็นผู้ใหญ่และบางทีการพยายามทำตัวเป็นผู้ใหญ่มากเกินไปอาจจะทำให้เราหลงลืม “สิ่งที่ดีๆ ของความเป็นเด็ก” ที่มีประโยชน์ไปหลายเรื่องได้หรือไม่

จากนั้นตั้งโจทย์ให้กับนักศึกษาว่า “เราจะสามารถคงความเป็นเด็กของเราในชีวิตความเป็นแพทย์ได้หรือไม่ ถ้าได้-ได้อย่างไร?” แล้วให้กลุ่มแปดคนลองแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในหัวข้อนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการเรียนรู้ในช่วงบ่ายที่ต่อมาถึงในช่วงค่ำ

เราแจกกระดาษโปสเตอร์แผ่นใหม่และสีเทียน ให้นักศึกษาลองวาดรูปถึงเรื่องราวที่พูดคุยกันคือความเป็นเด็กกับความเป็นแพทย์และเมื่อเราขอให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มจำนวนสิบกว่ากลุ่มออกมานำเสนอเรื่องราวบนเวทีตามความสมัครใจ พวกเราก็ได้พบกับความมหัศจรรย์มากมาย

นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดบนเวทีในที่ประชุมว่า “ข้อดีอย่างหนึ่งของความเป็นเด็กคือความกล้า กล้าที่จะสร้างสรรค์ กล้าคิดนอกกรอบแต่ไม่ใช่นอกกรอบแบบที่ไม่เป็นระเบียบหรือไปทำร้ายผู้อื่นนะครับ” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เด็กๆ มีความจริงใจ มีอิสรภาพในการคิดในการทำสิ่งต่างๆ บางทีเราไม่ควรจะมาแบ่งแยกว่าความเป็นเด็กจะต้องสิ้นสุดเมื่อไร คือเราน่าที่จะคงความเป็นเด็กและนำสิ่งดีๆ ของความเป็นเด็กไปใช้ได้ตลอดไป

นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เด็กๆ มีความเครียดน้อยกว่า เด็กพบกับความแปลกใหม่ในชีวิตเสมอ มีวิธีการมองโลกในแง่ดี เราอาจจะทดลองความเป็นเด็กด้วยตัวอย่างเช่นถ้าเราวิ่งออกกำลังกายก็ให้ลองวิ่งแบบไม่ทับเส้นทางเดิมๆ ดูบ้าง” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “บางทีการเรียนในคณะแพทย์เราอาจจะต้องช่วยกันและเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าแอบหนีไปอ่านหนังสือกันตามลำพัง

นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “การคบเพื่อนในตอนเด็กๆ เราสามารถคบหาได้ทุกคน แต่พอเป็นผู้ใหญ่แล้วชอบสร้างกำแพงกั้น เรื่องนี้บางที่เราน่าจะนำไปใช้ในชีวิตแพทย์นะคือเราไม่ควรที่จะปิดกำแพงกั้นระหว่างตัวเรากับคนไข้ เพราะบางทีเราอาจจะไม่สามารถรักษาคนไข้ได้สำเร็จด้วยโรคร้ายอะไรบางอย่าง แต่เราจะสามารถรักษาจิตใจของเขาได้เสมอ-ถ้าเราไม่สร้างกำแพงระหว่างแพทย์กับคนไข้

นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เป็นผู้ใหญ่แล้วคิดมากเกินไป” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “โลกนี้สวยงาม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการมองโลก เด็กๆ มองโลกสวยงามแต่ผู้ใหญ่ไม่ได้มองแบบนั้น” และอื่นๆ อีกมากมายที่ท่านอาจารย์หมอลำดวนได้เป็นประจักษ์พยานได้เห็นได้ยินการแสดงออกของนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ด้วยตัวเอง

ไม่น่าเชื่อว่าด้วยการจัดกิจกรรมง่ายๆ เช่นนี้เพียงแค่เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงเรื่องราวของ “ชีวิตในวัยเด็ก” เท่านี้ได้ก่อให้เกิด “ความรู้ที่ผุดพรายขึ้นมาได้เอง” ของนักศึกษาแพทย์เหล่านี้โดยที่ “กระบวนกร” (ผู้จัดกระบวนการ) ไม่ได้พูดไม่ได้บรรยายองค์ความรู้ใดๆ ให้กับพวกเขาเลย

การเรียนรู้แบบนี้พอจะใช้เป็นตัวอย่างหนึ่งให้เห็นถึงลักษณะของ “การเรียนรู้จากด้านใน” หรือ “จิตตปัญญาศึกษา” ได้บ้างกระมัง?

Back to Top