ครูและเพื่อนร่วมทาง




บ่ายวันศุกร์ของเดือนพฤษภาคมที่น่ารื่นรมย์วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณเดวิด สปิลเลน สมาชิกอีกท่านหนึ่งของกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งพำนักอยู่ในซอยเล็กๆ สงบเงียบแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ ถ้าตั้งต้นเดินจากวัดสวนดอกก็ใช้เวลาเพียงยี่สิบนาทีเท่านั้น ไปคราวนี้ก็มุ่งหมายที่จะไปขอวิชาจากคุณเดวิดโดยเฉพาะ ว่าด้วยเรื่องการสั่งสมต้นทุนทางจิตวิญญาณของคนร่วมสมัย

เมื่อไปถึง คุณเดวิดเพิ่งกลับจากการออกกำลังกาย ด้วยการเดินเท้าจากบ้านเชิงดอยสุเทพเข้าไปในตัวเมือง เลยไปถึงลานประตูท่าแพ เหงื่อท่วมตัว แต่ใบหน้าแจ่มใส

ช่วงเกษียณอายุใหม่ๆ คุณเดวิดเล่าว่า ได้พยายามฝึกสมาธิภาวนาอย่างหนัก นั่งสมาธิวันละสี่ห้าชั่วโมง นั่งเสียจนเพื่อนที่เหมือนครูทักด้วยคำถาม ว่าถ้าลองไม่นั่งสักวันหนึ่งจะเป็นอย่างไร? เลยฉุกใจคิดได้ว่า อุตส่าห์ฝึกภาวนาเพื่อจะลดละความยึดมั่นถือมั่น แต่ไปเสพติดการนั่งสมาธิเสียนี่ กลายเป็นว่าต้องนั่งทุกวัน เพราะเคยชินเสียแล้ว แถมฝึกได้เฉพาะเวลาอยู่แต่ในห้อง ฝึกที่ตลาดกลับทำไม่ได้ จากนั้นมาเลยเลิกนั่ง แต่มุ่งปฏิบัติภาวนาทุกวันทุกเวลา อย่างขณะเดินออกกำลังกาย ก็ทำสมาธิไปด้วย เดินเป็นชั่วโมงไม่เหนื่อยเลย คุณเดวิดยิ้มกว้างก่อนบอกว่า ตัวเบาเหมือนกับเหาะไปอย่างไรอย่างนั้น

เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความหมายของจิตวิวัฒน์ในทัศนะของคุณเดวิด ได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับสามปีที่ผ่านมา คุณเดวิดกล่าวว่า จิตวิวัฒน์ก็คือการเปลี่ยนแปลง เป็นความพยายามในการรวมกลุ่มกันที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ยอมตามไปกับกระแสโลก จิตวิวัฒน์เป็นเรื่องที่สื่อสารได้ยาก เอาแค่ว่า นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ เขาใช้เวลาในการรับข่าวสารจากสื่อวันละกี่ชั่วโมง ถึงจะเป็นเรื่องยาก ก็ไม่ได้แปลว่าต้องยอม ก็ต้องทวนกระแสต่อไป เพราะจุดหมายปลายทางของกระแสโลกนั้นเป็นทางที่ติดตาย

ส่วนแนวทางการดำเนินงานของจิตวิวัฒน์นั้นก็ควรที่จะตั้งอยู่บนทางสายกลาง โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน และพยายามช่วยเหลือผู้อื่น วิธีไหนก็ได้ อย่างไรก็ได้ โดยย้ำว่า “Be the change, you want to see.”

ในขณะที่สังคมโลกกำลังทำลายตัวเอง โครงสร้างสถาบันเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ อยู่ในสภาวะเลวร้าย ตัวอย่างที่นับถือได้ ถามได้ หากไม่พบ ไม่เห็น ไม่รู้จัก คนหนุ่มสาวร่วมสมัยก็คงปล่อยตัวไปตามกระแส ไปชื่นชมดารา นักร้อง เศรษฐี นักธุรกิจ คนมีชื่อเสียง แทนที่จะเป็นต้นแบบแห่งความดีงาม ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นเพราะคนร่วมสมัยไม่ทราบความหมาย และเป้าหมาย ที่แท้จริงแห่งชีวิตนั่นเอง

อย่างไรก็ดี คุณเดวิดก็เชื่อว่า แม้ทุนนิยมจะเป็นกระแสหลักของโลกร่วมสมัย แต่วิกฤตจะเข้ามาทำให้โลกเปลี่ยนเอง ซึ่งขณะนี้ก็มีสัญญาณเตือนมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่โลกร้อนขึ้นทุกปี พายุเฮอริเคนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และอีกยี่สิบปีน้ำมันก็จะหมดไปจากโลก

กัลยาณมิตรท่านหนึ่งของคุณเดวิด คือ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ เดินสายบรรยายมานับสิบๆ ปี จนกระทั่งสิ้นหวัง เขาเลิกสอน แล้วก็ไปสร้างบ้านเองอยู่ในป่าสองสามปี เคยไปช่วยสอนวิธีทำคลอดให้กับคนยากคนจนในนิวยอร์ก แล้วก็มีกำลังใจกลับมาสอนใหม่ จนอายุกว่าแปดสิบแล้ว เพียร์ซเชื่อว่า เขาต้องรับผิดชอบต่อการสอน แต่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อคนอื่น เพราะครูย่อมช่วยสอนได้ แต่ทำให้ไม่ได้

เช่นเดียวกัน คนหนุ่มสาวร่วมสมัยก็ต้องสั่งสมต้นทุนภายในไว้ เพื่อไปให้พ้นโครงสร้างที่กัดกินตัวเอง และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับวิกฤต “เราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แม้จะไม่รู้ว่าผลเป็นอย่างไร” คุณเดวิดกล่าว

เด็กอนุบาลทางจิตวิญญาณอย่างข้าพเจ้าก็เลยถามว่า ที่ทำนั้นหมายถึงอย่างไร? เป็นการภาวนารูปแบบไหน? วิถีใด?

คุณลุงเดวิดยิ้มขำ ก่อนตอบเจ้าหนูน้อยว่า เดี๋ยวนี้เขาไม่มีวิธีภาวนาแล้ว เพราะวิถีไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขณะเดินก็ฝึกจิตได้ แต่คนยุคใหม่ไม่ค่อยอยากจะฝึกกัน เพราะไม่อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากเจอตัวเอง อย่างพวกนักธุรกิจที่ไปประชุมอยู่ในป่า ไม่มีโทรศัพท์ใช้ ปรากฎว่าเครียด อึดอัด ไม่สบายใจ เพราะอยู่กับตัวเองไม่ได้

การฝึกนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ต้องทำอย่างจริงจัง เราจำเป็นต้องภาวนา พยายามหาเวลาในหนึ่งวันให้กับการภาวนา แต่ไม่ใช่การปลีกวิเวก เพราะวัฒนธรรมเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน เราต้องหาวิธีภาวนาให้ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ต้องทำไปโดยไม่คิดถึงผล เหมือนที่อาจารย์มิตสุโอะ ที่กาญจนบุรีกล่าวไว้ว่า “ขณะที่รู้ ไม่มีผู้รู้ ไม่มีตัวกู ของกู”

ลุงเดวิดเป็นชาวคริสต์ และฝึกภาวนามากว่า ๒๕ ปี บนวิถีคริสต์ หลังจากนั้นก็หล่อหลอมกับการฝึกวิถีพุทธอยู่ราว ๑๐ ปี การเรียนรู้ของลุงเริ่มจากการอ่านหนังสือ พบปะกับคุรุทางจิตวิญญาณ และการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง

การอ่านก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการด้วย ต้องไม่เชื่อง่าย การค้นหาคุรุก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณา บางคนก็ไม่ใช่ตัวจริง แม้จะมีอิทธิฤทธิ์ พลังจิต แต่ถ้าบ้าเงิน บ้าผู้หญิง และใช้ฤทธิ์ในทางที่ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นก็ไม่ใช่ของจริง การฝึกก็ต้องทำจริงจัง ไม่ใช่งานอดิเรก ถ้าฝึกแล้วก็จะเห็นอนิจจัง เห็นสัจธรรม

ครูคนแรกได้พบเมื่อสิบเอ็ดปีก่อน ไปเจอกันในงานสัมมนาซึ่งจัด ๓ วัน ๓ คืน พอเจอกันครั้งแรกก็นั่งคุยกันสองชั่วโมง พอเสร็จสิ้นงานสัมมนาก็ขับรถข้ามเมืองไปหาที่บ้าน และพบกันอย่างสม่ำเสมอ นั่งคุยกันครั้งละสิบชั่วโมง การพูดคุยแต่ละครั้ง มีคุณค่าเท่ากับการเข้าโรงเรียนหนึ่งภาคเรียนเลยทีเดียว

ครูคนที่สองชื่อเบอร์นาเดส โรเบิร์ตส์ เคยเป็นแม่ชีคาทอลิก อยู่ในวัดคริสต์ที่แคลิฟอร์เนียอยู่สิบกว่าปี ก่อนจะสึกออกมาแต่งงานและมีลูก คุณเดวิดนับถือมาก ถึงกับยกย่องว่าเธอตรัสรู้แล้วด้วยซ้ำ

คนถัดมาคือคุณวิทยา เป็นเพื่อนของเพื่อนภรรยา ก่อนจะกลายมาเป็นกัลยาณมิตรทางจิตวิญญาณ คุณวิทยาสนใจและทุ่มเทกับการฝึกสมาธิวิปัสสนาอย่างหนัก ซึ่งตรงกับจริตของคุณเดวิดมาก พบปะคบหากันมานับสิบปีแล้ว คุณวิทยาเคยเล่าว่าช่วงที่เดินทางไปอิสาน ๒ ครั้ง ๑๐ วัด ได้พบกับพระอรหันต์ถึงเจ็ดแปดท่าน นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากทีเดียว

คุรุคนสำคัญอีกท่านหนึ่งคือสัตเปรม เป็นชาวฝรั่งเศส ที่รอดชีวิตมาจากค่ายกักกันชาวยิวของนาซี ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ เขาอายุน้อยมากในขณะนั้น เมื่อออกมาได้ก็มีสุขภาพที่ไม่ใคร่ดีนัก จึงมุ่งค้นหาความหมายของชีวิตก่อนตาย เขาเดินทางไปอียิปต์เลยไปถึงอินเดีย ได้พบกับศรีอรพินโทในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ไม่ยอมอยู่ในอาศรม จนกระทั่งพบข่าวศรีอรพินโทเสียชีวิต จึงได้เดินทางไปอเมริกาใต้ ก่อนกลับไปอินเดียเพื่อช่วยคุณแม่ - เดอะ มาเธอร์ – ทำงานในอาศรม แม้จะไม่ชอบอยู่ในนั้นก็ตาม เขาพบกับคุณแม่สัปดาห์ละครั้ง และบันทึกเทปไว้ทุกครั้ง เมื่อคุณแม่เสียชีวิต เขาก็หอบเทปหนีชาวอาศรมไปพร้อมกับภรรยาชาวอินเดีย แล้วก็เรียบเรียงคำสอนของคุณแม่ออกมาพิมพ์ได้ชุดใหญ่ ๑๓ เล่ม สัตเปรมอาศัยอยู่ในเนปาล และไม่ติดต่อใครเลย ยกเว้นสำนักพิมพ์

คุณเดวิดได้อ่านหนังสือของสัตเปรมแล้วก็อยากติดต่อเป็นกำลัง จึงเขียนจดหมายไปหาผ่านสำนักพิมพ์ สัตเปรมก็ตอบกลับมาถึงสามครั้ง ทั้งยังแนะนำคุณเดวิดให้ไปที่อาศรม เมื่อคุณเดวิดเดินทางไปอินเดีย ก็ได้ไปพบกับพี่ชายพี่สาวของภรรยาสัตเปรม

นอกจากนี้ คุณเดวิดยังพยายามหาโอกาสไปพบหรือปฏิบัติภาวนากับคุรุท่านอื่นๆ อีกมาก เป็นต้นว่า ติช นัท ฮันห์ ทะไล ลามะ พระทิเบตในเนปาล และนักเขียนอีกหลายคนที่อเมริกา

คุณเดวิดถือว่าการได้พบกับคุรุทางจิตวิญญาณหลายท่านนับเป็นความโชคดีของชีวิต แต่ก็ต้องฝึกปฏิบัติเองให้ได้ คุรุเป็นเพียงผู้นำทาง และแนะนำให้ช่วยพิชิตอุปสรรคทางจิตวิญญาณได้ เพียงแต่เราต้องเป็นผู้ทำเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะหยุดตามหาคุรุแล้ว ในขณะที่กำลังฝึกปฏิบัติ การมีกัลยาณมิตร – เพื่อนที่กำลังเดินทางด้วยกัน - เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนที่ทำแบบนี้เป็นคนที่กำลังทวนกระแส การมีคนเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น

มีบางเวลาที่คุณเดวิดก็ท้อใจบ้าง “ผมบ้าหรือเปล่า?” – เป็นคำถามที่ครั้งหนึ่งเคยถามตัวเอง เพื่อนเก่าชาวอเมริกันหลายคนคิดว่าคุณเดวิดไม่เต็มบาท และมองว่าความรู้ทางศาสนาเป็นไสยศาสตร์ ตัวคุณเดวิดเองก็เกษียณก่อนกำหนด เพราะเบื่อชีวิตข้าราชการ และอยากมีเวลาปฏิบัติธรรมมากขึ้น ช่วงนั้นก็ไม่ค่อยสบาย ป่วยมาก รู้สึกเหมือนใกล้ตาย บวกด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ แม้ว่าพี่อำไพ – ภรรยา – และลูกชายจะไม่เห็นด้วยนัก แถมยังมองว่าแปลก แต่คุณเดวิดก็ได้ตัดสินใจแล้ว

กัลยาณมิตรของคุณเดวิด นอกเหนือจากกลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่พบปะกันเดือนละครั้งแล้ว ยังมีที่ติดต่อผ่านอินเทอร์เนตอีกห้าหกคน และปฏิบัติภาวนาร่วมกันเจ็ดคน หนึ่งในนั้นเป็นบาทหลวง

ปัจจุบัน ชาวตะวันตกเริ่มหันมาสนใจทางจิตวิญญาณกันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะเข้าถึงที่สุดทางวัตถุนิยมแล้วก็เป็นได้ ขณะที่อยู่ต่างประเทศก็พบกันเดือนละครั้ง เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็ยิ่งมีเพื่อนปฏิบัติธรรมมากขึ้น
“หากเราทวนกระแส เราต้องการเพื่อนสนิทที่เข้าใจ และครูดีๆ แต่เราต้องอดทน” ครูเดวิดสอนลูกศิษย์ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน แล้วเล่าต่อพร้อมรอยยิ้มว่า ตอนนี้พี่อำไพเข้าใจแล้ว และอยากเกษียณอายุก่อนกำหนดเหมือนกัน

One Comment

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คำแนะนำดังกล่าว จากใจจริงค่ะ ขอให้ Master ทุกพระองค์โปรดอวยพรแด่...ผู้ที่มีความกระหายที่จะเรียนรู้ทางด้านจิตวิญญาณด้วย
แตงกวา

Back to Top