การวัดผลและตัวชี้วัดในวิทยาศาสตร์ใหม่

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 22 กรกฎาคม 2549

ต้องขอบอกก่อนนะครับว่าผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะ “ประเมินผล” กับคนหรือหน่วยงานองค์กรต่างๆ ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อที่จะให้คนหรือหน่วยงานต่างๆ เหล่านั้นอยู่ใน “เกณฑ์” ที่มีมาตรฐานใช้งานได้ ทั้งนี้รวมความไปถึงการประเมินผลงานต่างๆ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่มีความปรารถนาดีที่จะทำให้เกิด “งานที่ดีที่สุด” “มีประสิทธิภาพที่สุด” แต่ผมไม่เห็นด้วยกับ “วิธีการประเมิน” ที่กำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างของการประเมินผลในระดับของบุคคล ก็ได้แก่การสอบต่างๆ ทุกระดับทั้งในระดับการสอบของนักเรียน นักศึกษาหรือคนทำงาน รวมไปถึงการประเมินผลงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตัวอย่างของการประเมินผลในระดับองค์กรต่างๆ ก็ได้แก่ระบบพัฒนาคุณภาพต่างๆ ระบบมาตรฐานต่างๆ ที่มีออกมามากมายเต็มไปหมด

ผมอยากจะขอย้ำว่าแนวคิดเรื่องการประเมินเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะจะทำให้คนในสังคมได้สิ่งที่ดีที่สุดตามที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นสิ่งที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นมาในสังคมก็คือ คนหรือหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่จะได้รับการประเมิน ถึงได้เกิด “ความเครียด” หรือเกิด “สภาวะที่ไม่ปกติ” ขึ้นมา

ทำไมนักเรียนถึงเครียดกับการเรียนการสอบและแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย แทนที่จะสนใจว่าความรู้อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์และเอาไปใช้ให้เกิด “ความดีงาม” ในสังคม

ทำไมครูถึงได้เครียดกับการประเมินคุณภาพต่างๆ และเอาเป็นเอาตายกับงานเอกสารการประเมินที่ทำให้ร้านซีร็อกต่างๆ ร่ำรวยเพราะเต็มไปด้วยงานถ่ายเอกสารต่างๆ เหล่านั้น (แล้วมีใครอ่านบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้) แทนที่จะเอาเวลาไปใช้กับนักเรียนอย่างแท้จริง

ทำไมเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่จะต้องได้รับการประเมินระบบคุณภาพ ถึงไม่เกิดความสุขหรือความสนุกในการทำงาน กลับรู้สึกเครียด รู้สึกว่าเป็นภาระ ทำไปทำมาพยาบาลห้องผ่าตัดบางแห่งสะท้อนว่า มัวแต่เสียเวลากับการกรอกเอกสารเรื่องการประเมินผล แทนที่จะเอาเวลาเหล่านั้นไปพูดคุยปลอบโยนผู้ป่วยที่กำลังเครียดก่อนที่จะเข้าห้องผ่าตัด ไม่รู้ไม่แน่ใจว่าเอกสารการประเมินเหล่านั้นสำคัญกว่าคนไข้ไปตั้งแต่เมื่อไร

ที่สำคัญที่สุดแน่ใจแล้วหรือว่าเอกสารการประเมินต่างๆ เหล่านั้น “เป็นจริง” ไม่ได้เป็นการ “ปั้นแต่งข้อมูล” ขึ้นมา แน่ใจแล้วหรือว่า เราได้สิ่งที่ดีที่สุด มาตรฐานที่ดีที่สุดตามที่เราต้องการ แน่ใจแล้วหรือว่า เราไม่ได้ตกเป็นทาสของเครื่องมือที่เราสร้างขึ้น เพราะมนุษย์มักจะตกเป็นทาสของเครื่องมือที่ตัวเองสร้างขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ก็คือเครื่องมือในการประเมินผลต่างๆ ตัวชี้วัดต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมา

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะ “เข้าใจผิด” หรือ “หลงลืม” ไปมองว่าคนหรือองค์กรต่างๆ เหล่านี้เป็น “เครื่องจักร”

พวกเราอยู่ในสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันมานานร่วมสามร้อยปี เป็นไปได้หรือไม่ว่า บางทีเราก็ “เผลอไปบ้าง” คือไปเผลอมองคนเป็นวัตถุด้วยความเคยชิน มองสิ่งที่เป็นสิ่งมีชีวิตภายใต้โมเดลของสิ่งที่ไม่มีชีวิต

หลงหรือเผลอไปมองว่าการประเมินมาตรฐานคุณภาพของคน เป็นแบบเดียวกับการที่เราประเมินคุณภาพของหลอดไฟสักดวงหนึ่งที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม หรือไปใช้มาตรฐานของการประเมินคุณภาพรถยนต์สักคันหนึ่งเป็นแบบเดียวกับมาตรฐานที่เราใช้ประเมินองค์กรหรือหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่ง

ในบทความชิ้นนี้ผมคงจะไม่เสียเวลาเถียงหรอกว่า ในแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเชื่อว่าองค์กรเป็นสิ่งมีชีวิต หน่วยงานเป็นสิ่งมีชีวิต แต่เอาง่ายๆ กันแค่ว่าองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านั้นจะไม่มีชีวิตไปได้อย่างไรในเมื่อสิ่งที่ขับเคลื่อนองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านั้นก็คือคนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต มีความคิด มีอารมณ์ความรู้สึก

ในระบบของสิ่งมีชีวิตนั้น มีการ “ประเมินผลตลอดเวลา” ผมอยากจะยกตัวอย่างร่างกายมนุษย์ มีการประเมินผลในระบบของร่างกายมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าในทุกเสี้ยววินาทีเซลล์ต่างๆ ของร่างกายมนุษย์มีการประเมินผลเป็นการภายในอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ก็จะกลายไปเป็น “สัญญาณ” ที่ส่งไปยังสมองส่วนที่ควบคุมความหิวเพื่อให้ร่างกายได้รับอาหารเข้าไป หรือเมื่อระดับอุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไปหรือร่างกายเสียเหงื่อมากเกินไปก็จะมี “สัญญาณ” หรืออื่นๆ

“สัญญาณ” ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบของร่างกายนั้นก็คือ “ตัวชี้วัด” ในการประเมินผลที่มีอยู่ตลอดเวลาของร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง เพราะถ้าไม่มีสัญญาณหรือการประเมินผลเหล่านี้ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตก็คงจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้

ถ้าเราจะลองนำพาเอาแนวคิดแบบ “วิทยาศาสตร์ใหม่” แบบที่คิดว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิต องค์กรที่ประกอบด้วยคนทำงานเป็นสิ่งมีชีวิตมาใช้ในเรื่องของการประเมินผลและตัวชี้วัดนี้ เราจะมองเห็นอะไรบ้าง

หนึ่ง ลักษณะที่สำคัญที่สุดของตัวชี้วัดแบบสิ่งมีชีวิต ก็คือตัวชี้วัดและการประเมินผลนั้นมาจากภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเอง ไม่ได้มาจากภายนอกร่างกาย

สอง ตัวชี้วัดเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลาไปตามสถานการณ์ ในขณะที่ตัวชี้วัดจากภายนอกมักจะมีมาตรฐานเดียวและตายตัว

สาม ตัวชี้วัดเหล่านี้เกิดจากการได้ข้อมูลที่แท้จริงจำนวนมากมายมหาศาลในระบบ ในขณะที่ตัวชี้วัดจากภายนอกไม่มีทางที่จะได้ข้อมูลเหล่านั้น ย่อมเกิดความผิดพลาดในการประเมินมากกว่า

ด้วยคุณสมบัติของ “ตัวชี้วัด” ที่มาจากภายในขององค์กรแบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้เลย ถ้าในองค์กรนั้น “ไม่มีกระบวนการ” ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งหรือสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับที่เกิดขึ้นในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าในสภาวะปกติเซลล์ต่างๆ ของมนุษย์จะสามารถสื่อสารถึงกันได้เป็นอย่างดี

ในอีกทางหนึ่งสมมติว่าถ้าเราสามารถมี “กระบวนการ” ที่ทำให้องค์กรๆ หนึ่งสามารถสร้าง “ตัวชี้วัด” ได้ด้วยตัวเอง สามารถจัดการประเมินผลด้วยตัวเองเหมือนกับที่เกิดขึ้นในร่างกายของสิ่งมีชีวิต อะไรจะเกิดขึ้น?

จากประสบการณ์ที่พวกเราที่เชียงรายใช้ “สุนทรียสนทนา” เป็นตัวร้อยเรียงเพื่อทำให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างคนในองค์กร เราพบว่าเมื่อเราสามารถสร้าง “ชุมชนปฏิบัติการ” ขึ้นมาเป็น “กระหย่อม” ในองค์กรได้ เราก็จะสามารถใช้ “ชุมชนปฏิบัติการ” หรือ “กระหย่อม” เหล่านี้ในการสร้างตัวชี้วัดและการประเมินผลที่มาจากความคิดของคนในองค์กรเอง เราพบว่าเราได้มองเห็น “ประกายตา” จำนวนมากมายที่ฉานฉายถึง “ความสดใส” “ความมุ่งมั่น” และเต็มเปี่ยมไปด้วย “แรงบันดาลใจ” ที่จะทำงานให้กับองค์กร

เพราะผู้คนเหล่านี้ได้มองเห็นแล้วว่า ผลพวงจากสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้ “คิดร่วมกัน” ได้ก้าวไปพ้นการประเมินและไปพ้นระบบมาตรฐานคุณภาพต่างๆ จากภายนอกที่มีแต่งานเอกสารหรือตัวเลขที่ “ปั้นแต่ง” ขึ้นมาอย่างไร้สาระไปแล้ว

Back to Top