จินตนาการ

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มีนาคม 2550

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยตั้งโจทย์ให้กับนักศึกษาและตนเองว่า ในยุคสมัยของเรานี้ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้อย่างไร หากลองจินตนาการถึงสังคมสันติภาพ จะเป็นไปได้ไหม และภาพของสังคมสันติภาพเป็นอย่างไร นักศึกษาบางคนบอกว่า นึกไม่ออก บางคนบอกว่า นึกออก ผู้เขียนลองชวนให้จินตนาการต่อไปว่า แล้วจะทำให้เกิดบรรยากาศแบบนั้นได้อย่างไร บางคนบอกว่า ยาก บางคนบอกว่า ง่ายนิดเดียว
หากมนุษย์ร่วมกันใคร่ครวญสักประเดี๋ยวว่า สังคมเรา ประเทศเรา โลกเรา และจักรวาลของเรานั้น มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าร้อยล้านปี มีกระบวนการจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบ มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีวาระและเจตจำนงที่ซ่อนเร้น น่าพิศวงอย่างยิ่ง จักรวาลเป็นแหล่งรวมข้อมูล ที่เต็มอิ่มไปด้วยจิตวิญญาณและความคิดเช่นนั้น อยู่อย่างนั้น สาเหตุในอาการป่วยของมนุษย์และโลกอยู่ตรงนั้น ยารักษาและทางแก้ก็อยู่ตรงนั้น โลกป่วย เราจึงป่วย ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราป่วย โลกก็ย่อมป่วยไปด้วย เพียงแต่มนุษย์ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น จึงจะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งระบบ เพราะหากไม่เรียนรู้ ก็จะทุกข์ทรมานร่วมกันอย่างนั้นร่ำไป
บางคนบอกว่าเป็นเรื่องยาก ไม่เข้าใจ นึกไม่ออก อาจารย์ในกลุ่มจิตวิวัฒน์ย่อมจะกล่าวว่า การรู้สึกว่าไม่เข้าใจนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้เมื่อไม่เข้าใจและนึกไม่ออก ทางแก้ไขคือ การเรียนรู้ให้เข้าใจ ซึ่งก็จะเกิดคำถามอีกว่า แล้วจำเป็นด้วยหรือ? นักคิดนักปราชญ์ทั้งหลายย่อมจะตอบว่า จำเป็น เพราะความรู้ที่มีอยู่บนโลกทั้งหมด ยังไม่สามารถแก้ไขวิกฤตต่างๆ ได้ มนุษย์ทุกคนจึงต้องเรียนรู้ต่อไป ค้นคว้าร่วมกันต่อไป
ดังนั้น คนเราจึงมีสิทธิ์ในการเรียนรู้อยู่ทุกขณะ โดยเริ่มจากการเรียนรู้ในความผิดพลาด ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์นั้นจะไม่รังเกียจความผิดพลาดแต่อย่างใด เมื่อเห็นความผิดพลาดโตๆ แล้วจะต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป เพื่อทำให้ความผิดพลาดลดน้อยลง ในทางพุทธ พระท่านบอกให้เรียนรู้ทุกข์ ชาวพุทธเป็นนักสู้ ความทุกข์อยู่ที่ไหน ต้องเข้าไปเรียนรู้ที่นั่น แล้วจดจำสภาวะไว้ เมื่อนั้นสติจะเกิดขึ้นเอง ความทุกข์และความผิดพลาดจึงเป็นครู มีอยู่ เกิดขึ้น แล้วดับไป เมื่อเรียนรู้ทุกข์ก็จะพบความจริง แล้วบังเกิดอิสรภาพ
ในหนังสือของอาจารย์ประสาน ต่างใจ เรื่อง เอกภาพของชีวิตกับจักรวาล กล่าวว่า “มนุษย์และสรรพชีวิตทั้งหลายในรูปแบบที่เป็นปัจเจกลักษณะ ล้วนอุบัติขึ้นมาจากผลรวมของการโผล่ปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับด้วยกันเช่นนั้น” หมายความว่า ไม่มีสิ่งใดแยกขาดจากกันเลยแม้สักวินาทีเดียว ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งทางนิเวศน์ สังคม การเมือง และอารยธรรม ไม่ได้แยกขาดออกจากกันเลย ดังนั้น ก็ย่อมจะมีนักการเมืองที่เราชอบหรือไม่ชอบปะปนกันไป หรือมีข้อมูลที่เราชอบและไม่ชอบในแต่ละวันให้ได้รับรู้รับฟัง เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้มากมาย ก็ต้องแก้ไขกันไป กระทั่งภัยธรรมชาติ โรคระบาด มหันตภัยไฟป่า ไข้หวัดนก สึนามิ เอลนิลโญ สงครามและความรุนแรง ล้วนเป็นรูปธรรมของความน่ารันทดอดสูใจ ที่มนุษย์ควรเรียนรู้ และมีความละอายใจร่วมกัน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเดียวกัน ในขณะนั้นเอง ที่ความหวัง ความรู้สึก และจินตนาการไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้าย่อมจะบังเกิดขึ้นได้ ความทุกข์-ความสุขเกิดขึ้นเป็นจังหวะ เล็กบ้างใหญ่บ้างสลับกันไป ตามลำดับของระบบตั้งแต่เล็กๆ ไปถึงระบบใหญ่ๆ เช่น ระบบจุลินทรีย์ไปถึงระบบจักรวาล หากมนุษย์เรียนรู้และเข้าใจได้ จะเกิดความรู้ที่เป็นประโยชน์ และความสุขอันใหญ่หลวง เมื่อนั้นการตระหนักรู้ถึงหน้าที่ที่พึงกระทำ จะปรากฏขึ้นมาเองในมโนสำนึกของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม

ในยุคสมัยของเรานี้ การจินตนาการถึงแผ่นดินอันอุดมชุ่มชื้น ไม่แห้งแล้ง ไม่แร้นแค้น และมีสันติภาพนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โลกทั้งใบที่เขียวขจีจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราได้อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรใคร่ครวญและศึกษา เพราะในไม่ช้าโลกภายในจิตใจของเราจะนำพาออกไปสู่โลกภายนอก ผ่านมือของเรา กายของเรา ที่รับหน้าที่ไปได้อย่างเข้าใจ อย่างมีคุณภาพ อย่างเข้าถึงความจริง ที่ทุกสิ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มั่นอกมั่นใจในการประกอบอาชีพอันสุจริต ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในฐานะที่ต่างก็เป็นทรัพยากรของจักรวาลเท่าๆ กัน

หลายสิ่งหลายอย่างในความเป็นมนุษย์นั้น น่าศึกษาอย่างยิ่ง เพราะแม้มนุษย์จะเป็นระบบเล็ก ๆ ระบบหนึ่ง แต่ก็เป็นตัวแทนของจักรวาลพอๆ กับสิ่งอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่บนโลก ภายในจิตใจมนุษย์นั้นมีธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ยากแท้หยั่งถึง มีทั้งสิ่งที่รู้ได้และไม่สามารถรู้ได้ โผล่ปรากฏสลับกันตลอดเวลา เขามี เราก็มี ซึ่งจะทำให้เกิดความละอายต่อกัน สงสารกัน เท่าๆ กับศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของกันและกันจริงๆ ตลอดจนเชื่อมั่นได้ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้ แม้จะเป็นมิตรหรือศัตรู ย่อมจะให้อภัยกัน เมื่อนั้นสันติภาพจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

บางคนบอกว่า ยาก ผู้เขียนเองนั้นมีความรู้น้อย ได้แต่อ้างครูบาอาจารย์ ซึ่งท่านแนะนำว่า ให้ใช้ความเพียรในการศึกษา มีจินตนาการเป็นอาหารหล่อเลี้ยง มีสติเป็นเครื่องคุ้มกัน ค่อยๆ เรียนรู้ไป และท่านเน้นย้ำว่าอย่าละความเพียร โดยท่านเหล่านั้นคนแล้วคนเล่า ได้เตรียมเครื่องมือในการเรียนรู้ไว้ให้คนรุ่นเราอย่างมากมายอยู่แล้ว เช่น การเจริญสติ ภาวนา สุนทรียสนทนา และการฟังอย่างลึกซึ้ง เหล่านี้จะทำให้มนุษย์น้อมตัวน้อมใจมาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไขสังคมกันต่อไป จากที่มันไม่ดี ก็ทำให้มันดีได้โดยไม่ต้องทำร้ายหรือฆ่าฟันกัน นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องใช้จินตนาการให้เกิดภาพใหญ่ร่วมกัน ไม่ใช่ภาพของคนใดคนหนึ่งที่เสกสรรปั้นแต่งออกมาอยู่คนเดียว และเมื่อมนุษย์สามารถวางใจให้เกิดจินตภาพร่วมกับผู้อื่นได้ ก็จะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน ยอมลดทอนภาพใหญ่ของตนเอง และไม่เหนื่อยหน่ายกับการเริ่มทำอะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากความเคยชินเดิมๆ

จากไม่ดีก็ทำให้ดีได้ ดังหนังสือ เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต ของหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ท่านกล่าวว่า “ทำโต๊ะทำเตียง... เหมือนกับไม้ กว่าจะเอามาทำโต๊ะทำเตียงได้มันยากลำบากก็ช่างมัน มันต้องผ่านตรงนั้น จะเป็นโต๊ะเป็นเตียงได้ก็ต้องผ่านของหยาบๆ มาก่อน เราทั้งหลายก็เช่นกัน เอาแต่ของที่ยังไม่เป็นมาทำให้เป็น ที่ยังไม่งามมาทำให้งาม ที่ยังใช้ไม่ได้มาทำให้ใช้ได้” โลกแห้งแล้งก็ทำให้ชุ่มชื้นได้ สังคมที่ใช้ไม่ได้ก็ทำให้ใช้ได้ แต่จะทำให้งดงามได้อย่างไร ก็คงเหมือนกับงานออกแบบบ้านของสถาปนิก ที่ย่อมต้องใช้จินตนาการ...

Back to Top