อย่าเชื่อ อย่าไว้ใจ

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มกราคม 2551

ราวสิบปีก่อนเห็นจะได้ ที่ผู้เขียนมีโอกาสพบกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพนับถือได้โทรศัพท์มาถามด้วยความห่วงใยว่าสุลักษณ์พูดหรือสอนอะไรบ้าง ข้าพเจ้าตอบรายงานสั้นๆ ว่า “อาจารย์บอกว่าอย่าเชื่อผม”

คำว่า “อย่าเชื่อ” ส่งผลสะเทือนต่อผู้เขียนอย่างลึกซึ้ง ทำให้ต้องกลับไปศึกษากาลามสูตรในพุทธศาสนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในข้อที่ว่า

“อย่าเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
อย่าเชื่อเพราะผู้พูดควรเชื่อได้
อย่าเชื่อเพราะผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา”

และเมื่อได้อ่านและศึกษางานเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาสายวัชรยานมากขึ้นก็พบว่า คุรุมีความสำคัญยิ่ง เป็นต้นแบบอันแจ่มชัด ศิษย์จะต้องรับใช้และศรัทธาในตัวของอาจารย์อย่างล้นพ้น แต่ก่อนจะมอบตนเป็นศิษย์ของใคร เราจะต้องตรวจสอบครูบาอาจารย์อย่างละเอียดถี่ถ้วน บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลานับสิบปี และถ้าจำเป็น ท่านทะไลลามะกล่าวว่า “ต้องสอดแนมพฤติกรรมอาจารย์” ด้วยซ้ำไป

ในทางสายมหายานเอง ไถ่ นัท ฮันห์ ก็ย้ำเตือนอยู่เสมอว่า เวลาฟังบรรยายธรรมให้ทำตัวเหมือนพื้นดินรองรับความชุ่มชื่นจากเม็ดฝน อย่าได้คิดหรือเชื่อท่านในทันที

พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสเองในยามเจ็บป่วย เมื่อแพทย์จัดยาไปให้ท่านฉัน ท่านมักจะถามก่อนว่าเป็นยาอะไร แก้อะไร และหากสั่งห้ามฉันอาหารบางประเภทเพื่อมิให้อาการโรคกำเริบ ท่านก็จะต้องทดลองก่อนว่าจริงหรือไม่ หากพบว่าจริง จึงค่อยทำตาม

ท่าทีของครูบาอาจารย์ทางธรรมต่อสิ่งที่ถือว่าเป็นความรู้ความจริงนั้น ถือว่าน่าสนใจนัก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมอบหมายความไว้วางใจต่อผู้รู้ ผู้ชำนาญการ ดังจะเห็นได้ว่า เวลาที่สังคมไทยเผชิญกับวิกฤติหรือปัญหา ผู้สื่อข่าวก็จะวิ่งไปหาผู้รู้ที่สวมบทบาทโดยนักวิชาการ นักกฎหมาย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักเขียน ศิลปิน ฯลฯ ซึ่งเมื่อถูกถามบ่อยๆ เข้า ก็มักจะไว้วางใจในความรู้ของตนเองมากขึ้นจนปราศจากการทบทวนตรวจสอบ เลยไปถึงขั้นโอบกอดสัจจะนั้นอย่างแนบแน่น กลายเป็นเผด็จการสัจจะไปเสียเอง

นี้ยังไม่นับว่าผู้รู้เหล่านั้นมีความสุจริตใจเพียงใด ดังในทางสายวิทยาศาสตร์ที่พบว่ามีกรณีปลอมแปลงผลงานวิจัยมาแล้วหลายครั้ง เพราะประชาคมวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะให้ความเชื่อถือนักวิชาการผู้ชำนาญการที่ประจำการอยู่ตามมหาวิทยาลัยและ / หรือสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียง จึงเชื่อว่าบทความทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์นั้นเป็นความจริง แต่สถิติจากสำนักงานบริการสุขภาพและมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๕๐ มีงานวิจัยปลอมที่ตรวจสอบได้ถึง ๑๘๕ รายการ และที่ยังคงค้างการตรวจสอบอีกนับพันรายการ

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช วัชราจารย์ที่นำพุทธศาสนาสายทิเบตไปเผยแพร่หยั่งรากลึกในดินแดนอเมริกาเคยรจนาในบทกวีไว้ว่า

“ฉะนั้น จงอย่าเชื่อ
เพราะการเชื่อนั้นคือการยอมมอบตน
จงอย่าเชื่ออย่างเด็ดขาด”

ทั้งนี้ ท่านขยายความว่า การดำรงตนอยู่บนหนทางแห่งความไม่เชื่อ จักทำให้เราพ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่น พ้นไปจากความข้องติดในตัวตน ในความคิดความเห็นของตน อันนำไปสู่ปัญญาและกรุณา

โดยที่การไม่เชื่อย่อมต่างจากการไม่เชื่ออะไรเลย เพราะการไม่เชื่อนั้นเน้นย้ำกระบวนการก่อนที่จะเชื่อ แต่การไม่เชื่ออะไรเลยย่อมมีอันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาใกล้ตาย

วิชาความรู้ทั้งหลายในโลกนี้ประกอบไปด้วยความหลากหลาย แต่ทันทีที่สาขาวิชาใดหรือผู้เชี่ยวชาญใดประกาศตนว่า “ฉันมีคำตอบ” เราจะต้องไม่ลืมว่าสิ่งเหล่านั้นหรือเขาเหล่านั้นเพียงแต่พยายามเสนอ “คำตอบหนึ่ง” และปัญหาในโลกปัจจุบันนี้ล้วนมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกที ยากยิ่งที่จะใช้คำตอบใดคำตอบหนึ่ง สาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ผู้รู้คนใดคนหนึ่งมาแก้ปัญหา เพราะการแก้ปัญหานั้นย่อมกลายเป็นส่วน-ส่วน ไม่อาจแก้ได้ทั้งหมด

การสยบยอมต่อความรู้ สยบยอมต่อผู้รู้ สยบยอมต่อคุรุ โดยไม่ยอมตั้งคำถาม จึงไม่ต่างอะไรกับการสยบยอมต่ออำนาจ ที่มาในรูปแบบของวิทยานิพนธ์ เอกสารทางวิชาการ ฯลฯ ซึ่งเป็นหน้าตาหนึ่งที่แนบเนียนกว่าอาวุธและเงินตราเท่านั้นเอง

ครูบาอาจารย์ทางธรรมท่านจึงล้วนเน้นย้ำให้พิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จะเชื่อ การเชื่อหรือไม่เชื่อจึงไม่ใช่ประเด็น หากแต่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์

ระบบการศึกษาปัจจุบันล้วนทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ผลิตออกมาเป็นคนที่เชื่องเชื่อ เพราะไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกหน้า โลกจะร้อนหรือเย็น ผู้ปกครองล้วนต้องการประชาชนที่เชื่องเชื่อ มนุษย์ยุคนี้จึงมีหน้าตาคล้ายคลึงกับพลเมืองของโลกอนาคตที่ อัลดัส ฮักซ์เลย์ เขียนไว้ใน Brave New World คือ ผู้คนแทบจะไม่อ่านหนังสือ ไม่กลัวจะถูกปิดกั้นข่าวสารเพราะได้รับป้อนข้อมูลข่าวสารจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาจากผู้มีอำนาจ ผู้คนเหล่านี้ปราศจากความทุกข์ร้อนเพราะได้รับข่าวสารรายการบันเทิงตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังหัวเราะให้กับเรื่องอะไร และปราศจากความหวาดกลัวหรือขัดแย้งต่อผู้มีอำนาจ เพราะได้เป็นมิตรเชื่องเชื่อและสยบยอมต่อผู้มีอำนาจอย่างสิ้นเชิง

หากรัตนบุรุษอย่างพระพุทธเจ้ายังบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่พระองค์สอน อวตารของพระโพธิสัตว์อย่างท่านทะไลลามะยังบอกให้ลงทุนสืบพฤติกรรมครูบาอาจารย์จนแน่ชัด คุรุทางจิตวิญญาณต่างกระตุ้นเตือนไม่ให้เราไว้วางใจในความรู้และสติปัญญาภายในตัวของเรา สาอะไรกับอวิชชาภายนอก ที่มากวักมือเชื้อเชิญในรูปของสัจจะ คุณธรรม จริยธรรม โฆษณา พระคัมภีร์ ปาฐกถา การพัฒนา ทฤษฎีทางวิชาการ ความเห็นของผู้ชำนาญการ ฯลฯ

บางที เราน่าจะเสนอวิชา “ไม่เชื่อ ๑๐๑” บรรจุไว้ในหลักสูตรมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ บ้าง

และ – ถ้าเขาหรือเธอจะไม่เชื่อที่เราเสนอ ก็ขออย่าได้ถือโกรธเลย

Back to Top