ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ขอหัวใจให้จิตตปัญญาศึกษา



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 มกราคม 2552

การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา โดยปรัชญา หลักการและแนวคิด ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หวังให้ผู้เรียนเป็นทั้งคนเก่ง คนดี และมีความสุข แต่จากผลการประเมินของ สมศ. และผลการทดสอบระดับชาติของ สทศ. ยืนยันตรงกันว่า การปฏิรูปการศึกษายังไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งเรียนสูงขึ้น ความสุขและความดีดูเหมือนจะค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ความเก่ง ซึ่งหมายถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ไม่ดี จนมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

มีการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์จากหลายฝ่าย สรุปว่า ความล้มเหลวมาจากปัจจัยที่หลากหลาย บางคนโทษครูว่าไม่มีคุณภาพ บางคนโทษผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการว่ามัวแต่สนใจเรื่องการปรับโครงสร้างองค์การเพื่อรักษาหรือสร้างฐานอำนาจ บางคนก็โทษนักการเมืองที่มุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง และอื่นๆ อีกมากมาย ผู้เขียนจะไม่ร่วมวิเคราะห์สาเหตุแห่งความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่รับผล (ผู้เรียน ผู้ปกครอง สังคม...) ก็รับผลไปแล้ว และในความเป็นจริงเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ คงต้องตั้งสติแล้วใช้ปัญญาร่วม (Collective Wisdom) จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันหาวิธีที่จะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น มากกว่าการพยายามหาสาเหตุของความล้มเหลว กล้าที่จะก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา ไปสู่การร่วมกันสร้างและพัฒนาเป้าหมายและวิธีบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ที่เป็นไปได้ โดยเริ่มจากการยอมรับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างรู้เท่าทัน แล้วก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสติ มีความรักความเมตตาเป็นฐาน มีปัญญาญาณเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเสนอว่า ในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ควรต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังถึงการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของการศึกษาใหม่ที่เรียกว่าจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) มาใช้ในทุกระดับและประเภทของการศึกษา และเพื่อเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการพิจารณา ผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดและแนวปฏิบัติโดยสรุปของจิตตปัญญาศึกษาดังต่อไปนี้

จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่เน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความตระหนักรู้และการเรียนรู้มิติ/โลกด้านใน (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทัศนะ/มุมมองต่อชีวิตและโลก) ของตนเอง ให้คุณค่าในเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งหมายถึงการสังเกตอย่างมีสติต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเองที่เกิดขึ้นจากการเผชิญกับผู้อื่นและโลกภายนอก ผ่านกระบวนการ/วิธีการและกิจกรรมที่หลากหลาย (การนิ่งสงบอยู่กับตนเอง/การเจริญสติ ภาวนา self and group reflection, dialogue, deep listening, journaling, กิจกรรมอาสาสมัคร/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ศิลปะ ดนตรี โยคะ นิเวศน์ภาวนา...ไปจนถึงพิธีกรรมทางศาสนา) มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental) อย่างลึกซึ้ง (Profound) ทางความคิดและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับตนเองและโลก ส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิตอย่างมีสติและปัญญา มีความรักความเมตตาต่อตนเองและสรรพสิ่งทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

จิตตปัญญาศึกษาเน้นประสบการณ์ตรงภายใน ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินแบบจิตตปัญญาศึกษาจะอยู่บนฐานของการเป็นกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่ากัลยาณมิตรเรียนรู้และกัลยาณมิตรประเมิน (Amicable Learning and Evaluation) ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน จิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ภายใน (Tacit Knowledge) ของแต่ละคน ไม่วิพากษ์ วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ภายใต้บรรยากาศของการเคารพ ยอมรับระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผยและรู้จักตนเอง (Self Disclosure) และผู้อื่น

จิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ในระดับต่างๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภายในตน (Self/Personal Transformation) การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร (Organizational Transformation) และการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม (Social Transformation) โดยที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ แต่ เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้ง

โดยนัยนี้ จิตตปัญญาศึกษา เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ ส่วนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นเป้าหมาย แต่เป็นเป้าหมายที่ไม่คงที่ (Static) เพราะเป้าหมายนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง

อาจสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้



ในปัจจุบัน มีองค์กร หน่วยงานและสถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ เอกชนและ NGO ที่ตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่องจิตตปัญญาศึกษา นำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาไปเผยแพร่ผ่านการอบรม การฝึกปฏิบัติ รวมไปถึงการเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษาในระดับประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรหลายแห่งทั่วโลก

ในประเทศไทย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแรกที่เปิดหลักสูตรระดับปริญญามหาบัณฑิตในสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง มีการทำวิจัยทางจิตตปัญญาศึกษาที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษา มีการวิจัยและพัฒนาหารูปแบบการเรียนการสอนด้วยการนำองค์ความรู้ที่รวบรวมได้ไปทดลองใช้ในห้องเรียนจริงที่มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การวิจัยพัฒนาชุนชน (พุทธมณฑล) แบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) มีการอบรมพัฒนาด้านจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงให้กับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยและเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการสนับสนุนอย่างจริงจังของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ถึงขั้นกำหนดให้เรื่องการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เป็นนโยบายหลักในวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objectives) ด้านความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน (Teaching and Learning Excellence) มีรองอธิการบดีสี่ท่านเข้ามาเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ภาควิชาศึกษาศาสตร์และเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดว่าจะเปิดสอนได้ในปีการศึกษา ๒๕๕๓

การอบรม การวิจัย การเปิดหลักสูตร และการสร้างและพัฒนาเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นความกล้าหาญทางวิชาการและจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษาที่สมควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดตั้งหน่วยงานภายในคณะครุศาสตร์ คือศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา และโดยการสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษาแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษาได้จัดอบรมด้านจิตตปัญญาศึกษาให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ๒ รุ่น รุ่นละ ๕ หลักสูตร หลักสูตรละ ๓ วันในปีการศึกษา ๒๕๕๑ และภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ทางศูนย์จะจัดอบรมให้คณาจารย์คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ๒๕ แห่งที่เข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๐๐ คน เพื่อเรียนรู้และนำแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาไปพัฒนารายวิชา/หลักสูตร แล้วนำไปทดลองปฏิบัติจริงในชั้นเรียน

การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ หากมีหัวใจให้จิตตปัญญาศึกษา รัฐบาลจะไม่ได้เริ่มอย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีหน่วยงาน องค์กร สถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ และอีกบางแห่งได้ทดลองนำร่องไปส่วนหนึ่งก่อนแล้ว หากกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ โดยเฉพาะรัฐบาล มีเจตนาดีและมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ผู้เขียนเชื่อว่าเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาพร้อมและยินดีที่ร่วมเดินทางปฏิรูปไปกับท่าน

One Comment

ครูสุริยะ กล่าวว่า...

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับผม


ทุกวันนี้การจัดการศึกษามีจุดหมายแบบเลื่อนลอยก็ว่าได้

เน้นความรู้เป็นหลักสำคัญ เชิดชูคนที่มีคะแนนทางการเรียนสูงๆ รับคนเข้าทำงานก็พิจารณาที่เกรดเฉลี่ยและการสัมภาษณ์ที่คนถูกสัมภาษณ์อาจแกล้งตอบให้ฟังดูดีก็ได้


แต่พอเวลาจะถูกไล่ออกหรือลาออกจากงาน ความรู้กลับไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่กลับเป็นปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายมากกว่า นั่นคือเราขาด EQ MQ AQ SQ หรือเปล่า ซึ่ง Q ต่างๆ เหล่านี้เราน่าจะพัฒนาและสร้างได้ด้วยการเสริมด้านจิตวิญญาณตามแนวคิดของจิตตปัญญาศึกษาก็น่าจะเหมาะสมดี


ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางมุมมองเล็กๆ ที่หลายๆ คนน่าจะมองเห็นครับผม

Back to Top