สามานย์หรือสามัญ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 เมษายน 2553

ปกติที่ผ่านมา คนใกล้ชิดของผมคือ เม (เมธาวี เลิศรัตนา) จะไม่เข้าร่วมในเวิร์คชอปต่างๆ ที่ผมจัดขึ้น แต่ช่วงหลังมา พวกเราปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนรู้ทางทฤษฎีมากขึ้น และเธอมีความสุขขึ้นที่จะเข้าร่วมในเวิร์คชอปบ้าง ครั้งหนึ่งเธอเข้าร่วมได้โดยตลอด และได้ผ่านประสบการณ์ที่มีคุณค่าสองคราว

คราวแรก คือการมายืนหรือการมาเข้าทรงของตัวตนหนึ่ง ตัวตนนี้จะเห็นควอนตัมฟิสิกส์เป็นสุดยอดขององค์ความรู้ และเรื่องราวอื่นๆ ไม่ได้เรื่องทั้งหมด

คืนนั้นเป็นคืนที่สามของเวิร์คชอป ผมชวนผู้เข้าร่วมให้ทบทวนว่า แต่ละคนได้อะไรจากเวิร์คชอปบ้างหรือไม่ได้เลย บางครั้งอาจจะมีสุ้มเสียงของบางคน คล้ายกับกล่าวว่านั่งมากไป องค์ความรู้ก็เป็นฝรั่ง คล้ายกับจะบอกว่ามีแบบไทยๆ บ้างไหม? แต่ส่วนใหญ่ของวงจะสะท้อนออกมาด้านบวก มีน้อยคนที่อาจจะสะท้อนออกมาด้านลบเป็นบางเรื่อง ส่วนเมบอกว่า เรื่องลบๆ เหล่านี้ไปกระตุ้นตัวตนตัวนี้ของเธอเข้า แต่ที่สำคัญคือมันผิดแปลกไปกว่าคราวก่อนๆ คือเธอไม่ได้เข้าไปอยู่กับตัวตนนี้แบบเต็มร้อย อาจจะเพียงร้อยละ ๕๐-๖๐ กระมัง เธอบอกว่ามีอีกตัวหนึ่งที่ตามรู้อยู่ เห็นอยู่ ผลกระทบของตัวตนนี้จึงเพลาลงไปกว่าที่เคยมีมาเป็นมาในอดีต ซึ่งจะเข้ามาเป็นวันๆ และทำให้เธอป่วยอย่างมาก แต่คราวนี้ มันเพียงทำให้เธอปวดหัวเล็กน้อย และเธอยังนอนหลับในค่ำคืนนั้นได้

คราวที่สอง เช้าวันที่สี่ของมหกรรมกระบวนกรครั้งที่ ๑๕ ในการพูดคุยบอกเล่าวิถีชีวิตและการเรียนรู้ฝึกฝนตนเพื่อจะได้เป็นกระบวนกรที่เก่งกล้าสามารถ เมได้ฟังเรื่องราวโดยเฉพาะของ มนตรี ทองเพียร สองเรื่องที่โดนใจมากๆ เรื่องแรกคือ “น้ำ” ลูกสาวของมนตรีโพล่งออกไปกลางวงว่า พ่อยังฟังเธอไม่ดี ในขณะที่พ่อกำลังสอนเรื่องการฟังอยู่ แล้วอีกเรื่องหนึ่ง มนตรีบอกว่า เขาทำงานในระดับใหญ่ ระดับมหภาค คิดว่าทำเรื่องใหญ่แล้ว เรื่องเล็กๆ จึงละเลยไป ทำให้เมปิ๊งขึ้นมา เข้าใจขึ้นมาว่า ทำไมเราถึงต้องทนนั่งฟังเรื่องน้อยใจ เรื่องอิจฉา เรื่องกิน ขี้ ป.. นอน ที่ผมใช้คำว่า “สามานย์” ทำไมเธอต้องกลับมาฟังซ้ำฟังซาก เธอฟังพวกร้านห้องนั่งเล่น ฟังคนรอบๆ ตัว แล้วยังต้องมาฟังปัญหาเรื่องลูก เรื่องคนทำงาน เรื่องผัวเมีย ของผู้เข้าร่วมที่เพิ่งจะรู้จักกันอีกหรือ? จี๊ดทุกครั้ง เมื่อก่อนไม่เคยเห็นอะไรเลย แต่แล้วคราวนี้ เกิดปิ๊งกระบวนการขึ้นมา เกิดความเข้าใจว่า มันคงจะเกี่ยวกับควอนตัม เพราะควอนตัมคือการย่อยลงไปในระดับอนุภาคส่วนย่อยที่สุด แล้วแสดงพฤติกรรมหลากหลายมากๆ ทั้งซ้ำและไม่ซ้ำเต็มไปหมด สิ่งที่บรรดานักฟิสิกส์มักจะพูดกันคือ สามารถพูดได้ว่า “ไม่มีใครสามารถเข้าใจเรื่องควอมตัมได้จริง” เธอเองก็พูดว่า “เมไม่รู้เรื่องควอนตัมจริงๆ แต่เป็นการพูดตามนักฟิสิกส์ทฤษฎี เมไม่ได้พูดในมิติเดียวกับเขา เมพูดในมิติที่ตัวเองไม่รู้ เพื่อไม่ให้ใครเข้ามาแทรกแซงติติงในส่วนที่เมไม่รู้ คือพูดเพื่อปกป้องตัวเอง”

ในเช้าวันนั้น อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น และเป็นเงาสะท้อนซึ่งกันและกันด้วย คือ ยิ่ง (อิสรา วังวิญญู) คุยเรื่อง “สามทับแปด” คือโครงการที่พวกผมไปรับเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนเทศบาลนครขอนแก่นสองแห่ง ยิ่ง น้ำ แก่น และโต๋ ไปช่วยกันลองอยู่กับเด็กห้องบ๊วย ที่ปกติคือเด็กเกเร ยิ่งบอกว่า หากเราไปทำงานกับเด็กสามทับแปดแล้วผลที่ได้คือ พวกเขาเข้าห้องเรียนกันมากขึ้นเพียงเท่านั้น การทำงานของยิ่งกับคณะก็เป็นเพียงความสามานย์ เพราะมันต้องมีอะไรมากกว่านั้น

ผมเองบอกว่า หากไม่มีความสามานย์หรือสามัญ เราจะก่อเกิดสิ่งพิเศษได้อย่างไร ผมคิดถึงคำว่า transcend and include หรือ ข้ามพ้นแต่ปนอยู่ คือเรายังคงจะต้องคงความสามานย์เอาไว้ด้วย และสร้างสิ่งวิเศษเพิ่มเติมเข้ามาด้วย เวลามีวิวัฒนาการ เราไม่ได้ทิ้งของเก่าไป แล้วเอาแต่ของใหม่เข้ามา แต่ของเก่าก็ยังอยู่ เรารวบเอาของเก่าเข้ามาไว้ในของใหม่ ยกตัวอย่างเรื่องสมองสามชั้นเป็นต้น ที่สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้รวบเอาสมองสัตว์เลื้อยคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เข้ามาเป็นระบบปฏิบัติการ (operating system) ให้มันด้วยเป็นต้น เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำให้เด็กในห้องสามทับแปดมาเรียนกันอย่างครบครัน ก็เป็นพื้นฐานที่ดีที่จะทำให้เราทำอะไรได้มากขึ้น แต่หากเราทำเพียงเท่านั้น มันก็เป็นเพียงความสามานย์เท่านั้น แต่หากทำเพื่อเป็นรากฐานให้ได้ทำอะไรที่มีความหมายมากขึ้น ความสามานย์จึงกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

ผมคุยสนุกๆ ว่า หากพ่อแม่เราไม่กิน ขี้ ป.. นอน แล้วเราจะก่อเกิดมาได้อย่างไร แล้วจะมีคนมาฝึกปฏิบัติธรรมอันล้ำเลิศ หรือมาทำงานเพื่อสังคมล่ะหรือ?

แต่ที่สำคัญคือ หากเราทำอะไรใหญ่ๆ โตๆ ก็อย่าลืมการเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกับคนที่ใกล้ชิด มิฉะนั้นสามัญจะกลายเป็นสามานย์

One Comment

Pen กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
Back to Top