โกรธกันก็ได้นะ แต่อย่าให้ถึงกับเกลียดกันเลย



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 15 พฤษภาคม 2553

สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงถ้อยคำที่ “สมเด็จองค์ทะไลลามะ” ได้เคยตรัสไว้ว่า “โกรธได้แต่อย่าเกลียด”

“ความโกรธ” เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ต้องมีต้องเกิดขึ้นมา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องมีอารมณ์นี้เอาไว้

แต่ “ความเกลียด” ดูเหมือนจะเป็นอารมณ์โกรธที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมีพัฒนาไปในทิศทางที่รุนแรงมาก “เกินจำเป็น”

“ความเกลียด” จะทำให้ตัวเรา “ไกลห่าง” จากความเป็นมนุษย์มากเกินไป และ “ห่างไกล” จาก “ความสุข” ที่มนุษย์ควรจะได้รับได้สัมผัส

“ความโกรธ” เป็นแค่ไฟร้อนๆ เพื่อมาเตือนมนุษย์ว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อ “ดับความร้อน” นี้ เหมือนกับตอนที่มือของเราไปแตะถูกของร้อนแล้วเราก็ต้องรีบรู้ตัวและระมัดระวัง ส่วน “ความเกลียด” เหมือนกับความร้อนที่ปล่อยทิ้งไว้ ควบคุมไม่ได้ กลายเป็นระเบิดที่ทำลายล้าง

เมื่อเริ่มเกิด “ความโกรธ” ขึ้น เราจึงต้อง “รู้ตัวให้ทันท่วงที”

เมื่อรับรู้แล้วก็ต้อง “ดูแล” เอาใจใส่กับความโกรธของตัวเราเองให้ดี

“มองเห็น” ความโกรธที่เกิดขึ้นด้วยมิตรไมตรี ด้วยความรัก “ยิ้มต้อนรับ” ความโกรธ เหมือนกับที่เรายิ้มต้อนรับ “เพื่อนสนิท” ที่แวะมาเยือนบ้านของเรา

เพราะ “ความโกรธ” เป็นสิ่งที่ดีที่เหมือนเป็นเพื่อนรักที่มาเตือนตัวเราให้เรียนรู้ และฝึกพัฒนาตัวเอง

แต่ถ้าเรา “ไม่ใส่ใจ” หรือ “ไม่สนใจ ไม่รับรู้” ความโกรธที่เกิดขึ้น “ความโกรธ” จะพัฒนาไปเป็น “ความเกลียดชัง” ซึ่งรุนแรงและจะหันมาทำร้ายตัวเราเองในที่สุด

นอกจากนั้น เราจะต้องฝึกแยกระหว่าง “ตัวความโกรธ” กับ “เรื่องราวที่ทำให้เราโกรธ” ออกจากกันให้ได้ เพราะ “เรื่องราว” ที่ทำให้เราโกรธจะเป็น “ตัวสุมไฟ” ให้ความโกรธของเรากระพือออกเกินควบคุม

เช่น สมมติว่าลูกเรากลับบ้านดึกและทำให้เราโกรธ ให้ลองแยก “เรื่องกลับบ้านดึก” เก็บทิ้งไปก่อน ให้เหลือแต่ “ตัวอารมณ์โกรธ” แล้วดูว่า “มันมีลักษณะเป็นอย่างไร” “ตัวความโกรธ” ในครั้งนี้ ก้อนใหญ่มากแค่ไหน มีสีอะไรและร่างกายเรารู้สึกอย่างไร แต่ถ้าเราไปคิดถึง “เรื่องราวกลับบ้านดึก” เราจะยิ่งโกรธและอาจจะรู้สึกว่าควบคุมความโกรธไม่ได้

เมื่อแยก “เรื่องราว” ออกไปแล้ว ให้เราลอง “ยิ้มต้อนรับ” เจ้าตัวความโกรธตัวนี้อย่างดี เหมือนกับมันเป็นเพื่อนของเราที่แวะมาเยี่ยมเยียนเรา

คือโดยธรรมชาติแล้ว “ความโกรธ” ก็เป็น “อารมณ์ชนิดหนึ่ง” อารมณ์ก็เป็น “พลังงานชนิดหนึ่ง” เหมือนกับพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ เมื่ออารมณ์เป็นพลังงาน “อารมณ์จึงเปลี่ยนรูปไปมาได้เอง” เหมือนกับที่พลังงานแสงอาทิตย์ที่เมื่อมาถึงโลก บางส่วนก็เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน และยังสามารถนำมาเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้

“อารมณ์โกรธ” ก็เป็น “เฉกเช่นเดียวกัน” คือ “เปลี่ยนรูป” ไปเป็น “อารมณ์อื่นๆ” ได้ในไม่ช้า

“ความโกรธ” ไม่ได้อยากอยู่กับเรานานนักหรอก เพราะถ้านานเกินไป “ความโกรธ” ก็อาจจะทำร้ายตัวเราได้เหมือน “ไฟสุมทรวง”

ถ้าเราลองทำความรู้จักกับอารมณ์แบบนี้ “อารมณ์ต่างๆ” จะไม่ทำร้ายเรา และยังจะเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับตัวเราได้อีกด้วย เหมือนกับที่มนุษย์สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้าหรือเปลี่ยนพลังงานน้ำให้เกิดประโยชน์

“เฉกเช่นเดียวกัน”

แต่หากว่าพลังงานเหล่านั้นถูกเก็บกักไว้หรือถูกสุมไฟให้มากขึ้น ก็เหมือนกับ “กาต้มน้ำ” ที่ปิดฝาแน่น และวางอยู่บนเตาไฟ “ความโกรธ” จะถูกเคี่ยวจนเป็น “ความเกลียด” ความร้อนที่ถูกขังอยู่ในกาต้มน้ำ ย่อมหาทางออกและอยากจะระเบิดออกมา

ในขณะเดียวกัน ให้ “กลับมา” ที่ “ความรัก” ให้มากๆ คือไม่ว่าคุณจะรักทักษิณหรือรักอภิสิทธิ์ รักใครชอบใครก็ขอให้อยู่เฉพาะกับ “ด้านความรัก” เท่านั้น

โดยหลีกเลี่ยงที่จะดึงตัวเองเข้าไปสู่ “ด้านมืด” หรือ “ความโกรธความเกลียด” ถ้ารักทักษิณก็ลองไม่สนใจไปโกรธไปเกลียดอภิสิทธิ์ หรือถ้ารักอภิสิทธิ์ก็ไม่จำเป็นต้องไปโกรธไปเกลียดทักษิณ

แล้วลอง “ขยายความรัก” ที่เรามีอยู่นั้นให้ใหญ่โตให้มากขึ้นเป็นสิบเท่า ด้วยหัวใจของเรา แล้ว “เผื่อแผ่” ความรักที่เกิดขึ้นที่ขยายตัวขึ้นนั้นให้กับคนอื่นๆ หรือโลกใบนี้

โดยสรุปรวมๆ พอจะได้ว่า หนึ่ง-ฝึกฝนการรับรู้อารมณ์ของตัวเราเองให้ชัด

สอง-ให้รีบดึงเรื่องราวเหตุการณ์เหล่านั้นออกไปจากอารมณ์เมื่อรู้ตัว

สาม-เฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยิ้มต้อนรับด้วยมิตรไมตรีอย่างที่มันเป็น

สี่-ฝึกฝนเรื่องความรักให้บ่อยขึ้น โดยนึกถึงคนที่เรารัก คนที่มีบุญคุณกับเรา คนที่ทำดีๆ กับเรา ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร

ห้า-“อาบแช่กับความรู้สึกดีๆ” แบบนั้น แล้วใช้หัวใจของเราขยายความรู้สึกรักความรู้สึกดีๆ เหล่านั้นให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างน้อย “สิบเท่า” แล้วแผ่ขยายออกไปให้กับคนอื่นๆ

หก-ศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์ทุกคน

เจ็ด-การแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่ตัวเราเองก่อน อย่าคิดที่จะไปแก้ไขคนอื่น ทุกปัญหามีทางออกของมันเสมอ

และแปด-เชื่อมั่นในความสำเร็จเล็กๆ ความดีงามเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้ลงมือกระทำ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว และกรุงโรมต้องการอิฐก้อนแรก เราทุกคนสามารถเป็นอิฐก้อนแรกได้เสมอ

“ความเกลียด” ไม่เคยแก้ไขปัญหาได้เลย

อย่ายอมปล่อยให้ “ความโกรธ” ของคุณเติบโตไปเป็น “ความเกลียด” เลยครับ

Back to Top