ปกิณกะอุทกภัย



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553

ประมาณทุกๆ สิบปี หาดใหญ่จะมีน้ำท่วมเมืองไม่ถึงกับสม่ำเสมอตรงเวลา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดบทสนทนาประจำปีในช่วงน้ำเยอะน้ำหลากได้เสมอ ปีนี้ก็ต้องเรียกว่าถึงเวลา (ที่ไม่มีใครอยากให้ถึง) อีกครั้งหนึ่ง ทุกครั้งที่มีอุทกภัยจะเกิดเรื่องราวมากมาย ความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ และตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของสังคมที่มีการสะท้อนทั้งในด้านดีด้านบวกและด้านไม่ (ค่อยจะ) ดีด้านลบอยู่เสมอ

น้ำท่วมคราวนี้ต้องประเมินว่าน้ำเยอะกว่าครั้งก่อนๆ ก็จริง แต่ปรากฏว่าลงเร็วซึ่งไม่ใช่เรื่องโชคดี แต่เป็นเรื่องของการตระเตรียมผังเมือง ระบบป้องกัน ระบบระบายน้ำ แล้วสุดท้ายอาจจะเรียกว่าโชคก็ได้ คือฝนหยุดตกในเวลาอันสั้นเพียงพอ เว้นที่ไว้ให้หายใจและให้ผู้คนเรียกสติกลับมาหาหนทางแก้ไขต่อสู้กันต่อไป เมื่อเดินทางเข้าไปในตัวเมืองหาดใหญ่ จะพบร่องรอยในลักษณะต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีรถที่จมคราบโคลนเต็มเมืองเหมือนอย่างปี ๒๕๓๑ ซึ่งทำให้เมืองดูน่ากลัวเหมือนหลังสงครามอยู่พักใหญ่ ปีนั้นท่วมอยู่นานหลายวัน สภาวะจิตสภาวะใจของผู้คนก็สึกกร่อนมากไปตามเวลาแห่งความทุกข์

ปีนี้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ร.พ. ม.อ.) ได้มีส่วนประสานงานบรรเทาทุกข์ โดยการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อแจกจ่ายยาและให้การตรวจรักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยเดือดร้อนจากน้ำท่วม ที่ผมรู้สึกดีมากคือได้เห็นน้องๆ นักศึกษาแพทย์ แพทย์ใช้ทุนแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์แพทย์ พยาบาล บุคลากรของโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากออกไปให้บริการกัน เนื่องจากพวกเราที่ ม.อ. โชคดีที่มีพื้นที่ตั้งอยู่เชิงเขาคอหงส์ซึ่งเป็นที่สูง จึงไม่ถูกกระทบมากอย่างในเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ได้ผันบทบาทของผู้ไม่ถูกกระทบไปในด้านการช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ ทำให้โรงพยาบาลรอบๆ ข้างที่โดนน้ำท่วมเข้าจังๆ พอจะได้มีที่ระบายคนไข้ทั้งคนไข้ประจำและเฉพาะกิจเข้ามากันเต็มไปหมด

เมื่อวานนี้ผมทำหน้าที่สอบนักศึกษาแพทย์ท่านหนึ่ง ได้เกิดข้อสังเกตว่างานของเรานั้นสามารถขยายไปได้มากขึ้นถ้าเรารับฟังคนไข้ทุกเรื่องราวจริงๆ คนไข้ที่น้องนักศึกษาเป็นคนเลือกมาเองนั้นได้รับอุบัติเหตุตอนพายุเข้า หลังคาถล่มมาทับทั้งตัวคนไข้เองและสามีบาดเจ็บทั้งคู่ แต่สามีอาการเบากว่าและได้กลับบ้านไปก่อน ส่วนภรรยามีกระดูกสันหลังท่อนหนึ่งแตก ทำให้ตอนนี้มีอาการอัมพาตไปครึ่งตัว เมื่อน้องนักศึกษาได้สัมภาษณ์ตรวจร่างกายคนไข้รายนี้เสร็จแล้ว เราก็ไปนั่งคุยกัน

สิ่งที่น้องนักศึกษาเลือกมานำเสนอ เน้นที่อาการอัมพาตอาการปวดของคนไข้เป็นหลัก มีข้อสังเกตที่น้องพูดว่า “คุณป้าดูจะเศร้าๆ” พอถามว่าเศร้าเรื่องอะไร น้องตอบว่า “น่าจะเป็นเรื่องที่เดินไม่ได้ค่ะ” เราจึงลองไปสัมภาษณ์ต่อ ปรากฏว่าตอนนี้ที่บ้าน สามีที่บาดเจ็บได้รับการดูแลโดยลูกชายซึ่งก็มีครอบครัวคือภรรยาและลูกเล็กอีกสองคน คนที่มาเฝ้าคุณป้าคือลูกชายอีกคนที่ทำงานและมีบ่อปลาดุก บ้านคุณลุงคุณป้าเดิมมีสวนยางอยู่สองไร่ ปลูกมาได้ ๕ ปียังไม่ได้เริ่มกรีดยางเต็มที่เลย (ยางต้องปลูกประมาณ ๕-๗ ปีกว่าจะเริ่มกรีดเอาน้ำยางมาขายได้) แต่ตอนที่พายุเข้า สวนยางก็ล่มหมด บ่อปลาดุกก็ถูกท่วมปลาหายไปหมดทั้งบ่อ มานอนโรงพยาบาล แม้ว่าจะใช้บัตรทองไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายประจำวันเกิดขึ้น

ถึงตอนนี้น้องนักศึกษาแพทย์เริ่มมองเห็นว่า “ทุกข์” ของคนไข้รายนี้อาจจะไม่ได้มาจากกายอย่างเดียวเสียแล้ว เราจึงลองให้ข้อมูลเพิ่มเรื่องสิทธิประโยชน์การลงทะเบียนผู้พิการ เรื่องรายได้เสริมที่ทางโรงพยาบาลจะจัดให้แก่ผู้เฝ้าสิทธิต่างๆ ที่คนไข้น่าจะได้รับการช่วยเหลือทั้งจากทางการและทางเอกชน ทำให้คุณป้าเริ่มมีสีหน้าดีขึ้น ลูกชายที่มาเฝ้าก็ดูจะมีหน้าตาแช่มชื่นขึ้น

และน้องนักศึกษาแพทย์ก็ดูจะเข้าใจมากขึ้นว่า “งานเยียวยา” นั้นเป็นเรื่องของอะไร

บางทีบทเรียนเรื่องของความทุกข์นั้น แตกต่างจากโรคภัยไข้เจ็บที่คนไข้มาหาหมอ เพราะเขาทุกข์ที่ไม่สามารถจะทำอะไรๆ ที่เคยมีความหมายมีค่าที่เรียกว่าเป็น “ชีวิตปกติ” อย่างแต่ก่อนได้ ซึ่งถ้าผู้เป็นแพทย์ไม่เข้าใจเรื่อง “ความทุกข์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติที่ซับซ้อน อาจจะหลงทิศทางหรือไม่เข้าใจว่า “หน้าตาทุกข์” นั้นจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรบ้าง

การไปออกหน่วยแจกจ่ายยานั้น จากที่ผู้เขียนได้ไปเห็นเองบ้าง จากรูปถ่ายกิจกรรมบ้าง รูปที่สวยงามคือรูปแห่งการให้และการรับ แม้ว่าจะมีเบื้องหลังมาจากภัยธรรมชาติและมีเรื่องราวข่าวร้ายความเจ็บปวดทรมานแฝงอยู่ในรูปเหล่านี้ แต่ภาพที่นักศึกษาแพทย์ตั้งใจฟังคนไข้ ทำแผลบาดแผลเปื่อยที่เท้าที่ขาคนไข้อย่างมีสมาธิ ภาพที่พยาบาลทำความสะอาดร่างกายของผู้เจ็บป่วยอย่างตั้งใจ เป็นการสะท้อนความเป็นมนุษย์ สะท้อนความแข็งแกร่งของพวกเราได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน ภาพเหล่านี้ไม่ต้องการจัดฉาก หรือเป็น photo opportunity แต่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นการหล่อหลอมสรรค์สร้างสังคม สีหน้าแววตาที่จริงจังอย่างมืออาชีพ การฟังเรื่องราวอย่างตั้งใจมุ่งมั่นของผู้ให้บริการ นำมาซึ่งการเยียวยาเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี

ตอนเย็นเมื่อวาน ผู้เขียนได้เดินทางเข้าไปในเมืองอีกครั้ง ทำให้ได้เห็นภาพชีวิตอีกหลายๆ มุม มีภาพกองขยะสูงกว่าศีรษะ รวมกันบ้างกระจัดกระจายบ้าง แต่ก็มีภาพที่ชุมชนช่วยกันกวาดเก็บทำความสะอาดพื้นถนนหนทาง มีข่าวคนขโมยมิเตอร์น้ำบ้าง ขโมยป้ายโลหะบอกชื่อถนนชื่อซอย แต่ก็มีข่าวกลุ่มอาสาสมัครมากมายหลายกลุ่มรวบรวมข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์ของกินของแห้งเพื่อนำไปบริจาคแก่ผู้ต้องการ ฟังวิทยุมีข่าวผู้เดือดร้อนจากการไม่มีน้ำไม่มีไฟใช้ แต่ก็มีข่าวที่เจ้าหน้าที่การประปาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำตลอด ๒๔ ชั่วโมงเพื่อทำให้สถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุด

เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของคนแต่ละคนในแต่ละโอกาส พบว่าการมีชีวิตเพื่อชีวิตอื่นนั้น เป็นวิธีที่ทำให้เราสวยงามจากภายใน ภาพยิ้มแย้มแจ่มใสบางทีก็ไม่สื่อเรื่องราวได้ดีเท่าภาพน้ำตาและสีหน้าอันมุ่งมั่นของมนุษย์ได้

Back to Top