ความฝันที่บ่อยเหลือเกินกับการแปลความฝัน



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2554

ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ จะมีประสบการณ์เหมือนกับผู้เขียนหรือไม่? เพราะยิ่งแก่ตัวลงผู้เขียนยิ่งฝันบ่อยและถี่ขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้นอนหลับเป็นไม่ได้ต้องฝันทุกครั้งไป คือฝันทุกวันไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ที่แปลกคือไม่ว่าจะหลับนานเท่าไรเป็นต้องฝัน และยิ่งแปลกเข้าไปอีกที่ความฝันของผู้เขียนจะต้องมีสองอย่างประกอบกันเสมอ คือฝันต่อได้ และความฝันจะเหมือนเป็นประสบการณ์เชิงประจักษ์จริง คือกระจ่างชัดมากๆ และจำได้ทุกครั้ง

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจะฝันซ้ำๆ ไมรู้กี่หนภายในหลายๆ วัน จนจำรูปแบบและเนื้อหาของความฝันนั้นได้ และแทบจะทายล่วงหน้าถึง “ความฝันในครั้งต่อๆ ไป” ที่ทำยังไม่ทันสำเร็จแล้วเสร็จได้ เช่นฝันว่ามีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ “ชั้นในหรือในเมือง” ตัวเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ที่ไร้การวางผังเมือง ตั้งแต่เยาวราช ราชวงศ์ มาถึงโอเดียน ว่าบริเวณนั้นๆ จะเต็มไปด้วยตึกระฟ้าสูงมากๆ แน่นขนัด หรือถนนสีสม พระรามหนึ่ง และหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง รวมสามแยกเฉลิมบุรี ตลอดเจริญกรุงตะวันออก โดนรื้อทิ้งทั้งหมดกับห้ามการปลูกอาคารใหม่ทุกชนิด เหลือแต่โคลนตม

ส่วนที่ผู้เขียนกล่าวถึง “งานที่ทำยังไม่ทันสำเร็จแล้วเสร็จ” จนกระทั่งทายฝันในครั้งต่อๆ ไปล่วงหน้าได้ เป็นต้นว่า จะฝันเห็นทุกตรอกซอกซอยและถนนสายสั้นๆ ที่เชื่อมระหว่างถนนสีลมกับถนนสุรวงศ์ หรือถนนสีลมกับถนนสาธร “จะเป็นช่วงการทำงานที่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ” คือยังเป็นลูกรังหรือกำลังก่อสร้างทั้งสิ้น ภาพความฝันรูปแบบนั้นจะปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่านับสิบนับร้อยครั้ง ถึง “งานที่ไม่สำเร็จแล้วเสร็จ” (เพราะผู้เขียนจะตื่นจากความฝันก่อนทุกครั้งเลย)

ส่วนในความฝันของผู้เขียนสองหรือสามรูปแบบอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาสาระเหมือนๆ กัน เช่นเดินทางไปในซอยหรือสวน เผชิญอุปสรรคต่างๆ ที่ล้วนเป็นงานที่ผู้เขียนยังทำไม่แล้วเสร็จซึ่งทายล่วงหน้า - ในฝัน - ได้ แล้วตื่นขึ้นมาทั้งๆ ที่ “งานนั้นๆ” ยังไม่ทันสำเร็จแล้วเสร็จแต่ประการใด

ทั้งหมดที่ผู้เขียนฝันและเล่ามา ใคร่ขอให้ผู้อ่านโดยเฉพาะที่เป็นนักจิตวิทยาช่วยกันพิจารณาดูว่าจะมีความเห็นอย่างไร? (บางคนอาจจะเรียก “จิตไร้สำนึก” ว่า “จิตใต้สำนึก” แต่ผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อฟรอยด์เท่าใดนัก เพราะคิดว่าฟรอยด์เป็นแมตทีเรียลิสติกที่ตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งเพราะว่าการบริหารโดยสมองกับที่สมองนั้น ผู้เขียนคิดว่ามีทั้งความเป็นโดยรวมและปัจเจก ซึ่งใช้เวลาทางโลกไม่เท่ากัน ฉะนั้น จิตไร้สำนึกจึงเก่ากว่ากับใช้เวลานานกว่ามากนัก)

แน่นอนว่าความฝันที่ผู้เขียนเห็น โดยเนื้อหาจะสังเกตว่ามีความสัมพันธ์กับเวลาที่กำลังฝันอยู่ ทั้งฟรอยด์ ทั้งจุง ทั้งอ็อตโต ไม่ได้พูดอย่างจำเพาะเจาะจงในเรื่องนี้ แต่ผู้เขียน “ค่อนข้างจะชอบคาร์ล จุง” แม้จะมีหลายอย่างที่เรายืนอยู่ตรงกันข้ามเพราะผู้เขียนคิดว่าคาร์ล จุง เป็นทั้งมิสติก (mystic) และมิทติค (mythic) เกินไป แม้นักวิชาการเช่น ซิสเตอร์ซิสิเลีย (sister Sicilia) จะบอกว่าผู้เขียนก็เป็นมิสติกร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

ตอนที่คาร์ล จุง ประกาศเป็นทางการว่าตนเลิกเป็นลูกบุญธรรมของ ซิกมัน ฟรอยด์ และขอเป็นตัวของตัวเองแทนที่จะเป็นแมตทีเรียลิสต์ (materialist) ดั่งฟรอยด์ แล้วไปเชื่อคนอย่าง ชาร์ล ดาร์วิน อย่างหัวปักหัวปำ (ซึ่งผู้เขียนคิดเอาเอง) การตัดความสัมพันธ์จากฟรอยด์ที่ในเวลานั้นทรงอิทธิพลมากในทางจิตวิทยา ทำให้คาร์ล จุง กลายเป็นคนหัวเดียวกะเทียมลีบในหมู่นักวิชาการและนักจิตวิทยาสมัยนั้นไปช่วงเวลาหนึ่ง

ที่ผู้เขียนชอบคาร์ล จุง เป็นพิเศษอาจเป็นเพราะผู้เขียนเพิ่งค้นพบเมื่อตอนแก่ไม่ถึงยี่สิบปีมานี้เองว่าผู้เขียนก็เป็นมิสติกดังที่ซิสเตอร์ซิสิเลียว่าไว้ เช่นเดียวกับคาร์ล จุง เพียงแต่การแปลความฝันของผู้เขียนรวมถึงการสะท้อนความจำ ยังไมรู้ว่าถูกหรือไม่ หรือแม้แต่ใกล้เคียง - ห่างไกลหรือไม่ประการใด? เห็นจะต้องรอจนกว่าจะถึงปีค.ศ.๒๐๑๒ และปีค.ศ.๒๐๒๐ ที่มีการล่มสลายทางกายภาพ และวิวัฒนาการทางจิตของประชากรโลกโดยรวมส่วนใหญ่ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าโลกไม่ได้แตก แต่วัฒนธรรมและอารยธรรมที่มี “ตัวกูของกู” (self) และอหังการมมังการ (ego) จะหายไปจากโลกในปีนั้นๆ พร้อมกับประชากรจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐

มนุษย์เราจะได้เลิกแตกแยกเอาชนะกันเสียที

ถ้าหากว่าเราเชื่อคาร์ล จุง (บอกแล้วว่าผู้เขียนเชื่อในการ “วิจัย” หรือการสังเกตอย่างเป็นระบบของเขามากกว่าไม่เชื่อ ไม่ใช่เพราะว่าคาร์ล จุง เป็นมิสติกเหมือนกับผู้เขียนเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าจุงเป็นหลานนอกสมรสแท้ๆ ของกวีและนักปรัชญาเกอเธ่ และไม่เป็นการเกินเลยแต่อย่างใดหากเราจะพูดว่าคาร์ล กุสตาฟ จุง เป็นอัจฉริยะ) ว่าจิตไร้สำนึก (unconscious) ของจักรวาลคือต้นเหตุของความฝัน ไม่ใช่จิตสำนึกที่ฟรอยด์และนักวิทยาศาสตร์แมตทีเรียลิสต์ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ไทยในปัจจุบันแทบทั้งหมด และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ของประเทศพัฒนาใหม่ๆ ในเอเชียที่ไม่รู้จักควอนตัมฟิสิกส์มากพอ หรือมองควอนตัมฟิสิกส์ไปทางสสาร หรือทางรูปกาย เช่นว่าความฝันเป็นเรื่องความปรารถนา หรือที่ ซิกมัน ฟรอยด์ บอกว่าความฝันคือความอยากของเราที่ทำไม่เสร็จหรือไม่กล้าทำยามตื่นหรือยามรู้ตัว จึงเอาไปทำให้เสร็จในฝัน

อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะแพทย์ – ที่ส่วนมากจะมองชีวิตแบบฝรั่งเพราะเรียนมา โดยมักจะโยนอะไรๆ ที่เป็นตะวันออกทิ้งแทบจะโดยสิ้นเชิง แล้วทำท่าเหมือนดูถูกคนอื่นๆ ที่เรียนน้อยกว่าตน และบูชาฝรั่ง (ที่เป็นเหมือนเทวดา) นั่น - เราพูดกันรวมๆ – และที่สำคัญคือคนมักไปคิดว่าแพทย์เป็นอาชีพที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นอาชีพที่ช่วยชีวิตมนุษย์ อะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนย่อมจะสำคัญกว่าอย่างอื่น

แพทย์ส่วนใหญ่จะคิดว่า ฝันไม่มีอะไรสำคัญเลยเพราะมองก็ไม่เห็นและแม้ฝรั่งก็คิดไม่ออก แล้วเราชาวตะวันออกจะคิดได้อย่างไร จึงตามฝรั่งตามครูไปดีกว่า จึงแปลฝันได้ว่าเป็นผลของอาหารไม่ย่อย กระเพาะปัสสาวะเต็ม หรือครุ่นคิดมากๆ ฯลฯ

คนเราทุกคนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของจิตรู้อยู่ตลอดเวลา ในเบื้องแรกคือจิตแห่งอัตตาตัวตน (self) ซึ่งเหมือนๆ กับการเจริญเติบโตของเด็กเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ แล้วเสื่อมแก่ชรา พูดง่ายๆ วันเวลาจากนาทีวินาทีที่ผ่านไป คือตัวรู้ หรือธาตุรู้ หรือจิตสำนึก (ภาวะตระหนักรู้ที่สมองเรามีหน้าที่ “บริหารจิตไร้สำนึก” (หรือจิตจักรวาลร่วมของคาร์ล จุง) ที่เข้ามาอยู่ในทุกที่ว่างของสมอง

เราต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของจิตแห่งอัตตาตัวตนของแต่ละปัจเจกนั้น เป็นเรื่องที่แยกย่อย และเป็นไปตามขั้น ชั้น หรือระดับวิวัฒนาการของสเปคตรัมทางจิตที่หยาบใหญ่กว่า และใช้เวลาวิวัฒนาการนานกว่า ทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวมที่จะต้องวิวัฒนาการไปตามระดับ ชั้น หรือขั้นนั้นๆ จนกว่าเราจะวิวัฒนาการทางจิตจนถึงสภาวะจิตวิญญาณไล่สู่นิพพาน หรือรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้าในศาสนาที่มีพระเจ้า

ดังนั้นคาร์ล กุสตาฟ จุง และผู้เขียนจึงเชื่อว่าจิตไร้สำนึกหรือจิตไร้สำนึกร่วมจักรวาล (universal unconscious continuum) คือตัวรู้ต่างหากที่ไม่ผ่านการบริหารที่สมอง ไม่ใช่จิตสำนึกปกติธรรมดา คาร์ล จุง ถึงได้เรียกว่า “ตัวรู้ของจิตไร้สำนึก (unconscious cognition)” และทุกวันนี้ นักจิตวิทยาทั่วไปรู้กันดี เช่นการรู้ในความพ้องจองกัน (synchronicity) ในปรภพเมื่อเราตายไปแล้ว ย่อมไม่มีสมองบริหารจิตจักรวาลหรือในความฝัน (จุงเชื่อว่าความฝันเป็นเรื่องของจิตไร้สำนึกทั้งนั้น) อย่างน้อยในตอนแรกหรือเป็นตัวนำ และผู้เขียนเชื่ออย่างนั้น จึงไม่เชื่อฟรอยด์เลยในเรื่องของความฝัน

ไม่รู้จริงๆ ว่าคาร์ล จุง จะเชื่อในเรื่องปรภพหรือไม่? เพราะฝรั่งมักเป็นคริสต์ จึงไม่เชื่อในการเกิดใหม่ไปเรื่อยๆ เวียนว่ายอยู่อย่างนั้น แต่รู้ว่า โจเอล ฟิชเชอร์ จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตเชื่อ และเรียกว่าอภิจิต (meta-consciousness) ซึ่งเป็นจิตรู้ของจิตไร้สำนึกในปรภพ - ปรภพนั้นไม่มีกายจึงไม่มีสมอง ฉะนั้นจะไม่มีจิตสำนึก (หรือจิตรู้ตามปกติ) มีแต่จิตไร้สำนึก

สำหรับผู้เขียน “ความฝัน” คือช่องทางติดต่อกับจิต (ไร้สำนึก) นั้น แต่มีผู้คนมากมายในโลกที่มีช่องทางอื่นๆ ติดต่อกับจิตไร้สำนึกของจักรวาลหรือความจริงที่แท้ได้ เช่นคนที่มีประสบการณ์ใกล้ตาย (NDEs) อย่าลืมว่าทุกๆ สิ่งล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงติดต่อกันเป็นหนึ่งเดียวกัน – ที่พิสูจน์ได้ทางควอนตัม – โดยเฉพาะทางจิตที่มองไม่เห็น

การแปลความฝันของจุงเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าค่อนข้างจะซับซ้อนมากสำหรับผู้เขียน แต่บอกแล้วว่าในระยะหลังผู้เขียนฝันบ่อยมากๆ แถมจำได้กระจ่างชัดเสียด้วย ที่สำคัญคือซับซ้อนไม่มากนัก ดังนั้นส่วนใหญ่ยังคิดว่าพอแปลได้ สังเกตเอาเองว่ามีอยู่สามประการที่เห็นแต่จะเป็นจริงดังที่สังเกตหรือไม่-ไม่แน่ใจ คือหนึ่ง การฝันของผู้เขียนที่ว่าบ่อยเหลือเกินนั้นพบว่าสัมพันธ์กับการฝึกสมาธิที่ทำทุกวันภายหลังปีพ.ศ.๒๕๔๕ เป็นประจำ วันหนึ่งๆ อย่างน้อยสองชั่วโมง สอง สำหรับผู้เขียน ความรู้ที่ได้มานั้นๆ ล้วนมาด้วยความฝันหรือตอนตื่นขึ้นมาจากฝันทั้งสิ้น สาม ความฝันของผู้เขียนนั้นคิดว่าพอที่จะแปลได้ เพราะว่าฝันซ้ำๆ ซากๆ และฝันต่อได้ แถมความฝันของผู้เขียนในตอนหลังเหมือนกับว่าจะกระจ่างชัดแทบทุกครั้งเสียด้วย

Back to Top