เรื่องธรรมดา?



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2555





ระหว่างเดินไปที่ทำงาน ข้าราชการท่านหนึ่งก็มีเหตุที่ทำให้ขวัญเสียแต่เช้า เมื่อเด็กนักเรียนที่เดินอยู่ด้านข้างถูกทุบด้วยท่อนไม้เข้าที่ศีรษะ ก่อนจะถูกชกซ้ำด้วยสนับมือเข้าที่หน้าอีกหลายครั้ง

ช่วงเย็น หลังเลิกเรียน ในรถโดยสารประจำทาง นักศึกษาคนหนึ่งกำลังเดินทางกลับบ้าน นั่งไปได้สักพักก็ประสบเหตุที่ทำให้ตกใจจนมือไม้อ่อน เมื่อนักเรียนกลุ่มหนึ่งวิ่งขึ้นมาบนรถ วางมีดและไม้ในมือกองไว้ระเกะระกะ ก่อนชะโงกหน้ามองคู่อริที่วิ่งตามรถมาอย่างไม่ลดละ จนถึงป้ายจอดรถอีกแห่ง พอรถหยุดก็คว้ามีดไม้โดดลงจากรถลงไปตีรันฟันแทงกันอีกรอบ

ช่วงหัวค่ำ ในร้านอาหารสำหรับครอบครัวบริเวณเขตพื้นที่ใจกลางเมือง ลูกค้านั่งประจำโต๊ะเกือบเต็มร้าน เมื่อเสียงปืนดังขึ้น ๒ นัด วัยรุ่นชายคนหนึ่งวิ่งกุมท้องมาที่หน้าร้านบอกว่าถูกยิง มีคนชี้ให้ไปหลบในที่จอดรถติดกับข้างร้าน ลูกค้าทั้งหมดทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ ต้องก้มตัวลงหลบอยู่ด้านล่าง เพราะไม่รู้ว่าลูกกระสุนปืนจะหลงทางเข้ามาจากทางไหน มีเสียงคนวิ่งเข้ามาทางหลังร้าน และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีกนัด

เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง กับลูกหลาน กับคนที่เรารู้จัก แม้แต่กับคนที่เราไม่รู้จัก เราก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุ หรือเหยื่อจากเหตุการณ์ และที่สำคัญเราไม่อยากให้เด็กและเยาวชน – อนาคตของสังคม – เข้ามาเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรง เพราะความสูญเสียนั้นย่อมทวีคูณขึ้น ไม่ว่าจะมองจากมุมมองของผู้ก่อเหตุ และมุมมองของเหยื่อ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด แต่ได้เกิดขึ้นก็คือ เด็กและเยาวชนของเราที่กระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีจำนวนสูงถึง ๓๕,๐๔๙ คดี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จากสถิติของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งหมายถึง เฉลี่ยวันละ ๙๖ คดี หรือเฉลี่ยทุกชั่วโมงจะมีคดีเด็กและเยาวชนเกิดขึ้น ๔ ครั้ง อาจจะเรียกได้ว่าทุก ๑๕ นาทีก็ว่าได้ – สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา?





เด็กหรือวัยรุ่นชายอายุราว ๑๕ – ๑๘ ปี จบและหรือไม่จบมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันหรือแยกกันอยู่ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดมากที่สุด โดยลักษณะฐานความผิดจากสถิติช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๔ สามอันดับแรกเรียงจากมากไปน้อยคือ ยาเสพติด เกี่ยวกับทรัพย์ และเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ทั้งนี้ มีลักษณะของการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี

มนุษย์เด็กเหล่านี้คงไม่ได้เกิดมาด้วยดีเอ็นเอหรือเจตนาที่จะกระทำความผิด การทำความเข้าใจต่อเหตุปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนย่อมมีความสำคัญอย่างมาก ไม่เช่นนั้น เราอาจจะด่วนสรุปไปว่าลูกหลานของเราผิดพลาดเพราะคบเพื่อนไม่ดี แล้วเราก็จะไปจัดการเหตุของความเสี่ยงด้วยการเลือกเพื่อนให้ลูก ด้วยการวิ่งเต้นหาโรงเรียนดี-ดีให้ลูกเรียน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการต่างๆ นานาที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ เช่น การจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ ที่ทำให้ลูกเราได้ที่เรียน ทำให้ลูกคนอื่นต้องกระเด็นออกไป เป็นต้น

น่าสนใจที่ว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งหนึ่ง ซึ่งขอให้เด็กและเยาวชนช่วยกันระบุพื้นที่ปลอดภัยบนแผนที่ชุมชน ปรากฏว่า บ้านและโรงเรียนไม่ได้ถูกระบุให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเลย – เกิดอะไรขึ้นกับสถาบันทางสังคมทั้ง ๒ แห่ง ซึ่งถูกคาดหวังให้เป็นกลไกในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตของเรา?

หากมองในแง่ของความสัมพันธ์ บ้านและโรงเรียนถือว่าเป็นพื้นที่ของการใช้อำนาจ แต่เป็นอำนาจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู และส่งผ่านเป็นความรุนแรงในระดับจิตใต้สำนึกให้กับลูกหลานของเรา ไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับเด็กและเยาวชนในวัยที่ต้องการแสดงตัวตน ต้องการการยอมรับ จึงต้องแสวงหาการยอมรับจากเพื่อน-ในฐานะของคนที่มีอำนาจเสมอหรือใกล้เคียงกัน แสวงหาพื้นที่ของการแสดงตัวตนบนท้องถนน และปรากฏตัวออกมาในรูปของการใช้ความรุนแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยการใช้สุรา ยาเสพติด ลักทรัพย์ มีเพศสัมพันธ์อย่างไร้ความหมายและปราศจากความเคารพต่อกัน ซิ่งรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ยกพวกตีกันหรือไล่ยิงฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่บาทวิถีไปจนถึงบนรถเมล์ ฯลฯ

การตีหรือลงโทษลูกหลานด้วยเหตุเล็กน้อยถือเป็นการแสดงความรุนแรงทางกาย การดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษด้วยการเมินเฉยไม่พูดจากับเด็กถือเป็นการแสดงความรุนแรงทางจิตใจ การเพิกเฉยต่อการตำหนิติเตียนอย่างเหมาะสมเมื่อลูกของตนกระทำผิดถือเป็นการแสดงความรุนแรงทางปัญญา การปล่อยให้คุณภาพสังคมเลวร้ายเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบแม้จะเป็นไปเพื่อลูกของตน แท้จริงแล้วเป็นการเบียดเบียนลูกคนอื่น – อนาคตของสังคมร่วมกัน – นี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา?





ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน และหรือความผิดปรกติในสังคม หลายครั้งคือการมองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาของความวิปริตบิดเบี้ยว มองเห็นความรุนแรงหรือความผิดปรกติเป็นเรื่องปรกติธรรมดา นั่นหมายความว่า เราอาจจะต้องตรวจสอบความเป็นปรกติธรรมดาทั้งหลายให้มากขึ้น ก็เพราะความปรกติธรรมดาเหล่านี้มิใช่หรือ เราจึงดำรงอยู่ในโลกและสังคมที่ไม่พร้อมรับความขัดแย้งแต่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกระทำต่อกันทุกเมื่อเชื่อวัน

จำเป็นเหลือเกินที่เราจำต้องทบทวนตรวจสอบคุณค่าหรือค่านิยมที่ดำรงอยู่ด้วยความพินิจใคร่ครวญมากขึ้น ชะงักงันมากขึ้น คิดให้มากขึ้น สัมผัสความรู้สึกอย่างลึกซึ้งมากขึ้น หากจะกล่าวว่า “มันเป็นเรื่องธรรมดา”

One Comment

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

nice one, thanks for sharing.

Back to Top