โรคหมอทำ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2555

"ดูจากผลทดสอบแล้ว ถ้าหากคุณยังไม่ดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ คุณอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงอายุสี่สิบ" นายแพทย์วินิจฉัยอาการเพื่อนของผม ปีนี้เขาอายุ ๓๖ ถ้าเป็นจริงอย่างที่หมอว่า เขาจะเหลือเวลามีชีวิตอยู่อีกเพียง ๔ ปี หมอยังบอกอีกว่าผลการทดสอบทางกายภาพของเขา "ต่ำกว่ามาตรฐาน" โดยเฉพาะเรื่องแรงบีบมือและแรงดึงขาซึ่งต่ำกว่าคนปกติ ส่วนปอดก็หายใจเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกายยได้ต่ำกว่าคนทั่วไป หมอแนะนำให้เขาไปออกกำลังกายและยกเวทเสียบ้าง กล้ามเนื้อจะได้มีความแข็งแรง เขายิ้มรับคำวินิจฉัยของหมออย่างไม่สะทกสะท้าน สิ่งที่หมอไม่รู้เลยก็คือ ชายหนุ่มรูปร่างท้วมคนนี้เป็นลูกศิษย์เอกคนหนึ่งของปรมาจารย์ไทเก๊กที่มีผู้รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย

ผมเพิ่งมาฝึกวิชาไทเก๊กอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงสองปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งที่เขามาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนวิชาที่สำนัก ผมทดลองผลักมือกับเขาปรากฏว่าเขาผลักผมไปซ้ายทีขวาที ราวกับเป็นตุ๊กตาหมียัดนุ่น น้ำหนักหกสิบห้ากิโลของผมมันไร้ความหมายสำหรับเขา และยิ่งผมฝืนออกแรงต้านเขามากเท่าใด ผมก็ยิ่งกระเด็นไปไกลมาขึ้นเท่านั้น ดังนั้นที่บอกว่าเขาไม่แข็งแรงเห็นทีจะไม่ใช่ แล้วจะอธิบายอย่างไรเรื่องแรงบีบมือและแรงดึงขาที่ต่ำกว่าคนปกติ ต้องยอมรับว่าอุปกรณ์วัดนั้นไม่ผิด แต่สิ่งที่ผิดก็คือไปสรุปว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบนั้นจะแปลผลมาเป็นความแข็งแรงของร่างกาย ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเขา แต่อยู่ที่เครื่องมือที่มีอยู่ไม่สามารถวัดความแข็งแรงของร่างกายเขาได้อย่างแท้จริง

เมื่อฝึกวิชามวยไทเก๊ก ผู้ฝึกจะถูกฝึกให้คลายกล้ามเนื้อที่เรียกว่า "ซง" การออกแรงใดๆ ก็ตามที่มาจากการเกร็งกล้ามเนื้อภายนอกจะถือเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้าไม่ใช้แรงแล้วจะใช้อะไรขยับกล้ามเนื้อ ผู้อ่านอาจจะมีความสงสัย แต่วิชานี้มีคำตอบว่าต้องใช้ "จิต" ในการสั่งการให้เกิดความเคลื่อนไหว ผู้ฝึกใหม่ๆ จะไม่สามารถสัมผัสถึงความละเอียดอ่อนของการบูรณาการระหว่างกายกับจิต การเกร็งกล้ามเนื้อจึงยังมีอยู่ แต่สำหรับผู้ที่ฝึกไปจนถึงขั้นหนึ่งแล้วจะพบว่าการใช้แรงกล้ามเนื้อภายนอกที่คนทั่วไปใช้นั้นมันช่างเป็นเรื่องที่ "ไร้ความศิวิไลซ์" สิ้นดี ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงจะเหมือนกับการเปิดประตูโดยเอาเท้าถีบแทนที่จะบิดลูกบิดประตูแล้วเปิดเข้าไป อาจารย์ของผมเคยเปรยว่า

"พอฝึกมาถึงระดับหนึ่งแล้วเกิดความสงสัยว่า คนเรามันจะใช้แรงกันไปทำไม(วะ)"

เรื่องแบบนี้คนที่ยังไม่เคยได้สัมผัสก็จะมองว่ามันแปลก หรือมองเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่ความจริงเป็นเพราะรากฐานของการแพทย์แผนปัจจุบันของเราถูกวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าครอบงำเอาไว้จนหมดสิ้น ซึ่งระบบเก่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แต่ให้ความสำคัญกับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ซึ่งมองมนุษย์คล้ายกับเครื่องจักรกลที่จะต้องซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่บกพร่องหรือใช้การไม่ได้ แพทย์จึงรักษาด้วยการจ้อง "จับผิด" ผู้ป่วย ซึ่งในบางครั้งก็ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย อย่างในรายเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง

เขาเป็นนักบริหารหนุ่ม อายุย่างสี่สิบ มีภาระต้องดูกิจการของทางครอบครัว ครั้งหนึ่งเขารู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก จึงไปให้แพทย์ตรวจเช็ค แพทย์ก็สั่งทดสอบวัดค่าต่างๆ เมื่อได้ผลแล้วก็บอกกับเพื่อนผมว่าเขาเป็น "โรคหัวใจ" และอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานถ้าหากไม่รีบผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสห้าสิบห้าสิบ เพื่อนผมได้ยินดังนั้นก็เข่าอ่อน กลับบ้านไปนอนไม่หลับ ร้องไห้สั่งเสียภรรยาเสียดิบดี หมดแรงใจจะทำอะไร กินอะไรก็ไม่ลง เกิดฉุกใจขึ้นมาได้ก็เลยไปหาหมออีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนละคนกับคนแรก หมออีกท่านตรวจแล้วบอกว่าไม่เห็นเป็นไร ไล่กลับบ้านให้ไปเตะบอล สรุปคือเขาแข็งแรงดี แต่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกมีอาการอักเสบ เขานึกอยู่สักพักก็ถึงบางอ้อว่าเป็นเพราะตัวเองชอบก้มหยิบแฟ้มเอกสารหนักๆ ที่อยู่บนพื้นด้วยมือข้างเดียว จึงน่าจะเป็นสาเหตุทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก พอรู้อย่างนั้นแล้วเขาโล่งใจเดินกลับบ้านตัวลอย กินข้าวกินปลาได้เหมือนเดิม นอนหลับสนิทอย่างมีความสุข ผมเลยบอกเพื่อนว่า "เอ็ง เป็นโรคหมอทำ!"

คำวินิฉัยของแพทย์ในระบบสุขภาพของเรามันเหมือนกับคำประกาศิตจากพระเจ้า เพราะมันเป็นระบบนิเวศน์สมมุติที่เฟื่องฟูขึ้นโดยการผลิตซ้ำความเชื่อและกรอบคิดชุดหนึ่ง โดยอิงอาศัยบุคลากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญผนวกกับอำนาจของความรู้ซึ่งกดทับความเป็นคนธรรมดาสามัญอย่างเราให้รู้สึกว่ากระจอกงอกง่อยและช่วยเหลือตนเองไม่ได้

รุ่นพี่อีกคนหนึ่งของผมเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนวดจับเส้น วิชานี้ตกทอดมาจากแพทย์แผนไทยโบราณที่ใกล้จะหายสาบสูญ ทุกวันนี้เขารับรักษาคนไข้เฉพาะที่สนิทกันจริงๆ เท่านั้น

"ถ้าหากไม่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง จะมีใครเชื่อว่าวิชาแบบนี้มีจริง" เขาพูดพลางแกะเส้นให้ผมไปพลางโดยใช้ "นิ้ว" อย่างเดียวเท่านั้น แต่พลังที่ออกมาจากนิ้วเขาเหมือนกำลังใช้ศอก หรือแก่นไม้

"ในร่างกายของเรามีเส้นเอ็นอยู่เยอะแยะไปหมด แม้กระทั่งในเบ้าตาก็มี” แล้วเขาก็ลองแกะเส้นที่อยู่ในเบ้าตาด้านบนให้ผม มันปวดไม่ใช่เล่น แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันรู้สึกตาสว่างขึ้นมาทันที จากนั้นเขาลองไปแกะเส้นที่หัวให้ผม "ที่หัวเราก็มีเส้นหรือ" ผมถาม "มีสิ แต่เส้นตามตัวต้องหลุดออกมาในระดับหนึ่งก่อน จึงจะแกะเส้นที่หัวได้" เขาลงมีแกะเส้นที่หัวให้ผม ผมพบว่าอาการปวดตึ้บๆ ที่มีมานานจนคิดว่าเป็น "ปกติ" ของชีวิต ตอนนี้ได้อันตรธานหายไปหมด พบกับความโล่งเบาสบาย แม้แต่จะทำหน้าเครียดยังทำไม่ได้ พี่เขาก็รู้ว่าผมรู้สึกผ่อนคลาย อมยิ้ม เล็กน้อยแล้วบอกว่า

"ถ้าหากเส้นพวกนี้คลายตัวหมด อาการปวดหัว ไมเกรน อัมพฤกษ์อัมพาต เส้นโลหิตในสมองแตก ไอ้โรคบ้าบอคอแตก มันจะมาจากไหน ถ้าไปหาหมอเขาก็จ่ายยาให้กินอย่างเดียว เพราะหมอเขาไม่สนใจเรื่อง(ความรู้)พวกนี้"

พูดเรื่องยาขึ้นมา ทำให้ผมนึกถึงพี่สาวคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคที่หมอบอกว่าแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง เธอต้องทานยาสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิ ซึ่งส่งผลทำให้เธอบวมตามเนื้อตามตัว แต่ถ้าไม่ทาน เธอก็บอกว่าตาจะมองไม่เห็น โรงพยาบาลดังๆ ในกรุงเทพฯ เธอไปหามาหมด ผมถามว่าแล้วไม่ลองไปดูพวกแพทย์ทางเลือกดูบ้าง เธอก็แบ่งรับแบ่งสู้ ผมรู้ว่าเธอไม่เชื่อเรื่องแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงมันช่างยากจริงๆ สำหรับคนที่ถูกกระบวนทัศน์เก่าครอบงำ

กระบวนทัศน์เก่าทางชีววิทยาเชื่อว่าความเจ็บป่วยของคนเราถูกกำหนดมาในยีน หลังจากการค้นพบ DNA เรายิ่งปักใจเชื่อว่ารหัสพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของสิ่งมีชีวิต ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีของเราก้าวหน้าจนกระทั่งสามารถหาจีโนมของมนุษย์ได้ทั้งหมด เราจึงได้ค้นพบความจริงอันน่าสนเท่ห์ว่า ยีนของสัตว์เดรฉานอันน่าสกปรกอย่าง “หนู” นั้นมีจำนวนพอๆ กันกับยีนของมนุษย์ ส่วนหนอนตัวกลมที่ชื่อว่า Caenorhabditis ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีจำนวนยีนถึง ๒๔,๐๐๐ ยีน น้อยกว่ามนุษย์ประมาณ ๑,๕๐๐ ยีนเท่านั้น

รู้อย่างนี้แล้วเรายังจะคิดว่ามนุษย์ถูกกำหนดด้วยรหัสพันธุกรรมอะไรนั่นอีกหรือ? ถ้าเชื่ออย่างนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีระดับสติปัญญาใกล้เคียงกับพยาธิ!

ดร. บรูซ ลิปตัน บอกกับเราว่า การแพทย์สมัยใหม่ยังคงถูกขังอยู่ในกระบวนทัศน์ของนิวตันฟิสิกส์ ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์กายภาพจะล่วงหน้าไปทางควอนตัมฟิสิกส์มานานแล้ว วิทยาศาสตร์สายชีววิทยากลับหยุดอยู่ที่การมองโลกแบบนิวตัน จึงมองโลกของเซลล์เป็นวัตถุธาตุเพียงอย่างเดียว ไม่เห็นพลวัตของความเชื่อมโยง การแลกเปลี่ยน และการสื่อสารกันด้วย “พลังงาน” ปัจจุบันพบหลักฐานมากมายที่ระบุว่าเซลล์ไม่ใช่เพียงแลกเปลี่ยนสารเคมีระหว่างกัน แต่ยังสื่อสารกันด้วยพลังงานซึ่งนำสัญญาณชีวะได้รวดเร็วกว่ากันมาก

“พลังงาน” ฟังดูคุ้นๆ เพราะศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจับเส้น กดจุด ฝังเข็ม ชี่กง หรือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างไทเก๊ก หรือโยคะ ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับพลังงานที่เรียกว่า “ชี่” หรือ “ปราณ” การแพทย์แผนโบราณนี้เข้าใจว่าเมื่อร่างกายของคนเราเจ็บป่วยนั้นก็แสดงว่ามีความไม่สมดุลเกิดขึ้นในร่างกายของเรา การแก้ไขจุดที่ขัดข้องจะทำให้ “พลังงาน” ไหลเวียนโดยสะดวก โรคภัยไข้เจ็บก็จะค่อยๆ ถูกรักษาไปเอง

แพทย์แผนตะวันออกยังให้ความสำคัญกับ “จิต” เพราะรู้มานานแล้วว่า จิตใจที่ป่วยย่อมนำมาสู่ความป่วยไข้ของร่างกาย มีกรณีจริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อแพทย์วินิจฉัยนายแซม ลอนดี ว่าเป็นมะเร็งชนิดที่วงการแพทย์ขณะนั้นเชื่อว่ารักษาไม่หาย อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเขาก็เสียชีวิต เมื่อชันสูตรศพแล้วน่าแปลกใจที่ไม่พบว่ามีเซลล์มะเร็งชนิดนั้นในตัวเขาเลย พบแต่เซลมะเร็งชนิดอื่นแต่ก็น้อยมากไม่เพียงพอที่จะฆ่าเขา แบบนี้คงสรุปได้ว่าแซมคงจะ “ขี้เกียจหายใจ” เพราะหมดกำลังใจจะมีชีวิตอยู่ต่อไป!

ลิปตันบอกว่า “ความคิด” นี่เองเป็นตัวร้ายที่ให้กระบวนการทางชีวเคมีของร่างกายชะงักงัน แต่ในทางกลับกันก็สามารถที่จะทำให้ร่างกายของเราเยียวยาตัวเองได้ ผมไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะเคยพบเจอหัวหน้าพยาบาลคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่ต่อมาภายหลังทุเลาลงจนแทบตรวจไม่พบ เธอไม่ได้ใช้ยาขนานไหน ใช้เพียงยารักษาใจ คือการกลับมาทำความรู้สึกตัว หรือการเจริญสติแบบพุทธศาสนา



ลำพังผมคงไม่อาจจะเปลี่ยนความเห็นของท่านได้ ทำได้แค่สะกิดให้ท่านย้อนกลับมาดูว่า มันเป็นไปได้หรือที่เราจะเหมารวมสุขภาพของมนุษย์โดยดูเพียงจากเส้นรอบเอว หรือแรงบีบมือ ฝากให้ท่านมาตรองดูว่าการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อมันไม่ใช่ทางออก มีผลการวิจัยทำที่สหรัฐอเมริกาในปี ๒๐๐๓ พบว่าอัตราการเสียชีวิตเพราะผลข้างเคียงของการใช้ยานั้นมาเป็นอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตจากการรักษาพยาบาล และถ้าหากวงการแพทย์ยังคงมองข้ามการักษาทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การนวดจับเส้น การกดจุด ชีวจิต ฯลฯ ยังคงไม่ยอมรับการมีอยู่ของพลังงาน “ชี่” หรือ “ปราณ” และความสำคัญของ “จิต” ที่มีผลต่อเซลล์ในร่างกาย จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมก็หวังว่าผู้อ่านของผมคงจะสามารถพาตัวเองออกจากกรอบคิดอันคับแคบแบบนั้น ไปสู่อิสรภาพของชีวิตที่มีความสุขทั้งกายและใจ และระลึกอยู่เสมอว่าท่านยังมี “ทางเลือก”

Back to Top