โรงเรียน “ปิ๊งแว้บ”



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555

นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไปมักจะเกิดจากการที่ผู้สร้างนวัตกรรมนั้นๆ ได้มีเวลาสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง ใคร่ครวญทบทวนสิ่งที่กำลังศึกษาค้นคว้าที่ยังไม่มีคำตอบหรือยังหาคำตอบไม่ได้

การใคร่ครวญทบทวน เป็นกระบวนการคิดแบบเชื่อมโยงสัมพันธ์ ระหว่างสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการศึกษาค้นคว้า และมีบ่อยครั้งที่เราพบว่า เมื่อความคิดตีบตัน เพราะติดกับดัก กับความพยายามที่จะแก้ปัญหาเฉพาะจุด เมื่อได้เอาตัวเองออกไปจากปัญหาเฉพาะเหล่านั้น แล้วไปทำอย่างอื่น เช่น เดินเล่นในสวน พักผ่อน อ่านหนังสือ หรือทำสมาธิ... เรามักจะมีปรากฏการณ์ ”ปิ๊งแว้บ” ในเรื่องที่ค้างคาอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะการได้นำตัวเองออกไปจากการคิดและการติดกับในปัญหาเฉพาะจุด ทำให้เรามองไม่เห็นมุมใหม่ แนวทางใหม่ แต่การได้สัมผัสสิ่งใหม่ ช่วยให้เราเกิดมุมมองใหม่และกลับมาจัดการกับปัญหาเดิมได้ เป็นอานิสงส์ของความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างสิ่งใหม่กับเก่า ช่วยให้เรามองเห็นและเข้าใจ “กับดัก” ของการคิดแก้ปัญหาแบบเดิม มองเห็นและเข้าใจแนวทางใหม่ของการจัดการกับปัญหา ด้วยการผนวกควบรวมระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งเก่า แล้วเกิดเป็นความคิดความเข้าใจใหม่ เกิด “ปิ๊งแว้บ” ที่กว้างกว่า ลุ่มลึกกว่า จึงมีความหมายมากกว่าการจำและการเข้าใจของเดิม มีความท้าทาย สนุกและมีความสุขในการค้นพบมากกว่า

คำถามคือ ในโรงเรียน และในสถานศึกษาโดยทั่วๆ ไป ทุกระดับและประเภทของการศึกษา มีกระบวนการและจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เกิด “ปิ๊งแว้บ” หรือไม่

หากพิจารณาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน คำตอบคือ ไม่มี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาคือ สอน สอน สอน เรียน เรียน เรียน จำ จำ จำ สอบ สอบ สอบ แล้วก็ลืมหรือทิ้งไป แล้วก็เริ่มกระบวนการเดิมใหม่ กับวิชาใหม่ ผู้เรียน (และผู้สอน) ไม่มีเวลาในการใคร่ครวญ ทบทวนสิ่งที่เรียนร่วมกัน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ว่าเกิดการเรียนรู้ (ปิ๊งแว้บ) หรือไม่ ในกระบวนการเรียนการสอน ไม่มีเวลาให้กับการสะท้อนการเรียนรู้ (Learning Reflection) ของผู้เรียน ระหว่างผู้เรียน และผู้สอน ไม่มีเวลาในการ “บ่ม” และ “ฟัก” สิ่งที่เรียน เพื่อให้เกิดการปิ๊งแว้บ หรือที่ผู้เขียนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การระเบิดใหญ่สีขาว” (White Big Bang) เลย เพราะทุกอย่างเร่งรีบไปหมด

การเรียนและการเรียนรู้ จึงอยู่ในลักษณะของ “การเลียน” และ “การเลียนรู้” ความรู้เดิม กระบวนการเดิม ภายใต้เงื่อนไขและกติกาเดิม ไม่เกิดสิ่งใหม่ เพราะไม่เกิดปิ๊งแว้บ

ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ดูเหมือนจะไม่มีความสุขกับการเรียนการสอนสักเท่าไหร่ ไม่ตื่นเต้นท้าทายเท่าที่ควร เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการ “ปิ๊งแว้บ” ในเรื่องที่กำลังเรียนกำลังสอน เพราะการศึกษาในกระแสหลักเป็นการ “ถ่ายทอด” ข้อมูลและความรู้เดิม จึงไม่เกิดสิ่งใหม่ ไม่มีการแตกกิ่ง ต่อยอด

กระบวนการวัดการประเมินก็เน้นไปที่การวัดการประเมินความรู้เก่าตามวัตถุประสงค์และเนื้อหาที่กำหนดไว้

คำถามคือ ผลการสอบ หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สะท้อนว่าผู้เรียนเกิด “ปิ๊งแว้บ” ในสิ่งที่เรียนหรือเปล่า

คำตอบคือ เปล่า เพราะไม่ได้ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ และที่สำคัญ “ปิ๊งแว้บ” ไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นกระบวนการและสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ ผลของปิ๊งแว้บ จะเป็นความรู้ความเข้าใจหรือเนื้อหาสาระใหม่ของผู้เรียนรู้ ที่จะเก็บไว้ สานต่อ และเชื่อมโยงไปยังความรู้ใหม่ๆ ที่ใหญ่และครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อยๆ มีความหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นกระบวนการและทิศทางที่ควรจะเป็นของการศึกษา ที่เป็นกระบวนการในการสร้างและให้ความหมายใหม่กับสิ่งที่ศึกษา แต่การศึกษาในกระแสหลัก เน้นและให้ความสำคัญกับการจำกัดความหมาย จึงมักจะเริ่มต้นด้วยการให้คำจำกัดความของสิ่งที่จะเรียนก่อนเสมอ

ลองพาผู้เรียนออกไปนอกห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบๆ เป็นระยะๆ เพื่อสัมผัสกับสิ่งที่ใหญ่กว่า “เนื้อหาวิชา” คือชุมชน สังคม และธรรมชาติ แล้วร่วมกับผู้เรียนตั้งคำถาม เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าสิ่ง (เนื้อหาวิชา) ที่เรียนนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิต ชุมชน สังคม และธรรมชาติหรือไม่ อย่างไร สิ่งที่สอนและเรียนนั้น เป็นประโยชน์กับตนเอง กับผู้อื่น และสรรพสิ่งหรือไม่ อย่างไร ถ้าหาคำตอบไม่ได้ ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วเรียนวิชาเหล่านั้นไปเพื่ออะไร

ลองพาผู้เรียนกลับเข้าสู่มิติภายในของตนเองเป็นระยะๆ เพื่อสำรวจ ทบทวนสิ่งที่ได้เรียน ความเข้าใจ ความไม่เข้าใจ ความรู้สึก ทัศนคติ ความคาดหวังเกียวกับสิ่งที่เรียน แล้วแลกเปลี่ยนเรีบนรู้กับเพื่อนและครู ผ่านสามกระบวนการคือสุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้

ลองพาผู้เรียนออกไปสัมผัสโลกภายนอกเป็นระยะๆ พาผู้เรียนกลับเข้าไปสัมผัสโลกภายในเป็นระยะๆ เพราะสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง ความสัมพันธ์เชื่อมโยงก่อให้เกิดความหมายใหม่ หากมองเห็นและเข้าใจความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ มากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเห็นและเข้าใจความหมายของตนเองและสิ่งต่างๆ ที่สัมพันธ์กันได้มากขึ้นเท่านั้น การเรียนแบบแยกส่วน ก็จะเห็นและเข้าใจแบบแยกส่วน การ “ปิ๊งแว้บ” ถ้าหากจะเกิด ก็จะเป็นการปิ๊งแว้บที่แคบแบบแยกส่วน

ห้องเรียนไม่ได้หมายถึงแค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แคบๆ แออัดยัดเยียด (ห้องเรียนเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะอยู่ในห้องหรือนอกห้องก็ได้ ภายใต้บรรยากาศและกระบวนการที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ต่อการเกิดปิ๊งแว้บทั้งของผู้เรียนและผู้สอน)

การเรียน ไม่ได้หมายถึงแค่การบอก การจด การจำ การอ่าน การทำการบ้าน การฟังการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาและเทคนิคการทำข้อสอบจากผู้สอน

วิชาไม่ได้หมายถึงแค่เนื้อหาที่ปรากฏในตำราเรียน หรือความรู้ที่ครูบอก ที่ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม และสรรพสิ่ง

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่ได้หมายถึงแค่คะแนนที่ได้จากการทำข้อสอบแต่ละวิชา

ความสำเร็จในการดำรงชีวิตอย่างสันติสุข สำคัญกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใช่หรือไม่

ลองใส่ความรัก ความเมตตา ลงไปในกระบวนการเรียนการสอนเป็นระยะๆ แล้วเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับการเรียนการสอนแบบเดิม

ความรู้ที่ไม่มีความรัก ไม่ควรเป็นศาสตร์ของมนุษย์

ความรู้ที่ไม่มีความรัก มักจะถูกนำมาเป็นศาสตราที่ทิ่มแทงและทำลายมนุษย์ เช่นความรู้เกี่ยวกับการสร้างอาวุธที่ใช้ในการทำลายล้างผู้อื่น หากมนุษย์มีความรัก มนุษย์ก็จะเรียนรู้และสร้างศาสตร์ที่จะเอื้ออำนวยต่อมนุษย์และสิ่งอื่น ไม่ทำร้าย ไม่ทำลายล้างตนเอง ผู้อื่นและสิ่งอื่นด้วยศาสตราวุธที่สร้างขึ้น

ความรู้ที่มีคุณค่า จึงต้องเป็นความรู้ที่มีความรักความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกและต่อตนเอง

โรงเรียนปิ๊งแว้บ จึงควรเป็นพื้นที่ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้และความรักความเมตตา เพื่อก่อให้เกิดความรู้และความรักความเมตตาภายในตัวผู้เรียน ภายใต้บรรยากาศของการยอมรับและความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างแท้จริง บนความเชื่อที่หนักแน่นว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง (ปิ๊งแว้บ) เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ แต่เอื้อให้เกิดขึ้นได้ ผ่านกระบวนการและกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่มีมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกคน แต่ละคนไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเรียนรู้เหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่ากัน

ครู อาจารย์จึงต้องมีความรู้ มีความรักความเมตตาเป็นฐาน

โรงเรียนปิ๊งแว้บจึงจะเต็มไปด้วยความรู้และความรักความเมตตา

ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความรู้ (หัว) เป็นชีวิตที่แข็งกระด้าง คล้ายเครื่องจักรและหุ่นยนต์

ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความรักความเมตตา (หัวใจ) เป็นชีวิตที่อ่อนโยน คล้ายสายลม สายน้ำ และแสงแดดในยามเช้า

ระหว่างความรู้ (หัว) และความรักความเมตตา (หัวใจ) คือชีวิต (ศาสตร์และศิลป์) ของความเป็นครู



"Wisdom tells me I am nothing. Love tells me I am everything. And between the two my life flows." --Nisargadatta Maharaj

Back to Top