ผ่าตัดโรงเรียน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2555


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสทำงานกับโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งในเชียงราย บรรยากาศตอนแรกที่ได้เข้าไป ผมสัมผัสได้ว่าทั้งครูและพนักงานต่างรู้สึกท้อแท้ กังวล และหวาดระแวง ไม่มีใครกล้าพูดอย่างเปิดเผย ความเงียบงำทำให้วงประชุมดูอึมครึม เก็บกดมากกว่าผ่อนคลาย ทั้งๆ ที่ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้มีบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างแข็งขัน ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองต่างรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นราวกับโรคระบาดในชุมชนแห่งนี้ จนทำให้เกิดอาการต่างคนต่างอยู่ และทำงานไปวันๆ หลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่ในกลุ่มผู้ปกครองเองก็ได้รับโรคนี้ไปด้วย แบ่งเป็นพรรคเป็นพวก เกิดความไม่มั่นใจในการดำเนินงานของโรงเรียน หลายคนตัดสินใจพาลูกออกไปหาที่เรียนใหม่ จำนวนนักเรียนตกฮวบเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ครูและคนทำงานสนับสนุนต่างเสียขวัญและ กำลังใจในการทำงาน

ครั้งแรกที่ผมเข้าไปจัดประชุมเพื่อเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของทุกคนในโรงเรียน ก็สังเกตเห็นจากสีหน้าท่าทางของผู้คนที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่หลากหลาย มีทั้งรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย และไม่อยากพูดอะไร เพราะคิดว่า “พูดไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น เปลืองเนื้อเปลืองตัว เสียเปล่า” หรือไม่ก็เป็นความรู้สึกโกรธที่ไม่ได้รับการดูแลและใส่ใจให้คุณค่าจากผู้บริหาร หลายคนพูดถึงความห่วงใยที่มีต่อเด็กๆ และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และกังวลว่าอนาคตของโรงเรียนและตัวเองที่ดูง่อนแง่นไม่มั่นคงจะดำเนินไปอย่างไร

การเปิดวงสนทนาเพื่อนำเองความในใจจากมุมมืดทั้งหลายออกมาสู่ที่แจ้ง จากการพูดคุยถึง “คนอื่น” ในกลุ่มย่อยมาสู่ “พื้นที่ร่วม” กันนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ไม่มีใครสามารถบังคับและกะเกณฑ์ให้ใครต้องพูดได้ อำนาจสั่งการและตัดสินของผู้บริหารยิ่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และดูจะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดใจแบบนี้เสียด้วยซ้ำ บางคนบอกว่าที่ไม่อยากพูดเพราะเคยพูดหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับความเข้าใจ กลับมีการตีความตัดสินไปต่างๆ นานา

นอกจากจะพยายามรับฟังทุกๆ เสียงอย่างเป็นกลางและด้วยความเห็นอกเห็นใจแล้ว ผมค่อยๆ ให้ ความหมายกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญในการที่ทำให้ทุกคน “ตื่นขึ้น” และเรียนรู้จัก “กันและกันมากขึ้น” และอธิบายถึงธรรมชาติของความขัดแย้งว่าเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกันที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมที่แตกต่าง และมีความเป็นอัตโนมัติที่ปรารศจากเจตนาของใครคนใดคนหนึ่ง และความขัดแย้งก็ก่อตัวขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่ดูเล็กๆ สองสามเหตุการณ์ ผ่านกระบวนตีความตัดสินอย่างเงียบๆ และการสื่อสารที่ไม่ทั่วถึงหรือตรงไปตรงมา ต่างฝ่ายต่างพูดถึงอีกฝ่ายตามที่ตัวเองรู้สึก กลายเป็นเสียงผีที่คอยหลอกหลอนอยู่ในบรรยากาศของโรงเรียน แม้ทุกคนจะพยายาม “ยิ้ม” สู้ แต่ก็ต่างรับรู้ถึงความคับข้องหมองใจนี้ได้

อาร์โนล มินเดล ปรมาจารย์ในศาสตร์ด้านความขัดแย้งกล่าวว่า ความขัดแย้งคือ “ทางลัด” สู่หัวใจของชุมชน เอกภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเข้าถึงใจของกันและกัน ทะลุทะลวงผ่านความเกรงอกเกรงใจ ความกลัวและอำนาจที่กดทับทั้งหลาย ความขัดแย้งจะกลายเป็น “ของขวัญ” สำหรับองค์กรก็ต่อเมื่อมันได้รับการต้อนรับและดูแลด้วยความเข้าใจ มากกว่ากดข่ม หลีกเลี่ยง หรือกระทำการอย่างก้าวร้าวรุนแรง การสร้างท่าทีที่เป็นมิตรต่อความขัดแย้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยาตัวเองและองค์กรที่กำลังบาดเจ็บและสิ้นหวัง

ในประสบการณ์ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กรของผม พบว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่เท่าเทียม อำนาจกดทับ ทั้งจากตำแหน่งหน้าที่และความรู้ บางครั้งยิ่งเรารู้มากเท่าไร “ความไม่รู้” ก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งเรามีอำนาจหรือศักดิ์เหนือกว่าคนอื่นเท่าไร เรายิ่งรับรู้ถึงผลกระทบที่ตัวเรามีต่อคนอื่นมากขึ้นตามลำดับ การมีระดับชั้นระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยก็ยิ่งทำให้เป็นเหมือนกับแปลงเพาะเชื้อโรคที่พร้อมจะผลิตเชื้อพันธุ์แห่งความกลัวและการแบ่งแยกให้แพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะพิกลพิการทั้งทางความคิดและการกระทำโดยรวม ทั้งๆ ที่โดยเนื้อหาสาระแล้ว การให้เกียรติและเคารพกันนั้นเป็นสิ่งที่ดีหากใช้ในทางที่ไม่ขัดแย้งต่ออิสรภาพและเอกลักษณ์ส่วนบุคคล

หลังจากที่ได้พูดคุยกันไปหลายรอบหลายวาระ เมื่อชุมชนของโรงเรียนกล้าเปิดเผยความรู้สึกที่เป็นจริงของตัวเองออกมา และยอมรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผู้คนก็ดูมีความหวัง บรรยากาศอืมครึมและหวาดระแวงในโรงเรียนเริ่มคลี่คลายลง ผู้คนกลับมากระตือรือล้นในการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันอีกครั้งหนึ่ง การประชุมกลับมามีพลังชีวิตและสีสันของการมีส่วนร่วมอีกครั้งหนึ่ง มีการแบ่งปันแรงบันดาลและความเป็นไปในชีวิตตัวเองแก่กันและกัน

หลังจากที่ทุกคนได้มีโอกาสไปพักในช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา แล้วกลับมาพบกันอีกครั้ง เราได้รับฟังถึงเรื่องราวสั้นๆ ของแต่ละคนในช่วงปิดเทอมที่มีผลต่อพลังชีวิตของพวกเขา รวมทั้งได้รับฟังความรู้สึกและความตั้งใจที่แต่ละคนมีต่อการเปิดเทอมที่จะมาถึง หลายคนบอกว่า คิดถึงเด็กๆ และโรงเรียน อยากกลับมาทำงานอีก บางคนได้เดินทางไกลกลับไปเยี่ยมครอบครัวของตัวเอง และรู้สึกดีที่จะได้กลับมาทำงานต่อร่วมกัน

ประสบการณ์ครั้งนี้ ช่วยให้ผมเรียนรู้ถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของความขัดแย้งที่มีต่อการอยู่ร่วมกันและการเติบโตของชุมชน ทำให้ผมนึกไปถึงโรงเรียนต่างๆ ในสังคมไทยที่คงยังมี “ครู” ที่มีใจจะสอนและนักเรียนที่มีใจจะเรียนอีกเป็นจำนวนมาก ที่อาจได้รับผลกระทบจากความขัดแยังภายในองค์กรจนเกิดความท้อแท้และไร้แรงบันดาลใจในการทำงาน ปัญหาของระบบการศึกษาคงไม่ได้เกิดจากการขาด “ความรู้” แต่อาจจะขาด “ความสัมพันธ์” ที่มีความเข้าใจภายในองค์กรเสียมากกว่า

Back to Top