โลกใหม่ที่เราอยู่ร่วมกัน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 มกราคม 2556

สมมุตินะ สมมุติ

ว่าพวกเราอยู่ในที่ประชุมแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดนี้มีหน้าที่ช่วยกันออกแบบกฎกติกาใหม่ของสังคม เมื่อร่างเสร็จแล้ว ทุกคนทั้งหมดในที่ประชุมก็จะตายในทันที แต่หลังจากนั้นก็จะเกิดใหม่ทันที และใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ได้ร่างไว้

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมไม่อาจรู้ได้ว่า ตนเองจะไปเกิดใหม่เป็นใคร เป็นเด็กหรือคนแก่ เป็นคนพิการหรือไม่ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย มีเชื้อชาติอะไร นับถือศาสนาอะไร มีรสนิยมทางเพศแบบไหน เป็นคนรวยหรือคนจน บ้านอยู่ไหน เรียนอะไร ทำงานอะไร ฯลฯ – เหล่านี้ จะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลย

กฎกติกาใหม่ที่จะเขียนขึ้นในที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปเกิดใหม่เป็นใครนี้จะมีหน้าตาอย่างไร?

แน่ล่ะ ก็ต้องเป็นกฎกติกาที่เขียนเผื่อไว้ในกรณีที่ตัวเราเองอาจจะต้องไปเกิดเป็นคนที่มีสถานะทางสังคมด้อยที่สุดหรือต่ำที่สุด - ยกตัวอย่างเช่น กรณีของสังคมไทยก็คือ เป็นคนจน เป็นคนต่างจังหวัด ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือจบอาชีวศึกษา ทำงานรับจ้างรายวัน เป็นคนไร้รัฐหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน เป็นผู้หญิง เป็นคนพิการ เป็นโฮโมเซ็กชวล เป็นต้น - เพื่อที่ว่า เราจะได้มีหลักประกันว่า ในสังคมใหม่นี้ แม้จะเกิดมามีสถานะทางสังคมต่ำต้อย ก็ยังมีโอกาสเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมคนอื่นได้ และป้องกันการถูกเลือกปฏิบัติด้วยสถานะดังกล่าว

เจ้าของการทดลองทางความคิดนี้ก็คือ จอห์น รอว์ลส์ นักปรัชญาอเมริกัน ผู้เขียน A Theory of Justice หมุดหมายสำคัญของงานด้านปรัชญาการเมืองที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางยาวนานตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ซึ่งได้เสนอหลักการสำคัญของความยุติธรรมที่เป็นธรรมไว้ ๒ ข้อ คือ (๑) หลักเสรีภาพ นั่นคือ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (๒) หลักความแตกต่าง นั่นคือ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมอาจจะดำรงอยู่ได้ หากว่าการดำรงอยู่นั้นก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสมากที่สุดในสังคม โดยย้ำว่าทุกคนต้องมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เหล่านั้น

ในโลกนี้ยังมีหลักทฤษฎีเรื่องความเป็นธรรม/ความยุติธรรมอีกหลายทฤษฎี ในทางปรัชญานั้นได้ถกเถียงต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปีแล้ว และก็คงถกเถียงต่อกันไปได้อีกหลายร้อยปี อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญก็คือ ในทางปฏิบัติ แต่ละสังคมได้สร้างเจตจำนงร่วมกันต่อการสร้างความเป็นธรรมไว้อย่างไร นั่นหมายถึงว่า พวกเราแต่ละคนในฐานะปัจเจกและองค์ประกอบหนึ่งของสังคมมีจินตภาพร่วมกันต่อความเป็นธรรมในสังคมอย่างไร?

หลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จำนวนมากมุ่งเปิดเผยให้เห็นมิติความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ เราทราบแล้วว่าคนรวยที่สุดในเมืองไทยรวยกว่าคนจนที่สุดกี่เท่าตัว คนรวยและคนจนเหลื่อมล้ำต่างกันเพราะครอบครองทรัพย์สินทั้งที่เป็นยอดเงินในบัญชีธนาคารและที่ดินจำนวนต่างกันมากเท่าไหร่ คนที่มีเชื้อชาติต่างกัน เพศต่างกัน อายุต่างกัน รสนิยมทางเพศต่างกัน ฯลฯ เข้าถึงสุขภาพ การศึกษา อาชีพการงาน รายได้ คุณภาพ และความก้าวหน้าของชีวิต แตกต่างกันเพียงไรเราก็ทราบ แต่ดูเหมือนยังมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อย

ที่น่าสนใจก็คือ งานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ซึ่งสำรวจสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมทั่วประเทศจากพื้นที่กรณีศึกษา ๓๑ แห่ง ภายใต้ความเชื่อพื้นฐานที่ว่า เราจะตรวจจับชีพจรความไม่เป็นธรรมของสังคมได้ก็จากสถานการณ์ของกลุ่มคนชายขอบและหรือกลุ่มคนด้อยโอกาสที่สุดในสังคมนั้น ข้อค้นพบก็คือ
  • กลุ่มชายขอบและหรือคนด้อยโอกาสหลายกลุ่มในสังคมไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ด้านความไม่เป็นธรรมที่ค่อนข้างหนักหน่วง แม้ว่านโยบายส่วนใหญ่มุ่งไปที่การสร้างสังคมสวัสดิการ และพยายามสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ การศึกษา ฯลฯ แล้ว แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกว่า “ถูกเลือกปฏิบัติ”
  • คนส่วนใหญ่ในสังคม รวมทั้งกลุ่มคนชายขอบและ/หรือคนด้อยโอกาส มองเห็นความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่เป็นเรื่องปรกติธรรมดา เช่น เชื่อแบบพุทธพราหมณ์ ว่าเป็นกรรมเก่า จึงเกิดมาจน ทำความไม่ดีในอดีตชาติจึงเกิดมาเป็นผู้หญิง โฮโมเซ็กชวล คนพิการ ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสังคมเป็นธรรม ย่อมไม่อาจเป็นไปได้เลย หากผู้คนในสังคมยังมีจิตสำนึกสยบยอม และยอมรับสิ่งที่ดำรงอยู่เหล่านี้ว่าถูกต้องแล้ว ชอบธรรมแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้ามองไม่เห็นหรือไม่ยอมรับปัญหาที่ดำรงอยู่ และที่สำคัญ หากยังมองด้วยกระบวนทัศน์แยกส่วน นั่นคือ คิด/รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่เกี่ยวกับเรา

โลกแห่งอนาคตเป็นโลกแห่งความเป็นไปได้ สังคมมีธรรมชาติของความเป็นอนิจจังและการเปลี่ยนแปลงอันเป็นธรรมดา สังคมใหม่ที่เท่าเทียม มีความเป็นธรรม มีความรู้สึกเกื้อกูลต่อกัน – อย่างน้อยในฐานะของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน - จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

ความรู้ทางชีววิทยาพฤติกรรมสัตว์ยืนยันว่า ความรู้สึกต่อความยุติธรรม/ความเป็นธรรม เป็นความรู้สึกร่วมกันโดยธรรมชาติ ดังการทดลองในสัตว์ ที่กระทั่งลิงก็ยังปฏิเสธการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม มนุษย์ก็ไม่ต่างกัน สังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมย่อมเป็นสังคมที่ผิดธรรมชาติ และไม่เป็นปรกติ

โลกที่เหลื่อมล้ำ กดขี่เบียดเบียนบีฑาต่อกัน จะมีความบีบคั้นมาก ต่อให้โลกไม่แตกในเชิงกายภาพ ก็อาจจะแตกและแหลกสลายได้เช่นกัน การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมร่วมกัน จึงเป็นเรื่องของการยกระดับจิตสำนึกขึ้น เช่นเดียวกับเนื้อหาและชื่อหนังสือ Spirit Level: Why Equality is Better for Everyone ที่เขียนโดยริชาร์ด วิลคินสัน และเคท พิคเค็ต ซึ่งแปลเป็นไทยในชื่อ ความ(ไม่)เท่าเทียม โดย สฤณี อาชวานันทกุล – เล่มนั้น

สำหรับหลายคน ปีใหม่แต่ละครั้ง เป็นช่วงเวลาแห่งการหยุดพักทบทวนอดีต และวางเข็มทิศการเดินทางครั้งใหม่ เราไม่อาจยกระดับจิตหรือคิดเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและบรรลุธรรมเฉพาะตัวเฉพาะตนได้อีกต่อไป เพราะเรายังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโลกใบนี้ ความท้าทายของเราก็คือ เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลง “ร่วมกัน” อย่างไร

โลกใหม่ที่เราอยู่ร่วมกันได้นั้นไม่เหมือนเดิม และการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมเกิดจากความรัก ไม่ใช่ความจงเกลียดจงชัง

Back to Top