ปัญญาญาณจากแค้บหมู



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 มีนาคม 2556

ผมมีภารกิจที่ต้องซื้อของฝากจากเชียงใหม่กลับบ้าน เลยได้มีโอกาสแวะไปที่กาดต้นพยอม เป็นตลาดเล็กขายอาหารพื้นเมืองของทางเหนือจำพวก ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แค้บหมู ฯลฯ แต่ภารกิจที่ดูหมูๆ กลับไม่หมู เพราะร้านขายแค้บหมู น้ำพริกหนุ่ม มีเป็นสิบๆ ร้าน มีให้เลือกละลานตาไปหมด แต่ละร้านก็ดูเก่าแก่ไม่แพ้กัน บางร้านมีรีวิวจากหนังสือแนะนำสถานที่กินของญี่ปุ่น บางร้านก็มีป้ายรางวัลติดอยู่ แต่อย่างไรก็ดี สภาพทั่วไปของร้านก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เมื่อเขาลองให้ชิมดูก็พบว่ารสชาติก็ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ปัญหาจึงมาตกอยู่กับผมว่าจะตัดสินใจซื้อร้านไหน พูดง่ายๆ ก็ขึ้นอยู่กับผมเองนั่นแล

ผมจึงอาศัยสามัญสำนึกและเหตุผลง่ายๆ ว่า ถ้าร้านไหนดูมีลูกค้ามุงอยู่เยอะๆ ก็น่าจะเป็นเจ้าอร่อย และหลีกเลี่ยงร้านที่ไม่มีใครซื้อเลย แต่ใครจะไปรู้ล่ะครับ ลูกค้าที่กำลังมุงๆ อยู่ก็อาจจะไม่รู้อะไรมากกว่าผม และเหตุผลที่เขาเลือกร้านนั้นก็อาจจะเป็นเพราะเดินดุ่มเข้าไปมั่วๆ ก็ได้ และก็มีลูกค้ารายที่สองซึ่งใช้ตรรกะแบบที่ผมกำลังคิดอยู่ เดินเข้าไปสมทบ หรือที่เรียกว่าไทยมุง ซึ่งเป็นผลให้ความหนาแน่นของคนที่ยืนหน้าร้านเพิ่มขึ้น จนดึงดูดลูกค้ารายต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่รสชาติของแค้บหมูเจ้านั้นอาจจะไม่ได้อร่อยกว่าเจ้าอื่นๆ เลยเสียด้วยซ้ำ คุณอาจจะคิดว่าบางคนเขามาซื้อเพราะมีคนบอกต่อ แต่อาการบอกต่อนี่แหละครับ มันเกิดจากอาการไทยมุงก่อน เพราะถ้าไม่มุง ไม่ซื้อ โอกาสบอกต่อมันจะมีได้อย่างไร ดังนั้น แม้แต่การบอกต่อ หรือ Word of Mouth ก็อาจจะเชื่อถือไม่ได้เสียด้วยซ้ำ แต่เราก็เชื่อ เชื่อเพราะเป็นญาติ เป็นมิตรของเรา ซึ่งใครจะไปรู้ ตัวเขาเองอาจจะไม่ได้เคยชิมเจ้าอร่อยกว่าซึ่งอยู่แผงติดกันเลยก็ได้ ก็เชื่อกันต่อๆ มา และอ้างอิงกันต่อๆ มา เวลาผ่านไป ร้านแค้บหมูเจ้านั้นก็จะกลายเป็นร้านดัง ต้องทำแค้บหมูมากขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าที่มามากขึ้น ส่วนร้านข้างๆ ก็จะกลายเป็นร้านเล็กๆ อาจจะดูซอมซ่อ ไม่มีเงินมาตกแต่งร้าน และสินค้าในร้านก็พลอยดูไม่สดใหม่เท่ากับร้านข้างๆ เครดิตหรืออำนาจต่อรองในการซื้อหมูที่มีคุณภาพก็ลดลง ผู้ขายหมูที่ดีมีคุณภาพก็จะเต็มใจขายหมูให้กับร้านดังเพราะเครดิตดีกว่า ส่งผลให้แค้บหมูร้านดังยิ่งอร่อยขึ้นเรื่อยๆ และร้านอื่นๆ ก็อร่อยน้อยลงเรื่อยๆ

พวกท่านอาจจะสงสัยว่า ไอ้การทดลองทางความคิด (Thought Experiment) เรื่องแค้บหมูที่ผมร่ายมานี้ มันไปเกี่ยวอะไรกับเรื่องของจิตวิวัฒน์ เกี่ยวแน่นอนสิครับ เพราะอาทิตย์ก่อนได้คุยเรื่องการรับรองคุณภาพในสถาบันการศึกษากับเพื่อนอาจารย์ของผมคนหนึ่ง เพื่อนผมกล่าวว่า ถ้าหากเธอไม่ต้องเสียเวลากับการประเมินคุณภาพ เธอคงจะมีเวลาเหลือในการสร้างสรรค์งานในด้านการเรียนการสอนมากกว่านี้ ดอกเตอร์สาวเพื่อนของผมไม่ใช่คนแรกและคนเดียวที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ผมได้ยินเรื่องทำนองนี้ออกบ่อย และตราบใดที่เรายังไม่มี “มหาวิชชาลัย” ที่อาจารย์​ประเวศ วะสี วาดฝันเอาไว้ มหาวิทยาลัยของเราก็จะยังคงมุ่งเข็มไปเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับโลก ซึ่งหมายถึงมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่มีอิมแพ็คแฟคเตอร์สูง ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการสร้างมนุษย์ที่มีจิตใหญ่ มนุษย์ผู้ตื่นรู้ด้วยปัญญา อย่างที่อาจารย์หมอประเวศของผมใฝ่ฝัน (และผมก็ไม่หวังว่าก่อนตายผมจะได้เห็น)

ทีนี้ การอ้างอิงทางวิชาการนั่นเป็นอย่างไร ผมต้องอธิบายให้กับผู้อ่านที่ไม่มีพื้นความรู้ฟังสักนิด การอ้างอิงทางวิชาการนั้นหมายถึง ถ้าใครจะทำงานทางวิชาการ จู่ๆ จะทำขึ้นมาลอยๆ เลยไม่ได้ ต้องมีการอ้างอิงไปถึงผลงานทางวิชาการที่มีผู้ทำมาก่อนหน้าเราแล้ว และถ้าจะให้ดีจะต้องอ้างอิงงานของผู้ที่น่าเชื่อถือ พูดง่ายๆ ก็ต้องอ้างจากผลงานที่เป็นที่รู้จัก ที่ชาวบ้านเขาอ้างกันนั่นแล ไม่ใช่ไปอ้างของนาย ก. นาย ข. หรือชาวบ้าน ตาสี ตาสา ที่ไหนซึ่งวงการเขาไม่ยอมรับ เมื่ออ้างอิงแล้วก็ต้องส่งผลงานทางวิชาการไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ซึ่งยิ่งเป็นวารสารที่ได้รับความเชื่อถือสูง หรือเรียกว่ามีอิมแพ็คแฟคเตอร์สูง ก็ยิ่งดี ถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลกยิ่งมาก ก็จะได้คะแนนสูง ซึ่งส่งผลไปถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า Ranking และตัวเลขคะแนนอันดับนี่เอง คือตัวเลขที่อธิการบดีทุกคนรอลุ้นทุกๆ ปี เพราะมันอาจจะผูกอยู่กับโบนัสที่ตนเองจะได้รับตอนปลายปี หรือ ความมั่นคงของขาเก้าอี้ตัวเอง เฮ้อ...เหนื่อย

เรื่องน่าแปลกอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงที่การอ้างอิงทางวิชาการที่ดูสูงส่ง บางทีมันก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือกร้านเพื่อซื้อแค้บหมูหรอกครับ คือเกิดเพราะการเดาสุ่มแท้ๆ ไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโส นักวิชาการบางคนที่ถูกอ้างอิงมากๆ ในตอนเริ่มแรกก็ไม่ได้มีความเก่งกาจเหนือกว่าคนอื่นๆ คล้ายกับการที่ร้านแค้บหมูชื่อดัง อาจจะไม่ได้มีรสชาติดีกว่าร้านอื่นๆ สักเท่าใด ดังนั้น ที่ขายดีกว่าจึงเป็นเรื่องที่บางคนเรียกว่า “โชค” ล้วนๆ

ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า แมธธิว เอฟเฟ็ค ซึ่งมาจากนักสังคมศาสตร์ชื่อ โรเบิร์ต เค เมอร์ตัน ที่ทำการศึกษาการอ้างอิงทางวิชาการของนักวิชาการ และพบว่านักวิชาการส่วนใหญ่อ้างอิงข้อความทางวิชาการโดยไม่ได้อ่านเอกสารจริงเลย แต่อ่านเอกสารฉบับหนึ่งและหยิบเอาแหล่งอ้างอิงของงานนั้นมาอ้างอิงในงานของตัวต่อไป คนที่สาม สี่ ห้า ก็ทำอย่างเดียวกัน จนเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง จะมีชื่อของนักวิชาการเพียงสองสามคนที่โดดเด่นขึ้นมา และปรากฏอยู่ในงานของทุกๆ คนต่อจากนั้น ซึ่งเขาพบว่าทั้งหมดเป็นเพียงแค่การเลือกมาแบบสุ่มๆ หรือเป็นเพียง “โชค” ของผู้ที่ถูกเลือกเท่านั้น อย่างที่บอกว่า เมื่อเริ่มต้น นักวิชาการเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงนักวิชาการธรรมดา แต่เมื่อถูกอ้างอิงมากเข้า ก็กลายเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงขึ้นมา และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงก็จะมีความก้าวหน้าในอาชีพของตนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีผู้อยากให้ทุนสนับสนุน มีตำแหน่งรองรับ ในขณะที่นักวิชาการที่ไม่ถูกอ้างอิงก็ต้องล้มหายตายจากไปจากวงการ หรือไปประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เป็นที่ปรึกษาในบริษัทเอกชน เป็นต้น


วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าไม่มีคำอธิบายในเรื่องนี้นอกจากจะยกให้เป็นเรื่องของ “โชค” หรือการสุ่มโดยสัมบูรณ์​ แต่ถ้ามองในแง่จิตวิญญาณบางคนอาจจะคิดไปถึง “พระเจ้า” “พรหมลิขิต” หรือ “พลังจักรวาล” ส่วนในทางพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นเรื่องของ “กรรมและวิบากกรรม”

แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร เราควรจะละวางจากความเห็นที่ว่า อะไรต่อมิอะไรมันสามารถถูกทำให้อยู่ในความควบคุมและจัดการของเราได้เสียที ในหนังสือ The Black Swan ของ นาสซิม นิโคลัส ทาเลบ เตือนเราให้ระวังถึงการพยากรณ์ทุกรูปแบบ และเลิกความเห็นที่ว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เหตุการณ์หงษ์ดำ หรือ The Black Swan จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้และไม่มีการบอกล่วงหน้า และผลของมันจะรุนแรงอย่างยากที่ใครจะสามารถเตรียมการรับมือได้ เหตุการณ์อย่างสึนามิที่ภาคใต้ของไทย เป็นเครื่องยืนยันว่า เราต้องสลัดจากความคิดที่ว่าเราคุ้นเคยกับโลกใบนี้ โลกที่เราเกิดมาอยู่อาศัยและตายไปเพียงไม่กี่สิบปีเท่านั้น


การแสวงหาการรับรองจากความรู้ภายนอกนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดอีกต่อไป เพราะโลกนี้มีความซับซ้อนเกินกว่าเราจะคาดเดา และทำความเข้าใจได้ทั้งหมด และบรรดากูรูต่างๆ ก็เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป (เพราะไม่มีใครสามารถศึกษาเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง) แล้วเรายังเหลือทางเลือกใด?


ผมมองว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของประวัติศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ด้านใน องค์ความรู้ด้านจิตวิวัฒน์กำลังเบ่งบานในสังคมไทย การเรียนรู้เรื่องตนเองโดยครูบาอาจารย์ที่ชี้ทางให้เราสามารถเป็น “สัปบุรุษ” ผู้รับรองตัวเองได้ ย่อมเปรียบเสมือนเรามีปลายวงเวียนที่ปักลงอย่างแน่วแน่ เมื่อนั้นเราก็ไม่ต้องแสวงหาการรับรองจากผู้อื่น อิสรภาพที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ ผมมองเห็นประโยชน์ขององค์ความรู้ที่ทำให้เราสัมผัสความจริงที่เกิดขึ้นกับใจของเราได้ การเรียนรู้เรื่องปรัชญาความคิดที่แหลมคมพิสดารโดยไม่นำพาไปสู่ความรู้จักตัวเอง เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ องค์ความรู้ทางจิตวิทยาและสังคมวิทยาที่อ้างอิงอยู่เพียงการทดลองทางสถิติ ในกลุ่มตัวอย่างจำนวนจำกัด ก็ยังมีประโยชน์น้อย นาสซิมบอกว่ามนุษย์เราชอบเรียนรู้ข้อมูล (facts) แต่ไม่เรียนรู้กระบวนการ (rules) ดังนั้น การเรียนรู้จึงไม่ได้วัดกันที่ตัวความรู้ว่าเรารู้อะไร แต่เราต้องเข้าไปให้ถึงความรู้นั้น สำหรับผมถือคติที่อาจารย์​ประสาท ประเทศรัตน์ กระบวนกรแห่งสภาสันติภาพโลก เคยกล่าวไว้

“ความรู้ใดก็ตามที่นำไปใช้กับตัวเองไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นความรู้”

ความรู้ตนจึงไม่ใช่รู้เพื่อนำมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา แล้วเอาไปเล่าให้ใครฟังเป็นคุ้งเป็นแคว แต่เป็นความรู้ถึงกระบวนการทำงานของจิตใจ และเข้าใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองในขณะนี้และเดี๋ยวนี้ ความรู้ด้านในที่เน้นวิเคราะห์จิตใจผู้อื่นจึงใช้ไม่ได้ และเป็นการเล่นปาหี่ทางจิตวิญญาณ นอกจากนี้ ผมยังเชื่ออีกว่าความรู้ชนิดนี้ซื้อหาด้วยเงินไม่ได้ จะได้มามีเพียงวิธีเดียวคือการเอากาย ใจ และความพากเพียรเข้าแลกเท่านั้น บางคนแย้งว่าถ้ารับรองตัวเองได้ แล้วใครจะรู้ ใครจะเชื่อถือ ผมก็จะตอบเขาว่า “ถ้าเรามีความจริงใจกับตัวเอง เราจะรู้ว่าเรามีคุณธรรมแค่ไหน รู้อยู่กับตัว ตำหนิตัวเองได้ รับการตำหนิจากผู้ที่เป็นบัณฑิตได้ และไม่ต้องการให้ใครมาเชื่อถือ”

Back to Top