จิตตปัญญา “สายโจร”



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2558

ครั้งหนึ่งที่ผมนำหนังสือ เอนหลังฟัง ไปบริจาคที่ห้องสมุดของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และยังได้สนทนากับอาจารย์หลายท่านเรื่องการฟังและที่มาของหนังสือเล่มนี้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งสอบถามว่า “ถ้าเราไม่อยากฟังจะทำอย่างไร เพราะกับบางคนเราก็ไม่อยากฟังเขาพูด”

ผมได้แต่หวังว่าคนที่อาจารย์ไม่อยากฟังไม่ใช่ผม (ฮา) เอาเข้าจริง คำถามนี้สะกิดใจผม ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าจะฟังอย่างไรจึงจะได้ประสิทธิผล แต่อาจจะอยู่ที่เรา “ไม่อยากฟัง” ตั้งแต่ต้น

จากประสบการณ์ของตัวเองที่ฝึกฝนเรื่องการฟัง ผมเริ่มฝึกฝนมาจากวงสุนทรียสนทนาที่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เช่น ต้องปล่อยให้คนในวงพูดไปอย่างน้อยสองคน จึงจะมีสิทธิ์พูดได้ หรือต้องไม่พูดแทรกระหว่างที่มีอีกคนพูด ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้เริ่มต้น แต่กลับไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

เพราะในชีวิตจริงเช่นชีวิตการทำงาน ไม่มีใครฟังใคร แรกๆ ที่ผมมาสนใจเรื่องการฟัง ผมพยายามจะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น แล้วรู้สึกเหนื่อย เพราะเรากลายเป็นผู้ควบคุมกฎ กลายเป็นคนที่รู้สึกขุ่นใจเมื่อหลายคนไม่ทำตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ผมเคยแม้กระทั่งเคาะระฆังกลางโต๊ะประชุม

มาถึงวันนี้จึงสามารถแยกแยะว่าวิชาความรู้นั้นแยกเป็นขั้นตอนได้ง่ายๆ คือขั้นตอนการ “ฝึกแบบ” และการ “ลุยหน้างาน” คนทั่วไปมักจะผิดพลาดเพราะนำ “แบบฝึกหัด” ไปใช้ “ลุยหน้างาน” ยกตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ วิชามวยไท่จี๋ฉวน หรือไทเก็ก ที่เรามักจะเห็นผู้สูงอายุรำกันอยู่ในสวนลุมพินี ที่เราเห็นนั่นคือการ “ฝึกแบบ” เพราะต้องฝึกตามแบบที่มีมาให้เสียก่อน จนกระทั่งผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองขึ้นมาจนเกิดเป็น “ผล” เมื่อเวลาใช้งานจริง ท่าทางอ่อนช้อยงดงามเหล่านั้นอาจจะไม่มีให้เห็นเลย แต่เป็นความรวดเร็วที่จบภายในหนึ่งหรือสองกระบวนท่า เหมือนกับครูมวยไทเก็ก อาจารย์วุฒินันท์ เชี่ยวพรหมกุล ของผมที่สามารถรับมือลูกเตะจากนักเทควนโดทีมชาติ จนอีกฝ่ายยอมรับนับถือ เพราะเคยเชื่อว่าไม่มีใครจะรับมือลูกเตะของเขาได้ ฝีมือของอาจารย์ก็เริ่มมาจากการ “ฝึกแบบ” ที่ผู้มาใหม่ทุกคนต้องเริ่มฝึกนั่นเอง

ปัญหาอยู่ที่บางคนเข้าใจว่า “แบบฝึกหัด” คือเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง จึงติดอยู่ที่ขั้นตอนการ “ฝึกแบบ” ไปตลอดชีวิต หลงอยู่กับการทำให้รูปแบบฝึกมีความสมบูรณ์ โดยไม่เข้าใจว่าแบบฝึกเป็นเพียงบันไดเพื่อนำไปสู่ทักษะและการบ่มเพาะความสามารถภายใน

การภาวนาก็เช่นเดียวกัน หลายคนฝึกภาวนาแต่ไปติดที่รูปแบบ เช่นการท่องพุทโธ ยุบหนอ พองหนอ หิวหนอ หรือตามลมหายใจ ฯลฯ เพราะไปเอา “แบบฝึก” มาเรียกว่าเป็นการภาวนา จึงได้แต่ “ฝึกแบบ” ไปตลอดชีวิต โดยไม่เฉลียวใจว่าครูบาอาจารย์ท่านให้ฝึกเพื่อมุ่งหมายอะไร

การฟังก็ไม่ต่างจากการภาวนา เมื่อฝึกในรูปแบบแล้ว ต้องทิ้งรูปแบบเพื่อจะนำไปใช้ “หน้างาน” หมายถึงนำไปใช้จริงให้ได้ มีเรื่องตลกตอนที่ผมฝึกเรื่องการฟังใหม่ๆ ผมชอบหลับตา เพราะคิดว่ามันจะช่วยทำให้ผมฟังได้ดีขึ้น บางครั้งผมหลับตานานๆ หลายนาทีจนผู้เข้าร่วมประชุมนึกว่าผมแอบงีบหลับไปเฝ้าพระอินทร์เสียแล้ว

กลับมาที่คำถามของอาจารย์ผู้นั้น “ถ้าไม่อยากฟังจะทำอย่างไร” ผมมาเข้าใจเรื่องนี้ตอนที่ครั้งหนึ่งแมนนี่ซึ่งเป็นอาจารย์เรื่องการฟังของผมพูดเรื่องที่ผมไม่อยากฟัง โดยที่รู้ว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวสำหรับผม แต่กระนั้น แมนนี่ก็ยังพูดไปหน้าตาเฉย ผมรู้สึกเหมือนถูก “กดปุ่ม” ก็เกิดอาการขุ่นใจ และมีพิรุธที่แสดงออกโดยการพูดมากขึ้น พูดแก้ต่างให้บุคคลที่แมนนี่กล่าวถึงในทางลบ แต่แมนนี่ก็ไม่ยอมลดราวาศอก ยังคงตอกย้ำเรื่องที่ทำให้ผมขุ่นใจอยู่ จนกระทั่งผมเกิดความรู้สึกตัวขึ้นแวบหนึ่ง เป็นแวบเดียวจริงๆ ของความรู้สึกตัว เหมือนคนที่ถูกจับกดน้ำแล้วโผล่ขึ้นมาหายใจได้ มันกระจ่างชัดว่าเราไหลไปกับเรื่องราวที่แมนนี่พูดโดยไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ว่าเรากำลังโกรธ ขุ่นใจ

แวบเดียวที่รู้ มันหลุดออกจากเรื่องราวทันที แล้วเหมือนกับใจทำหน้าที่บันทึกความทรงจำช่วงนั้นไว้ ภายหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์ “ตก” ไปในเรื่องราวแบบนี้อีก ผมจะไม่ “ตก” นานเท่าตอนที่ยังไม่รู้

ทุกวันนี้ผมไม่เคยถามแมนนี่ว่า เขาตั้งใจสอนผมเรื่องนี้ หรือแค่อยากจะพูดสนุกปากเกี่ยวกับเรื่องที่ท้าทายความเชื่อ หรือกรอบคิดของผม แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะถือว่าแมนนี่ได้ให้บทเรียน “หน้างาน” กับผมในเรื่องของการฟัง อย่างที่ผมไม่อาจจะหาได้ในคอร์สอบรม หรือห้องเรียนไหนๆ

ผมเรียกวิธีการชี้แนะของแมนนี่ว่า เป็นจิตตปัญญา “สายโจร” ซึ่งยกระดับการเรียนรู้ไปมากกว่าการเรียนรู้ในแบบแผนตรงๆ ตามเนื้อผ้า ผมว่าปัญหาของอาจารย์ท่านนั้นคือ ท่านมา “สายขนบ” หมายถึงท่านมาตามแบบแผนเป๊ะๆ ไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้จาก “สายโจร” ในจิตตปัญญา “สายขนบ” ไม่มีการสอนการรับมือสถานการณ์แบบไร้กระบวนท่า เพราะทุกอย่างถูกจัดวาง ถูกกำหนดมาล่วงหน้า งดงาม มีแบบแผน

คำถามว่า “ถ้าไม่อยากฟังจะทำอย่างไร” ถ้าเป็นจิตตปัญญา “สายขนบ” ก็อาจจะตอบว่า ก็ต้องพยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้พูด ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ต้องเห็นใจผู้พูด ต้องเมตตาเขามากๆ ต้องเจริญกรุณาธรรมเพื่อให้เข้าใจความทุกข์ยากของสรรพสัตว์

แต่ถ้าเป็นจิตตปัญญา “สายโจร” ก็คงไม่มีใครมานั่งชี้แนะแบบนั้น เพราะรู้ว่าถึงจะพูดไปให้ตาย ผู้ฟังก็ทำไม่ได้ ผมพยายามนึกว่าแมนนี่จะตอบว่าอย่างไร ผมยิ้มออกทันทีเพราะรู้ว่าแมนนี่คงตอบว่า

“ก็ใครใช้ให้มีหู!!”

2 Comments

komet กล่าวว่า...

เขียนบทความให้โจรอ่านรึเปล่า?

สรนันท์ กล่าวว่า...

ชื่อบทความน่ากลัว
แต่เนื้อหาน่าสนใจดีนะครับ

Back to Top