ประเทศไทย 5.0



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2559

ช่วงแรกที่ผมได้ยินคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” ผมก็สงสัยใคร่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะฟังดูทันสมัยเข้ากับยุคดิจิตอล เก๋ และแปลกดี ยิ่งได้ยินว่า ไทยแลนด์ 4.0 จะขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็ยิ่งสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะได้ยินมาหลายรัฐบาลว่าจะนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่ เพราะไปใช้ทุนนิยมมากกว่า

เมื่อสนใจก็ติดตามศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมว่าไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร และโดยเฉพาะการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จากการอ่านและการฟัง เบื้องต้นพอจะเข้าใจและสรุปคร่าวๆ สั้นๆ ได้ว่า ไทยแลนด์ 4.0 ก็คือ “โมเดลโครงสร้างเศรษฐกิจ” ของประเทศไทยภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า กล่าวคือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการปรับ/พัฒนาโมเดลโครงสร้างเศรษฐกิจมาสามครั้ง จากโมเดลประเทศไทย 1.0 (เน้นภาคเกษตรกรรม) เป็นโมเดลประเทศไทย 2.0 (เน้นภาคอุตสาหกรรมเบา) และในปัจจุบันเป็นโมเดลประเทศไทย 3.0 (เน้นภาคอุตสาหกรรมหนัก) ไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ที่จะปรับเปลี่ยน/ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมหรือ Value-Based Economy เพื่อที่จะได้ก้าวพ้นกับดักต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโมเดลประเทศไทย 3.0 ได้แก่ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา”

ยิ่งอ่านไป ศึกษาไป ก็ยิ่งมีคำถามเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของตรรกะ ความสมจริงของสถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ที่ไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นจริงในอนาคตอันใกล้ 3-5 ปีข้างหน้า

เบื้องต้น มีประเด็นให้พิจารณาคือ ไทยแลนด์ 4.0 หากเป็นไปตามที่ออกแบบไว้ (ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมมากกว่าเศรษฐกิจพอเพียง-เป็นความเห็นเฉพาะตัวของผู้เขียน) จะสามารถพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักเหล่านั้นได้จริงหรือ? และสมมุติว่าเราก้าวพ้นกับดักแรกไปได้จริงจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง ประเทศไทยจะก้าวพ้นกับดักอีกสองประการได้จริงหรือ? หรือประเทศไทยจะยิ่งมีความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และความไม่สมดุลในการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม? เพราะพิจารณาจากแนวคิด แนวปฏิบัติ และภาษาที่ใช้จากหลักฐานเอกสารที่ปรากฏ เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติที่สอดรับกับแนวคิดของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ในกลุ่มประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าประเทศเหล่านั้นมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และความไม่สมดุลในการพัฒนา เช่นมีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ การสื่อสาร การแพทย์และสาธารณสุข คมนาคมและการขนส่ง การเงินและการธนาคาร... แต่ด้านจิตใจ คุณธรรมและจริยธรรมกลับแย่ลง มีการเอารัดเอาเปรียบกันทุกรูปแบบ มีการทำร้ายทำลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือฝ่ายตรงกันข้ามเสมือนหนึ่งไม่ใช่มนุษย์ร่วมโลก มีการรวมกลุ่มกันเพื่อชิงความได้เปรียบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร...

ประเด็นถัดมา หากพิจารณาจากยุทธศาสตร์การพัฒนา “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก เราจะพบว่า ไทยแลนด์ 4.0 เน้นเรื่องความมั่งคั่งเป็นพิเศษ เรื่องมั่นคงยังไม่ชัด ส่วนความยั่งยืน เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดถ้ามีความมั่นคง และความมั่งคั่ง ทั้งๆ ที่หลักฐานเชิงประจักษ์ก็สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาก่อนเช่น อังกฤษ อเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น... ปัจจุบันก็มีความไม่มั่นคง และยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

สำหรับผม การพัฒนาตามแนวคิดและแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม หากไม่มีการปรับเปลี่ยน จะนำไปสู่อภิมหาวิบัติของมนุษยชาติและโลก ลองคิดดูง่ายๆ ถ้าทุกประเทศคิดและทำภายใต้แนวคิดนี้ แค่เพียงสองเรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ การเพิ่มขยายหรือ Economy of Scale และการแข่งขัน ช่วงชิงความได้เปรียบกันอย่างเต็มที่ โลกนี้จะมีความสงบสุขหรือ? โลกนี้จะมีความมั่นคง และความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้จริงหรือ?

หากปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยมีความมั่นคงที่พอเพียง มีความมั่งคั่งที่พอเพียง และมีความยั่งยืนอย่างพอเพียง แนวคิดและแนวปฏิบัติปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทยนี่แหละที่จะเป็นความหวังที่สมจริงและเป็นไปได้ เพราะเป็นทั้งแนวคิดและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสังคมไทย ค่อยๆ ร่วมกันคิด ช่วยกันทำให้ประสบความสำเร็จ แล้วเผยแพร่เป็นตัวแบบให้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โอกาสที่ประเทศไทยและโลกจะสงบสันติก็จะเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะก้าวข้ามกับดักทั้งสามประการที่เป็นผลพวงของการคิดและทำตามแนวทุนนิยมก็จะเป็นไปได้มากขึ้น

ที่สำคัญคือ ต้องมีความเชื่อความศรัทธาในแนวคิดและแนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากการศึกษาผ่านรูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้องอย่างแท้จริง เข้าถึงแก่นแกนของแนวคิดและแนวปฏิบัติ แล้วจึงมาออกแบบ วางแผนพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดและแนวปฏิบัติปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ไม่ใช่บอกว่าจะขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแต่การคิดและการปฏิบัติเป็นเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่เน้น การแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ และ “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน”

ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ขอเพียงมีคุณธรรมในหัวใจ ใฝ่หาความรู้ที่ดี มีจิตใจที่มุ่งมั่น ฟันฝ่า และทุ่มเทอย่างสร้างสรรค์ เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความพอดีพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

ประชารัฐไทยพร้อมและมีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรมมากพอหรือไม่ที่จะร่วมกันก้าวข้ามจาก ไทยแลนด์ 4.0 ไปสู่ ประเทศไทย 5.0 ที่เน้นการพัฒนาประเทศตามแนวคิดและแนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

Back to Top