ปฏิบัติการ “กล้าที่จะสอน” (๑)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2560

ในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาร่วมกับสถาบันขวัญแผ่นดิน พัฒนาหลักสูตรเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายใต้ “โครงการ จิตวิญญาณใหม่ (The New Spirit in Education)” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. โดยใช้ชื่อว่า “กล้าที่จะสอน” เพื่อสนับสนุนพื้นที่บ่มเพาะจิตวิญญาณครู ฟื้นฟูพลังชีวิตและแรงบันดาลใจ รวมทั้งปรับเปลี่ยนทัศนคติและกระบวนการเรียนรู้ที่ให้คุณค่ากับชีวิตของผู้สอนและผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน จนทำให้เกิดความเป็นครอบครัวหรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ให้คุณค่ากับความสนใจใคร่รู้ อิสรภาพในการแสวงหาความรู้ ที่ถือเอาวิชาเป็นหลัก โดยหลักสูตรทั้งหมดจะมี ๔ ครั้งด้วยกัน (ครั้งละ ๓-๔ วันในช่วง ๖ เดือน) ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานพอที่จะก่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย เคารพและไว้วางใจกันได้อย่างแท้จริง เพื่อช่วยในการสืบค้นและทำความเข้าใจในตัวผู้สอนเอง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน และกระบวนการเรียนรู้ที่จะสอดคล้องกับชีวิตและหวังว่าจะส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจ

ทั้งนี้ ทางผู้จัดได้ใช้แนวคิดของพาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) จากหนังสือ กล้าที่จะสอน (The Courage to Teach) ซึ่งถอดบทเรียนการสอนของผู้เขียนและเพื่อนร่วมวิชาชีพมากว่า ๔๐ ปี ที่ถือว่าหัวใจของการศึกษาอยู่ที่หัวใจของครูและกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นทางออกอย่างหนึ่งให้กับปัญหาระบบการศึกษาที่ตีบตันอยู่ในปัจจุบัน


หลักสูตรนี้มี ๔ ครั้ง รวม ๑๓ วัน มุ่งเป้าหมายไปที่การพักผ่อนกายใจและฟื้นฟูพลังชีวิตของครูในสถานที่ธรรมชาติ พร้อมอาหารแนวอินทรีย์ที่สะอาด เพื่อเอื้อต่อการใคร่ครวญและทบทวนประสบการณ์ชีวิต คุณค่าและเป้าหมายของตัวเอง และได้บอกเล่าแบ่งปันความรู้สึกและประสบการณ์ของชีวิตครูและการสอน นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ครูจะได้สร้างทัศนคติและพัฒนาทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและมีมิติด้านใน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในตัวเองและคนอื่น และสามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านหัวข้อเพิ่มพูนทักษะด้านต่างๆ ได้แก่ ๑. ครูผู้ตื่นรู้ในตน ๒. ครูผู้สร้างสันติ ๓. ครูนักโค้ชผู้สร้างการเติบโต ๔. ครูกระบวนกรผู้สร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง

สำหรับรุ่นแรกนี้ มีครูอาจารย์ ๑๘ ชีวิตจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันสองครั้งแล้ว ผู้เขียนในฐานะวิทยากรหลัก สังเกตเห็นผลที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

๑. จากแนวทางที่ว่า หัวใจของการสอนที่ดีคือ “เราสอนสิ่งที่เราเป็น” เราใช้ใจสอน ตัวตนของครู สิ่งที่ครูรักและให้คุณค่า มีอิทธิพลต่อห้องเรียนไม่น้อยไปกว่าความรู้ที่ครูมี ดังนั้น เนื้อหาสำคัญที่ได้พูดคุยกันคือ การสร้างความสัมพันธ์ที่เปิดเผยและปลอดภัย ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เปลี่ยนจากการควบคุมและการแสดงความเหนือกว่า มาสู่ความสัมพันธ์ที่พร้อมจะเข้าใจและเรียนรู้ชีวิตนักศึกษา ครูได้บอกเล่าถึงที่ไปที่มาของชีวิตตัวเอง รวมทั้งแรงบันดาลใจในการเลือกวิชาชีพครู และได้มีโอกาสระบายความในใจในฐานะคนทำงานสอน ที่ต้องเจออุปสรรคท้าทายจากพฤติกรรมของนักศึกษาที่ขาดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และระบบบริหารจัดการขององค์กรที่ไม่ตอบสนองหรือสนับสนุนชีวิตการสอนได้อย่างเต็มที่ ได้ให้และรับความเห็นอกเห็นใจจากกันและกัน รวมทั้งมองเห็นความเข้มแข็งและคุณค่าของสิ่งที่แต่ละคนทำ นอกจากนี้ ยังได้ค้นหา “ความเป็นคนบนเส้นทางครู” ด้วยคำถามสืบค้นลงลึกกับตัวเอง ว่าสิ่งสำคัญของการเป็นครูคืออะไร ทำไมครูยังคงปรารถนาที่จะทำหน้าที่สอน ครูได้รับประโยชน์อะไรในเส้นทางนี้ พรสวรรค์ ความถนัดในตัวเองที่เปรียบเสมือนของขวัญที่ครูแต่ละคนใช้ในการงานสอนของตนเอง

ส่วนในแง่นิสัยใจคอของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ก็ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรม “ผู้นำ ๔ ทิศ” ที่ทำให้ครูได้รู้จักลักษณะเด่นของตัวเอง และข้อจำกัดที่สามารถพัฒนาได้ รวมทั้งเข้าใจคนอื่นที่มีความแตกต่าง เพื่อการร่วมงานที่สอดคล้องกันมากขึ้น ครูยังได้อาศัยความเข้าใจนี้ในการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับนักศึกษาที่มีลักษณะต่างกันได้ด้วย

๒. ทักษะพื้นฐานที่สำคัญที่ได้ฝึกปฏิบัติจริง ได้แก่ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การสังเกตอารมณ์ความรู้สึกอย่างละเอียด การแยกแยะลักษณะนิสัยเด่นของคน การตั้งคำถามเพื่อสืบค้น การสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม การพูดให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกและความต้องการ การร้องขออย่างใส่ใจความต้องการของทุกฝ่าย

๓. ทัศนคติที่เปิดรับความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้คือ การที่ครูไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ และแสดงออกซึ่งความจริงใจและความไม่สมบูรณ์แบบได้ ไม่ต้องสร้างเกราะกำบังปกป้องตัวเองโดยอาศัยอำนาจของความรู้ หรือระดับการศึกษาที่เหนือกว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ที่ตัวเราและห้องเรียนของเรา ไม่ต้องรอคนอื่นมาบอกให้เปลี่ยน ผลการเรียนที่ดีอาจต้องเริ่มต้นจากทัศนคติที่เป็นบวกของผู้สอนที่มีต่อคนเรียน และของคนเรียนที่มีต่อวิชาที่เรียน

๔. ได้เห็นพลังของความหวังและแรงบันดาลใจหลังจากการที่ได้พัก สงบ นิ่ง แบ่งปัน ปลดปล่อยความเหนื่อยล้าภายในออกมา และเห็นความอบอุ่นที่เกิดขึ้นในกลุ่มที่เห็นอกเห็นใจกันและกัน หลังจากได้บอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวของชีวิตอย่างเปิดอก และเห็นความมั่นใจที่เกิดขึ้นจากการได้ค้นพบวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน

๕. เกิดความเป็นชุมชนและความไว้เนื้อเชื่อใจในกันและกันในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มาพบกันในช่วงที่สอง เมื่อผู้เข้าร่วมได้เปิดใจรับรู้และสนับสนุนให้เกิดการเยียวยาความรู้สึกภายในของหลายๆ คน ก็ยิ่งทำให้กลุ่มเกิดความเข้าใจและความผูกพันกันเหนียวแน่นขึ้น เหมาะแก่การร่วมกันคิดค้นและพัฒนาความรู้ในเชิงการเรียนการสอนต่อไป

๖. หลังจากที่คุณครูทั้งหลายกลับจากการสัมมนาครั้งแรก แล้วกลับมาเล่าในวันแรกของครั้งที่สอง ทำให้เห็นว่า ครูหลายคนได้นำเอาแนวคิดและการปฏิบัติไปปรับใช้ในการทำงานของตัวเอง จนทำให้เห็นพฤติกรรมของเด็กนักศึกษาที่เปลี่ยนจากการไม่สนใจ ไม่ให้ความร่วมมือ เฉย เฉื่อยชา มาเป็นสนใจ ใส่ใจมากขึ้น มีความอยากช่วยเหลือหรือมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่บรรดาครูได้รับและเข้าถึงหัวใจของการสอน ผ่านความเป็นตัวของตัวเอง ผ่านความสัมพันธ์ที่จริงแท้ จริงใจและให้อิสระที่ทรงพลังต่อนักศึกษา มากกว่าการควบคุม ตัดสิน ตรวจสอบที่มีแต่จะกระตุ้นภาวะหวาดกลัวและการปกป้องปกปิดตัวเอง นอกจากนี้ ยังได้เห็นครูหลายคนมีความตั้งใจเพิ่มการเข้าถึงและรับฟังนักศึกษาของตัวเองอย่างลึกซึ้งและเข้าอกเข้าใจมากขึ้นอีกด้วย

Back to Top