“ความดี” หลากวัย



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 เมษายน 2560

ความตั้งใจทำ “ความดี” ของคนแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร คือ คำถามที่ทีมนวัตกรรมองค์ความรู้ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำมาออกแบบแบบสอบถามเก็บข้อมูลการตั้งปณิธานทำความดีของคนในสังคมไทย เพื่อสนับสนุนโครงการ ๗๐ บุคคลต้นแบบ ๗ ล้านความดี “ทำดีตามรอยพ่อ สานต่องานที่พ่อทำ” และเพื่อนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์จัดทำเป็นรายงานสถานการณ์การตั้งใจทำความดีของคนทุกช่วงวัย ปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐

ทีมงานออกแบบประเด็นคำถามโดยเชื่อมโยงประเด็นการตั้งใจทำความดีของคนในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันเข้ากับแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔) ที่มุ่งขับเคลื่อนคุณธรรม ๔ ประเด็น คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ทีมงานตระหนักดีว่า ท่ามกลางความหลากหลายของคนในสังคม การระบุประเด็นการตั้งใจทำความดีไว้เฉพาะคุณธรรม ๔ ประเด็นข้างต้น อาจเป็นการ “สร้างกรอบ” การความตั้งใจทำความดีของคนในสังคมมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ แบบสอบถามจึงมีคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบเลือกนิยาม “ความดี” ที่ตนเองตั้งใจทำอย่างอิสระอีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากส่วนที่เลือกตอบแบบปรนัย


การเก็บข้อมูลดำเนินการใน ๒ แบบ คือ ๑. เก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม ดำเนินการมาตั้งแต่พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ในโครงการ ๗๐ บุคคลต้นแบบ ๗ ล้านความดี กิจกรรมของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เช่น งานสมัชชาคุณธรรมระดับภูมิภาค และกิจกรรมที่จัดร่วมกับภาคีเครือข่าย ๒. เก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ดำเนินการมาตั้งแต่ธันวาคม ๒๕๕๙ ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

ผลการเก็บข้อมูลถึงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐ พบว่า มีผู้ร่วมตั้งปณิธานความดี จำนวน ๓,๖๙๓ คน ในจำนวนนี้ระบุว่าเป็นเพศหญิง ๒,๕๗๖ คน (๖๖.๔%) เพศชาย ๑,๓๐๓ คน (๓๓.๖%) เมื่อจัดกลุ่มตามระดับการศึกษาพบว่า อันดับแรก ปริญญาตรี (๑,๔๗๑ คน คิดเป็น ๔๐.๓%) อันดับสอง ปริญญาโท (๘๓๕ คน คิดเป็น ๒๒.๙%) และอันดับสาม มัธยมศึกษา (๖๙๗ คน คิดเป็น ๑๙.๑%) และถ้าแบ่งตามอาชีพ อันดับแรก รับราชการ (๑,๖๕๓ คน คิดเป็น ๔๖.๗%) อันดับสอง อื่นๆ เช่น นักเรียน แม่บ้าน ข้าราชการบำนาญ (๑,๐๕๘ คน คิดเป็น ๒๙.๙%) และอันดับสาม ภาคเอกชน (๒๒๖ คน คิดเป็น ๖.๔%)

ทีมงานได้จัดการข้อมูลโดยแบ่งผู้ร่วมตั้งปณิธานตามช่วงวัย (Generation) ๔ ช่วงวัย ดังนี้

๑. Baby boomer คือ ผู้ที่เกิดปี ๒๔๘๙ – ๒๕๐๗ (อายุ ๕๓ – ๗๑ ปี) ๒. Generation X คือ ผู้ที่เกิดปี ๒๕๐๘ – ๒๕๒๒ (อายุ ๓๘ – ๕๒ ปี) ๓. Generation Y คือ ผู้ที่เกิดปี ๒๕๒๓ – ๒๕๔๐ (อายุ ๒๐ – ๓๗ ปี) และ ๔. Generation Me คือ ผู้ที่เกิดหลังปี ๒๕๔๐ (อายุ ๒๐ ปีลงมา)

ข้อมูลการตั้งปณิธานตามช่วงวัย พบว่าผู้ตั้งปณิธานมากเป็นอันดับแรก คือ Generation X อันดับสอง มี ๒ ช่วงวัย คือ Baby boomer และ Generation Me อันดับสาม คือ Generation Y คุณธรรมข้อที่ทุกช่วงวัยให้ความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ พอเพียง ตามมาด้วย วินัย จิตอาสา และสุจริต

เป็นที่น่าสังเกตว่าคุณธรรมแต่ละประเด็นนั้นมีการให้ “น้ำหนัก” ที่แตกต่างกันของคนแต่ละช่วงวัย โดย “พอเพียง” ที่คน ๓ ช่วงวัย คือ ๑. Generation Me ๒. Generation X และ ๓. Baby boomer ให้ความสำคัญ คือ การประหยัด ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า ขณะที่ Generation Y ให้ความสำคัญกับการเก็บออม ซึ่งอาจมองได้ว่าสัมพันธ์กับวิถีชีวิตที่เพิ่งก้าวสู่วัยทำงาน การเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคง จึงเป็นชุดความคิดที่สำคัญชุดหนึ่งของคนวัยนี้

“วินัย” Generation Y, Generation X และ Baby boomer ให้ความสำคัญในมิติทางเศรษฐกิจ คือ วินัยในการใช้จ่าย ขณะที่ Generation Me ให้ความสำคัญในมิติของเวลา คือ การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

“จิตอาสา” ที่ Generation Me, Generation Y และ Baby boomer ให้ความสำคัญ คือ การเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา ขณะที่ Generation X ให้ความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ข้อมูลชุดนี้สะท้อนว่าคนใน ๓ ช่วงวัย คือ Generation Me, Generation Y และ Baby boomer มองว่าจิตอาสา คือ ความตั้งใจที่จะมีประสบการณ์ตรง ขณะที่ Generation X จิตอาสาอาจเป็นการทำตามสถานการณ์ “สุจริต” Generation Me และ Generation X ให้ความสำคัญในมิติของความสัมพันธ์ทางสังคม จากการปฏิบัติตามคำพูด รักษาสัญญา ขณะที่ Generation Y และ Baby boomer เชื่อมโยงอยู่กับความเป็นพลเมืองของรัฐ และอำนาจในการบริหาร (ซึ่งมาพร้อมกับวัยที่มากขึ้น) โดย Generation Y ให้ความสำคัญกับการเสียภาษีตามหน้าที่ ขณะที่ Baby boomer ให้ความสำคัญกับการไม่เบียดบังของหลวง ไม่คอร์รัปชั่น

ในส่วนของข้อมูลเชิงคุณภาพที่มาจากการเขียนบรรยาย เพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้สองประเด็น คือ ปณิธาน และสิ่งที่ตั้งใจทำให้สำเร็จภายใน ๑ ปี จากการประมวลข้อมูลเบื้องต้น พบว่าการตั้งปณิธานความดีของผู้คนนั้น เชื่อมโยงกับตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมแต่ละช่วงวัย กรณีของ Generation Me ความดีที่อยากทำเกี่ยวข้องกับครอบครัว และโรงเรียน เช่น เคารพพ่อแม่ รับผิดชอบต่อการเรียน ส่วนวัยทำงาน ทั้ง Generation X และ Generation Y รวมทั้ง Baby boomer เกี่ยวข้องกับการทำงานตามที่รับผิดชอบให้ออกมาดีและมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาสังคม เช่น ครูที่ตั้งใจสอนหนังสือ ข้าราชการที่ทำงานในส่วนงานที่รับผิดชอบอย่างตั้งใจ พัฒนาชุมชนที่ทำงานร่วมกับชุมชนด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เกษตรกรที่เลือกทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

เป็นที่น่าสังเกตว่า การตั้งปณิธานและเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายใน ๑ ปี ของทุกช่วงวัย ขยายพรมแดนจากพื้นที่ชีวิตส่วนตัวไปสู่พื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น บริจาคโลหิต บริจาคเส้นผมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง อาสาสมัครร้องเพลงให้ผู้รอรับการรักษาที่โรงพยาบาล อาสาสมัครช่วยเหลือผู้พิการ ช่วยคัดแยกขยะในชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสา

ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการตั้งปณิธานความดีของคนในสังคมไทยที่กล่าวมานั้น เป็นภาพสะท้อนถึงความตั้งใจของคนหลากวัยที่มีต่อการทำความดี ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าทุกคนทำตามที่ตั้งใจได้ทั้งหมด แต่ข้อมูลนี้มีนัยสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มของการ “ปักหมุด” ความดีที่อยากทำในแบบฉบับของตนเอง

ถ้ามองในภาพกว้าง ข้อมูลชุดนี้ทำให้เห็นถึงการนิยาม “ความดี” ที่หลากหลายของคนแต่ละช่วงวัย ซึ่งการทำงานขับเคลื่อนให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องคุณธรรม ต้องไม่ละเลยประเด็นนี้ เพราะเรื่องของคุณธรรม ไม่สามารถนิยามแบบผูกขาดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งได้ แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้คนหลากหลายกลุ่มมาร่วมกันนิยาม การขับเคลื่อนจึงจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะมาจากความต้องการและกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในสังคม

บทความนี้เป็นการประมวลผลเบื้องต้น และยังไม่ใช่บทสรุปของรายงานสถานการณ์การตั้งใจทำความดีของคนทุกช่วงวัย ปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ การเก็บข้อมูลยังดำเนินการจนถึงกันยายน ๒๕๖๐ ผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในรายงานนี้ สามารถเข้าไปร่วมตั้งปณิธานได้ที่ http://www.moralcenter.or.th

Back to Top