ระบบการศึกษาซอมบี้



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2560

ผมนั่งอยู่ในการบรรยายของวิทยากรในค่ายเยาวชน เรื่องราวที่วิทยากรพูดเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเกษตรในอดีตและฉายภาพในเห็นอุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบันของประเทศไทย เรื่องราวดังกล่าวได้รับความสนใจจากเยาวชนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยมัธยมต้นพอสมควร แต่พอถึงช่วงถามตอบ คำถามที่น้องๆ ถามกลับเป็นคำถามที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในการบรรยายสักเท่าไร

“อาจารย์บอกว่าให้พวกผมตั้งคำถาม แต่ทำไมเวลาผมตั้งคำถามกับครูในห้อง ครูเขาไม่ยอมตอบผมครับ”

“อาจารย์คะ มันมีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างการสร้างสรรค์และการลบหลู่ แล้วเราจะสร้างสรรค์อย่างไรไม่ให้ลบหลู่”

“อาจารย์คะ การที่เราออกจากนอกกรอบแค่เพียงนิดเดียว แต่ผู้ใหญ่กลับมองว่าเราไร้สาระ ทำไมล่ะคะ?”

บรรยากาศในห้องเหมือนกับเชื้อเพลิงลุกติดไฟ การแลกเปลี่ยนสนทนาเป็นไปอย่างคึกคักมีชีวิตชีวา ยิ่งเมื่อวิทยากรแบ่งปันเรื่องเล่าซึ่งตัวเขาเองถูกกดขี่มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนักศึกษา เราจะได้ยินเสียงน้องๆ เยาวชนเปล่งเสียงฮือฮาเป็นระยะ

“ตอนนั้น ครูให้ผมวาดรูปดอกไม้ ผมก็ลงมือวาดทันที พอครูมาถึงเขาบอกว่ายังไม่ได้บอกให้วาด วาดก่อนได้อย่างไร แล้วดูสิ ครูจะให้วาดดอกไม้ห้ากลีบ ทำไมวาดเจ็ดกลีบ”

“ก็บ้านผมขายดอกไม้ ผมรู้ว่าดอกไม้เจ็ดกลีบก็มี!” อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในวิชาประวัติศาสตร์ เมื่ออาจารย์ตรวจข้อสอบให้เขาผิด เขาจึงไปทักท้วงครูผู้สอน


“ถ้าครูอยากได้คำตอบแบบนี้ ครูต้องถามแบบนี้ แต่ถ้าครูถามแบบนี้ คำตอบมันต้องเป็นแบบนี้ครับ” คุณครูฟังดังนั้นก็อึ้งไปเล็กน้อย และบอกกับเขาว่า “งั้นเรื่องนี้เธอไปสอนแทนครูก็แล้วกัน”

เขาเล่าว่า ตอนแรกเขาคิดว่าอาจารย์ประชด แต่ในความเป็นจริงอาจารย์ตั้งใจจะเปิดโอกาสให้เขาฝึกสอน ในท้ายที่สุด เขาได้ไปสอนเพื่อนตามห้องต่าง ๆ และเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับเด็กคนหนึ่ง...

ผมสนใจว่าเพราะเหตุใดการสนทนาจึงวนเวียนอยู่ในประเด็นดังกล่าว และถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง ก็ยังไม่มีทีท่าว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะหยุดยกมือถาม นับคร่าวๆ มีน้องๆ ยกมือถามเกือบสิบคน ซึ่งเป็นจำนวนที่อาจารย์ผู้สอนวิชาใด ๆ ต้องรู้สึกว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

วันต่อมา ผมมีโอกาสทำกิจกรรมเล็กน้อยแบบที่เรียกว่าเป็นการละลายพฤติกรรม แต่ผมไม่ชอบเรียกแบบนี้ ผมมักจะเรียกมันว่าเป็นกิจกรรมทำความคุ้นเคยมากกว่า เราเริ่มจากการชวนทุกคนให้ยืนเป็นวงกลม แต่ด้วยจำนวนน้องมัธยมต้นและรุ่นพี่มัธยมปลายเกือบแปดสิบคน ทำให้การยืนเป็นวงกลมยากลำบาก ในระหว่างนั้น เราจะเห็นพี่ค่ายบางคนพยายามจะช่วยเหลือโดยการตะโกนสั่ง แต่ก็ยังไม่เป็นผลอะไร พวกน้องๆ ยังทำตัวแบบซอมบี้คือ พยายามจะขยับร่างกายเพียงเล็กน้อยราวกับซอมบี้ที่ไม่มีเหยื่อให้กิน ผมจึงเปลี่ยนวิธีการจากภายนอก มาลองให้พวกเขาใช้ระบบจัดการตนเอง (autopoiesis) ที่นำเสนอโดยฮุมเบอร์โต มาตูรานา และฟรานซิสโก วาเรลา ซึ่งหมายถึงการให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อปรับตัวเองและจะเกิดรูปแบบบางอย่างขึ้นจากความไร้ระเบียบ

แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นสักเท่าไร เพราะพวกเขาเหมือนเซลล์แปลกปลอมที่ถูกจับโยนมาอยู่รวมกัน การสื่อสารระหว่างเซลล์จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อเห็นว่าทุกคนกำลังดิ้นรน ผมก็โยนตัวกวนเข้าไปให้กับระบบ โดยสอบถามน้องคนหนึ่ง น้องมองเห็นน้องคนถัดไปอีกห้าคนไหม “ไม่เห็นครับ” ทำไมไม่เห็นครับ ผมถาม น้องมีความกระอักกระอ่วนในการตอบ “เพราะมันเป็นด้านๆ ครับ” ผมไม่ได้ยินจึงร้องบอกให้พูดดังๆ น้องทำหน้าอึดอัดและตะโกนออกมาดังมากแบบผิดปกติ “เพราะมันเป็นด้านๆ ครับ” จากนั้น ก็ร้องไห้ น้ำตาไหล

อะไรบางอย่างที่ผมทำคงจะไปกระตุ้นปมความรู้สึกอะไรบางอย่างของน้อง ทำให้น้องเกิดความสะเทือนใจจนร้องไห้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผมเลือกที่จะไม่ทำอะไร และรักษาความรู้สึกของตนเองให้เป็นปกติ สักพักหนึ่ง น้องคนนี้เขาก็สามารถปรับอารมณ์และกลับมายิ้มหัวเราะกับเพื่อนๆ ได้ใหม่เมื่อกิจกรรมดำเนินไป เพราะถ้าเราให้เวลา ทุกระบบจะปรับตัวเอง

จากกิจกรรมที่ให้ขยับร่างกายและการสังเกตจากการถามตอบในค่าย เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าเด็ก (สมัยนี้) คิดวิเคราะห์ไม่เป็นอีกแล้ว เด็กคิดอะไรมากมายจากระบบการศึกษาที่ให้เขานั่งอยู่กับที่และรับข้อมูล ๖ - ๘ ชม. ต่อวัน พวกเขาจะทำอะไรได้นอกจากคิดและก็คิด แต่คิดเรื่องอะไร มีคุณภาพแค่ไหน ผมไม่รู้นะ หลักสูตรของเรายัดเยียดแต่วิชาความรู้ฐานคิด เด็กจึงต้องนั่งเป็นผักปลาวันละหลายชั่วโมง และนั่นเป็นการทำลายความสามารถในการใช้ “ฐานกาย” ของเด็กอย่างหมดสิ้น จากการทำกิจกรรมคิดท่าทางประกอบชื่อ เด็กจะเคลื่อนไหวเฉพาะส่วนแขนหรือร่างกายท่อนบน แต่ส่วนล่างของร่างกายนั้นแทบไม่ได้ขยับ ระบบการศึกษาของเราจึงผลิตซอมบี้ที่คิดเยอะ แต่ใช้ร่างกายไม่เป็น

ช่วงบ่ายวันนี้ ผมได้ทำกิจกรรมชวนน้องๆ กลุ่มนี้ทำอาหารท้องถิ่นเมืองจันทบุรี เรามีแม่ครัว ๖ คน ซึ่งเป็นคนพื้นที่มาให้ความรู้กับน้องๆ มันเป็นกิจกรรมที่สร้างความโกลาหลให้กับพวกเรามาก เพราะเราจะต้องทำอาหาร ๗ อย่างโดยเด็ก ๘๐ คน ผ่านการแนะนำของแม่ครัว ๖ คน เด็กๆ ได้ทดลองทำอาหารเมนูท้องถิ่นเช่น หมูชะมวง, ไก่ต้มระกำกระวาน, ผัดถั่วกะปิกุ้งแห้ง และผัดไทยเส้นจันท์ เป็นต้น

สิ่งที่ผมได้เห็นก็คือ เด็กส่วนใหญ่ไม่ใคร่มีทักษะในการใช้มือ (dexterity) สังเกตจากการหั่นผักง่ายๆ เช่น ผักชีฝรั่ง หรือแครอท เด็กก็ไม่รู้วิธีการจับผักเพื่อหั่น เด็กบางคนจับเหมือนกำลังจะทำการผ่าตัดสมอง แต่ปรากฏว่าแครอทยังติดกันเป็นแผง แม้แต่ท่าทางการจับตะหลิวก็ทำอย่างเก้งก้าง บ้างผัด ๆ อยู่ชิ้นไก่กระเด็นปลิวออกจากกระทะเฉย เด็กหลายคนไม่เคยเห็นต้นกระวาน และยังไม่เชื่อว่ามันสามารถนำมาเคี้ยวทานได้ หรือหลายคนก็ไม่เคยเห็นระกำมาก่อน เยาวชนเหล่านี้ถึงจะมาจากทั่วประเทศ แต่ก็เรียกว่าเป็นเด็กชั้นหัวกะทิ คือเป็นเด็กที่อยู่ตามหัวเมืองและเรียนสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะว่ากันจริงๆ ทักษะพวกนี้ถูกละเลยจากการศึกษาขั้นพื้นฐานของเรามาก ผมรู้จักกับทันตแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งทำงานมาได้ประมาณ ๔-๕ ปีแล้ว น้องท่านนี้มาบ่นให้กับผมฟังว่า ถ้ารู้ว่าการเป็นทันตแพทย์จะต้องใช้ทักษะการใช้มือมากขนาดนี้ ตอนเด็กๆ จะไปฝึกปั้น ไปฝึกเย็บผ้า ทั้งนี้เป็นเพราะการปั้นขึ้นรูปฟันเป็นงานละเอียด เพราะฟันแต่ละซี่ก็ล้วนแตกต่างกันไป ดังนั้น จึงเป็นงานแฮนด์เมดซึ่งต้องทำด้วยมือเพียงชิ้นเดียวในโลก เขายอมรับว่าตัวเองยังมีทักษะการใช้มือไม่เพียงพอ


มันน่าสนใจว่าเพราะเหตุใดเราใช้งบประมาณเกี่ยวกับการศึกษามากกว่างบประมาณกระทรวงกลาโหม แต่กลับไม่สามารถสร้างเด็กและเยาวชนที่มีทักษะให้เหมาะกับงานได้ เราไม่อาจจะพูดง่ายๆ ว่าให้เด็กของเราไปเรียนอาชีวะศึกษา เพื่อให้ทำอะไรเป็น เพราะอันที่จริงเด็กมีความสามารถที่จะเรียนรู้มากกว่าที่เราคิด เพียงแต่เรากลับไม่ฉลาดในการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดความงอกงามในตัวเยาวชนได้ บางทีเราอาจจะต้องมาทบทวนมายาคติอันหลากหลายที่อยู่ในการจัดการศึกษา เช่น เด็กเรารู้แต่ท่องจำแต่ไม่เก่งคิดวิเคราะห์ (อาจจะใช้ไม่ได้กับเด็กเรียนตามหัวเมือง), เด็กที่เรียนสายสามัญไม่มีทักษะการทำงาน (หรือไม่ควรมีทักษะการทำงาน), เด็กเก่งในการวิเคราะห์แต่ไม่มีความสามารถในการเชื่อมโยง ฯลฯ ว่ามันยังเป็นความจริงอยู่หรือเปล่า มากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน

บางทีเราต้องมาทบทวนไปจนถึงพื้นฐานว่า การศึกษาไทยถูกทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เมื่อไร? คนที่จบมาใส่ชุดครุยเป็นเทวดาตั้งแต่เมื่อไร? ความรู้ที่มหาวิทยาลัยผลิตขึ้นไม่สามารถจะโต้แย้งหรือวิจารณ์ได้จริงหรือ? ผมพบจากหน้าที่การงานในสายอาชีพว่า ยิ่งเราทำให้ศักดิ์สิทธิ์มากเท่าไร วิจารณ์ไม่ได้มากเท่าไร สถาบันนั้นก็ยิ่งผลิตผลงานที่ล้าหลังมากขึ้นเท่านั้น เพราะขาดกระบวนการทบทวนตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับเด็กที่ทำตัวเป็นซอมบี้และไม่สามารถจะจัดกลุ่มของตนเองให้ยืนเป็นวงกลมได้ ซอมบี้จะถูกผลิตจากโรงเรียนซอมบี้ โรงเรียนซอมบี้ก็ถูกผลิตจากระบบการศึกษาซอมบี้ และทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะฐานคิดแบบซอมบี้ ซึ่งต้องการผลิตซอมบี้ ไม่ใช่มนุษย์ซึ่งมีอิสรภาพ

Back to Top