จิตวิญญาณสหกรณ์ ๔: ทางเลือกที่หลากหลายสู่สังคม ๓ ส.



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 มกราคม 2561

การสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่พึงประสงค์เป็นเรื่องที่ท้าทายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันคิด ต้องช่วยกันทำ ตามศักยภาพของแต่ละสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน มีความมุ่งมั่นที่เด็ดเดี่ยว มีจิตอาสา และมีจิตสำนึกสาธารณะ คิด พูด และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขต่อส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

บนเส้นทางสู่สังคม ๓ ส. มีทางเลือกที่เป็นไปได้ และพึงประสงค์หลากหลายทางเลือก หากไม่ติดกับดักอยู่กับการตีความตัวบทกฎหมายอย่างจำกัดคับแคบจนเกินไป ก็จะไม่ตีบตันทางความคิด แต่ถ้าหากตัวบทกฎหมายที่มีอยู่นอกจากจะไม่เอื้อให้สหกรณ์สามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของสังคมที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก็จำเป็นต้องมีการผลักดันให้มีการปรับแก้หรือออกกฎหมายใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการในการดำเนินงานของสหกรณ์ไปในลักษณะใดๆ ก็ตามเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทที่แปรเปลี่ยนไป ฐานของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดยังคงต้องตั้งมั่นอยู่บนและโอบอุ้มไว้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณสหกรณ์

ปัจจุบันเรามี smart phones, smart farmers, digital economy, digital 4.0, ตลาดหลักทรัพย์ ระบบการทำงาน การให้บริการ และโดยเฉพาะการลงทุนของสหกรณ์ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์อย่างรู้เท่าทัน อย่างมีสติ และใช้ปัญญาในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น กรรมการดำเนินการ พนักงานของสหกรณ์แต่ละแห่ง แต่ละประเภท และแต่ละขนาด จำเป็นต้องมีความตื่นตัว เรียนรู้ พัฒนาตนเองและงานที่รับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา หน่วยเหนือที่กำกับดูแลสหกรณ์ ยิ่งจำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง กฎ กติกา ต่างๆ ที่ออกมาจำเป็นต้องอยู่ในลักษณะของการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ การกำกับดูแลก็จะไปในทิศทางเดียวกัน และควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีปัญหาหรือเนื้อร้ายสหกรณ์ต้องรีบเข้าไปจัดการอย่าปล่อยให้ลุกลามใหญ่โตเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อ “ตามแก้ปัญหา” มากกว่าที่จะทุ่มเทไปที่การ “ส่งเสริม” และโดยเฉพาะการ “ร่วมสร้างความสำเร็จ” ให้กับวงการสหกรณ์

ตัวอย่างหนึ่งของทางเลือกการลงทุนที่สหกรณ์ต้องปรับตัว ภายใต้การเอื้ออำนวยของหน่วยเหนือที่เกี่ยวข้องต่อสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนไป ได้แก่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สหกรณ์โดยเฉพาะสหกรณ์ที่มีความพร้อม น่าจะสามารถเลือกลงทุนในรูปแบบและช่องทางการเงินและการลงทุนที่หลากหลายได้เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หากพิจารณาความมั่นคงของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก ก็น่าจะผ่อนคลายให้สหกรณ์สามารถลงทุนใน SET 50 ได้โดยอาจมีการกำหนดกติกาการลงทุนในหุ้นเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงสูง แต่มีเป้าหมายเพื่อการลงทุนเป็นหลัก โดยคำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดของสหกรณ์และสมาชิกที่จะได้รับ

การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดที่สหกรณ์และสมาชิกจะได้รับ น่าจะเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้

หรือหากเกรงว่า จะหาเหตุผลที่หนักแน่นได้ลำบากสำหรับ SET 501 ก็น่าจะผ่อนคลายให้ลงทุนในหุ้นยั่งยืนได้ เพราะมีมาตรฐานระดับโลกให้การรับรอง แม้หุ้นยั่งยืนในประเทศไทยจะยังมีไม่มาก เพราะมาตรฐานค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาอย่างเข้มข้นในสามด้านหลักได้แก่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) บรรษัทภิบาล (Governance) หรือที่คนในวงการเรียกย่อๆว่า ESG

หุ้นยั่งยืนเป็นหุ้นของบริษัทที่มี ESG ผ่านมาตรฐานระดับโลก และน่าจะสอดคล้องกับอุดมการณ์ของสหกรณ์ที่ต้องการสร้างสรรค์สังคมสันติสุข และเป็นไปตามหลักการสหกรณ์ข้อที่ ๗ (มีความเอื้ออาทรต่อชุมชน) และข้อ ๒ (มีการควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย)

คนในวงการสหกรณ์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างจริงจัง หากต้องการให้สหกรณ์มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน เพราะสหกรณ์โดยแนวคิดและแนวปฏิบัติ เท่าที่ผมศึกษาและมีประสบการณ์ตรงในการทำงานในฐานะประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัด เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ และพึงประสงค์สำหรับการสร้างสรรค์สังคมสันติสุขตามอุดมการณ์ของสหกรณ์

อยากให้คนในวงการสหกรณ์มีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาทำงานให้กับสหกรณ์ และที่สำคัญคือการมีโอกาสได้เข้ามาช่วยกันสร้างความสำเร็จให้กับสหกรณ์ของตนและเครือข่ายสหกรณ์ตามอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์



1 ดัชนีราคาหุ้นที่ใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 ตัวที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูง การซื้อขายมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

Back to Top