วีรบุรุษ

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2547

เดวิด โบห์ม ศาสตราจารย์ฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้ที่อธิบายเรื่องควันตัมฟิสิกส์ให้ไอน์สไตน์เข้าใจได้ เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “ถ้าหากเราต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคลที่ฉาบฉวย หรือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนั้น มิอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างจริงจังได้ หากจะต้องเปลี่ยนจิตสำนึกเลยทีเดียว”

ทุกวันนี้การจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มักจะรอ วีรบุรุษหรือวีรสตรี มาเปลี่ยนให้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ ฉาบฉวย เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกเท่านั้น แต่เมื่อใดที่เราหมดศรัทธาในตัวท่านเหล่านั้น ทุกอย่างก็จะกลับมาสู่จุดเดิมอีกครั้ง และรอ วีรบุรุษหรือวีรสตรี คนใหม่มาเปลี่ยนให้อยู่เช่นนั้นเอง

วีรบุรุษ หรือ ฮีโร่ (Hero) เป็นคำที่เรามักจะนึกถึงบุคคลที่ ดีและเก่ง สามารถก่อการใดการหนึ่งแทนคนอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ ดี บุคคลผู้นี้เป็นคนที่มีความสามารถเหนือคนอื่น และเป็นผู้ที่เติมเต็มในสิ่งที่สังคมขาดหายไป ในเหตุวิกฤตใด ๆ เรามักจะรีรอให้มีวีรบุรุษเข้ามากู้สถานการณ์ และบางครั้งเหตุการณ์ก็สร้างวีรบุรุษขึ้นมา ซึ่งเราจะเห็นได้จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรบุรุษมากมายนับไม่ถ้วนบนโลกนี้ แม้ว่าอาจจะมีทั้งวีรบุรุษแท้และวีรบุรุษเทียมก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นไร เราเองก็รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องเล่าเหล่านั้น และไม่มีความจำเป็นต้องทำลายความภาคภูมิใจของใคร ถึงกระนั้นก็ตาม เราน่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น เพราะถ้าตีประเด็นนี้ได้แตก ย่อมจะทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังและถาวร

สองประเด็นหลัก ๆ ที่น่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็คือ ทัศนะของสังคมที่มีต่อคำว่าวีรบุรุษ และบทบาทของวีรบุรุษในอุดมคติ ในประเด็นแรกนั้น หากเรามองอย่างเมตตา วีรบุรุษในสังคมไทยนั้นเป็นบุคคลที่น่าสงสารมาโดยตลอดตามประวัติศาสตร์ เพราะได้รับการคาดหวังจากสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ เรายังไม่ยอมรับความจริงที่ว่า คนคนหนึ่งมีได้ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ดังนั้นวีรบุรุษย่อมมีจุดด้อยได้เช่นกัน แต่เราให้คุณค่ากับคำว่า ดีและเก่ง มากเกินไปจนลืมเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เมื่อเราเห็นความผิดพลาดของวีรบุรุษ เราก็พยายามที่จะลืมมันและลบเลือนออกจากบันทึกประวัติศาสตร์ หรือไม่เราก็จะผิดหวังอย่างมากและมองหาวีรบุรุษคนใหม่อยู่ร่ำไป อันที่จริงเราน่าจะพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และเรียนรู้เพิ่มเติมได้ว่า คนทุกคนสามารถเป็นวีรบุรุษได้ทั้งสิ้น อาจจะเป็นวีรบุรุษเฉพาะด้านก็ได้ นอกจากนั้น เราควรเพิ่มจำนวนวีรบุรุษในสังคมไทยให้มากขึ้นด้วย

ประเด็นที่สองที่ตามมาก็คือ บทบาทของวีรบุรุษในอุดมคติ หรือ อาการติดดีของวีรบุรุษ ครั้งหนึ่งเราเคยฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรบุรุษฉบับไม่มีที่ติ ทำให้เราอยากจะเป็นวีรบุรุษกับเขาบ้าง จึงตั้งเป็น ต้นแบบ หรือ Role Model ส่วนตัว ที่จะดำเนินรอยตาม แต่กลับหลงลืมข้อธรรมะไปข้อหนึ่งว่า การประจักษ์แจ้งนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตน ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวเสมอว่า “การประจักษ์แจ้งไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์หรือระบบความคิด แต่เป็นเรื่องประสบการณ์ตรง และเป็นเรื่องเฉพาะตน” นอกจากนั้น เรื่องเล่าเกี่ยวกับฮีโร่เหล่านั้นยังไม่สมบูรณ์อย่างแท้จริง เพราะวีรบุรุษอาจจะไม่ได้ดีและเก่งทุกเรื่อง ซึ่งไม่ต่างจากคนทั่วไปที่มีความผิดพลาดได้ บางทีเราอาจจะเผลอเจริญรอยตามบนอุดมคติ “สมบูรณ์แบบ” และมีค่านิยมในเรื่องความดีความเก่งมากจนเกินไป วันหนึ่งที่ได้ก้าวไปเป็นวีรบุรุษในเหตุการณ์ใดก็ตาม จึงไม่ยอมปล่อยวาง กลับกลายเป็นว่า เราเท่านั้นที่แก้ปัญหาได้ และเกิดอาการติดดี ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ยอมรับจุดด้อยหรือความผิดพลาดของตนเอง ไม่อยากได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งไม่ยอมรับจุดด้อยของคนอื่น เหตุนี้เองที่จะทำให้เกิดความแตกแยก อยู่ด้วยกันอย่างหวาดระแวง โดยเฉพาะคนที่โดนตีตราว่า ไม่เก่ง ก็ไม่มีพื้นที่จะยืน หากปัจเจกในสังคมไทยยังเจ็บป่วยเพราะตีประเด็นเรื่องวีรบุรุษไม่แตกฉันใด นับวันสังคมไทยก็คงจะยิ่งเจ็บป่วยมากขึ้นเท่านั้น

อาการเหล่านี้ขัดกับหลักธรรมชาติโดยสิ้นเชิง หรือแม้กระทั่งในทางวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ไม่รังเกียจต่อ ความผิดพลาด (Error) ที่เกิดขึ้น แต่ถือว่าความผิดพลาดนั้นเป็นครู ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เราเข้าใจและสามารถควบคุมหรือลดทอนให้น้อยลงไปได้ในที่สุด หากตั้งสมมติฐานแล้วผลการทดลองเป็นไปตามนั้น เราคงไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ แต่ถ้าเราสามารถหักล้างสมมติฐานของเราได้ เราย่อมจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แน่นอน ท่านติช นัท ฮันห์ เคยกล่าวต่อลูกศิษย์ในเช้าวันหนึ่งว่า “ถ้าฉันพูดอะไรขึ้นมาซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในใจเธอ เธอก็จะพยักหน้าเห็นด้วย แต่ถ้าฉันพูดอะไรที่ไม่เคยอยู่ในใจเธอมาก่อน เธอก็จะนิ่งเงียบและไม่เห็นด้วย ทั้งสองประการ เธอไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่เลย” ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง มองอย่างเมตตา ไม่มีอคติต่อถูกหรือผิด ดีหรือเลว เก่งหรือไม่เก่ง เราคงจะเรียนรู้อะไรได้อีกมากมาย

ศาสตราจารย์ ประเวศ วะสี ท่านมักจะบอกกับบรรดาครูอาจารย์อยู่เสมอว่า “เราต้องให้พื้นที่กับคนทุกคน” ทั้งคนเก่งและคนไม่เก่ง ดีและไม่ดี ฮีโร่และไม่ฮีโร่ เพราะล้วนแล้วแต่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม หากมัวแต่รอคนดีคนเก่งที่สมบูรณ์แบบมาเปลี่ยนแปลงสังคม ก็คงไม่ไปไหน เพราะไม่รู้จะเอาไม้บรรทัดที่ไหนมาวัดเสกลเหล่านี้ได้ชัดเจน หรือไม่ก็น่าจะมองว่าทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้เช่นกัน เป็นคนเก่งในเรื่องที่เขาถนัด ถ้าต่างฝ่ายต่างช่วยกันในเรื่องที่ตนถนัดแล้ว ย่อมจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ทันที คงทนและถาวร

สุดท้ายความเป็นวีรบุรุษอยู่ในตัวคนทุกคน เราควรช่วยกันเปลี่ยนฮีโร่แบบอีโก้ มาเป็นฮีโร่ภายใต้จิตสำนึกใหม่ ด้วยการมองธรรมชาติของการอิงอาศัยกัน ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ปลดเปลื้องพันธนาการของวีรบุรุษในรูปแบบเดิม ๆ ดังคำของกฤษณมูรติที่กล่าวว่า “บุคคลต้องเดินทางโดยปลดแอกออกจากบ่า เดินอย่างสง่า ไม่รีบร้อน ไม่แวะตามศาลเจ้าหรือตามอาศรมใด ๆ ไม่ติดคุยกับดาวสังคม หรือวีรบุรุษคนใด แต่เดินไปตามลำพัง อย่างสง่างาม และด้วยความเมตตา”

Back to Top