ว่าด้วยเรื่องการแข่งขัน

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 17 กรกฎาคม 2547

หน้าที่อย่างหนึ่งที่ผมชอบทำในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และถือว่าเป็นงานหลักงานหนึ่งของโครงการจิตวิวัฒน์ด้วย ก็คือการมานั่งไล่เรียงดูว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่คิดค้นกันขึ้นมานั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง เรื่องหนึ่งที่เป็น “วิทยาศาสตร์” อย่างยิ่งและได้ฝังตัวลึกอยู่ในกระแสของสังคมมาเป็นเวลายาวนาน อย่างน้อยก็ร่วมหนึ่งร้อยห้าสิบปี และคนส่วนใหญ่ทั้งที่เรียนหรือไม่ได้เรียนสายวิทยาศาสตร์ต่างก็มีความเข้าใจที่ผมคิดว่า “อาจจะคลาดเคลื่อน” ไปบ้าง ก็คือความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “การคัดพันธุ์ทางธรรมชาติ - Natural Selection” ในทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ที่เข้าใจกันไปว่า “สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่าจะสามารถอยู่รอดเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป - Survival of the Fittest”

ความจริงผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว เป็นบทความที่ลงรายละเอียดค่อนข้างยาว แต่ยังเขียนไม่จบ ไม่ลงตัวดีนัก และยังไม่ได้เผยแพร่ อย่างเหลือเชื่อที่ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ นั้น ผมได้ยินท่าน อ.เอกวิทย์ ณ ถลาง ได้พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ทำให้ผมแปลกใจและดีใจสองประการคือ ทำไม อ.เอกวิทย์ ถึงสนใจเรื่องที่ตรงกับผม ความจริงผมจะพบปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยๆ ในวงจิตวิวัฒน์ และทำไม อ.เอกวิทย์ ที่ตามความเข้าใจของผมในเบื้องต้น ไม่น่าจะสนใจภาษาที่เป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ แต่กลับเข้าใจทฤษฎีทางชีววิทยาได้อย่างลึกซึ้ง สามารถหลอมรวมเข้ากับความเป็นตัวของ อ.เอกวิทย์ เองได้อย่างน่าทึ่ง

ผมคงจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดว่า ชาร์ล ดาร์วิน พูดอย่างนั้นจริงๆ หรือว่าจะเป็นเพียง “ความเข้าใจผิด” ของบรรดาสาวกที่นำมาแปลความหมายเป็นแบบนี้ ผมเห็นด้วยกับท่าน อ.หมอประสาน ต่างใจ ที่เคยบอกไว้ว่า ถึงอย่างไร ชาร์ล ดาร์วิน ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะอย่างน้อยเขาก็ไม่ได้ทัดทานหรือโต้แย้งเมื่อมีคนนำความคิดนี้ไปเผยแพร่ และเกิดการตีความที่ “อาจจะ” ไม่ถูกต้องนักก็ตาม คำว่า “ดาร์วินต้องรับผิดชอบ” นี้ ต้องขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านว่า ผมไม่ได้หมายความที่จะไป “ตำหนิหรือกล่าวโทษ” ดาร์วินนะครับ เหมือนกับที่ผมเขียนถึงนิวตันเสมอๆ ว่า ทั้งนิวตันและดาร์วินต่างก็มีคุณอนันต์ต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพราะเป็น “ฐาน” ให้เกิด “ความก้าวหน้า” อย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีนิวตัน ทั้งไอน์สไตน์, นีลบอร์, ไฮเซนเบิร์ก และคนอื่นๆ ก็อาจจะไม่สามารถ “คิดต่อ” เป็นฟิสิกส์แบบใหม่ได้ ถ้าไม่มีดาร์วิน เราก็อาจจะไม่สามารถคิดต่อเป็นทฤษฎีทางชีววิทยาแบบใหม่ที่ “น่าจะนำมาใช้ได้แล้ว” ในปัจจุบันเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคสังคมจากแนวคิด “ที่อาจจะเข้าใจผิด” เกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ก็คือ ทำให้ “สังคมปัจจุบันยอมรับการแข่งขันว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง” มีการสร้างกติกาเพื่อการแข่งขันต่างๆ มากมาย ทั้งยังสนับสนุนให้ผู้คนแข่งขันกัน ซึ่งปัญหานี้ผมคิดว่ามีสองประการคือ
หนึ่ง เราต้องเข้าใจก่อนว่า ในช่วงที่ ชาร์ล ดาร์วิน คิดทฤษฎีวิวัฒนาการและตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. ๑๘๕๙ นั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดแบบฟิสิกส์เก่าของนิวตัน ซึ่งมีฐานคิดที่แยกส่วนเป็นกลไก มองไม่เห็นความเชื่อมโยง ยังเรืองอำนาจอยู่อย่างเต็มที่ ดังนั้นฐานคิดเรื่องการแข่งขันที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นการแข่งขันที่แยกส่วน เป็นกลไกด้วยเช่นกัน หมายความว่า ความคิดเกี่ยวกับการแข่งขันแบบนั้นนำไปสู่ “ความเป็นฝักฝ่าย” และ “ความเป็นสองฝ่ายที่ต้องต่อสู้กัน” ต้องมีฝ่ายชนะกับฝ่ายแพ้ ต้องมีฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว ถ้าไม่ใช่พวกฉันก็เป็นศัตรูของฉัน แบบนี้เป็นต้น มองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่าง “ฉัน” กับ “สิ่งที่ไม่ใช่ฉัน” ด้วยแนวคิดหลักที่เป็นแบบนี้ จึงทำให้การแข่งขันเป็นเรื่องชอบธรรมที่จะต้องเกิดขึ้น เหล่านี้เป็นแนวคิดที่มาจากฐานคิดของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าเมื่อหลายร้อยปีก่อนแล้ว

สอง ในตัวคำว่า “การคัดพันธุ์ตามธรรมชาติ - Natural Selection” ของ ชาร์ล ดาร์วิน เอง ก็ไม่ได้เขียนชัดนะครับว่าหมายถึงแต่เฉพาะ “การอยู่รอดของผู้แข็งแรง” แต่เป็นเพียงการตีความเท่านั้น และเมื่อเราลองมามองอย่างจริงๆ ในเรื่องของการคัดพันธุ์ตามธรรมชาติ ดาร์วินบอกว่า ในระบบนิเวศที่ดำรงอยู่นั้น ธรรมชาติจะสร้างความหลากหลาย (natural variation) เพื่อให้เกิดการคัดพันธุ์ทางธรรมชาติ และสามารถถ่ายทอดส่งผ่านไปได้ กลายเป็นวิวัฒนาการ ในตอนนั้น ดาร์วินยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถ่ายทอดผ่านอะไร คำว่า ยีนส์หรือสารพันธุกรรม มีการคิดขึ้นมาในภายหลัง โดยผู้ที่พูดถึง “ยีนส์” เป็นคนแรกๆ ก็คือ เกรเกอร์ เมนเดล บาทหลวงชาวออสเตรีย ที่ทำการทดลองเกี่ยวกับลักษณะเด่นลักษณะด้อยของถั่วในบริเวณวัด ตามที่เราได้เรียนมาในหนังสือชีววิทยานั่นเอง

สองจุดหนึ่ง ในระบบนิเวศที่ดาร์วินมองนั้น เราจะเห็นได้ว่าจะต้องมีสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย ถ้าเราจะ “ให้ความหมาย” ก็คือจะมีผู้แข็งแรง มีผู้อ่อนแอ มีผู้ล่า ผู้ถูกล่า ซึ่งตรงนี้ก็คงเป็นความจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้อ่อนแอจะไม่มีความสำคัญ ถ้าเราลองใช้วิธีคิดแบบเชื่อมโยง ไม่แยกส่วนตามที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี พูดถึงเสมอๆ มาจับ เราจะเห็นได้เลยว่า เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกล่าจะไม่มีความสำคัญ ผู้อ่อนแอหรือผู้ถูกล่านั้นล้วนแต่เป็น “สมาชิก” ที่มีความสำคัญในระบบ จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้

สองจุดสอง อลิซาเบท ซาตอริส (Elisabet Sahtoris) นักชีววิทยาคนสำคัญ เขียนไว้ในหนังสือ Earth Dance ของเธออย่างชัดเจนเลยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นมีหลายความสัมพันธ์ เช่นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน - Symbiosis การเจรจาระหว่างกัน การทำความเข้าใจกัน การแข่งขันเป็นเพียงส่วนหนึ่งส่วนเดียวของระบบเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดอย่างที่พวกเราอาจจะเข้าใจกันในปัจจุบันนี้

ปัญหาเรื่องความเครียดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมี “ความเข้าใจผิด” เกี่ยวกับเรื่อง “การแข่งขัน” นี้เอง ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่ในทางชีววิทยาบอกชัดเจนว่า สิ่งมีชีวิตไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันเท่านั้น แต่ต่างต้องมีการพึ่งพิงพึ่งอาศัยกันและกันอย่างเชื่อมโยง และแบ่งแยกไม่ได้ การทำลายหรือการสูญไปของสิ่งมีชีวิตหนึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เหลืออยู่เหมือนกับคลื่นที่เกิดในอ่างน้ำย่อมกระทบถึงกันหมด กล่าวคือในระบบใหญ่ทั้งระบบนั้น ธรรมชาติจะต้องมี “การเกิดสิ่งใหม่ๆ” ขึ้นเสมอ เพื่อการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งในกรณีนี้เราเรียกว่า “วิวัฒนาการ” การปรากฏขึ้นของสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนแอกว่าเป็นเรื่องปกติของระบบทั้งหมดในภาพรวม เพราะเป็นการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งธรรมชาติก็ได้ลองผิดลองถูกเช่นกัน ธรรมชาติไม่รู้หรอกว่าการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมแล้วเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นใหม่นี้จะถูกมนุษย์ไปตราเอาเองว่า “เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ” และจริงๆ แล้ว สิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอกว่าที่เกิดขึ้นนี้ ก็มีความสำคัญด้วยตัวของมันเอง และแม้กระทั่งมีสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่าด้วย

ผมคิดว่าถ้าพวกเราในสังคมให้ความสำคัญกับ “วิทยาศาสตร์” กันจริงๆ แบบ “ไม่หน้ามืดตามัว” การให้ความสำคัญกับเรื่อง “การแข่งขัน” แบบที่เป็นอยู่ นอกจากจะเป็น “ความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง” ต่อวิทยาศาสตร์แล้ว ผมยังรู้สึกว่าเป็น “การดูถูกดูหมิ่นดูแคลนและเหยียบย่ำ” วิทยาศาสตร์อย่างเลวร้ายอีกด้วย

Back to Top