ความขัดแย้งและสงคราม กับ ความรักและสันติภาพ

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2547

ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ หรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ...

สงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามความคิด สงครามความเชื่อ สงครามความรัก สงคราม (ที่อ้าง) สันติภาพ ...

ทั้งหมด ถ้าพิจารณาให้ดีจะมีตัวร่วมที่สำคัญอย่างน้อยอยู่หนึ่งอย่างคือ ความไม่รู้หรือการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นองค์รวมของธรรมชาติของสรรพสิ่ง

การขาดสติและปัญญาที่จะมองเห็นและเข้าใจความเป็นของกันและกัน และความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง ทำให้มนุษย์บางคนบางกลุ่ม มองโลก มองพืช มองสัตว์ มองคนอื่น ในลักษณะที่แบ่งแยก แปลกแยก ไม่เกี่ยวกัน นำไปสู่การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบ เกิดความขัดแย้ง การทำลายล้าง เกิดสงคราม … และมีการสร้างค่านิยมใหม่ๆ เพื่อทำให้การกระทำที่ไม่ถูกไม่ดีของตนเองเป็นที่ยอมรับได้ เช่นการทำลายล้างหรือขจัดศัตรูประชาธิปไตยด้วยการเข้าไปรุกล้ำอธิปไตยของประเทศอื่นเป็นสิ่งถูกต้อง แถมยังสร้างแรงกดดันว่าใครไม่อยู่ข้างตนเองก็เป็นฝ่ายตรงข้าม ทุกคน ทุกประเทศต้องเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

เราได้เห็นพฤติการณ์และปรากฏการณ์ทำนองนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น

ในทางเศรษฐกิจ ประเทศที่ได้เปรียบ รู้ว่าได้เปรียบและต้องการได้เปรียบ พยายามโน้มน้าวประเทศที่เสียเปรียบผ่านกระบวนการศึกษา สื่อสารมวลชน รวมทั้งบีบบังคับและสร้างแรงกดดันผ่านองค์กรระหว่างประเทศ ผ่านเงื่อนไขความช่วยเหลือระหว่างประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ การทหารและการศึกษา
ตัวอย่างเช่นการสร้างแรงกดดันให้มีการทำความตกลงเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) แต่ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการในประเทศที่จะสกัดกั้นสินค้าและบริการจากประเทศที่เสียเปรียบด้วยข้ออ้าง “คุณภาพ” “มาตรฐาน” “สิทธิมนุษยชน” และอื่นๆ โดยไม่มีคุณธรรมและความยุติธรรมในหัวใจ

ถ้าเชื่อเรื่องการค้าเสรี ถ้าเชื่อเรื่องกลไกตลาด ถ้าเชื่อเรื่องการแข่งขันเสรี ทำไมต้องบังคับให้มีข้อตกลง ทำไมต้องมีเงื่อนไข ถ้ามีข้อบังคับ มีเงื่อนไขก็ไม่มีเสรีจริง โดยเฉพาะเงื่อนไขที่สรรหามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ถ้าเสรีจริง ทำไมต้องมีลิขสิทธิ์โดยเฉพาะความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับมนุษยชาติโดยส่วนรวม เช่น ยารักษาโรค หรือ “เสรี” “คุณภาพ” “มาตรฐาน” เป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าผลประโยชน์และความเห็นแก่ตัวที่อยู่เบื้องหลัง

ในทางการเมืองการปกครอง ก็มีความพยายามที่จะทำให้ประเทศอื่นที่มีระบบการปกครองและการเมืองที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามให้เปลี่ยนมาปกครองและมีระบบการเมืองแบบเดียวกันที่เรียกว่า
“ประชาธิปไตย” แบบตะวันตก โดยไม่คำนึงถึงและไม่ยอมรับความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศอื่น วัฒนธรรมอื่นที่แตกต่างและหลากหลาย เมื่อเขาไม่ยอมคล้อยตาม ก็เข้าไป “จัดการ” ให้เปลี่ยนแปลงทั้ง
ทางตรงและทางอ้อมด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ และ/หรือทางการทหาร

ในประเทศเราเองก็มีการแบ่งแยก แบ่งพรรค แบ่งพวก เป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน มีมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ มีการซื้อเสียง ขายตัว ซื้อ ส.ส. ผนวกพรรคการเมือง เพื่อต่อรองผลประโยชน์ เพื่อชัยชนะทางการเมือง เพื่อแยกฝ่ายเขาออกไปจากฝ่ายเรา ฝ่ายก้าวหน้าออกจากฝ่ายไดโนเสาร์ คนรุ่นใหม่ออกจากคนรุ่นเก่า NGOและนักวิชาการที่มีความเห็นแตกต่างออกจากความเป็นพวกเดียวกัน

ในทางเกษตรกรรมและในทางการแพทย์ ก็พยายามจะให้มีการยอมรับพืชและสัตว์ตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) พยายามจะคัดเลือกและตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ ไปจนถึงการโคลนนิ่ง (Cloning)
โดยอาศัยความรู้ เทคโนโลยีที่พัฒนามาจากพื้นฐานความรู้และทัศนคติของวิทยาศาสตร์แบบเก่าที่เน้นการแบ่งแยก ลดทอน (Reductionist) มากกว่าองค์รวม ...

ความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาจากการมองโลกแบบแยกส่วน แบ่งพวก แบ่งเผ่า แบ่งพันธุ์ แบ่งสี แบ่งสถาบัน แบ่งดิน แบ่งน้ำ แบ่งลม แบ่งฟ้า ... เพื่อแข่งขัน เพื่อแย่งพวก แย่งเผ่า แย่งพันธุ์ (พืชและสัตว์ แล้วเอาไปจดลิขสิทธิ์) แย่งสถาบัน แย่งองค์กร (ที่จะเข้าไปครอบครอง) แย่งดิน (บุกรุกทำลายป่า โกงที่ดินสาธารณะ) แย่งน้ำ (กักตุนน้ำ ทำลายน้ำ ...) แย่งลม แย่งฟ้า ...

เพื่อให้การแย่งเป็นระบบ ดูดี มีคุณภาพและเข้มข้นขึ้น มนุษย์ก็พัฒนาระบบจอมปลอมที่ไม่เป็นธรรมชาติขึ้นมาใช้และยึดเป็นสรณะ เช่น ISO, GMO, FTA, … และที่สำคัญคือระบบเงินตราที่ทำให้มนุษย์ติดกับ หลงใหลและฟุ้งเฟ้อไปในสังคมเงินตราอย่างขาดสติ ใช้แต่ความรู้ที่ขาดปัญญาเพียงเพื่อจะเปลี่ยนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การศึกษาและวัฒนธรรม ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้กลายเป็นเงินตรา เป็นดอลล่าร์ เป็นบาท เป็นเยน เป็นปอนด์ …

ตลาดหุ้น ตลาดซื้อขายล่วงหน้า การประกันความเสี่ยงก็ล้วนเป็นตัวอย่างของสังคมเงินตรา ผนวกกับข้ออ้างมาตรฐานโลก การค้าเสรี และระบบอื่นๆ ที่คิดขึ้นเพื่อความได้เปรียบ ความเป็นหนึ่งเหนือผู้อื่น
เหนือประเทศอื่น โดยลืมคิดไปว่า การคิดและการปฏิบัติดังกล่าวเป็นการทำลายความเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นหนึ่ง ความเป็นเฉพาะของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคน ชุมชน ประเทศ มด ผีเสื้อ ข้าว ดวงจันทร์ โลก ...

ถ้าความขัดแย้งและสงคราม มาจากและนำไปสู่การแบ่งแยก แก่งแย่ง และล้มล้างระหว่างกัน
ความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ก็มาจากและนำไปสู่สันติภาพทั้งภายในตนเองและกับสรรพสิ่ง

การจะมีความรักความเมตตา แล้วให้ความรักความเมตตาแก่ตนเองและสรรพสิ่งได้ เราต้องมีปัญญา เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปหมด ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดแยกออกมาโดดๆ ทุกสิ่งประกอบไปด้วยสิ่งอื่น ไหลเลื่อนเคลื่อนไป คลี่คลาย ขยายออก ผนวกรวมของเดิมผสมกับสิ่งใหม่กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นส่วนย่อยของส่วนที่ใหญ่กว่าไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ความคิดที่ถูก ความคิดที่ดี จะนำไปสู่การกระทำที่ถูก การกระทำที่ดี มีการยอมรับและเคารพความแตกต่าง ความหลากหลาย

นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่จำนวนมากยืนยันว่า ความหลากหลาย (ไม่ใช่ความเป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว) จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ความหลากหลายไม่ใช่การแบ่งแยก ความแตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก ผู้บริหารมืออาชีพต้องสามารถสร้างความเป็นหนึ่งจากความหลากหลาย (Unity Through Diversity) มองสรรพสิ่งแบบองค์รวม ไม่ใช่แค่บูรณาการ (Integrated) หรือกองรวม (Heap) เพราะการมองแบบองค์รวมเป็นการมองสรรพสิ่งประดุจดังสิ่งมีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลง มีความสัมพันธ์ มีการพัฒนา ไม่ใช่วัตถุหรือมาตรฐานที่คงที่

อยากให้ผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร นักการเมือง นักธุรกิจ NGO ทุกคน ทุกอาชีพ มีสันติภาพเป็นวิสัยทัศน์ (Vision) มีความรักความเมตตาเป็นยุทธศาสตร์ (Strategy) มีจิตสาธารณะและจิตอาสาเป็นกลยุทธ (Tactic) แล้วมาช่วยกันทำแผนปฏิบัติการ (Action Plans) ที่หลากหลาย เพื่อสร้างอนาคตที่มีศานติสุข ทั้งของตนเอง สังคม ประเทศ และสรรพสิ่ง

Back to Top