สันติภาพนั้นแลคือหนทาง



โดย เดวิด สปินเลน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2548

ไม่มีหนทางใดนำไปสู่สันติภาพ สันติภาพนั้นแลคือหนทาง
มหาตมะ คานธี


ผู้อ่านบทความล่าสุดของผู้เขียนบางท่าน (สงครามศักดิ์สิทธิ์หรือ?, มติชนรายวัน ๒๙ มกราคม ๒๕๔๘) แสดงความเห็นว่า ความคิดของผู้เขียนในบทความนั้นเป็นอุดมคติมากเกินไป พระพุทธองค์อาจทรงมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ หรือพระเยซูเจ้าอาจสามารถให้อภัยและรักเหล่าศัตรูของพระองค์ แต่คนธรรมดาสามัญอย่างพวกเราไม่สามารถประพฤติเช่นนั้นได้ แม้กระนั้นยังมีตัวอย่างบุคคลอีกมากมายที่มีชีวิตและยังคงดำเนินชีวิตอยู่โดยปราศจากความรุนแรง

มีตัวอย่างบุคคลในยุคใหม่มากมายซึ่งสมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง บางคนอาจเป็นที่รู้จักกันดี บางคนอาจจะไม่ คนส่วนใหญ่จะต้องเคยได้ยินชื่อของท่านมหาตมะ คานธี หรืออาจจะเคยได้ยินชื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง แล้วชีวิตที่เป็นแบบอย่างอื่นๆ ล่ะ

ข้าพเจ้าจะขอยกบางตัวอย่างมากล่าวถึงในบทความนี้

มีกี่คนที่ตระหนักว่า เนลสัน แมนเดลา ถูกจำคุกนานถึง ๒๗ ปี จากการต่อต้านนโยบายเหยียดผิวของรัฐบาลแอฟริกาใต้ในเวลานั้น กระนั้นเมื่อเขาได้รับการปลดปล่อยและได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา เขาได้เชิญผู้คุมคุกคนหนึ่งมาเป็นแขกวีไอพีในพิธีเข้ารับตำแหน่ง มีกี่คนที่รู้ว่าในปี ๑๙๘๑ พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒ ถูกมือปืนรับจ้างลอบยิง เมื่อท่านทุเลาจากบาดแผลฉกรรจ์ในเวลาต่อมา ทรงเข้าไปในคุกเพื่อเยี่ยมชายคนที่ยิงท่านและให้อภัยเขาสำหรับอาชญากรรมที่ก่อขึ้น ทรงกลับไปเยี่ยมชายคนนั้นในคุกอีกหลายครั้ง เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ ชายผู้พยายามสังหารท่านร่ำไห้จนน้ำตานองหน้า

ในเดือนมกราคม ๑๙๙๕ ซานดิเอโก, แคลิฟอร์เนีย นักศึกษามุสลิมวัย ๒๐ ปี ซึ่งทำงานพิเศษเป็นคนส่งพิซซ่า ถูกยิงเสียชีวิตโดยเด็กชายวัย ๑๔ ปี บิดาของเด็กที่เสียชีวิต อาซิม คามิซา หัวใจสลายอย่างแท้จริง ครูซูฟี (มุสลิมแนวรหัสยนัย) ท่านหนึ่งบอกอาซิมว่า ปฏิกิริยาของเขาต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดชีวิตของเขานับแต่นี้ไปว่าจะเป็นอย่างไร อาซิมติดต่อปู่ของคนฆ่าลูกชายของเขาและร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิซึ่งใช้ละครจากชีวิตจริงที่น่าประทับใจสอนเด็กๆ ให้เลือกเส้นทางแห่งอหิงสา อาซิมเข้าไปเยี่ยมเด็กที่ฆ่าลูกชายของเขาในคุก เพื่อให้อภัยเด็กคนนั้นและเสนองานในมูลนิธิให้เมื่อพ้นโทษแล้ว

ในเดือนเมษายน ๑๙๙๖ ผู้ก่อการร้ายเข้าไปในอารามแห่งหนึ่งในนิกายคาทอลิก (คล้ายวัดป่าในพุทธศาสนา) ในพื้นที่ห่างไกลของแอลจีเรีย และจับนักบวช ๗ คนเป็นตัวประกัน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลแอลจีเรียปล่อยผู้ก่อการร้ายบางคนออกจากคุก หาไม่ก็จะประหารนักบวชเหล่านี้ รัฐบาลปฏิเสธและนักบวชทั้งเจ็ดคนถูกตัดศีรษะ ศีรษะของพวกท่านถูกพบ ณ ต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่ไม่พบร่าง ต่อมาเมื่อค้นพบเอกสารส่วนตัวของเจ้าอาวาสที่ถูกสังหาร พวกเขาพบข้อเขียนชิ้นสุดท้ายของท่าน เมื่อทราบว่าอาจจะถูกผู้ก่อการร้ายลักพาตัวและสังหาร ท่านเขียนว่า

หากช่วงขณะนั้นมาถึง ฉันหวังว่าจะมีความตระหนักรู้และมีเวลาที่จะถามหาการประทานอภัยจากองค์พระบิดา และในเวลาเดียวกันก็ให้อภัยอย่างจริงใจแก่คนที่ทำร้ายฉัน

เมื่อกล่าวถึงชายนิรนามซึ่งจะสังหารท่าน ท่านเขียนว่า "และสำหรับเธอ สหายในวาระสุดท้าย ซึ่งไม่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร ใช่แล้ว สำหรับเธอ ฉันปรารถนาว่า ด้วยคำขอบคุณนี้ ... พวกเราอาจพบกันบนสรวงสวรรค์ ถ้าพระบิดาทรงโปรด ... อาเมน! อินชา อัลลาห์!"

องค์ทะไล ลามะ มักจะเอ่ยถึงเรื่องนี้เสมอ เมื่อท่านสอนเรื่องการให้อภัย โลปอน-ลา เป็นพระที่ทะไล ลามะ รู้จักมาตั้งแต่อยู่ในทิเบต "หลังจากข้าพเจ้าหลบหนีออกจากทิเบต โลปอน-ลา ถูกจับขังคุกเป็นเวลานานถึง ๑๘ ปี เมื่อท่านได้รับอิสรภาพในท้ายที่สุด ท่านเดินทางมายังอินเดีย ข้าพเจ้าไม่ได้พบท่านนานถึง ๒๐ ปีแล้ว แน่นอนท่านดูชราภาพลง แต่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ จิตใจของท่านก็ยังคงเฉียบคมแม้จะอยู่ในคุกนานหลายปี ท่านยังคงเป็นพระที่สุภาพเรียบร้อย ท่านบอกข้าพเจ้าว่า จีนพยายามบังคับให้ท่านติเตียนศาสนาของตนเอง พวกนั้นทรมานท่านหลายครั้งในคุก ข้าพเจ้าถามท่านว่า ท่านเคยหวาดกลัวบ้างไหม โลปอน-ลา บอกข้าพเจ้าในตอนนั้นว่า ใช่ครับ มีสิ่งหนึ่งที่ผมนึกหวาดกลัวอยู่เสมอ ผมกลัวจะสูญเสียความเมตตาที่มีต่อชาวจีน"

ผู้เขียนไม่ประสงค์การเข่นฆ่าหรือความรุนแรง ท่านก็ไม่ประสงค์การเข่นฆ่าหรือความรุนแรง พวกเราล้วนไม่ประสงค์การเข่นฆ่าหรือความรุนแรง แต่คำเทศนานี้ยังไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น พวกเราไม่สามารถสร้างสันติสุขให้แก่โลกภายนอกได้ สิ่งที่พวกเราทำได้ก็คือ เป็นแบบอย่างของคุณธรรมดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีหนทางอื่น

ไม่มีหนทางใดนำไปสู่สันติภาพ สันติภาพนั้นแลคือหนทาง

Back to Top