เมื่อรู้สึกขัดใจ ต้องขัดที่ใจ

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2548

ท่านเคยรู้สึกขัดเคืองใจบ้างหรือไม่ เมื่อตนเองถูกกระหน่ำด้วยวาจาที่กล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ได้ยินแต่เสียงที่แสดงความหยามหมิ่นเชือดเฉือนด้วยจิตอคติ และเราต้องนั่งฟังอย่างยอมจำนน

ถ้าได้ดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในการประชุมครั้งสำคัญ วิธีที่สมาชิกแสดงความไม่พอใจต่อคำพูดยั่วยุของคนอื่น ก็คือลุกขึ้นด่าว่าชี้หน้าโต้ตอบ หรือถ้าจะเอาอย่างตัวร้ายในละครโทรทัศน์ ก็คือลุกเดินเข้าไปชกหน้า ดังที่มีการแสดงจริงในสภาอันทรงเกียรติ

พฤติกรรมเช่นนี้ แสดงถึงสภาพคนที่เป็นทาสอารมณ์ จะด้วยความโกรธหรือความหลงผิดก็ตาม ล้วนเป็นการกระทำที่ควรละเว้น

เมื่อเราโกรธ ขัดเคือง คับแค้น ขัดใจ หัวใจจะเกรอะกรังไปด้วยความขุ่นข้องหมองไหม้ อยากเอาชนะ อยากทำลายล้าง หัวใจมันดำมืดทั้งดวง

อารมณ์เหมือนกองฟืน ความโกรธเหมือนไฟ ยิ่งหัวใจสุมความโกรธไว้นานเท่าใด มันจะคุกรุ่นเหมือนไฟสุมขอน ใจของเขาจะร้อน ทุกข์ทรมาน ยิ่งนานเข้าความโกรธก็กลายเป็นอาฆาตพยาบาท จ้องทำลายกันไม่มีที่สิ้นสุด

น่าแปลกที่ความโกรธนี้สามารถเพิ่มพลังทวีคูณในตัวเอง ยิ่งโกรธนานเท่าใด ก็จะมีเหตุปัจจัยมาเสริมให้ผูกโกรธมากขึ้นๆ ในที่สุดเหมือนกับเขาเป็นทาสที่ติดคุกความแค้นของตนเอง แม้ว่าคนที่เป็นเหตุของความโกรธนั้นจะลืมไปแล้วก็ตาม

เมื่อเขม่าไฟและคราบน้ำมันทอดอาหารเกาะแน่นอยู่เต็มผิวกระทะ แม่ครัวที่สะอาดจะรีบขัดถูออกไปโดยเร็ว ถ้ามันเขรอะเกรอะกรังมากๆ ก็อาจต้องใช้ฝอยลวดและผงขัดช่วย

หัวใจมนุษย์นั้นเล่า ถ้ามันขุ่นข้องพอกพูนด้วยความคับแค้นเศร้าหมอง จะใช้อะไรมาขัดเกลาให้สะอาดขึ้นมาบ้าง อะไรคือแปรงขัดความขุ่นข้องหมองใจ

เครื่องมือขจัดความโกรธ คือเมตตาธรรมและการลดความอหังการในตัวตน

ยิ่งเรารับรู้ว่าสถานะของตนนั้นเรืองอำนาจยิ่งใหญ่ ตัวเรานี้ขยัน เก่ง ฉลาดและแสนดี เมื่อนั้นจิตของเราจะเล็กนิดเดียว อย่างที่มีคำไทยว่า “ใจน้อย” อะไรมากระทบสักหน่อยก็หวั่นไหว

ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ตัวเรานี้ใช่จะยิ่งใหญ่อะไรนักหนา เราไม่มีอำนาจให้คนอื่นคิดตามที่เราคิด ในโลกอันกว้างใหญ่นี้ เราเป็นเพียงอณูหนึ่งของมวลมนุษยชาติ เราจะหลีกเลี่ยงความแตกต่างหลากหลายไปไม่ได้เลย

เมื่อตัวตนเล็กลง จิตใจก็กว้างเหมือนลำธารที่น้ำใสเปี่ยมฝั่ง ปาก้อนกรวดลงไปสักก้อนหนึ่ง ก็เกิดเพียงรอยวนเล็กๆ แล้วก็เลือนหายไป

การระงับความโกรธต้องไม่ใช่การเก็บกดให้อารมณ์รุนแรงนั้นจมลงไปในใจลึกๆ เพื่อให้ท่าทางภายนอกดูสงบ การเก็บกดนั้นมีผลเสียมากกว่าการแสดงออกด้วยซ้ำ วิธีที่ต้องทำ คือดูและฟัง เรียกสติมาอยู่กับตัว ค่อยๆ รับรู้แล้วพิจารณา

การฝึกจิตให้นิ่งนั้นยากมาก ต้องฝึกหัดต่อเนื่องยาวนาน เพราะเป็นการฝึกสติ ฝึกความยั้งคิด และเจริญธรรมารมณ์

การเจริญสตินั้นที่ฝึกกันส่วนใหญ่ เป็นการกำหนดลมหายใจเข้า - ออก กำหนดรู้สิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยิน บางคนใช้วิธีการฝึกตนให้สงบสำรวม บางคนทำใจให้ปล่อยวาง แผ่เมตตาให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์ทั้งสิ้น

การฝึกสติหรือเจริญสติอยู่เสมอทำให้มีเวลาเริ่มต้นใช้ปัญญาไตร่ตรอง สติและปัญญาจึงเป็นเครื่องมือชุดใหญ่สำหรับใช้ขัดหัวใจเรา ให้สะอาดและสงบได้

การขัดหัวใจเอาสิ่งเศร้าหมองขุ่นมัวออกไปนั้น ใช่ว่าจะทำได้ทันที ต้องอาศัยการฝึกฝนไปทีละน้อย รับรู้ตนเองและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตามความเป็นจริง การกำหนดรู้ความแตกต่างทางความคิดและนิสัยของคนรอบข้าง เมตตาและแบ่งปันความปรารถนาดีให้แก่กัน ตลอดจนการฝึกวิธีคิดอย่างถูกต้องแยบคายที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

ในมงคลวารวิสาขบูชานี้ ขอตั้งจิตเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ด้วยวิธีแห่งธรรมปฏิบัติ ดังนี้

“ทุกลมหายใจเข้า
ฉันจะรับเอาความฉ่ำเย็นของสายน้ำ และสายลมโชยชื่น
กลิ่นหอมของดอกไม้ ไออุ่นของความรักและความเมตตา

ทุกลมหายใจออก
ฉันจะฝึกหัดขัดเกลากายวาจาใจ
ฉันจะแบ่งปันความเข้าใจและเห็นใจ
สู่หัวใจของเพื่อนร่วมทุกข์ ทุกหมู่เหล่า

ตราบที่ยังมีลมหายใจ
ฉันจะลดความอหังการ พยุงจิตให้สูงและกว้างใหญ่
เข้าถึงความจริงของชีวิต ซึ่งเปลี่ยนแปลง คับข้องใจ ไม่ใช่ตัวตน

ขอให้ฉันปลอดภัยจากการคุกคามของความโกรธ
ขอให้ฉันขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส เป็นอิสระ
ด้วยศรัทธาและโยนิโสมนสิการ
เกิดเป็นกุศลธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา
ณ วันวิสาขปูรณมี มงคลดิถีนี้เทอญ”

Back to Top