ศักยภาพ-พลังของสำนึกร่วม

โดย ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 เมษายน 2551

ท่ามกลางวิกฤตการณ์อันซับซ้อนทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ที่โยงใยถึงกันอย่างซับซ้อน ดูประหนึ่งทุกอย่างทุกปัญหาจะนำไปสู่การล่มสลายและภัยพิบัตินานาประการของเมืองไทย เอเชีย และโลกโดยรวม ยิ่งติดตามข้อมูลข่าวสารมากๆ ทั้งกว้างและลึก ก็ดูจะทำให้คนเราหวั่นไหว มีความวิตกกังวลมากขึ้นทุกที ฤาจุดจบจะมาถึงในวันข้างหน้าอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง?

แต่ทว่า เบื้องลึกในใจคนได้เกิดการก่อตัวของกระแสสำนึกร่วมใหม่ๆ หลายประการที่อาจนำไปสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ สรรพชีวิต สรรพสิ่ง หรืออย่างน้อยก็เพื่อผ่อนคลายปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่รุมเร้าอยู่ในเวลานี้ เข้าทำนอง “เมื่อมีมืด ก็มีสว่าง มีร้าย ก็มีดี”

ว่าจำเพาะสังคมไทย กระแสสำนึกร่วมเพื่อฟันฝ่าวิกฤตต่างๆ พอจะมองเห็นลีลาได้บ้างในปัจจุบัน กล่าวคือ การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑ แม้ฝ่ายนิยมชมชอบระบอบทักษิณจะได้เสียงข้างมากจนได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ฝ่ายที่ใช้สติปัญญารู้เล่ห์กลต่างๆ ของทุนนิยมเผด็จการรัฐสภา และรู้ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตเหนือวิถีประชาธิปไตยก็ขยายวงเติบโตเพื่อถ่วงดุลอย่างมีนัยสำคัญทั้งในและนอกสภา การต่อสู้กันครั้งนี้ยังไม่จบง่ายๆ คงต้องตามดูกันต่อไปว่า ระหว่างธรรมะกับอธรรม ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ สำนึกที่อยากให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข มีความสุจริตยุติธรรม และมีความก้าวหน้าเป็นตัวของเราเอง ได้ “ผุดเกิด” และขยายวงกว้างขวางยิ่งขึ้นทุกขณะ

ในมิติเศรษฐกิจและสังคม ทุนนิยม (สามานย์) ใช้เล่ห์กลครองโลก ครองเมืองไทย ครองประเทศตะวันออก โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ดูเผินๆ คิดน้อยๆ ก็เห็นว่ากำลังเฟื่องฟู ทว่าดูให้ดี ดูให้ลึก ก็เป็นที่แน่ชัดว่า ได้เกิดภาวะวิกฤตขึ้นแล้ว โดยเฉพาะกับประเทศยักษ์ใหญ่ของทุนนิยม ด้วยเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ซึ่งโดยภาพรวมก็กำลังวิบัติเสื่อมโทรมตามนัยของ “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน”

ในภาวการณ์เช่นนี้ สำนึกร่วมเรื่องความสมดุล ความพอดีพองาม ในนามของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับวิถีชาวพุทธและมุสลิม และความสมดุลในธรรมชาติที่มนุษยชาติคุ้นเคยมาหลายชั่วคน ก็กำลังเจริญเติบโตในจิตใจและวัตรปฏิบัติของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเล็กคนน้อยระดับพื้นฐานที่เป็นเกษตรกรและมนุษย์เงินเดือนในเมืองที่จำเป็นต้องอยู่ให้ได้กับรายได้ที่จำกัด การผลิตและการบริโภคของคนทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าคิดเป็นทำเป็น จะพบว่าสอดคล้องกับความจำกัดของทรัพยากรที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติมีให้

ทั้งสิ้นทั้งปวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกิดขึ้นและเติบโตได้ก็ด้วยพระปัญญาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ความกล้าทางจริยธรรมที่จะปลีกตัวออกมาจากอิทธิพลครอบงำของทุนนิยมเบ็ดเสร็จ แล้วหันมาเข้าใจ เข้าถึง ศักยภาพและพลังสั่งสมในถิ่นฐานบ้านเมืองของเราเอง กล่าวได้โดยรวมว่า นี่คือ สำนึกร่วมที่เหมาะสมดีงามอีกประการหนึ่งที่กำลังเจริญเติบโต

จะว่าไป สังคมอื่นๆ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ไม่มีความสุข ก็มีคนใช้ปัญญาและเข้าใจข้อจำกัดของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ก็เข้าใจ “ความไม่จำกัด” ในตัณหาความต้องการของมนุษย์ คนเหล่านี้กำลังปรับใจ ปรับตัว ปรับวิถีการผลิต และการบริโภคครั้งใหญ่ ด้วยสำนึกร่วมที่ใกล้เคียงกับที่เราชาวพุทธคิดและทำอยู่ในเวลานี้มากขึ้นทุกที ยิ่งสำรวจ ยิ่งค้นคว้า ก็ยิ่งพบมากขึ้น

ที่เป็นดังนี้ นับว่าเป็นรุ่งอรุณของสำนึกใหม่ที่ดี และเป็นไปได้ว่า ในอนาคตที่พอมองเห็น ดัชนีชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจสังคม อาจจะเปลี่ยนจาก GNP (Gross National Products) มาเป็น GNH (Gross National Happiness) ที่เคยถูกเย้ยหยันโดยนักเศรษฐศาสตร์และภาคธุรกิจ

ถ้าสำนึกร่วมของคนจำนวนมากมีขนาดและมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะก่อตัวเป็นกลุ่มนำร่อง ความเปลี่ยนแปลง (Critical Mass) โดยไม่ต้องรอเสียงส่วนใหญ่ มนุษยชาติและโลกโดยรวมก็อาจอยู่รอดได้

เรื่องความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของสังคมก็เช่นเดียวกัน คอรัปชั่นระดับนโยบาย อาชญากรรมต่างๆ ยาเสพย์ติด อบายมุข การแพร่กระจายของสื่อลามก รวมถึงเล่ห์กลของบริษัทข้ามชาติที่เห็นแก่ตัว ล้วนเป็นเหตุให้เกิดสำนึกร่วมใหม่เพื่อต่อต้าน ปราบปรามความเสื่อมทรามต่างๆ เหล่านี้ มีการรวมตัวกันต่อรอง การปฏิบัติธรรม ดูแลสุขภาพกายใจ เล่นกีฬา ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม โดยเฉพาะความเอาจริงเอาจังทางกฎหมายเพื่อปราบปรามคอรัปชั่นและอำนาจมืด การตื่นตัวและรวมกันทำอะไรดีๆ มากขึ้นเช่นนี้ บ่งบอกสำนึกร่วมอีกแง่หนึ่งที่ต้องการแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ทางศีลธรรม จะสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็ต้องติดตามกันต่อไป

เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลกโดยรวม ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ลึกซึ้งของสรรพชีวิต สรรพสิ่ง ตามนัยของหลักอิทัปปัจจยตา และการกระทำของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดความเสียสมดุลของธรรมชาติ ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติรุนแรงนานาประการที่กำลังมาแรง ทำให้เกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึงร่วมกันทั่วโลก

สำนึกร่วมเพื่อความอยู่รอดของโลกใบนี้ของมนุษยชาติและของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงได้รับการปลุกเร้าอย่างกว้างขวางเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์รุนแรงทางธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องใดๆ ทั้งหมด ต้องระดมปัญญาและสติอย่างมาก

สำนึกร่วมเพื่อความอยู่รอด หยั่งรากและแพร่กระจายมากแล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งจึงอยู่ที่ความกล้าทางจริยธรรมที่จะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ทางจิตวิญญาณ และการเปลี่ยนวิธีการผลิตและการบริโภคที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ท้าทายความรู้ความสามารถและท้าทายจริยธรรมของมนุษย์ทั่วโลก บางที ธรรมะที่บ่มเพาะให้มนุษย์ลดความโลภลงให้อยู่ในระดับต่ำพอที่จะจัดการให้ยังชีพอยู่ได้โดยเคารพธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงเรามา น่าจะมีพลังที่ช่วยได้ ถ้าสำนึกร่วมนี้มีอยู่ในใจของคนจำนวนมากที่กำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ร่วมกัน

ทั้งหมดทั้งปวงที่เลือกหยิบยกขึ้นมาสาธกในที่นี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ความทุกข์ทำให้เกิดปัญญาและสติ ปัญญาและสติถ้าเกิดขึ้นในใจคนจำนวนมากก็จะเป็นศักยภาพและพลังที่จะร่วมมือร่วมใจกันฟันฝ่าวิกฤตการณ์ กระแสสำนึกร่วมดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะแฝงเร้น (tacit) และอย่างเปิดเผย ความสำคัญอยู่ที่ “ทราบแล้วเปลี่ยน” เปลี่ยนอะไร เปลี่ยนใจ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนระบบการผลิตและการบริโภค เปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ และเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันด้วยสำนึกร่วมดังกล่าวต้นและเปลี่ยนให้ทันการณ์

เวลาไม่ค่อยท่าใคร พรุ่งนี้ก็ช้าไปแล้ว

Back to Top