การสนทนาสร้างวัฒนธรรม

โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 เมษายน 2551

เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคมที่ผ่านมา ผมไปร่วมงานประชุมประจำปี (National Forum) ครั้งที่ ๙ ของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล มีหมอ พยาบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยจากทุกสารทิศ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ประมาณ ๗ พันกว่าคน ผมและคุณหมอวรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเรียกว่า เวิร์ลด์ คาเฟ่ (World Café) เป็นครั้งแรกสำหรับงานนี้

อันว่า เวิร์ลด์ คาเฟ่ นี้ไม่ใช่ของใหม่ เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่พัฒนามาโดย ฮวนนิตา บราวน์ (Juanita Brown) และ เดวิด ไอแซคส์ (David Isaacs) แทนที่จะเป็นการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ และผู้ฟังนั่งตาแป๋ว คอยจด คอยบันทึก กิจกรรม เวิร์ลด์ คาเฟ่ วางอยู่บนสมมติฐานว่า อันความรู้ที่แท้จริงนั้น แฝงซ่อนอยู่ในตัวตนของเราทุกคนนี่เอง เป็นความรู้จากการปฏิบัติจริง เจอปัญหาจริงในชีวิต ไม่ได้เป็นความรู้ตามทฤษฎี ข้อสำคัญก็คือ เมื่อไรก็ตามที่คนเราอยู่ในบริบทอันผ่อนคลาย ปราศจากความกลัว เราถึงจะเกิดแรงผลักดันที่จะแสดงออกทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดว่าสำคัญ โดยไม่มีการออมรั้ง

ผมก็เลยขอร้องให้ทางผู้จัดพยายามสร้างบรรยากาศที่ว่านี้ขึ้น เป็นห้องไม่ใหญ่นัก เอาโต๊ะกาแฟกลมวางสลับไปมาประมาณ ๑๐ โต๊ะ ตอนแรกจะใช้ผ้าปูโต๊ะลายหมากรุก ปรากฏว่าหาไม่ได้ ทางผู้จัดก็เลยใช้ผ้าขาวม้า (ใหม่เอี่ยม ยังไม่ได้ใช)้ มาปูแทน ก็ดูดีทีเดียว แต่ละโต๊ะมีเก้าอี้รายล้อมประมาณ ๔-๕ ตัว เป็นการจำกัดวงคนสนทนา มีการเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ สร้างบรรยากาศ มีคนเสิร์ฟกาแฟและขนมเหมือนนั่งอยู่ในร้านกาแฟ และองค์ประกอบที่สำคัญอีกสองประการคือ คนสนทนา และประเด็นร้อน

เราพูดคุยกันทั้งหมด ๔ ประเด็น ใน ๔ ช่วงของวันนั้น ได้แก่ ศิลปะบำบัด (Art Therapy) สุนทรียสนทนาแก้ปัญหาได้หรือไม่ การทำให้เกิดโรงพยาบาลที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Care Hospital) และการสร้างองค์กรที่มีชีวิต (Living Organization) โดยแต่ละหัวข้อนั้น แต่ละโต๊ะจะเริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกันประมาณ ๒๐ นาที เสร็จแล้วจะเหลือเจ้าภาพนั่งประจำที่ ๑ คน แล้วที่เหลือก็จะกระจายไปหาโต๊ะใหม่ เพื่อสร้างกลุ่มสนทนาใหม่ในหัวข้อเดิม พร้อมทั้งจะมีประเด็นแตกแขนงเป็นโจทย์ให้ทำต่ออีกเล็กน้อย แต่ละคนจะได้สลับพูดคุยกันทั้งหมด ๓ กลุ่ม ประมาณ ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาที แล้วตัวแทนแต่ละโต๊ะก็จะมาเล่าให้กัลยาณมิตรที่พึ่งเจอะเจอเป็นครั้งแรกฟังว่าตนเองได้อะไรบ้าง

กิจกรรมที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่ปรากฏว่า ผลที่ได้จากการสนทนาแลกเปลี่ยนแบบนี้ ก่อให้เกิดคลื่นพลังความรู้ที่แปลกใหม่ขึ้นมาในทุกๆ รอบเลยทีเดียว บรรยากาศที่คนนั่งชิดติดกัน แทบจะศอกชนศอก มีโต๊ะเล็กๆ ขวาง ผ่อนคลาย ไม่เป็นงานเป็นการ ใครจะลุกไปเติมกาแฟ หยิบขนม ก็ทำได้ตลอดเวลา กลับสามารถขจัดความหวาดกลัว ความไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกไปได้เป็นอย่างดี มีน้องคนหนึ่งก่อนเข้ามาร่วมก็กล้าๆ กลัวๆ บอกว่าผมไม่เคยทำเลยนะครับ ศิลปะบำบัดอะไร แล้วจะให้มาสนทนาแลกเปลี่ยนจะทำได้หรือ ปรากฏว่าพอเข้ากลุ่ม ก็ค้นพบว่า ศิลปะ และความสุนทรีย์ รวมทั้งการเยียวยานั้น อยู่ในประสบการณ์ของทุกๆ คน น้องคนนี้ก็ได้อยู่ร่วมต่อจนจบ และขอแถมอยู่ต่อในประเด็นถัดไปอีกต่างหาก

โลกของเราในปัจจุบัน เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ เต็มไปด้วยนักวิชาการผู้เก่งกล้าสามารถ มีดีกรีพ่วงห้อยตามชื่อยาวเหยียด ซึ่งก็เป็นสิ่งดี ขอเพียงแต่ไม่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อคนธรรมดาๆ ในการพูดคุยแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความขัดแย้งต่อทฤษฎีที่ผู้เชี่ยวชาญแสดงปาฐกถามา สังคมในความเป็นจริงกอปรด้วยคนทุกชั้นวรรณะ ที่อยู่อาศัยอยู่ในนิเวศเดียวกัน หายใจอากาศเดียวกัน ใช้น้ำใช้ท่า ใช้สาธารณูปโภคเดียวกัน ดังนั้น ความรู้สึกนึกคิด ความสุข ความทุกข์ของคนทุกคนในนิเวศ จะส่งผลถึงกันหมด วัฒนธรรมที่สมบูรณ์เกิดขึ้นจากผลรวมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และไม่จำต้องเป็นอุดมคติด้วย เพราะเราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

การสนทนาที่เปิดกว้าง ที่ทุกคนในวงสนทนาสนใจ ตั้งใจฟังในสิ่งที่คนอื่นๆ กำลังพูดอย่างแท้จริง จะนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจ เปิดโลกทรรศน์ และข้อสำคัญคือ เพิ่มความสามารถในการมองและรับรู้เรื่องราวในมุมมองของผู้อื่นได้ ไม่รีบด่วนตัดสิน ไม่รีบด่วนคัดค้าน ทุกครั้งที่การสนทนาเสร็จสิ้น เฉดสีแห่งความเข้าใจเรื่องราวของเราจะเปลี่ยนไป เพิ่มประกายสีสันของนิเวศรวมมากขึ้น และเมื่อนั้น จะลดความบาดหมาง ลดการขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และคนเราสามารถจะประนีประนอมได้มากขึ้นด้วย

ในโลกแห่งสันติสุขนั้น ไม่จำเป็นจะต้องประกอบด้วยคนที่คิดเห็นเหมือนกันหมดอยู่ในนิเวศเดียวกัน แต่ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจ และยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา ศาสนา อุดมคติทางการเมือง ฯลฯ ความสามารถนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในยุคปัจจุบัน ที่ความคิดของคนเราเดินทางไปมาหากันด้วยความเร็วที่มากขึ้นเรื่อยๆ ความแตกต่างมีแนวโน้มจะถูกนำมาเปรียบเทียบและเทียบเคียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ

วัฒนธรรมแต่ดึกดำบรรพ์ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นมาจากวงสนทนา ที่ผู้คนตีแผ่ความในใจ กล้าพูดสิ่งที่ตนเองคิดว่าสำคัญ และเหนือไปกว่านั้นคือ มีการฟังอย่างเคารพในกันและกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ไม่ถึงกับเสแสร้ง ปัญหาต่างๆ จึงถูกแก้ไขโดยสมุหปัญญาของผู้คนในนิเวศนั้นๆ อย่างแท้จริง วงสนทนาที่มีคุณภาพจึงเป็นรากฐานที่สำคัญ ในวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีความยืดหยุ่นปรับตัวสูง จะคงอยู่ได้ยาวนาน และมั่นคงตลอดไป

Back to Top