คุณคือใครและคุณกำลังทำอะไร?



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 30 สิงหาคม 2551

คำถามสั้นๆ ง่ายๆ สองคำถามที่ผมอ่านเจอในหนังสือของ โจแอนนา มาซี เมื่อหลายปีก่อนนั้น เป็นคำถามที่สะดุดใจผมมาก และเมื่อได้ลองนำไปใช้ในเวิร์คชอปตามที่ โจแอนนา มาซี ได้เขียนแนะนำเอาไว้ ผมก็พบว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสค้นหาตัวเองได้เป็นอย่างดี

“คุณคือใคร?” (Who are you?) และ “คุณกำลังทำอะไร?” (What are you doing?) หลังจากนั้นผมก็เพิ่งมาอ่านพบในภายหลังว่า คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่นักคิดนักปรัชญาใหญ่ๆ มักจะเลือกใช้เลือกถามเพื่อให้ผู้คนเกิดการใคร่ครวญที่สำคัญในชีวิต

ผมได้มีโอกาสนำกิจกรรม “คุณคือใคร” นี้ไปใช้ในเวิร์คชอปหลายครั้งหลายหนในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา และได้มีการปรับแต่งประยุกต์หลายเรื่องเข้ามาในกิจกรรมนี้ เช่น จะต้องสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมและต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ถามกับผู้ตอบเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดการเก้อเขินขึ้น และทำให้คำถามคำตอบไม่ได้ “ลงลึก” ลงไปอย่างแท้จริง และบางครั้งกลับกลายเป็นการเล่นสนุกไร้สาระไปเสียอีก เช่น บางคนอาจจะตอบแบบกวนๆ ไปว่าผมเป็นซุปเปอร์แมน ผมเป็นตุ๊ด ฯลฯ อะไรแบบนั้นไปเสีย

เมื่อหลายปีก่อนในวงจิตวิวัฒน์ ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี คุณเดวิด สปิลเลน ได้แนะนำให้ผมรู้จักกับ “ทฤษฎีตัวยู” ซึ่งในตอนนั้นหนังสือ ทฤษฎียู ของ อ็อตโต ชาร์มเมอร์ ยังไม่ได้จัดพิมพ์ออกมา เขาเพียงเขียนบางส่วนของทฤษฎีนี้ร่วมกับ ปีเตอร์ เซงเก้ โจเซฟ จาวอสกี้ และ เบตตี้ ชูว์ ในหนังสือที่ชื่อว่า Presence

ในช่วงเดือนมิถุนายนปี ๒๕๕๐ เมื่อหนังสือใหม่เล่มใหญ่ที่ชื่อ Theory U ของ อ็อตโต ชาร์มเมอร์ ได้ปรากฏออกมาสู่ท้องตลาด ซึ่ง คุณหมอวรวุฒิ โฆวัชรกุล ที่น่าจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่สั่งหนังสือเล่มนี้มาอ่านและนำมาเผยแพร่เพื่อใช้ในเวิร์คชอป

โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาคุณหมอวรวุฒิได้นำทฤษฎียูนี้มาใช้ในงานด้านสาธารณสุขอย่างจริงๆ จังๆ และแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ทฤษฎีนี้สามารถช่วยนำพาให้บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เรียนรู้จากการสัมผัสประสบการณ์ตรงว่า “แก่นหรือความหมายที่แท้จริง” ของการทำงานด้านสาธารณสุขคืออะไร และเป็นทฤษฎีที่ง่ายมากในการนำพาให้ผู้คนได้ “สัมผัส” กับ “จิตใหม่” หรือ “กรอบคิดใหม่”

และผมก็ต้องสะดุ้งเมื่อพบว่า ที่ก้นตัวยูนั้น ชาร์มเมอร์เองได้เขียนกำกับเป็นคำถามไว้ว่า “คุณคือใครและคุณกำลังทำอะไร?” เช่นเดียวกัน การที่ชาร์มเมอร์เลือกตั้งคำถามนี้ “ที่ก้นตัวยู” หมายความว่า น่าจะมีกระบวนการอะไรบางอย่างที่จะช่วย “นำพา” ให้ผู้คนได้ค่อยๆ ดำดิ่งเดินทางเข้าไปภายในตัวเองตามขาลงของตัวยูเสียก่อนที่จะได้มีโอกาสได้ใคร่ครวญกับคำถามนี้อย่างลึกซึ้งที่ก้นตัวยู

ผมเห็นด้วยกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก เพราะหากว่าอยู่ดีๆ จะให้ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ตอบคำถามนี้ว่า “คุณเป็นใคร?” ท่านอาจจะงงๆ เพราะไม่รู้ว่าจะตอบไปทำไม ตอบไปแล้วจะได้อะไร อย่าว่าแต่ท่านผู้อ่านเลยครับ ประสบการณ์ในเวิร์คชอปที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนหลายสิบคนนั้น บางครั้งหลายๆ ท่านเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถ “ดำดิ่ง” ลงไปในตัวเองได้ลึกพอ หรืออยู่ในโลกของเหตุผล ก็จะยังคง “งงงวย” กับคำถามนี้ได้เช่นเดียวกัน

ในเวิร์คชอปครั้งหนึ่งที่พวกเราได้มีโอกาสทำให้กับโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง มีคนขับรถท่านหนึ่งยกมือขึ้นถามหลังจากที่ได้ทดลองตอบคำถามนี้ไปด้วยตัวเองแล้ว “ผมยังไม่เข้าใจครับว่า เราจะตอบคำถามนี้ไปทำไม? ในเมื่อผมก็เป็นคนขับรถ ผมก็แค่ขับรถ ผมยังไม่รู้สึกว่างานของผมจะมีความหมายอะไรมากไปกว่าการขับรถส่งคนไข้ ส่งเจ้าหน้าที่?”

คุณหมอวรวุฒิตอบคำถามของคนขับรถท่านนี้ได้ดีมากๆ ครับ โดยบอกว่า “งานทุกอย่างมีความหมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้ความหมายแก่งานของเราอย่างไร ถ้าเราเป็นคนขับรถและให้ความหมายกับงานของเราเพียงแค่การขับรถ เราก็อาจจะไม่รู้สึกพิเศษอะไร และเราก็จะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราลองให้ความหมายการขับรถของเราว่า เราเป็นผู้นำพาความปลอดภัยให้กับผู้คนที่นั่งอยู่ในรถยนต์ของเรา ชีวิตทุกคนที่ไม่ว่าจะเป็นใครยิ่งใหญ่แค่ไหนก็อยู่ในมือเรา ตัวเราเป็นผู้นำพาให้ผู้คนเหล่านี้ไปถึงที่หมายที่เขาต้องการอย่างปลอดภัย เราส่งคนไข้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนให้สามารถได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงที เราส่งลูกกลับสู่อ้อมกอดของแม่ เราส่งพ่อให้กลับไปสู่ลูก เราส่งผู้คนให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย ทุกคนขึ้นอยู่กับสองมือที่จับพวงมาลัยของเรา ต่อเมื่อเราสามารถมองงานของเรา ซึ่งในกรณีนี้คือการขับรถเป็นงานที่มีความหมายแบบนี้ได้เท่านั้น เราจึงจะเห็นความแตกต่างได้ว่า งานของเรา “มีความหมาย” และไม่ได้ต่ำต้อยไปกว่างานอื่นๆ ในระบบเลย”

หลังจากนั้น ผมก็สังเกตเห็นสีหน้าของคนขับรถท่านนี้ว่า ดวงตาของเขาเป็นประกายสดใส เขาตะโกนออกมาด้วยความลิงโลดยินดีว่า “ผู้รู้แล้ว ผมเข้าใจแล้ว”

ผมรู้สึกว่า ไม่เพียงแต่คนขับรถท่านนี้เท่านั้นที่ดูเหมือนจะ “ทะลุทะลวง” อะไรบางอย่างภายในตัวตนของเขา ผู้เข้าร่วมท่านอื่นๆ ก็อาจจะพลอยเกิดความเข้าใจอะไรบางอย่างไปด้วย หน้าที่ของพยาบาลคนหนึ่งในตึกผู้ป่วยก็อาจจะไม่ใช่แค่การเช็ดตัวคนไข้ จ่ายยาฉีดยาหรือแทงน้ำเกลือให้กลับคนไข้ แต่เป็นการดูแลคนไข้ทั้งเนื้อทั้งตัวทั้งจิตใจ ให้เขาสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ หน้าที่ของพยาบาลทำคลอดก็อาจจะไม่ใช่แค่ดึงให้เด็กออกมาจากมดลูกของแม่ แต่เป็นการช่วยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตใหม่ดำรงอยู่ได้และสามารถผูกพันกับผู้เป็นแม่และอื่นๆ

คำถามสองข้อนี้แม้จะดูเหมือน “ธรรมดาๆ” เสียเหลือเกิน แต่ผมก็พบว่าเป็นคำถามที่จะช่วยให้เรา “ฝังแน่น” อยู่กับ “เป้าหมายแห่งการมีชีวิตอยู่” ของตัวเราได้อย่างไม่สั่นคลอนง่าย

และต่อเมื่อเราเข้าใจว่า “เราเป็นใคร” และเข้าใจถึง “ความหมายแห่งงานของเรา” แล้วเท่านั้น งานจึงจะไม่ใช่ “เครื่องตัดรอนพลังงานในชีวิตเรา” อีกต่อไป แต่จะสามารถเป็น “แหล่งพลังงาน” เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงตัวเรา หล่อเลี้ยงหัวใจของเราให้ชุ่มฉ่ำอิ่มเอิบ และทำให้เรามีโอกาสมองเห็นมุมมองใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

และงานแบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้เราเกิดรู้สึกที่มั่นคงอย่างแท้จริง เหมือนกับที่ชาร์มเมอร์ใช้คำว่า “Connect to the Source” ที่ตำแหน่งก้นตัวยูนั่นเอง

ถึงตรงนี้แล้วใครจะสามารถ “Connect to the Source” ได้หรือไม่อย่างไร ก็คงจะต้องแล้วแต่ “กรรมเวร” แล้วกระมังครับ?

One Comment

Halley กล่าวว่า...

ผมเชื่อว่าคนทำงานหลายๆ คน
นอกจากจะเหนื่อยกายแล้ว ยังเหนื่อยใจได้ง่ายมาก ถ้ามองไม่เห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่

ช่วงนี้กำลังอ่านรายงานการวิจัย "แผนที่คนดี" อยู่ครับ
แอบเห็นฐานคิดที่คล้ายๆ กันอยู่ลึกๆ ของบทความชิ้นนี้กับรายงานการวิจัยเล่มนั้น

ผมมองว่าคำตอบและการ "เป็น" (Being) ต่อคำถาม "คุณคือใคร" สำคัญมากเลยทีเดียว

พอมองเห็นความแตกต่างของคำตอบ และมุมมองต่องานที่คนขับรถ (หรือ "ผู้ขนส่งชีวิต" (Life Messenger)) ก็แอบเชื่อมโยงไปกับ "มุมมองสามทัศน์" ที่ผมเองก็เพิ่งได้ไปทำ Workshop กับมันมา

ถ้าเรามองงานของเราเป็นบุคคลที่ 3
คำตอบที่ได้คือคนขับรถ คนทำคลอด
แต่ถ้าเรามองงานของเราในมุมของบุคคลที่ 2
คำตอบที่ได้คือผู้ขนส่งชีวิต และผู้ให้กำเนิดชีวิต

ขอบคุณครับ สำหรับบทความจริงๆ ดีๆ งามๆ ในสภาวะที่ผมรู้สึกว่ามองไปทางไหน...ก็มีแต่งาน

Back to Top