จิตตปัญญาศึกษา: รุ่งอรุณแห่งจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2551

วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม วิกฤติการณ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหามลภาวะ ปัญหาโลกร้อน... สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางลบของการพัฒนาในกระแสหลักที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในยุคอุตสาหกรรมมาจนถึงยุคปัจจุบัน หากเรายังคงแนวคิดและพัฒนาตามกระแสในอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น ภายใต้การช่วยเหลือของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบไม่ยั้งคิดและขาดสติ โลกและมนุษย์ก็คงจะถึงกาลวิบัติที่เร็วมากขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์เอง

ลองมาจินตนาการสร้างภาพอนาคตดูเป็นตัวอย่าง โดยเริ่มจากสิ่งที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาในปัจจุบัน แล้วคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ นาโนเทคโนโลยี เวชภัณฑ์ การขนส่ง อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีอื่นๆ ได้เพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการของตนเองเพิ่มขึ้น การแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่จะเพิ่มเป็นทวีคูณตามพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อย

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนำไปสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจและธุรกิจเพิ่มขึ้น ช่วยให้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก ๑ พันล้านในปี ค.ศ. ๑๘๒๐ เป็น ๕ พัน ๕ ร้อยล้าน ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และประมาณ ๖ พันล้านคนในปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของประชากรจะมีผลก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและทุกขภาวะในหลายลักษณะ กระทบต่อระบบสวัสดิการที่ต้องพิจารณาใหม่ คนรุ่นใหม่ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อเลี้ยงดูคนสูงวัย คนแก่คนจนถูกทอดทิ้ง ปัญหาสิ่งเสพย์ติด...

ความก้าวหน้าด้านระบบขนส่ง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น มีการเคลื่อนย้ายประชากรกระจายไปทั่วโลก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่น เกิดการกลืนทางวัฒนธรรม

พัฒนาการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ การแผ่ขยายของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ประชาธิปไตยที่ไร้จิตวิญญาณ ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นลดถอย หายไป นอกจากนั้นยังเกิดปัญหามลภาวะ ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลง อันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ฉกฉวยและนำทรัพยากรทางธรรมชาติไปใช้อย่างไร้ขีดจำกัดภายใต้การกระตุ้นของระบบการค้าเสรี และข้อตกลงระหว่างประเทศรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้สูงสุด นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมายบนทิศทางการ “พัฒนา” ตามแบบอย่างของตะวันตก

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วมนุษย์ และโดยเฉพาะประเทศไทย จะมีทิศทางการพัฒนาไปในรูปแบบใด มนุษย์และโดยเฉพาะคนไทยจึงจะมีความสุข วัฒนธรรมที่ดีงามของไทยจึงจะยังคงดำรงอยู่เป็นมรดกของคนไทยและมวลมนุษยชาติ

การพัฒนาที่ดำเนินไป ดูเหมือนจะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น และดูเหมือนมนุษย์จะ มีการ “พัฒนา” แบบก้าวกระโดดมากขึ้น

แต่โลกก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เต็มไปด้วยสงครามในรูปแบบต่างๆ เต็มไปด้วยวิกฤติ

ทำไมยิ่งพัฒนา ยิ่งมีความทุกข์ ยิ่งมีความขัดแย้ง ยิ่งมีความเครียด อยู่ร้อนนอนทุกข์

ทำไมการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการเมืองที่ดำเนินอยู่ จึงไม่สามารถทำให้คนมีความสุข มีความรัก ความเมตตา ไม่สามารถทำให้สังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อม และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ขึ้น และที่สำคัญ ไม่สามารถทำให้โลกมีสันติภาพได้

หรือเราต้องหยุดคิด เพื่อพิจารณาอย่างจริงจัง อย่างมีสติและปัญญา เกี่ยวกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาที่ไหลไปตามกระแสอย่างขาดสติกันใหม่

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) และการศึกษารูปแบบอื่นๆ ที่เน้นการเรียนรู้และการพัฒนามิติด้านในของมนุษย์ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศตะวันตกและทั่วโลก ที่ประเทศไทยก็มีกลุ่มบุคคล องค์กร สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน นำแนวคิด แนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษามาเผยแพร่ ปฏิบัติ จัดอบรมมากขึ้น

มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มเปิดหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตเป็นแห่งแรกของประเทศไทยในปีการศึกษา ๒๕๕๑ คือ หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตตปัญญาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง มีนักศึกษารุ่นแรก ๑๔ คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ที่จบปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรีมาเรียนร่วมกัน

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์ และในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ๒๕๕๑ ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดอบรมด้านจิตตปัญญาศึกษาให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวน ๒ รุ่นๆ ละประมาณ ๔๐ คน แต่ละรุ่นมี ๔ หลักสูตรๆ ละ ๓ วัน และในตอนท้ายได้นำผู้เข้าอบรมทั้ง ๒ รุ่นมาประชุมร่วมกันสรุปบทเรียนและแนวทางการขยายผลร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในกลุ่มโกศล กลุ่มจิตวิวัฒน์ ศูนย์คุณธรรม และตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ “โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายคุณธรรมในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา: การอบรมภาวะผู้นำทางจิตตปัญญาศึกษาสู่มหาวิทยาลัย”

ความพยายามเริ่มต้นของการนำแนวคิดและวิธีการทางจิตตปัญญาศึกษามาใช้ในการพัฒนามนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการอบรมที่จัดโดยบุคคลและองค์กรต่างๆ การจัดการศึกษาในรูปแบบที่เป็นการศึกษาทางเลือก เช่นที่โรงเรียนสัตยาใส และที่สถาบันอาศรมศิลป์ รวมถึงการจัดการศึกษาในระบบปกติ เช่นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต่างล้วนอยู่ในช่วงของการเรียนรู้และพัฒนา จึงถือเป็นรุ่งอรุณของการสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษาที่สมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการพัฒนามนุษย์

และเพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเกี่ยวกับความหมาย แนวคิด และการปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษา ผู้เขียนขอนำเสนอภาพรวมความเข้าใจกว้างๆ ที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา เพื่อให้ผู้สนใจนำไปพิจารณาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันดังนี้

จิตตปัญญาศึกษาเป็นการศึกษาที่เน้นและให้คุณค่าในเรื่อง “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” เพื่อเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา (รู้เท่าทัน) มิติ/ปรากฏการณ์ด้านในของมนุษย์ (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ...) ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง (ได้รับผลกระทบจากและมีผลกระทบต่อ) กับมิติ/ปรากฏการณ์ภายนอก (คนอื่น สังคม เทคโนโลยี ระบบนิเวศ...) ผ่านกิจกรรมและกระบวนการที่หลากหลาย มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางความคิดและจิตสำนึกใหม่ เกี่ยวกับตนเองและสรรพสิ่ง ส่งผลสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างมีสติและปัญญา มีความรักความเมตตาต่อเองและสรรพสิ่ง ทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ

Back to Top