มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552
เมื่อมองไปที่ท้องฟ้า ฝูงดาวกำลังลาจาก พระอาทิตย์กำลังฉายแสงแห่งอรุณรุ่ง วิกเตอร์ อี แฟรงเคิล จิตแพทย์หนุ่มออสเตรียเชื้อสายยิว ขณะที่เดินกลับที่พักในค่ายกักกัน ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ หลังจากทำงานจนหมดเรี่ยวหมดแรง และมีอาหารตกถึงท้องเพียงน้อยนิด ก็ปล่อยตัวดื่มด่ำกับทัศนียภาพอันงามนั้นพร้อมกับหวนรำลึกถึงภรรยาผู้เป็นที่รัก เขาสนทนากับเธอ โต้ตอบกับเธอในห้วงคำนึง และลืมเลือนความทุกข์ทรมานขณะนั้นไปได้ในบัดดล
เขากล่าวในภายหลังว่า หากทราบว่าขณะนั้นภรรยาได้เสียชีวิตไปแล้วในค่ายกักกันอีกแห่ง เขาก็คงไม่ใส่ใจในข้อเท็จจริงนี้อยู่ดี โดยเหตุที่ภาวะความเป็นจริงในค่ายกักกันอันเหลือที่จะทนทานนั้น ย่อมผลักเขาเข้าสู่โลกภายในอีกแห่ง อันเป็นที่ดำรงอยู่ของจิตวิญญาณเบื้องลึก ที่ซึ่งทหารนาซีไม่อาจทำร้ายทำลาย และได้เพิ่มโอกาสที่จะรอดชีวิตให้กับเขา
ในค่ายกักกันอันแสนโหดร้ายทารุณนั้น ความทุกข์ทรมานผลักดันให้มีการฆ่าตัวตายสูงมาก จิตแพทย์หนุ่มเล่าว่า เวลาที่เขาเห็นคนใช้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เหลืออยู่ไปแลกเป็นบุหรี่ซึ่งมีราคาแพงมากในค่ายกักกัน และสูบจนหมดในคราวเดียว เขาทราบได้ในทันทีชายผู้นั้นกำลังจะฆ่าตัวตาย และตัวเขาเองก็ไม่อาจทำอะไรได้
แฟรงเคิลตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงใช่ว่าจะเป็นผู้มีโอกาสรอดชีวิต ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่กลับกลายเป็นพวกปัญญาชนกล้องแกล้ง ที่มีศรัทธากับอะไรบางอย่าง รู้ว่าชีวิตต้องการอะไร และผู้คนเหล่านี้ก็ดำรงชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนั้น ไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะทุกข์ทรมานเพียงใด
ขณะเดียวกัน ก็ใช่ว่าผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันทุกคนจะเป็นคนดีที่ปราศจากรอยด่างพร้อย เพราะโดยมากแล้ว ความโหดร้ายของทหารนาซียังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ผู้คุมชาวยิวกระทำกับนักโทษชาวยิวด้วยกันเอง
ตัวของแฟรงเคิลเองนั้น มีเพียงความปรารถนาสองประการคือ การกลับไปหาครอบครัว และการเขียนตำราทางจิตบำบัดขึ้นมาใหม่แทนต้นฉบับที่ถูกทำลายไปหลังจากถูกจับ ที่ผลักดันให้เขามีชีวิตอยู่
หลังจากรอดชีวิตจากค่ายกักกัน เขากลับมาเป็นอาจารย์และจิตแพทย์ที่รักษาด้วยวิธี Logotherapy ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามสำนักจิตบำบัดอันโด่งดังของเวียนนา โดยช่วยให้ผู้ป่วยที่ประสบกับความทุกข์ในชีวิต ค้นพบความหมายของการมีชีวิตอยู่ด้วยตัวของผู้ป่วยเอง เพราะเขาเชื่อว่าเมื่อมนุษย์ค้นพบความหมายของชีวิต ไม่ว่าจะประสบความทุกข์ยากลำบากอย่างไร มนุษย์ก็จะทำทุกวิถีทางที่จะฝ่าฝันอุปสรรคขวากหนามเหล่านั้น เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ดังที่ ฟรีดดริก นิตเช่ กล่าวไว้ว่า "He who has a why for life can put with any how."
เทนซิน โชดรัก แพทย์ชาวทิเบต เคยเป็นแพทย์หลวงให้กับทะไล ลามะ ก่อนที่จีนจะบุกเข้ามายึดครองทิเบต ท่านกลายเป็นหนึ่งในสามคน จากนักโทษฉกรรจ์ ๗๒ คนของจีน ที่รอดชีวิตอยู่หลังจากถูกกักขังและทรมานเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๑ ปี
ระหว่างที่อยู่ในคุกและได้รับ “การศึกษา” ทั้งจากผู้คุมชาวจีนและนักโทษชาวทิเบตด้วยกันเอง ท่านยึดถืออุดมคติของพระโพธิสัตว์เป็นที่พึ่ง โดยมองว่าเคราะห์ร้ายที่ท่านประสบเป็นดังเครื่องส่งเสริมให้ได้ปฏิบัติธรรม มองเห็นความทุกข์ที่คนทิเบตได้รับเป็นเช่นเดียวกับความทุกข์ของนักโทษชาวจีน และนักโทษอื่นๆ และไม่มุ่งร้ายต่อผู้ที่สร้างความทุกข์ให้ท่าน ดังที่ท่านก็ทำหน้าที่แพทย์อย่างเต็มกำลังในการรักษาต่อผู้คุมชาวจีนเมื่อเขาเหล่านั้นเจ็บป่วย
เมื่อมีความโกรธไม่พอใจต่อผู้กระทำทัณฑ์ทรมาน ท่านก็นั่งสมาธิ ภาวนา สวดมนต์ เพื่อถอดถอนความโกรธ การปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ทำให้ท่านมีขันติธรรมเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และท่านเองก็สังเกตว่า ผู้หญิงคาทอลิกและชาวมุสลิมก็เผชิญกับความทุกข์ในคุกได้อย่างทรหดอดทนพอๆ กับลามะบางรูป
และเช่นเดียวกับผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันของนาซี ไม่ใช่ว่าผู้รอดชีวิตทุกคนจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปรกติ หลายคนเสียสติ และ/หรือมีปัญหาทางจิต ทั้งผู้คุมชาวจีนและนักโทษทิเบตที่ละทิ้งหนทางธรรม ท่านมองว่าในช่วงที่ต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมที่ผ่านมา ผู้มีศาสนธรรมเป็นที่พึ่งย่อมโชคดีกว่ามาก ทั้งในเวลาประสบกับเคราะห์และหลังจากผ่านพ้นเคราะห์นั้นมาได้แล้ว
เด็กชายชาวไต้หวันอายุ ๙ ขวบ อย่างโจวต้ากวนจะรู้จักทฤษฎีของแฟรงเคิลหรือได้ยินเรื่องราวของ เทนซิน โชดรัก หรือไม่ก็ไม่รู้ได้ หากแต่เมื่อเขาถูกแพทย์พิพากษาว่าเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อ ภายในเวลา ๑ ปี เขาต้องรับมือกับการจู่โจมของมือสังหารในการทำเคมีบำบัด ๗ ครั้ง มารน้อยรังสีบำบัด ๓๐ ครั้ง ผีดูดเลือดในการผ่าตัด ๓ ครั้ง กินยา ฉีดยา เจาะเลือดนับครั้งไม่ถ้วน และตัดขาออกไปข้างหนึ่ง แต่สิ่งที่ปรากฏในบทกวีของเขาก็คือ
“ฉันยังมีขาอีกข้างหนึ่ง
ฉันจะเดินไปทั่วโลกที่งดงามนี้”
แปลโดย เรืองรอง รุ่งรัศมี
ท่ามกลางมหาทะเลแห่งความรู้สึกอันหลากหลาย โจวต้ากวน เด็กอายุ ๙ ขวบ ได้เลือกความสงบ ความมั่นคง และความอยู่รอดเป็นเพื่อน บทกวีของเขาที่พ่อและแม่รวบรวมมาตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตบ่งบอกถึงสภาวะจิตอันกล้าหาญของเด็กชายตัวน้อยผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
เรื่องราวของโจวต้ากวน เทนซิน โชดรัก และ วิกเตอร์ อี แฟรงเคิล ยืนยันว่า ในท่ามกลางความทุกข์นั้น มนุษย์มีทางเลือกเสมอ มนุษย์ย่อมมีอิสรภาพในการเลือกทัศนคติและสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เมื่อมนุษย์ค้นพบความหมายของชีวิต เขาหรือเธอย่อมพบที่พักพิงแห่งจิตวิญญาณ และไม่มีมะเร็งร้ายหรือผู้คุมที่โหดร้ายคนใดสามารถแย่งชิงหรือควบคุมจิตวิญญาณภายในนั้นได้
2 Comments
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
เพราะหากเรามีสติและสมาธิแล้วจิตจะเข้มแข็งและสามารถผ่านพ้นเรื่องร้ายๆ ได้
บางคนอาจมองว่าเป็นปาฏิหาริย์....แต่นั่นคือความจริง
ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยะสงฆ์ทรงค้นพบ
เห็นด้วยค่ะ
มิเช่นนั้นคงอยู่ที่นราธิวาสไม่ได้
แสดงความคิดเห็น