มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552
ผู้ฝึกหัดสมาธิภาวนาใหม่ๆ มักจะได้เรียนรู้ถึงการทำความรู้สึกตัวผ่านการเฝ้าสังเกตลมหายใจ หรือการเดินจงกรม หรือถ้าให้ร่วมสมัยก็ต้องเรียกว่าฝึกเดิน 'วิถีแห่งสติ' แต่ถึงกระนั้นการฝึกภาวนาด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้ก็ยังสร้างปัญหาให้กับบรรดามือใหม่หัดภาวนาทั้งหลายอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่ตั้งแต่เล็กจนโต เราไม่ได้ถูกฝึกให้สังเกตร่างกายของเราอย่างประณีตลึกซึ้งมาก่อน การอบรมบ่มเพาะในหลักสูตรการศึกษาก็ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยมาก การบริหารออกกำลังกายก็เต็มไปด้วยท่วงท่าที่สะท้อนถึงระบบการฝึกระเบียบวินัยแบบทหาร มากกว่าที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการค้นหาท่าทาง และการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระเสรี เรามักจะคุ้นชินกับทำท่ากายบริหารแบบกระโดดตบและนับตัวเลข ๑-๒-๓-๔ หรือเต้นตามเพลง แอโรบิคที่มีเพลงตูมตามเสียงดังสนั่น โดยไม่รู้เท่าทันว่านั่นเท่ากับเป็นการไปสร้างเงื่อนไขให้ร่างกายคุ้นชินกับการทำไปอย่างอัตโนมัติ ราวกับเครื่องจักร จะมีน้อยคนที่จะปรับคลื่นจูนหัวใจให้เข้าถึงจิตวิญญาณของแต่ละท่วงท่าจนสามารถออกท่าออกทางได้อย่างสวยงาม
หากการเคลื่อนไหวในโหมดตึงตังโครมครามเป็นวิธีเดียวที่เรารู้จัก ความลึกซึ้งอ่อนโยนต่อการเคลื่อนไหวย่อมเกิดได้ยาก ด้วยเหตุนี้การฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายในแบบเนิบช้า เช่น การรำมวยจีนไทฉีฉวน ไทเก๊ก หรือการฝึกโยคะ จึงทำให้ผู้ฝึกสามารถสัมผัสสัมพันธ์เชื่อมโยงกายและจิตเข้ามาหากันได้มากกว่า แต่อุปสรรคสำคัญก็คือ การฝึกศาสตร์และศิลป์เก่าแก่เหล่านี้มีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมตามสอยห้อยติดมาด้วย ท่าทางการเคลื่อนไหวต่างๆจึงถูกกำหนดมาไว้ล่วงหน้าอย่างมีแบบแผน หากผู้ใดผู้หนึ่งไปยึดติดกับแบบแผนเหล่านี้อย่างมืดบอดแทนที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือนำพาสู่อิสรภาพของการเคลื่อนไหวร่างกาย ก็เหมือนกับการไปสร้างกรงขังให้กับตัวเอง การไปสู่อิสรภาพของการเคลื่อนไหวร่างกายย่อมเป็นไปไม่ได้
ในการฝึกทักษะการละคร (ในที่นี้หมายถึงทักษะการละครสมัยใหม่โดยทั่วๆ ไป) ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด สิ่งที่ผู้ฝึกสอนมักจะให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ก็คือการให้ความสำคัญกับ 'ร่างกาย' นักแสดงจะถูกบอกกล่าวให้เห็นถึงความจำเป็นที่ตนจะต้องค้นหาและทำความเข้าใจกับร่างกายของตนเอง ในฐานะเครื่องมือสื่อสารความคิดและความรู้สึก แบบฝึกหัดหลายหลากจะถูกนำมาใช้เพื่อฝึกฝนทักษะในการ 'ทำความรู้จักกับร่างกายตัวเอง' ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเรื่องผัสสะและการรับรู้ให้เฉียบคม คล่องแคล่วว่องไว เช่น ให้รู้สึกในสิ่งที่กำลังสัมผัส ฟังในสิ่งที่ได้ยิน เห็นในสิ่งที่มองดูอยู่ ที่เรียกว่า Sensory Exercises ฯลฯ ฝึกความจำได้หมายรู้ (สัญญา) อารมณ์ความรู้สึก (เวทนา) และจินตนาการ จากนั้นจึงให้นำทุกสิ่งทุกอย่างมาเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างประณีตเนียน ถ้ามองเพียงเท่านี้ จะเห็นว่าการฝึกละครย่อมเป็นหนทางที่จะทำให้ผู้ฝึกเดินเข้าสู่ประตู่ของภาวนาได้ดียิ่งทางหนึ่งไม่แพ้ทางใด หากนักปฏิบัติธรรม หรือผู้ใฝ่ในการวิวัฒนาจิตวิญญาณยังตั้งแง่รังเกียจละครว่าเป็นเรื่องทางโลก และโยนทิ้งไปเสียเฉยๆ ก็นับว่าน่าเสียดาย
จากประสบการณ์ตรงของการเป็นนักการละคร และกระบวนกรสอนภาวนา ผมพบว่าเมื่อได้สอนผู้เข้าร่วมอบรมในเรื่องการภาวนา ผู้ที่ไม่เคยฝึกละครมาก่อนจะยังไม่เข้าใจเรื่องการผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) ด้วยเพราะไม่เคยถูกฝึกให้สังเกตการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายอย่างละเอียดประณีต พอฝึกให้รู้สึกตัว หลายคนพบว่าผัสสะของตนเฉื่อยชาไม่ตื่นตัว ความรู้สึกตัวจึงไม่ชัดเจน หลงง่าย มัวง่าย หรือบางคนก็เพ่งจ้องเกินไปโดยไม่รู้ตัว เหตุเพราะไม่รู้จักวิธีผ่อนคลายร่างกาย ส่วนบางคนเมื่อเริ่มทำอานาปานสติ กลับรู้สึกว่าเห็นท้องพองยุบไม่ชัด แต่หากฝึกการละครมาก่อนเรื่องการหายใจจะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะนักแสดงที่เอาจริงเอาจังทุกคนจะถูกฝึก ถูกเน้นในเรื่องการหายใจอย่างเคี่ยวข้น
ทักษะนี้เป็นคุณูปการอย่างสูงเมื่อมาฝึกภาวนา ซึ่งได้ทั้งสมถภาวนา หรือข้ามไปสู่กายานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ เลยก็ย่อมได้ ส่วนการฝึกเรื่องอารมณ์ความรู้สึกนั้น ก็จะช่วยเวลามาทำ จิตตานุปัสสนา และเวทนานุปัสสนา จะเห็นความเกิดดับง่ายไม่เตลิดไปตามการปรุงของอารมณ์ ด้วยเหตุที่นักแสดงถูกฝึกให้แยกจิตแยกประสาทออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก แต่อีกส่วนหนึ่งจะต้องถอยออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู เพราะถ้าหากในสถานการณ์ของเรื่องกำหนดให้ต้องแสดงอารมณ์โศกเศร้า นักแสดงก็ต้องแสดงไปตามนั้น แต่ในใจต้องแยกการรับรู้ออกมาเห็นความเป็นไปของสิ่งที่อยู่รอบตัวด้วย ถ้าหากเอาแต่เศร้าโศกจนเมคอัพที่หน้าเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หรือเศร้าเสียใจจนไม่รู้ว่าบทพูดที่จะต้องพูดต่อไปเป็นเรื่องอะไร หรือไม่ได้ยินไม่ได้ฟังนักแสดงท่านอื่นเสียแล้ว แสดงว่านักแสดงผู้นั้นตกเป็นทาสอารมณ์ ไม่รู้เท่าทัน หรือไม่เป็นผู้รู้ผู้ดู นักแสดงจึงถูกฝึกหัดให้กล้าเผชิญกับอารมณ์ความรู้สึกของตนไม่ถอยหนี ปฏิเสธ หรือกดทับเอาไว้
หากมองในแง่นี้ผลดีที่เกิดก็คือ หากไปฝึกดูจิต ทำวิปัสสนาย่อมเห็นได้ชัด ไม่เชื่องช้าเหมือนกับผู้ที่ทำสมถะกดข่มอารมณ์เอาไว้เป็นปีๆ แต่ผลเสียก็มีหากนักแสดงผู้นั้นไม่มีปัญญามากำกับ ก็จะปล่อยเลยตามการปรุงแต่งของอารมณ์ และหลงเข้าไปติดอยู่กับ โลภะ โมหะ โทสะ แทนที่จะทำให้น้อยกลับไปเพิ่มพละกำลังให้ตัวตัณหาอัตตาเสียนี่ เป็นที่น่าเสียดายที่ละครที่ทำๆ กันอยู่ทั่วไปไม่กระตุ้นให้เกิดปัญญาทั้งผู้เล่นและผู้ชม ก็จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร หากผู้จัดทำนั้นทำด้วยเจตนารมณ์ที่เจือด้วยอกุศลจิต เจตนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ การไปเหมารวมว่าละครทั้งหมดเป็นของมัวเมาย่อมมิควรได้ เพราะหากผู้จัดทำและนักปฏิบัติมีเจตนาที่เป็นกุศลก็น่าอนุโมทนา และยิ่งดีไปกว่านั้นหากว่าละครนั้นถึงพร้อมด้วยกุศลเจตนาและโน้มนำให้เกิดสัมมาปัญญา
เพราะเจตนาหากไม่ดีเสียแล้ว ต่อให้เปลือกนอกดูเป็นการทำบุญสุนทาน ภายในกลับเป็นปลากระป๋องเน่า แต่ละครที่ดูเผินผาดคล้ายจะมัวเมา แต่หากมีกุศลเจตนาตั้งมั่นอยู่ ย่อมไปกระตุ้นให้คนดูฉุกคิดได้รับ 'ทานทางปัญญา' อันชุ่มชื่นและเบิกบานในที่สุด
2 Comments
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับมุมมอง ของนักละคร ช่วยสะท้อนให้หนู เข้าใจถึง ความเชื่อของตัวเองมากขึ้น ความเชื่อที่ว่า ผู้มีปัญญา ย่อมเรียนรู้และพัฒนา จิตปัญญา ได้จากทุกเรื่องราว และทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเวทีชีวิต เวทีการทำงาน และเวทีโลก ที่เราก็แค่ สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆบนโลก ในจักรวาล นี้ ขอบคุณเสียงดนตรีสด ในงานสานจิตรเสวนา วันที่ 10 กันยา 52 ที่ผ่านมา นะคะ ถ้าไม่แอบลืมตาก่อนเวลา คงไม่มีโอกาสรู้ว่า ใครเป่าแน่ๆเลยค่ะ ความรู้สึกที่ได้ยิน เหมือนได้คุยกันกับเสียงดนตรีเลยนะคะ พี่ศรชัย สามารถคุยกับผู้ฟัง โดยใช้ดนตรี ตัวนี้ บ่อยไหมค่ะ จากน้องกุ้ง คนโชคดี ที่ได้รับโอกาสทอง จากอาจารย์หมอโกมาตร และทุกท่าน ในวงสนทนา ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีจำลอง ของวงจิตวิวัฒน์ เมื่อวันนั้น เองค่ะ
รู้สึกประทับใจ และรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น และพลังของเมตตาธรรม ของอาจารย์ ทุกท่าน เมื่อพี่ศรชัย บอกว่า เห็นอาจารย์หมอประเวศ คุยกับ อาจารย์หมอประสาน ทีไร เหมือนในวงสนทนา มีเด็ก 2คน กำลังหยอกกัน อย่างนั้นเลย ถ้ามีบุญถึง ในความเมตตานั้น ขอภาวนา ให้ตัวเอง มีโอกาสอยู่ในเหตุการณ์ วงจิตวิวัฒน์ อีกสักครั้งนะคะ จากน้องกุ้ง
แสดงความคิดเห็น