จิตวิทยาการศึกษา – วิวัฒน์สู่เอสคิวจิตวิญญาณ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2552

สำหรับความคิดส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดและเชื่อว่าสมองไม่ใช่จิต แต่จิตต้องพึ่งสมองในการบริหาร โดยจะบริหารจิตไร้สำนึกโดยรวมของจักรวาล ซึ่ง คาร์ล จุง เรียก (universe unconscious continuum) – ที่จวงจื๊อบอกว่าคือ เต๋าที่อยู่ทุกหนทุกแห่งและทะลุทะลวงทุกๆ สรรพสิ่งของจักรวาล - ให้เป็นจิตสำนึกของปัจเจกบุคล - นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อทั้ง เคน วิลเบอร์ ฌอง เก็บเซอร์ อับบราฮัม มาสลอฟ ฯลฯ รวมทั้งทุกศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ที่บอกว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องมีวิวัฒนาการของจิตโดยธรรมชาติไป ตามลำดับของสเปกตรัม พระพุทธเจ้าบอกว่า มนุษย์ทุกๆ คนและสัตว์โลกทั้งหลายจะบรรลุธรรม (transcendence or spirituality) และเข้าถึงนิพพานกันทั้งนั้น

ผู้เขียนจึงสรุปตามนักฟิสิกส์ใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกทุกคนเท่าที่รู้ว่า สมองจำเป็นสำหรับจิต จิตไม่ใช่สมอง ไม่ใช่ผลผลิตของการทำงานที่ซับซ้อนของสมองดังที่นักประสาทวิทยาศาสตร์เชื่อ ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วมาก

บทความนี้ผู้เขียนได้มาจากหลายๆ ที่มา ซึ่งจะไม่อ้างอิงเพราะมากเหลือเกินจนอ้างไม่ไหม สรุปได้ว่าเอามาจากสามแหล่งมาใหญ่ๆ (นอกจากที่คิดเอาเอง) คือจากพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน ปรัชญาและจิตวิทยาจาก จอห์น เซิร์ล วิลเลียม เจมส์ และคาร์ล จุง กับนักฟิสิกส์ใหม่ทั้งสองทฤษฎี โดยเฉพาะแควนตัมแมคคานิกส์ คือผู้เขียนเชื่อดังได้กล่าวมาแล้วว่า

หนึ่ง จิตไม่ใช่สมอง แต่สมองเป็นตัวแทนหรือตัวแสดงของจิต สอง จิตรู้หรือจิตสำนึก (conscious mind) ที่อยู่ในปัจเจก มาจากจิตไร้สำนึกร่วมของสากลของจักรวาล สาม สมองมีหน้าที่บริหารหรือเปลี่ยนจิตไร้สำนึกร่วมที่เข้ามาอยู่ในสมองของแต่ละคนให้เป็นจิตสำนึกด้วยกลไกทางแควนตัม (wave collapse) ข้อสามนี้จะยกเว้น “จิตหนึ่ง” ซึ่งเป็นแก่นแกนของจิตไร้สำนึกอันกระจ่างใส ซึ่งอยู่ภายในสุดของจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาล (ที่เราเรียกเช่นนั้นเฉพาะขามาของวิวัฒนาการของจักรวาล จากหนึ่งสู่ความหลากหลายเท่านั้น ส่วนวิวัฒนาการขากลับจากความหลากหลายกลับไปหาหนึ่งนั้น เราจะเรียกว่านิพพานซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับจิตหนึ่ง) – ตรงกับภาษาอังกฤษ uni + verse หวนกลับไปหาหนึ่ง

นักศาสนานักปรัชญาส่วนใหญ่เชื่อว่า จิตสำนึกต้องหาแก่นแกนของจิตไร้สำนึกให้พบ หรือรวมกับแก่นแกนของจิตด้วยวิวัฒนาการขากลับ ตามวิวัฒนาการธรรมชาติของจิต ผ่านจิตวิญญาณ อันเป็นจิตเหนือสำนึก (superconsciousness) ไปเรื่อยๆ จนถึงนิพพาน ฉะนั้นสิ่งที่ชมรมจิตวิวัฒน์บอกว่า ชมรมมีขึ้นเพื่อสร้าง “จิตสำนึกใหม่” ให้แก่คนไทยและสังคมไทยนั้น ผู้เขียนคิดว่า “จิตสำนึกไม่” ในที่นี้คือจิตเหนือสำนึก (superconscious mind) หรือการเร่งให้เกิดวิวัฒนาการสู่จิตวิญญาณ

บทความวันนี้มีความประสงค์จะชี้บ่งถึงการปลูกฝังหรือเร่งเร้าให้มนุษย์เกิดมีวิวัฒนาการของจิตเหนือสำนึกเร็วขึ้นและมากขึ้น เพราะภัยธรรมชาตินานัปการซึ่งเราสร้างขึ้นมาด้วยมือของเราเองจากความไม่รู้และความอวดดี กำลังมา (อวิชชา และ anthropocentric) นั่นคือ เอสคิว (SQ) ซึ่งคนทั่วไปเรียกกัน (social quotient) ซึ่งสัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ของสังคมในขณะนั้นๆ แต่ไม่สัมพันธ์กับวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ฉะนั้น ในที่นี้ เอสคิวจะหมายถึงจิตวิญญาณ (spiritual quotient) ซึ่งนักจิตวิทยาเด็กมักจะพูดรวมๆ กันไปกับสติปัญญาความฉลาดที่วัดได้ (IQ) ที่ ฟรานซิส แกลตัน นักจิตวิทยาอังกฤษคิดขึ้น และแพร่มาถึงบ้านเราเมื่อตอนที่ผู้เขียนยังเล็กๆ และบ้านเราก็รับทันที เพราะ ฟรานซิส แกลตัน เชื่อนักเชื่อหนาว่าสืบทอดในตระกูลได้โดยกรรมพันธุ์ อย่างน้อยก็เป็นลักษณะจำเพาะเป็นพิเศษประจำครอบครัว ที่ผู้เขียนบอกว่า บ้านเรารับในทันทีตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ – ทั้งๆ ที่มีข้อมูลใหม่ๆ ที่บอกว่า การวัดสติปัญญาความฉลาด หรือไอคิวนั้น เชื่อถือไม่ได้ เพราะว่าความเชื่อดังกล่าวเกิดไปตรงกับภูมิปัญญาชาวบ้านของเราที่บอกว่า “เสือย่อมไม่ทิ้งลาย” หรือ “เชื้อย่อมไม่ทิ้งแถว” อะไรพวกนี้ นั่นคือ ถ้าพ่อเป็นโจรก็ให้ระวังลูกที่อาจเป็นโจรตามพ่อก็เป็นได้ จริงๆ แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะถูก ถ้าไม่เป็นพันธุกรรมก็เป็นลักษณะจำเพราะที่ว่า

ส่วนอารมณ์ความรู้สึก ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ความรู้สึกแยกออกจากอารมณ์ (EQ) ไม่ได้ ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ จึงแยกจากเวทนาไม่ได้ เพราะอารมณ์นั้นเป็นผลพวงของความรู้สึกทางกายภาพเป็นไปในทันทีทันใด คือห้ามไม่ให้มันเกิดไม่ได้ แต่ระงับได้ โดยจิตที่อยู่เหนือสำนึกที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติบางส่วนที่ซ่อนตัวอยู่ลึกล้ำที่ภายใน ซึ่งจะโผล่ปรากฏออกมาเมื่อชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตรายหรือกำลังจะตายทันทีถ้าหากช่วยไม่ทัน จิตเหนือสำนึก (spirituality หรือในที่นี้คือ SQ) คือจิตพ้นผ่านหรือก้าวล่วง – จิตสำนึกที่เรียกว่าจิตวิญญาณหรือธรรมจิตนี้ คือจิตบริสุทธิ์ที่งามพร้อม เป็นเป้าหมายสูงสุดของในทุกๆ ศาสนา ในศาสนาพุทธคือเส้นทางไปสู่นิพพาน ส่วนในศาสนาที่มีพระเจ้าคือการที่จิตอันบริสุทธิ์แต่ละดวงจะได้รวมกับจิตของพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียว

สามความฉลาดที่ว่า ทั้งไอคิว อีคิว และเอสคิว นั้น มีส่วนที่มนุษย์สามารถสร้างบางส่วน หรือเร่งเร้าให้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งนักจิตวิทยาที่ศรัทธาในพระเจ้าผู้สร้างโลกสร้างจักรวาลรวมทั้งสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงโดยเฉพาะมนุษย์ - เชื่อ มนุษยชาติได้ผ่านหรือพบกับไอคิวและอีคิวมาแล้ว แต่เรายังขาดเอสคิว - จิตวิญญาณที่โดยปกติแทบไม่มีเลย ที่มีอยู่บ้างก็ถูกซ่อนตัวเอาไว้อย่างล้ำลึก นั่นคือเนื้อหาสาระของบทความวันนี้

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายถึงการสร้างสรรค์ของมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดที่วัดได้ (นักจิตวิทยาการศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเชื่อ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ว่าวัดไม่ได้) เราจะต้องรู้ความหมายของทั้งสามความฉลาดเสียก่อน (ไอคิว อีคิว และเอสคิว) จึงจะขออธิบายนิยามของสติปัญญาความฉลาด (intelligence) รู้และเข้าใจอารมณ์ที่แยกออกจากความรู้สึกยากมาก (emotion) และจิตวิญญาณ (spirituality) พอสังเขปตามที่ผู้เขียนเข้าใจ

ในความเห็นของผู้เขียน ไอคิว อีคิว และเอสคิวนั้น เราเอาเรียงกันอย่างผิดๆ ซึ่งหากเราเรียกตามการเจริญเติบโตวิวัฒนาการ ไม่ใช่สนใจหรือว่าพบอันไหนและวัดอันไหนก่อน ความฉลาดทางอารมณ์ต้องมาก่อนเพื่อนนานนักหนา เพราะเป็นเรื่องของการ “รู้รอด” ซึ่งสัมพันธ์กับสัญชาตญาณ จริงอยู่ ทั้งสามเป็นวิวัฒนาการของจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลที่เข้ามาอยู่ในปัจเจกบุคคลเพื่อ “การรู้” (cognition) แต่อีคิวเป็นวิวัฒนาการที่หยาบซึ่งมาก่อนในสัตว์ที่ระบบลิมบิกวิวัฒนาการแล้วเท่านั้น เราต้องรู้ว่าจักรวาลมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ วิวัฒนาการ และวิวัฒนาการนั้นจะต้องดำเนินไปสู่ “การรู้” ที่สูงขึ้นกว่า ซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่า และลึกล้ำมากขึ้นกว่าตลอดเวลา ทั้งในทางกายภาพและทางจิตภาพ แต่กายภาพจะมีวิวัฒนาการก่อน และจิตภาพมาทีหลัง โดยมีวิวัฒนาการช้ากว่ากระทั่งในคนส่วนใหญ่มากๆ หรือแทบทุกคน ซึ่งพุทธศาสนาบอกว่าจะต้องมีการสะสมบารมีข้ามภพข้ามชาติมาตลอดเวลา นั่นเป็นวิวัฒนาการสุดท้ายของจักรวาลเมื่อมนุษย์ทุกคนสามารถจะ “รู้แจ้ง”

เคน วิลเบอร์ จะบอกว่า วิวัฒนาการทางจิตใจมนุษย์ ผ่านสเปกตรัมต่างๆ ที่เรียกว่า “เส้นทาง” (line) – จะเป็นการต่อยอดของเส้นที่เดิมมีเพียงเส้นทางเดียวก็ได้ หรือเป็นวิวัฒนาการที่เริ่มต้นจะมีหลายๆ เส้นทางก็ได้ ฉะนั้น เส้นทางจึงไม่มีความสำคัญเมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของจิตรู้ที่สัมพันธ์กับรูปร่างทางกายภาพ

แต่ผู้เขียนเชื่อว่า หากพิจารณาจากลักษณะของความเป็นองค์รวมของวิวัฒนาการ องค์กรใหม่จะเป็นวิวัฒนาการขององค์เก่า บวกกับส่วนที่ได้มาใหม่เสมอ (transcend and include) ซึ่ง เคน วิลเบอร์ ได้พูดมาเองและผู้เขียนเชื่อเช่นนั้น กระบวนการวิวัฒนาการก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลาย จะต้องเรียนรู้หรือวิวัฒนาการมาตามลำดับ “รู้รอด” ต้องผ่านสัญชาตญาณก่อน และ “รู้เพื่อรู้” ต้องตามหลังรู้รอด ฉะนั้นสติปัญญาความฉลาด (intelligence) จึงต้องตามหลังการต่อสู้และหนีภัย และความฉลาดเหนือสติปัญญา (wisdom) ต้องผ่านความฉลาดธรรมดาๆ ก่อน เอสคิว หรือการรู้ของจิตวิญญาณ (spirituality) - อันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งแทงตลอดและวิมุตติ – จึงเหนือกว่าสติปัญญาความฉลาดธรรมดามากนัก

สรุปได้ว่า ทั้งศาสนาและปรัชญากับทั้งวิทยาศาสตร์ – ที่ต่างพยายามอธิบายความจริงแท้ของธรรมชาติ แต่อธิบายบนหลักการและวิธีการคนละอย่างแตกต่างกัน บอกเหมือนๆ กันว่า ความแท้จริงมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งศาสนปรัชญาบอกว่ามีจิตเป็นปฐม ส่วนวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นรูปกายวัตถุที่ตั้งอยู่ข้างนอก แล้วถึงอธิบายจักรวาลซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างไปตามนั้น และทั้งสองบอกว่าจักรวาลมีเป้าหมายอย่างเดียวจริงๆ คือวิวัฒนาการ

วิวัฒนาการไปทำไมหรือ?

ทั้งศาสนากับวิทยาศาสตร์บอกว่าวิวัฒนาการเพื่อให้ชีวิตกับมนุษย์ดำรงอยู่ได้ นั่นคือที่มาของความรู้ เห็นกับไม่เห็น ไม่เห็นนั้นพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หรือรูปกายวัตถุไม่ได้ เพราะจิตไม่ใช่กาย วิทยาศาสตร์จึงปลดความรู้ออกจากศาสนา เหลือไว้แต่ความเชื่อความศรัทธา ซึ่งวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่ใช่ความจริง ส่วนศาสนาก็เถียงว่าวิทยาศาสตร์ไม่ยุติธรรม เพราะใช้แต่วิธีการทางรูปกายวัตถุอย่างเดียวในการพิสูจน์ แต่ไม่ใช้วิธีการทางจิตเลย เช่นการทำสมาธิที่มีในทุกๆ ศาสนา จากนั้นเมื่อเถียงกันไม่รู้จักจบเป็นต้นมา ทั้งสองก็แยกกันโดยเดินกันคนละทาง กระทั่งมีฟิสิกส์ใหม่ที่คล้ายๆ กับศาสนาโดยเฉพาะศาสนาที่อุบัติขึ้นทางตะวันออก ฟิสิกส์ใหม่ซึ่งให้ความจริงแท้ของธรรมชาติ (ทั้งสองระดับคือทั้งกายและจิต) ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์กายวัตถุเป็นไหนๆ

เอสคิวที่ผู้เขียนหมายถึงในที่นี้ คือการวัดความฉลาดทางวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ และความฉลาดนั้นก็ไม่ใช่สติปัญญา (intelligence) หากแต่เป็นปรีชาญาณ ญาณการหยั่งรู้ และภาวนามยปัญญา (intuition or wisdom) ซึ่งเป็นไปเพื่อวิวัฒนาการของเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล คือเป็นอารมณ์ด้านบวก อารมณ์ทุกๆ อารมณ์จะไม่มีเหตุผลทั้งนั้น จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ อารมณ์กับเหตุผลเชื่อกันว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้ามีเหตุผลก็ต้องไม่มีอารมณ์ หรือถ้าหากกำลังมีอารมณ์อยู่ก็อย่าหวังว่าจะใช้เหตุผลช่วยได้ เพราะเราอยู่ในยุคที่มีเหตุผลเป็นใหญ่ - ที่ผิดความจริงทางแควนตัมอย่างชัดๆ – ดังนั้นเรื่องของอารมณ์โดยเฉพาะด้านลบจึงเป็นของต้องห้าม เป็นเรื่องที่ผิด แต่ผลของการวิจัยใหม่ๆ ชี้บ่งอย่างเป็นตรงกันข้าม ทั้งสองกลับเสริมเติมซึ่งกันและกันเพื่อวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ เช่น รัก เมตตา และให้อภัยด้วยใจจริง อารมณ์ช่วยให้เหตุผลเกิด และเหตุผลจะช่วยกำจัดอารมณ์ในคราวต่อๆ ไปให้มีน้อยลงๆ และค่อยๆ หมดไป (Antonio Damasio: Descartes’ Error, 1999) โลกในอนาคตอันใกล้นี้ การอยู่รอดของมนุษยชาติจะไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลและสติปัญญาความฉลาดอีกต่อไปแล้ว แต่จะขึ้นกับภาวนามยปัญญาซึ่งมีเป็นปกติธรรมชาติต่อเมื่อมนุษยชาติมีวิวัฒนาการทางจิตไปสู่ระดับจิตวิญญาณเส้นทางไปสู่นิพพานแล้ว

One Comment

happiness กล่าวว่า...

แล้วถ้าอย่างนั้น เราควรทำอย่างไรดีคะ คิดบวกไม่ดี แล้วเราควรคิดลบหรือว่าควรไม่คิดอะไรเลย

อันที่จริงแล้ว ในทุกสิ่งมีทั้งสองด้าน คือ ด้านดีและด้านลบ ด้านมืดและด้านสว่าง

และแน่นอน ในเมื่อคุณเห็นด้านมืดของการคิดบวก คุณย่อมเห็นด้านสว่างของการคิดลบ (เช่น ไม่กล้าเดินที่เปลี่ยวในตอนกลางคืนเพราะอาจเกิดอันตรายได้ ผลก็คือทำให้คุณปลอดภัย)

ดังนั้นในการมองสิ่งใดเราควรมองให้รอบคือ คิดในด้านบวกและคิดทั้งด้านดี เพื่อหาผลดีที่สุดหรือผลดีที่ร้ายที่จะเกิด แล้วเราก็มองในมุมกลางที่ไม่ใส่ความคิดลบและบวก ประเมินผลความเป็นไปได้ ลงเราจึงค่อยกลับมามองในด้านบวกหรือคิดดีไว้ เพราะโลกนี้มันไม่สวยงามอยู่แล้ว การที่ไปจ่มจ่อมกับการคิดในด้านลบ มันไม่ได้ช่วยสร้างสรรค์อะไรให้ดีขึ้นมาเลย

ในทางพุทธศาสนา ให้ความสำคัญกับการคิดมาก เพราะ ความคิดเป็นบ่อการของการกระทำ เมื่อใจคนเราคิดดีได้ การกระทำที่ดีต้องตามมาด้วย ....แต่ไม่แปลกหรอกที่การคิดดีอย่างเดียว ทำดีอย่างเดียวแล้ว ใจคนยังเศร้าหมอง ซึ่งการคิดดีหาใช่สาเหตุความเศร้าหมองของใจคน เพราะสาเหตุจริงๆ คือ การอยากมี อยากเป็น อยากได้ เมือ่ไรที่หันมาฟังหัวใจตัวเอง จนเกิดมีความรู้สึกพออยู่ในใจ พอใจในสิ่งที่มียินดีในสิ่งที่เป็นไม่ไล่ไขว่คว้าสิ่งนอกตัว เมื่อนั้น ใจของคุณจะเป็นสุข

อนึ่ง แม้คนที่คิดดี พูดดี ทำดี อาจจะมีจิตใจเศร้าหมองอยู่ นั่นก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลก เพราะ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่บรรลุขั้นอริยะ กิเลสย่อมมาแผ้วพาน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คนคิดดี พูดดี ทำดี เค้าทำถูกทางแล้ว เพราะการกระทำเหล่านั้นได้ช่วยให้โลกใบเทาๆใบนี้ มีความขาวขึ้น สวยงามขึ้น ถ้าเราไม่ร่วมด้วยช่วยกันและส่งเสริมให้คนทำดี ต่อไปลูกหลานของเราในอนาคตจะอยู่กันอย่างไร และที่สำคัญการคิดดีทำดี เป็นจุดเริ่มต้นของการไม่เบียดเบียนกัน เริ่มจาก ทาน สู่ ศีล และไปสู่ ภาวนา อันทำให้เกิดปัญญาญาณอย่างแท้จริง

Back to Top