ความสุขปีใหม่ ๒๕๕๓
สัตว์ร้าย ๓ ตัว และบ่วงอมีกดาลา



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 มกราคม 2553

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๕๓ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบความสุขความเจริญโดยทั่วกัน ความทุกข์โศกโชคไม่ดีใดๆ ขอให้ผ่านเลยไปพร้อมกับปีเก่า ขอให้รุ่งอรุณแห่งปีใหม่นำความสดใสเรืองรองมาสู่ชีวิตของท่าน ขอให้จิตวิวัฒน์อย่างก้าวกระโดดในปี ๒๕๕๓ เพราะจิตวิวัฒน์เป็นปัจจัยของความสุขที่แน่นอนที่สุด และจิตมนุษย์ยังวิวัฒน์ได้อีกมาก ในขณะที่กายจะไม่วิวัฒน์ต่อไปอีกแล้ว

วิวัฒน์จากจิตเล็กเป็นจิตใหญ่

จิตเล็กนั้นคับแคบ บีบคั้น และนำมาซึ่งความทุกข์ จิตใหญ่นั้นกว้างขวาง เป็นอิสระ จึงนำมาซึ่งความสุข ในมนุษย์ปุถุชนทุกคนมีสัตว์ร้ายอยู่ ๓ ตัวที่คอยก่อความทุกข์ให้ตัวเองและผู้อื่น สัตว์ร้ายทั้ง ๓ นี้คอยบงการความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราโดยเราไม่รู้ตัว เมื่อเราไม่รู้ตัวมันก็ทำร้ายเราเรื่อยไป ทำให้เราอึดอัดขัดแย้ง อยู่ไม่เป็นสุข ก่อทุกข์ให้ผู้อื่น ในคนบางคน สัตว์ร้ายทั้ง ๓ ตัวมันโตมาก เป็น Mega beasts มันก็มีฤทธิ์ทำลายมาก จนโกลาหลไปทั้งแผ่นดินก็ได้ ถ้าเรารู้ตัว เห็นมัน เจ้าสัตว์ร้ายทั้ง ๓ ก็จะอ่อนฤทธิ์หรือสงบลง เมื่อมันแรง มันจะบีบให้จิตเล็ก แต่เมื่อมันสงบ จิตจะใหญ่และเกิดความสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สารสุขจำพวกเอ็นดอร์ฟินส์จะหลั่งออกมามาก ทำให้ความสุขซึมซ่านไปทั้งเนื้อทั้งตัว

สัตว์ร้าย ๓ ตัว มีชื่อว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

ตัณหา คือ ความอยากเอาอยากเป็น

มานะ คือ ความต้องการใช้อำนาจเหนือผู้อื่น

ทิฏฐิ คือ การเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่

ลูกพี่ของสัตว์ร้ายทั้ง ๓ คือ “อัตตา” หรือตัวตน คือการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือความเห็นแก่ตัว อัตตานี้เป็นธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง มันรบกวนบีบคั้นจิตใจจนถึงขั้นเป็นพยาธิสภาพ มันเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ทางลบต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความโกรธ ความเกลียด หรือ ก ยกกำลัง ๔ คือ กลัว โกรธ เกลียด กังวล

อารมณ์ทางลบ ๔ ก (ที่จริงมีมากกว่านี้) บ่อนทำลายความสุข และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ก่อทุกข์ หรือทุกขสัมพันธ์ กับคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ในที่ทำงาน ในสังคม ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง ตลอดจนสงคราม

เมื่อมีอารมณ์ทางลบ จะตกบ่วงอมีกดาลา (Amygdala)

อมีกดาลาเป็นส่วนของสมองที่เป็นศูนย์อารมณ์ ตั้งอยู่ตรงกลางสมอง เดี๋ยวนี้เขามีเครื่องที่สามารถถ่ายภาพการทำงานของสมอง (Brain imaging) ที่ทำให้เห็นว่าเมื่อรู้สึกนึกคิดอย่างไร สมองส่วนไหนที่มันแดงวาบขึ้น เช่น เวลาโลภ ตรงที่เรียกว่านิวเคลียส แอคคัมเบนส์ มันแดงวาบขึ้น รวมทั้งรู้ว่าคนที่ศีลธรรมเสื่อม สมองตรงที่เรียกว่าพรีฟรอนตัล ซึ่งอยู่หลังหน้าผากมันเสียไป ฯลฯ

มีพระกรรมฐานกล่าวว่า เวลามีอารมณ์รู้สึกมันร้อนตรงกลางสมอง ก็คงจะตรงกับอมีกดาลาที่มันแดงวาบขึ้น ที่ว่าตกบ่วงอมีกดาลานั้น คือเวลามีอารมณ์มันจะไปรับความรู้สึกที่ไม่จริงเข้ามาแบบที่ว่าเห็นดีเป็นร้าย เช่น ผัวหรือเมียที่กำลังโกรธจัด อีกข้างพยายามพูดอะไรดีๆ หรือความจริง แต่คนที่กำลังโกรธจะเข้าใจผิดไป คือเข้าใจผิดความจริง จะไปกระตุ้นอารมณ์ทางลบให้ดับไม่ได้ อีกข้างก็จะไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ เราพูดดีๆ ทำไมกลายเป็นร้ายไป ก็อาจจะโกรธขึ้นมาอีกคน โกรธต่อโกรธก็จะปะทะกันบานปลายออกไป ถึงทุบตี ฆ่าแกง หย่าร้าง นี่แหละเป็นตัวอย่างของความทุกข์ความบีบคั้นในตัวเองและทุกขสัมพันธ์

อมีกดาลามันมีคู่หูชื่อ ฮิปโปแคมพัส (Hippocampus) เสียงมันคล้ายฮิปโปโปเตมัส เจ้าฮิปโปนี้เป็นศูนย์ความจำ มันอยู่ชิดกันเลยกับอมีกดาลาซึ่งเป็นศูนย์อารมณ์ มันเป็นคู่หูเข้าคู่กันแล้วกัดเราดังต่อไปนี้ครับ

ธรรมชาติของความจำนั้นมันจะจำเรื่องร้ายได้มากกว่าเรื่องดี

เรื่องดีๆ ก็ผ่านไปง่าย แต่เรื่องไม่ดีมันจำค้างคาใจ อย่างสามีภรรยาอยู่ด้วยกันมามีเรื่องดีๆ ตั้ง ๙๙ ส่วน มีเรื่องร้ายอะไรสักเรื่องเดียว มันจะจำๆ ได้มากกว่า ๙๙ เมื่อเรื่องไม่ดีมันจำแม่น และค้างคาใจอยู่ มันก็คอยฟุ้งขึ้นมา ใส่เข้าไปสู่อมีกดาลา หรือศูนย์อารมณ์ซึ่งเป็นคู่หูอยู่ติดๆ กันนั่นแหละ ทำให้เกิดอารมณ์ลบอยู่เรื่อยๆ บีบคั้นตัวเองและทำให้ความสัมพันธ์แตกร้าว ฉะนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมเรื่องนิดเดียวผัวเมียหย่าร้างกันได้ ก็เพราะมันตกบ่วงอมีกดาลานี่แหละ ที่เจ้าฮิปโปมันเป็นคู่หูกับอมีกดาลา

มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของกระแสฮิปโป-อมีกดาลา ทางลบนานัปการ นี่เป็นที่มาว่าทำไมสื่อมวลชนจึงสื่อเรื่องร้ายๆ มากกว่าเรื่องดี ทั้งๆ ที่เรื่องดีๆ มีมากกว่า เพราะเรื่องร้ายมันขายได้ เรื่องดีมันก็ธรรมดาๆ ไม่น่าสนใจ เพราะเราสนใจเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี เราสนใจสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น สื่อมวลชนก็เลยสนองความต้องการที่จะเสพสิ่งร้าย เข้าทำนองว่า “เรื่องร้ายลงฟรี เรื่องดีต้องเสียเงิน” ข่าวสารที่ประชาชนเสพทุกวี่ทุกวันจึงเอียง เป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี จนเสพติดข่าวร้าย ทีนี้ข่าวร้ายที่ได้รับเข้ามาทุกวี่ทุกวันก็ไปกระตุ้นเจ้าคู่หูฮิปโป-อมีกดาลา ทำให้คนทั้งปวงตกบ่วงอมีกดาลา เรียกว่าสังคมตกบ่วงอมีกดาลา คือสังคมมีอารมณ์ลบและรับรู้ผิดๆ ตลอดเวลา การรับรู้ผิดๆ ก็คือหลงไป คือโมหะ เมื่อเป็นเช่นนั้นคนทั้งปวงก็ตกอยู่ใน “โมหภูมิ” ตามที่มีพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่องพระมหาชนก เมื่อคนทั้งปวงตกอยู่ในโมหภูมิ ก็พากันสร้าง “เมืองอวิชชา” ขึ้น ในปี ๒๕๕๓ นี้ ควรจะหันกลับไปอ่านพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกกันให้มากๆ และลึก แล้วจะเข้าใจสาเหตุของความทุกข์ยาก เมื่อเข้าใจและจะได้แก้ไขได้

การแก้ไขอย่างหนึ่งคือ การทวนกระแสฮิปโป-อมีกดาลา หรือการสลัดตัวออกจากบ่วงอมีกดาลา

ดังที่บอกแล้วว่า เรื่องดีๆ มีมากกว่าเรื่องร้าย แต่เราเลือกที่จะสนใจและจำเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี เลยตกบ่วงอมีกดาลากันทั้งสังคม เราจะต้องตั้งใจทวนกระแสทางลบนี้เพื่อออกจากบ่วงทุกข์และการมองเห็นผิดๆ นั่นคือหันมาสนใจและจดจำเรื่องดีๆ ทุกวันควรระลึกถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดกับเราหรือที่เราทำ เปลี่ยนมุมมองที่เรามองสามีภรรยา พ่อแม่ลูก ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน โดยตั้งคำถามในใจว่า เขามีด้านดีอะไรบ้าง พอเปลี่ยนมุมมองมาเห็นด้านดีของเขาเหล่านั้น จะมีความสุขทันที เป็น Instant Happiness จริงๆ ทดลองดูด้วยตัวเองเถิดครับ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจากลบเป็นบวก เกิดความสุขทันที ในสังคมโดยเฉพาะในชุมชนมีเรื่องดีๆ มากมาย ถ้าเราหันไปสนใจเรื่องความดี และเอาเรื่องดีๆ มาสื่อสารกันมากขึ้น ความสุข ความสร้างสรรค์ และพลังทางสังคมก็จะเพิ่มมากขึ้น เรามาตกลงกันดีไหมว่า ต่อไปสื่อมวลชนควรจะเอาเรื่องดีๆ มาเสนอกันไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ เพื่อว่าคนไทยและสังคมไทยจะได้หลุดจากบ่วงอมีกดาลา

ส่วนสัตว์ร้าย ๓ ตัวในตัวเรานั้นมันกลัวการรู้ตัว

คือ ถ้าเราไม่รู้กายรู้ในของเรา เราก็จะตกเป็นเหยื่อมัน สัตว์ทั้ง ๓ อาศัยความไม่รู้ตัวเป็นอาหาร ตัวมันก็จะโตขึ้น อาจโตคับบ้านคับเมืองโดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว แต่ถ้าเราหมั่นรู้กายรู้ใจของเราไว้เสมอ เจ้าสัตว์ร้ายทั้ง ๓ ก็จะหดตัวลง แล้วเราก็จะมีความสุขขึ้น เพราะฉะนั้นต้องฝึกไว้เสมอให้รู้ความรู้สึกนึกคิดของเรา ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร กำลังคิดอะไร เจ้าตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันกำลังทำอะไรกับความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราหรือไม่ เมื่อเราฝึกเห็นสัตว์ร้ายในตัวเราบ่อยขึ้นๆ มันก็จะเชื่องลงๆ หมดฤทธิ์ลงๆ พร้อมๆ กับเรามีความสงบสบายและความสุขมากขึ้น เพราะความเป็นอิสระจากสัตว์ร้ายเหล่านั้น

ที่ว่าฝึกให้รู้กายรู้ใจ หรือรู้ความรู้สึกนึกคิด ก็คือการเจริญสตินั่นเอง สติจะทำให้เราพ้นจากความบีบคั้นของกรรมทั้งปวง ประสบความดีงามและความสุข

ฉะนั้น ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ จึงขออวยพรให้ท่านประสบความสุขความเจริญ โดยพ้นจากการตกบ่วงอมีกดาลา และพ้นจากความครอบงำของสัตว์ร้าย ๓ ตัว คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ด้วยการสวนกระแสทางลบ และด้วยการเจริญสติรู้กายรู้ใจของตัวเอง

3 Comments

Halley กล่าวว่า...

คำว่า "ในขณะที่กายจะไม่วิวัฒน์ต่อไปอีกแล้ว" อยากรู้จังครับว่าอาจารย์พูดถึงในมุมมองไหน

เพราะถ้าในเชิงชีววิทยา คำกล่าวข้างต้นผิดครับ

วิจักขณ์ กล่าวว่า...

เห็นด้วยกับ Halley

knoom กล่าวว่า...

จิตวิวัฒน์ได้แม้ในช่วงชีวิตเดียว ขณะที่กายไม่อาจ

;-)

สวัสดีปีใหม่ครับกัลยาณมิตรทุกท่าน

Back to Top