จิตตปัญญา แบบบ้านๆ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2553

“แต่ก่อนกินเหล้า ชอบกินของสดๆ พอเมียพูดไม่เข้าหู ผมก็ซัดเอาให้ แต่ตอนนี้เลิกเหล้าแล้ว มาทำอย่างที่อาจารย์ให้ทำ ทำทุกวัน ตื่นมาก็ทำ ก่อนนอนก็ทำ” เสียงสะท้อนจากชาวบ้านผู้เข้ารับการอบรม พี่ชายคนนี้มีอาชีพเป็นสัปเหร่อ ใบหน้าดุเข้มแบบเด็กเล็กๆ เห็นแล้วร้องไห้ จบการอบรมสองเดือนให้หลังเขาเปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างที่คนในหมู่บ้านเองก็รู้สึกแปลกใจ มันน่าสนใจว่าชาวบ้านรู้อะไร เขาจึงเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างนั้น

“ความรู้ที่นำไปใช้ไม่ได้ ไม่ถือเป็นความรู้”

ไม่รู้ทำไมประโยคนี้จึงวนเวียนเข้ามาในกระแสสำนึกอยู่บ่อยครั้ง อาจเป็นเพราะเวลาทำงานกับชาวบ้านอย่างกลุ่ม อสม. ความรู้ในทางจิตตปัญญาที่เราคิดว่ามี กลับกลายเป็น “กระสุนด้าน” อยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่นกระบวนการ “ธาราลิขิต” ที่เชื้อเชิญให้เขียนอะไรก็ได้ ปล่อยไหลไป ตามแต่ว่าอะไรจะมาสะกิดให้เรื่องราวใดไหลพรั่งพรูออกมา กระบวนการนี้อาจจะนำไปใช้ได้กับการประเมินผลของการอบรมแนวจิตตปัญญาได้ดี แต่กระบวนการนี้ล้มคว่ำไม่เป็นท่าเมื่อนำมาใช้กับชาวบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า “เขียนหนังสือไม่แตก” เพราะในชีวิตจริงของชาวบ้านมือทั้งสองแตกเป็นรอยริ้ว เพราะใช้ถอนหญ้า ไม่ได้ใช้เขียนหนังสือ เมื่อให้เขียนหนังสือชาวบ้านจึงรู้สึกด้อย เพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่กับตัวหนังสืออย่างพวกเรา ชีวิตของเขาอยู่กับทุ่งนา อยู่กับการทำงานจริงๆ ผมเคยไปรำมวยจีนให้ชาวบ้านดู เมื่อรำเสร็จ มีชาวบ้านคนหนึ่งถามผมว่า

“อาจารย์มาทำนา แข่งกับผมไหม?”

ผมตอบว่าผมคงทำไม่ได้หรอก แวบแรกผมคิดว่าเขาท้าทายผม แต่ต่อมาเขาคุยให้ฟังเรื่องการทำนาด้วยมือ สมัยที่ยังต้องลากคันไถทำนา เขาทำท่าเอี้ยวตัวบังคับคันไถเพราะไม่มีตัวบีบทดแรง เขาคงจะรำลึกอดีตเมื่อได้เห็นผมรำมวยจีน ไม่ได้มีเจตนาจะโพล่งให้เสียบรรยากาศ ผมเกิดความสนใจจึงขอให้ อสม.หญิงคนหนึ่งลองทำท่าดำนาให้ผมดู แล้วก็ “โป๊ะเชะ” คำตอบมาปรากฏตรงหน้าอย่างคาดไม่ถึง ชาวบ้านมีความแข็งแรงมาก ท่าก้มลงดำนาต้องใช้ทั้งความยืดหยุ่นและกำลังขา หลังที่ก้มลงแบบนั้น ให้พวกเราไปทำคงจะทำได้เพียงสองสามนาทีก็จอด แต่พวกเขาทำแบบนี้เป็นไร่ๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องใช้ความอดทนขนาดไหน การทำงานอย่างหนักชดเชยด้วยการกินอย่างหนักไม่แพ้กัน พวกเขาจึงมีรูปร่างท้วมออกแนวสมบูรณ์ แน่นอนว่ารูปร่างแบบนี้หากวัดด้วยมาตรฐานทางสาธารณสุขเช่นพวกดัชนีมวลกาย หรือรอบเอว ก็ต้องจัดให้พวกเขาอยู่ในพวก “กลุ่มเสี่ยง” แต่ดูไปดูมา พวกเราที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันต่างหากน่าจะจัดอยู่ในพวกกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะไอ้คุณหมอสุรชัยเพื่อนร่วมชั้นเรียนเตรียมอุดมของผมเขาไม่เคยตรวจสุขภาพร่างกายตัวเองเลยเป็นเวลาสามปีมาแล้ว ทั้งๆ ที่เวลาอยู่โรงพยาบาลมากกว่าเวลาอยู่บ้าน

ยิ่งผมได้พูดคุยกับชาวบ้านแบบใกล้ชิดมากเท่าใด ก็พบว่าการสาธารณสุขของเราใกล้จะถึงจุดวิกฤติอยู่รอมร่อแล้ว เจ้าหน้าที่อนามัยอำเภอรุ่นหนุ่มรุ่นกระทงหน้าตาถอดแบบนักร้องเกาหลี คุยกับผมแบบติดตลกว่า ทุกวันนี้การทำงานของเขาเหมือนกับอยู่ในสนามรม แล้วชาวบ้านก็คือ “ข้าศึกที่ฆ่าไม่ตาย” ในความหมายก็คือดาหน้าเข้ามาเรื่อยๆ อย่างไม่มีหยุด น้องอีกคนหนึ่งพูดด้วยเสียงกระซิบ “ลองมาทำแล้วพี่จะรู้” เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับที่ต้องสัมผัสกับชาวบ้านยังต้องง่วนอยู่กับการทำงานเชิงรักษา เช่นฉีดวัคซีน จ่ายยา เต็มเวลาและเต็มอัตราอย่างเช่นทุกวันนี้ ใครเล่าจะไปทำงาน “เชิงรุก” หมายถึงเชิงป้องกัน ในเมื่ออนามัยทุกคนมีงานล้นมือ และคนไข้ก็มีล้นโรงพยาบาล

“ป้าไม่เคยอบรมแบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นพวกเต้นแอโรบิค อะไรนั่น ป้าก็เต้นไม่เป็น เห็นพวกหนุ่มสาวเขาเต้นกันก็ไปลองดูบ้าง กลับมาบ้านปวดหลังปวดเอวไปตั้งหลายวัน” คุณป้าวัยหกสิบปลายๆ คุยกับผม ส่วนน้องหญิงหุ่นล่ำสันเข้ามาเสริม “ของฉันเอาไอ้ห่วง (ฮูลาฮูบ) ที่เขาให้ไปหมุนๆ ตอนหมุนๆ อยู่มันก็สนุกดีหรอก แต่กลับบ้านรอบเอวนี่ช้ำเป็นจ้ำๆ หมดเลย” ดูจากรอบเอวผมรู้สึกว่าห่วงฮูลาฮูบนี้คงไม่ได้ผลสำหรับเธอ ผมรู้สึกแปลกใจว่าทำไมกลยุทธ์เกี่ยวกับสุขภาพเชิงป้องกันจึงไม่ค่อยได้ผลในทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คงไม่ใช่เป็นเพราะเราไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่ความรู้ที่เรามีมันเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะขาดความละเมียดในกระบวนทัศน์ คือคนนำไปใช้กลับมองไม่เห็น ส่วนคนที่มองเห็นกลับบอกไม่ได้

ยกตัวอย่างการเต้นแอโรบิค มาจากฐานความเชื่อของวิทยาศาสตร์กายภาพที่บอกกับเราว่า การออกกำลังกายที่ดีจะต้องทำให้หัวใจทำงานอย่างสม่ำเสมอ เราจึงเข้าใจไปว่าการเต้นแอโรบิคทำให้เราสุขภาพดี และหุ่นดี เรามาลองดูว่าการเต้นแอโรบิคประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ก่อนอื่นเราจะต้องมีเสียงเพลงที่เร้าใจ ดังตูมตาม เสียงเบสเยอะๆ ยิ่งดี นัยว่าทำให้ร่างกายขยับได้คล่องขึ้น ส่วนครูฝึกจะต้องมีรูปร่างดี ยืนอยู่บนเวทีที่ทุกคนมองเห็นชัดๆ แล้วไม่ว่าเราจะเต้นได้ดีแค่ไหนก็ตาม เราก็จะไม่มีวันเต้นได้เท่ากับครูฝึก นอกจากนั้นแล้วจะต้องเต้นกันหลายๆ คน ยิ่งเยอะยิ่งสนุกคึกคัก หากน้อยคนถือว่าผิดธรรมเนียมจะดูหงอยเหงา สิ่งที่เราจะต้องจ่ายไปกับกิจกรรมแบบนี้ ก็คือการทำงานของกายที่ไม่ได้ดุลยภาพกับจิต เสียงที่ดังเร้าใจ ส่งอารมณ์ให้เราติดอยู่กับความรุนแรงที่มาทางโสตประสาท ผู้นำที่ยืนอยู่ข้างหน้าเปลี่ยนท่าทางรวดเร็ว ทำให้เราต้องใช้สายตาคอยสอดส่าย ใจจึงไม่อยู่กับการเคลื่อนไหวและท่วงท่าที่กำลังกระทำอยู่ จิตใจจึงไม่มั่นคงเพราะหวั่นไหวไปกับภาพที่มากระทบทางตา แล้วยิ่งครูฝึกมีหุ่นดีอย่างที่ชาตินี้เรามีไม่ได้ ลึกๆ ยิ่งตอกย้ำถึงความด้อยของเราว่า เรามันช่างไม่เอาไหนเลยที่หุ่นไม่ดีอย่างเขา

จิตใจที่ไม่คู่ควรกับการงานย่อมสั่งสมกำลังไม่ได้ ในขณะที่เราออกกำลังกายแบบแอโรบิค เรากำลังทำกายภาพบำบัด แต่เราไม่ได้ทำ “จิตภาพบำบัด” ร่างกายและจิตใจจึงไม่ได้ดุลยภาพ เราอาจจะสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหัวใจ แต่จิตใจเรากลับอ่อนแรง ถูกไล่ต้อนง่าย สะดุ้งสะเทือนหวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่มากระทบได้ง่าย แล้วอย่างนี้เราจะเอาอะไรไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราจะเอากำลังใจที่ไหนไปสู้กับสื่อโฆษณาที่ระดมยิงเข้ามาให้เราอยากได้นั่น อยากกินนี่ เราโกรธง่ายขึ้น เครียดง่ายขึ้น แล้วเราก็หยิบของใส่ปากโดยไม่มีเบรค ด้วยระบบราชการแบบไทยๆ งานสุขภาพเชิงรุกของเราจึงก้าวช้ากว่าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นก้าวหนึ่งเสมอ

ด้วยวิธีให้ชาวบ้านลองสังเกตความรู้สึกในขณะทำท่วงท่าง่าย ๆ กลายเป็นอุบายที่ทำให้กายกับจิตมาประกอบกันเข้า การสังเกตการณ์ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ไปอย่างไม่หยุดหย่อนของความรู้สึกในกาย คืออุบายฝึกจิตให้เกิดความละเมียด จิตใจที่ละเมียดย่อมมีความฉับไวในการจัดการกับเรื่องราวที่ประเดประดังเข้ามาในแต่ละวัน เพราะถ้าหากอิ่มแล้วไม่รู้ว่าอิ่ม จะมีประโยชน์อะไรที่เราจะไปรู้ว่าวันหนึ่งคนไทยควรต้องกินข้าวไม่เกิน ๖ ทัพพี หรือไปรู้ว่าผัดไทยหนึ่งจานเท่ากับกี่แคลอรี ในเมื่อแยกไม่ออกระหว่าง “ความหิว” กับ “ความอยาก” โรคเรื้อรังต่างๆ ย่อมมาถึงเราแบบ “ก่อนกำหนด”

ชาวบ้านฝึกปฏิบัติได้ดีอย่างน่าแปลกใจ เพียงวันสองวันก็เข้าใจและทำได้ แต่บางครั้งเราชอบวัดผลด้วยการพูดหรือการเขียน เมื่อเอาไมโครโฟนจ่อปาก เขาจะพูดไม่ได้ เรียบเรียงไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาทำไม่ได้ ตรงกันข้ามหากสนิทสนมกับเขามากพอ พวกเขาจะพูดปร๋อแบบที่เรานึกไม่ถึง และเมื่อเรากลายเป็นเพื่อนกับเขาแล้ว การวัดประเมินแบบกระบวนทัศน์เก่าก็เป็นเรื่องไร้ความหมาย เพราะมีแต่ตัวเลขที่ไร้ชีวิต มีแต่มาตรฐานที่ถูกกำหนดโดยผู้อื่นแต่ไม่เคยถูกกำหนดด้วยตัวผู้ถูกวัดเอง เรากินข้าวแทนกันไม่ได้ และเราก็อิ่มแทนกันไม่ได้ แต่ทำไมเราจึงมั่นใจเวลาเราตีตราให้ผู้อื่นจัดอยู่ในจำพวก “กลุ่มเสี่ยง” หรือ “กลุ่มโรคเรื้อรัง”

“ตอนแรกตักข้าวต้มมาเยอะกลัวจะไม่อิ่ม แต่พอกินไปได้ครึ่งเดียวอิ่มซะแล้ว” ข้าวต้มครึ่งแรกคือความหิว ครึ่งที่เหลือคือความอยาก ความอยากมักจะล้ำหน้าความหิว เรากินข้าวเพราะหิวเป็นเรื่องปกติ หิวแล้วไม่กินจึงเป็นเรื่องผิดปกติ ผู้หญิงบางคนกินแล้วล้วงคออาเจียนออกมาเพราะอยากหุ่นดีนี่ก็ผิดปกติ เมื่อไม่นานมานี้ คุณป้า เจน ฟอนดา เจ้าแม่แห่งวงการแอโรบิค ออกมาสารภาพว่าที่เธอมีหุ่นที่เป็นยอดปรารถนาของผู้หญิงทั่วโลกสมัยหนึ่งนั้น เป็นเพราะเธอป่วยเป็นโรคบูลิเมีย คือทุกครั้งที่ทานอาหารเข้าไปจะต้องไปล้วงคอให้อาเจียนออกมา ถ้าไปเล่าเรื่องนี้ให้ชาวบ้านฟังว่ามีคนกินแล้วล้วงคอเพื่ออาเจียน พวกเขาคงหัวร่องอหาย

เอ้า..ใครป่วยยกมือขึ้น

2 Comments

sabaydee กล่าวว่า...

“ความรู้ที่เรามีมันเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะขาดความละเมียดในกระบวนทัศน์” น่าสนใจนะคะ แนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพ ของบุคลากรด้านรักษาป้องกัน มันเข้าไม่ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านจริงๆ หลายๆ กระบวนการที่เกิดขึ้นแค่เริ่มต้นก็พอจะรู้จุดจบแล้วว่าไม่ยั่งยืนและเข้าไม่ถึงปัญหาที่แท้จริงได้เลย ชาวบ้านเค้าเรียกเราว่าหมอ เรียกด้วยความเชื่อถือและศรัทธาโดยไม่มีเหตุผลมากมาย แต่หมออย่างเราเคยฟังเสียงชาวบ้านบ้างหรือไม่ เสียงจากข้างในหัวใจของเขาจริงๆ ทุกวันนี้เราคิดแต่ว่าชาวบ้านต้องได้สิ่งนี้ ต้องทำแบบนี้แล้วสุขภาพจะดี เราเอาความคิดความเข้าใจหลักวิชาการของเราเป็นตัวตั้ง การเข้าถึงก็เป็นแบบนักวิชาการ มันก็เลยได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวเลขกับตัวหนังสือ ตามที่ตั้งโจทย์ไว้ ปัญหาทุกปัญหาน่าจะต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจปัญหาก่อน
เอ้า...ใครรู้ปัญหา ยกมือขึ้นค่ะ

patumariya กล่าวว่า...

น่ารักดีค่ะ จิตปัญญาแบบบ้านๆ...^ ^

Back to Top