การเขียนเพื่อการเยียวยา



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มีนาคม 2555

ทุกวันนี้ความสุขของมนุษย์ได้ถูกฝากอิงไว้กับสิ่งสมมติมากมาย บ้างก็ยากที่จะหา บ้างก็ยากที่จะรักษาให้คงอยู่ แต่ก็แสดงถึงศักยภาพประการหนึ่งของมนุษย์ได้ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือการ “ให้ความหมาย” ต่อสิ่งต่างๆ มนุษย์สามารถที่จะกำหนด “สัญญลักษณ์” ให้กับวัตถุ คน กิจกรรม ฯลฯ และขยายความหมายออกไปจากเนื้อหาเดิมได้อย่างมากมาย เป็น “ความฉลาด” อีกประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องความพร่องของวจนภาษา ในการสื่ออะไรบางอย่างที่ยากจะจับต้องหรือเข้าใจ เช่น มิติทางอารมณ์ ทางจิต ทางเรื่องเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

สาเหตุที่เราต้องการตัวขยายความหมายนี้ก็น่าสนใจ บ้างเราก็ขยายเพื่อให้เกิดความสุข เช่น ดอกกุหลาบแดงในการแสดงความรัก บ้างเราก็ขยายเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางอารมณ์ จิตใจ เช่น พระพุทธรูป รูปบูชาต่างๆ เครื่องลาง เพื่อลบล้างความกลัว เพิ่มความมั่นใจ หรือความกล้า เช่น ตะกรุด ยันต์ รอยสักต่างๆ หรือแม้แต่เป็นตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกด้านลบก็มี เช่น การใส่ชุดไว้ทุกข์สีดำ สัญญลักษณ์ต่างๆ หากนำมารวมกันหลายประการ ผนวกกับกิจกรรม การกระทำอื่นๆ ก็จะกลายเป็นชุดพิธีกรรม ซึ่งยิ่งขยายความหมายออกไปจากเดิมให้มากขึ้นอีก

อาจจะเป็นเพราะความสุข หรือความทุกข์ของมนุษย์นั้น เป็น “ปฏิกิริยา” ผสมผสานของปัจจัยทั้งสภาวะภายใน และสภาวะภายนอก เราจะสุขหรือทุกข์ ก็เป็นสมดุลของปฏิกิริยา เป็นผลรวมจากการประสมกันของสิ่งเหล่านี้ หากมองเช่นนี้ มนุษย์เราก็มีเครื่องมือในการเยียวยา ในการรักษาสมดุลที่ทรงพลังมากอยู่ในตนเองนอกเหนือจากอาการ อาการแสดงของสมดุลภายในร่างกาย ความเจ็บ ความไข้ โรคาพยาธิต่างๆ มนุษย์สามารถดึงเอาปัจจัยภายนอกมาใช้ มาให้ความหมาย และก่อให้เกิดสมดุลใหม่ขึ้น

จะเห็นว่าจาก “คำ” ธรรมดาๆ พอเรานำมาเรียงร้อยต่อความ มีสัมผัส มีบังคับ เกิดเป็นบทกวี คำธรรมดาเหล่านั้นสามารถเสริมกัน และสร้างความหมาย ความรู้สึกใหม่ มากไปกว่าคุณสมบัติเดิมของคำเดี่ยวๆ บทกวีพอนำมาใส่ท่วงทำนอง จังหวะ เสียงสูงต่ำ ก็เกิดเป็นลำนำ เป็นเสียงดนตรี เป็นความสุนทรีย์ที่มากขึ้นไปอีก ลึกซึ้งมากขึ้นอีก และหากว่าคำก็ดี บทกวี บทเพลงก็ดี เล่าพรรณนาเป็นเรื่องราว เป็นชีวิต เป็นความจริง ความงาม ความดี สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้สามารถก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้คนจำนวนมากอย่างไร้ที่สิ้นสุด มนุษย์สามารถรับรู้ “เรื่องราว เรื่องเล่า” นำไปผสมผสานกับความรู้สึกนึกคิด คุณค่าของตนเอง และนำไปขยายต่อ ให้ความหมายต่อยอดไปเรื่อยๆ เปลี่ยนจากพลังงานศักย์ที่อยู่ในตัวตน กลายไปเป็นพลังงานจลน์ หรือเป็นการกระทำ พฤติกรรม กิจกรรม พิธีกรรมต่อๆ ไปได้อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกรับรู้อยู่ชั่วขณะแล้วก็จางหายไป แต่ส่วนหนึ่งจะถูกซึมซับและหล่อหลอม รวมกับตัวตนเดิมของแต่ละปัจเจก และกลายเป็นสมดุลใหม่ของคนๆ นั้นในที่สุด เป็นบุคลิกใหม่ แนวความคิด มีกรอบความคิดใหม่ รับรู้มุมมองต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้นจากเดิม

มนุษย์สามารถทำกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก นั่นคือ “การเขียน การบันทึก” ซึ่งทำให้ความคิด จินตนาการ ความฝัน ของปัจเจกบุคคล ถูกถ่ายทอดต่อๆ ไปได้อย่างสมบูรณ์ คงอยู่ได้ยาวนานมากกว่าการถ่ายทอดเพียงคำพูด หรือคำบอกเล่าแต่เพียงอย่างเดียว

การอ่านเรื่องราว ความรู้ หรือแม้แต่ความคิดของผู้คน เสริมพลังให้แก่มนุษย์ และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันมาตลอด ที่ความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ทั้งทางวัตถุ และจิตใจ ผูกพันกับพฤติกรรมการเขียน การบันทึกของบรรพบุรุษมาทุกยุคทุกสมัย แต่น่าเสียดายที่ไม่ว่าจะดูในแง่มุมใด ดูเหมือนว่าจำนวนคนอ่านจะมากกว่าจำนวนคนเขียนมากมายหลายเท่า จนเกิดความสงสัยเมื่อจินตนาการต่อไปว่า หากมนุษย์ทุกคนหันมาเขียน หันมาจดบันทึกกันให้มากขึ้น วิวัฒนาการของเราจะดำเนินไปในทิศทางใด

ในการจะเขียนเรื่อง บันทึกเรื่องนั้น ไม่เพียงแต่เราจะได้ “อ่าน” สิ่งที่เราเองเป็นคนเขียน แต่กระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการเขียนนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเกิดขึ้นต่อตัวผู้เขียนอยู่ตลอดเวลา ประโยชน์ส่วนนี้ คนที่อ่านแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่มีทางรับรู้ และยิ่งเป็นการเขียนโดย “รู้สติ” ยิ่งเกิดคุณูปการ

การเขียน แม้แต่การเขียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีสมาธิอะไรมาก แต่ปรากฏการณ์ที่ตัวอักษรได้ไหลลื่นลงมารวมเป็นคำ เป็นประโยค เป็นเรื่องราว เป็นสิ่งมหัศจรรย์ในตัวมันเอง เพราะเราเกิดสภาวะที่ “มองเห็นความคิด” (visualize thoughts) ซึ่งแต่เดิมความคิดนั้นจับต้องไม่ได้ เลื่อนลอย และพุ่งพล่านไปมาอย่างกำหนดทิศทางยาก กำหนดเรื่องราวก็ยาก มากันมากมาย ทั้งมีสาระและไม่มีสาระ แต่เมื่อเราเริ่มจัดการไหลของความคิดให้ออกมาทางปลายปากกา ดินสอ แป้นพิมพ์ เรื่องราวเหล่านี้ถูก “ชะลอลง” ในกระบวนการ และถูก “มองเห็น” ออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่เพียงเฉพาะความคิดเท่านั้นที่ถูกจัดทิศทางได้ แม้แต่ “ความรู้สึก” ก็เช่นกัน เมื่อเรื่องราว ความประทับใจ ความสุขทุกข์ อารมณ์ต่างๆ ถูกจัดทิศทางออกมาทางการบันทึก สิ่งเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียดอ่อนขึ้นในกระบวนการทั้งหมด

เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเรามาจากไหน เป็นใคร กำลังทำอะไร คิดอย่างไรและรู้สึกอย่างไร ไม่เพียงแค่ “รู้สึก” แต่ยัง “มองเห็น” ด้วยภาษาบรรยาย และพรรณนา ที่อยู่บนสื่อชนิดต่างๆ ได้ กระบวนการเยียวยาที่มหัศจรรย์เกิดขึ้นมาพร้อมกับการที่ “ชีวิต” ถูกเรียงร้อยเข้าด้วยกัน มีสาเหตุ มีการดำเนิน มีผลออกมาเชื่อมโยงกัน ความเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้นสามารถเป็นเสมือนการประสานแผล แก้อาการบาดเจ็บต่างๆ ลงได้

สังคมในปัจจุบัน ต้องการการเยียวยามากกว่าที่เราจะจินตนาการได้ เพราะบาดแผลนั้น มีทั้งทางกายภาพ และทางอารมณ์จิตใจ มีทั้งปัจเจกและแบบทุกข์ทั้งระบบ ทุกข์ทั้งนิเวศ เรากำลังต้องการโอสถทุกขนานโดยเร็วที่สุด ให้เรารอดจากการทำร้ายตนเองและการทำร้ายผู้อื่น บางทีลำนำชีวิต ความสุข และความทุกข์ของมนุษย์ ที่จะถูกบันทึกโดยการเขียน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยารักษาที่สังคมไทยกำลังต้องการอยู่อย่างมากอีกขนานหนึ่ง

Back to Top