มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕
ผู้เขียนชอบและนับถือ คาร์ล กุสต้าฟ จุง หรือยุงมากเป็นพิเศษ และพูดหรือเขียนโดยอ้างหนังสือของเขาตลอดเวลา และเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดเป็นคนแรก (โดยไม่มีคำถามจากใครทั้งสิ้น) และผู้เขียนจำได้ว่า ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ หรือ ยุค ศรีอารยะ คงจะมีส่วนในการเชิญเพราะ ดร.เทียนชัยเพิ่งได้รับให้เป็นบรรณาธิการและผู้อำนวยการสถาบันและวารสารวิถีทรรศน์ และในวันนั้น ก็มีผู้คนมากมายเช่น คุณหมอวิจารณ์ พานิช ที่เป็นโต้โผใหญ่ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ฯลฯ ผู้เขียนได้พูดถึง ปิแอร์ เตยัง เดอ ชาดัง นักบรรพชีวินวิทยาในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก
เมืองนอกหรือฝรั่งตะวันตกมีวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง เช่น โลกนี้จักรวาลนี้มีความจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว คือความจริงทางโลกเท่าที่ตามนุษย์เห็น ซึ่งเอามาจากชาวกรีกเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อน และผู้เขียนคิดว่ามาจากอียิปต์ และนั่น - แตกต่างจากเราที่เป็นชาวตะวันออกมากนักในแบบที่เราบางคนที่ไม่รู้จักคิด คิดว่าฝรั่งหรือชาวตะวันตกอยู่เหนือจากชาวตะวันออกแทบจะทุกอย่าง ยกตัวอย่างเรื่องขององค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องของวัตถุและเรื่องของรูปกาย แต่เราต้องรู้ว่าฝรั่งหรือชาวตะวันตกนั้นไม่รู้เรื่องของจิตหรือจิตวิญญาณเลย มิน่าเล่า จิตวิทยาแท้ๆ ก็เกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่ ๑๙๖๐ และ ๑๙๗๐ นี้เอง และสำหรับเมืองไทยแม้แต่ในปัจจุบันวันนี้ วิชาจิตวิทยาโดยทั่วๆ ไปแยกจากพฤติกรรมศาสตร์ไม่ได้ ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่าเราคนไทยเป็นชาตินิยมหรือภูมิภาคนิยมจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแม้แต่ความรู้เอง แต่ฝรั่งชาวตะวันตกนั้นไมรู้เรื่องจิตจริง ยกเว้นนักวิชาการบางคน กระทั่ง ๕๐ – ๖๐ ปีมานี้
วัฒนธรรมหนึ่งที่ชาวตะวันตกมี นอกจากมองเห็นความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียวอันเป็นที่มาของหลักการวัตถุนิยมและเลือดเนื้อนิยมหรือกายภาพดังกล่าวมาแล้ว คือ ความเป็นตัวของตัวเอง บ่อเกิดขบวนการบุปผาชนหรือฮิปปี้ ในทศวรรษ ๑๙๕๐ ขบวนการนิวเอจในทศวรรษที่ ๑๙๘๐ และขบวนการแห่งจิตและภาวะจิตวิญญาณ เมื่อเร็วๆ นี้
เพื่อนรุ่นน้องของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นชาวมุสลิมและเป็นทหารบกที่รู้จักมาตั้งแต่มียศเป็นร้อยโท แต่ – ก่อนเกษียณราชการมียศเป็นถึงพลโท – ได้ยืมหนังสือลูกสาวของตนที่ผู้เขียนให้ชื่อ ชีวิตใหม่ พออ่านได้ครึ่งเล่มก็รีบมาหาผู้เขียนที่บ้าน เขาได้ถามสองคำถาม คำถามหนึ่งเป็นที่มาของบทความนี้ ส่วนอีกหนึ่งคำถามคือผู้เขียนลืมอะไรหรือไม่ เพราะพูดถึงแต่ศาสนาพุทธ ไม่ได้พูดถึงศาสนาอิสลามเลย แล้วลัทธิซูฟีของศาสนาอิสลามจะว่าอย่างไร ได้ตอบไปว่า สังเกตไหมว่าผู้เขียนไม่ได้พูดถึงศาสนาใดๆ เลยนอกจากศาสนาพุทธ และอีกประการหนึ่ง ผู้เขียนหมายมุ่งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือพุทธศาสนามากกว่า ที่มีความจริงทางธรรมที่พุทธศาสนาถือว่าเป็นความจริงแท้ซึ่งฝรั่งชาติตะวันตกเชื่อว่าเป็นความรู้เร้นลับ กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจิตมีจริง จากที่แต่ก่อนนี้ไม่เชื่อและไม่ยอมรับว่ามี
สำหรับจักรวาลนั้น มีจักรวาลวิทยาใหม่ – ราวๆ สิบปีมานี้ – ที่มีส่วนคล้ายๆ วัฒนธรรมพระเวทและพุทธศาสนา นั่นคือจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด หรือเป็นนิรันดรในแง่ของจำนวน คือเกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนกับเป็นสายโซ่ที่ไม่สิ้นสุด
สำหรับคำถามอันเป็นที่มาของบทความนี้ เกี่ยวกับจักรวาลซึ่งผู้เขียนชอบเป็นพิเศษ คำถามนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ ๒ คนที่เป็นนักปรัชญาด้วย และพูดถึงจักรวาลแต่น่าจะพูดได้ว่ามีความคิดตรงกันข้ามกัน
คนหนึ่งมีชื่อว่า ปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง นั้น พูดได้ว่าพูดถึงแต่รูปกายและวัตถุ และวิวัฒนาการที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษเหมือนกัน เตยา เดอ ชาดัง สอนให้เรามองโลกและมองจักรวาลในเชิงวิวัฒนาการ คือเคารพเหตุผลตามที่ตาเห็น ซึ่งเมื่อใครพูดถึงเหตุผลที่มนุษย์คิดขึ้นและใช้กันแล้ว หรือเป็นสาธารณะที่ใครๆ ก็ใช้หรือเห็นแล้ว พูดได้เลยว่ามันไม่มีทางจบ เตยา เดอ ชาดัง จึงมองไปข้างนอกและข้างหน้า (outside and forward) ซึ่งประกอบเป็นบางส่วนของความจริงทางโลกหรือโลกียะ
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่ง คาร์ล กุสตาฟ จุง ซึ่งสอนให้เรามองในทางจิตไร้สำนึก และสอนให้เรามองโลกหรือมองสังคมแบบไปข้างในและไปข้างล่าง (inside and downward) ซึ่งประกอบเป็นบางส่วนของความจริงทางธรรมที่เป็นความจริงที่แท้จริง หรือโลกุตตระ แล้วเราจะเชื่อใครดี เพราะว่าทั้งสองได้เสนอแนวทางแก้ไขสังคมของเราให้เดินไปให้ไปถูกทาง – ตามที่ตนแต่ละคนคิด
ผู้เขียนคิดว่า เราต้องเชื่อทั้ง ๒ คน เพราะว่าในโลกในจักรวาลนี้ มีทั้งนามและรูป หรือทั้งจิตและกาย คือเป็นทั้งความจริงทางโลกและความจริงทางธรรม มีทั้งสติปัญญาธรรมดาๆ กับปรมัตถธรรม อันเป็นความจริงที่แท้จริงแทนพระเจ้าตามที่พุทธศาสนาบอก คือเป็นความจริงแท้ของเรา เราจะต้องมองอย่างนั้น เพราะนั่นคือธรรมชาติ (ที่ตาเห็น) เตยา เดอ ชาดัง พยายามที่จะแก้ไขสังคมที่ลดส่วนและแปลกแยก ด้วยการเสนอให้เรามองโลกนี้จักรวาลนี้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีวิวัฒนาการทั้งนั้น และเขามองวิวัฒนาการเป็นความเจริญและไปข้างหน้า และสังคมมนุษย์จะต้องเดินไปตามทางนั้นเท่านั้นถึงจะอยู่รอด นั่นเป็นวิทยาศาสตร์กึ่งหนึ่งและเป็นปรัชญาว่าด้วยสังคมอีกกึ่งหนึ่ง อย่าลืมว่า เตยา เดอ ชาดัง ในยุคสมัยของเขา (เตยา เดอ ชาดัง เป็นนักวิทยาศาสตร์ และได้ไปที่จีน [paleontologist ผู้ค้นพบมนุษย์ปักกิ่ง] และในยุคสมัยของเขา คือ ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ เขาตายในปี ค.ศ.๑๙๙๕ เป็นคนสมัยเดียวกับ คาร์ล จุง) แต่จริงๆ แล้วมันจะมีวิวัฒนาการที่ไหน ที่จะมีแต่ความเจริญโดยไม่มีความเสื่อมถอย รวมทั้งการแก่ชรา วิวัฒนาการน่าจะรวมทั้งความเจริญและความเสื่อมดังที่เป็นความจริงแห่งสังคมโลกียะกาม
ปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง และ คาร์ล จุง ต่างก็เกิดในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์ (เก่า) ที่มีนิวโตเนี่ยนฟิสิกส์เป็นแกนนำ และเจริญรุ่งเรืองที่สุด และตอบคำถามถึงธรรมชาติได้มากกว่าคริสต์ศาสนาสำหรับคนทั่วไป คนที่มีสติปัญญาความฉลาด (intelligence ธรรมดาๆ ) ที่เคารพต่อเหตุผลที่มนุษย์คิดขึ้นมาตามที่ตามองเห็น แล้วมนุษย์ใช้เอง ซึ่งพุทธศาสนากล่าวว่า ผู้ที่เชื่อเหตุผลที่มนุษย์มองเห็น คิดและใช้นั้น – กล่าวได้ว่า - ไม่จบ
คาร์ล จุง นั้นเป็นคนร่วมสมัยกับ ปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง เขาเสียชีวิตหลัง เตยา เดอ ชาดัง เพียง ๒ ปี เขาสนิทสนมกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มาก และตอนแรกฟรอยด์ประสงค์ให้ คาร์ล จุง เป็นบุตรบุญธรรมของเขาขนาดที่ฟรอยด์พาจุงไปอเมริกา โดยแนะนำให้ไอน์สไตน์รู้ว่าเขาประสงค์เช่นนั้น แต่จุงที่ชอบอภิปรัชาเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งฟรอยด์ที่ไม่ชอบเอาเสียเลย กับทฤษฏีของฟรอยด์เองที่มองอะไรทางจิตไร้สำนึก (เป็น subconsciousness ที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ถือว่าเป็นจิตอันเดียวกันกับ unconsciousness ของ คาร์ล จุง) ที่เกิดขึ้นจากกามารมณ์ที่บุคคลผู้นั้นมีในอดีตหมด แตกต่างกับความคิดของ คาร์ล จุง เป็นตรงกันข้าม ทำให้ คาร์ล จุง ต้องแตกแยกกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ไปคนละทาง
คาร์ล จุง นั้นผู้เขียนถือว่าสำคัญกว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ มากยิ่งนัก เพราะฟรอยด์นั้นเป็นผู้ที่มองว่าในโลกในจักรวาลนี้เป็นรูปเป็นกาย และมีความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือความจริงทางโลกซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับที่พุทธศาสนาสอนเรา และก่อนหน้านี้ชาวตะวันออกเชื่อว่ามันมีความจริงทางธรรมซึ่งเป็นความจริงที่แท้จริงอีกชั้น หรือขั้น หรือระดับหนึ่ง นั่นคือธรรมะในระดับโลกุตตระ
ได้กล่าวแล้วว่า คาร์ล จุง นั้นเป็นคนที่มองโลกมองสังคมของเราไปข้างในและข้างล่าง และเป็นคนที่ค้นพบและอธิบายสองสิ่งสองอย่างเท่านั้น และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากยิ่งกว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ ใ นประเด็นทางจิตไร้สำนึก อันเป็นประเด็นใหญ่ทางจิตโดยรวม ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคนทั่วๆ ไปและนักวิชาการของไทยไม่รู้ และนักจิตวิทยาโดยทั่วไปนับวันจะค่อยๆ มองเห็นและเชื่อว่าจุงเกี้ยนนั้นสำคัญกว่าฟรอยเดี้ยนจริงๆ และ อาร์โนลด์ มินเดล นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในปัจจุบัน จะเป็นพยานในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และที่ คาร์ล จุง ค้นพบนั้น คือจิตไร้สำนึกโดยรวม หรือจิตจักรวาลร่วม กับ อาร์คีไทป์ (archetype) หรือสัญชาตญาณ ซึ่ง อาร์โนลด์ ทอยน์บี บอกว่าก็คือพระเจ้า (สำหรับคนเป็นจิตนิยม) ส่วนจิตจักรวาลหรือจิตไร้สำนึกร่วมซึ่งอยู่ทุกหนแห่งทั่วๆ ไปในจักรวาล ก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในสมองเพื่อให้สมองของคนผู้นั้นๆ บริหารให้เป็นจิตสำนึกหรือจิตรู้ หรือวิญญาณขันธ์ของพุทธศาสนา หรือธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนนั้น เป็นทั้งความจริงทางโลกแห่งโลกียะและความจริงทางธรรมแห่งโลกุตตระ แต่เนื่องจากผู้เขียนที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์และรู้เรื่องทางควอนตัมฟิสิกส์มาบ้าง จึงคิดว่าความจริงทางธรรมเท่านั้นที่เป็นความจริงที่แท้จริงและพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่
ปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง และ คาร์ล จุง จึงเป็นสองนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาที่ร่วมสมัยกันในศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ และที่สำคัญมีอยู่ ๒ ประการคือ ทั้งสองคนนั้น มีชื่อเสียงอย่างยิ่งและพอๆ กัน กับทั้งคู่นั้นแตกต่างกันทางความคิดอย่างเป็นตรงกันข้ามกัน ดังที่ได้เขียนมา
แสดงความคิดเห็น